ตามเส้นทางบนถนนสายความมั่นคงหมายเลข 4062 จะผ่านทางเข้าน้ำตกที่ไหลเลาะผ่านธารหินน้อยใหญ่ตามร่องเขาแคบๆลงมาจากเทือกเขาสันกาลาคีรีในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ตัวน้ำตกไม่ได้ดิ่งจากหน้าผาสูงลงมาแต่อย่างใด แต่ไหลตามความลาดชันของลานหินและก้อนหินลงมา สายน้ำแห่งนี้มีต้นกำเนิดบนยอดเขาลีแปกับยอดเขาบาตูตาโมง แล้วไหลลงคลองอัยกาติงในท้ายที่สุด
สำหรับใครที่ต้องการเล่นน้ำ บริเวณน้ำตกมีมุมให้เล่นน้ำและมีลานหินให้นั่งพักผ่อนข้างน้ำตกทางด้านขวาด้วย แต่ปริมาณน้ำในช่วงหน้าฝนจะเยอะและเชี่ยวกรากจนกระแสน้ำแผ่นกระจายไปทั่วบริเวณ ท่ามกลางความหนาทึบของป่าเขาทั้งสองข้าง เดิมทีน้ำตกบริเวณหมู่บ้านบาลา ตำบลโละจูดแห่งนี้มีชื่อว่า"ลาตอยือรา" ต่อมาได้รับพระราชทานนามเป็น“น้ำตกสิรินธร”เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2525 นอกจากน้ำตกนี้แล้ว ยังมีสัตว์ป่าต่างๆตามยอดไม้ทั้งสองฝั่งด้วย เช่น นกเงือก ค่าง ฯลฯ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาเป็นป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์มากในประเทศไทย น้ำตกสร้างชื่อกลางผืนป่าย่อมเกิดขึ้นไม่ยาก แม้เส้นทางเข้าจะเต็มไปด้วยต้นไม้สูงทึบ แต่การมาสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง กลับคุ้มค่าทุกเสี้ยววินาที ตอนนี้รู้สึกโชคดีแทนชาวบ้านแถบนี้ที่มีป่าขนาดใหญ่และน้ำตกสวยๆให้เล่นตลอดปี
– จากลานจอดรถ ปากทางเข้าน้ำตกมีนกเงือกสองตัวกำลังเกาะขอนไม้(ที่สร้างขึ้น)หน้าป้ายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อทำหน้าที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ซึ่งบริเวณทางเข้านี้ก็มีนกเงือกบินเกาะต้นไม้สูงอยู่ตลอดเช่นกัน หลายคนมีโอกาสเห็นบ่อยๆ จากจุดนี้จะมีบันไดเดินลงสู่แอ่งน้ำชั้นแรก
ซ้ายบน – แอ่งน้ำหน้ากว้างของน้ำตกชั้นที่หนึ่งมีกลุ่มครอบครัวมาเล่นน้ำกันมากที่สุด ส่วนป่าดงพงไพรที่เห็นรอบข้างคือความอุดมสมบูรณ์ระดับเวิร์ดคลาส
ขวาบน - หลายครอบครัวเล่นน้ำบริเวณนี้เพราะเดินลงมาสะดวก บางครอบครัวนั่งปิกนิกใต้ร่มไม้บนฝั่งซ้ายมือท่ามกลางเสียงน้ำไหลเย็น (จากภาพ สายน้ำทั้งหมดกำลังไหลออกสู่คลองอัยกาติงต่อไป)
ขวาล่าง – เมื่อเข้ามาดูน้ำตกชั้นแรกใกล้ๆ กระแสน้ำของน้ำตกกำลังกระจายตัวไปตามก้อนหินน้อยใหญ่
- เดินหน้าสำรวจน้ำตกต่อ
กลาง - ชั้นถัดมาของน้ำตกได้ภาพพาโรนามาอย่างมาก ความมโหฬารของลานหินที่ลาดลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่างกลายเป็นไฮไลต์ของเด็กวัยรุ่นและเด็กโตที่มารวมตัวบริเวณนี้ บางคนเล่นน้ำ บางคนก็นั่งชมวิวพูดคุยบนก้อนหินใหญ่ริมน้ำตก
ล่าง – น้ำตกชั้นนี้ได้ใจความอลังการจริงๆ ทีมงานเลยขึ้นมามองมวลน้ำที่แผ่ตัวเป็นวงกว้างผ่านลานหินด้านบนลงไปเป็นน้ำตกชั้นที่สอง เสียงน้ำดังก้องไปทั่วผืนป่า
ธรรมชาติแบบนี้หาที่ไหนไม่ได้ง่ายๆ
บน – คราวนี้เราเลาะตามลานหินเหนือน้ำตกชั้นเมื่อสักครู่ขึ้นมา ทีมงานพบกับลานหินกว้างด้านบนต่อ แถบนี้ไม่ลาดชันเหมือนลานก่อนหน้านี้ แต่สายน้ำยังคงไหลเป็นแนวกว้าง เด็กโตและวัยรุ่นอีกกลุ่มนั่งจับกลุ่มคุยกันบนลานหินแห้ง
กลางบน - มองย้อนกลับไปยังลานหินเบื้องล่างที่เราเพิ่งเดินผ่านเด็กกลุ่มเดิมขึ้นมา ปริมาณน้ำยังคงแผ่ไพศาลไปทั่ว
– สำหรับทางเดินไปน้ำตกปลายทางต้องเดินผ่านก้อนหินเล็กและใหญ่คละกันไป ซึ่งเป็นคนละทางกับน้ำตกชั้นล่าง
กลางล่าง – เส้นทางเดินไปน้ำตกชั้นบน นักท่องเที่ยวจะผ่านร่องน้ำตกตามภาพนี้ ลักษณะหินด้านข้างฝั่งตรงข้ามชันขึ้นจนเป็นผาหิน ขณะที่ฝั่งทีมงานเป็นทางดินธรรมชาติ (จากภาพ ตลอดทางของน้ำตก เด็กโต วัยรุ่น และผู้ใหญ่ไม่ค่อยหนาตามากนัก เช่นเด็กเสื้อเขียวที่นั่งชมวิวบนหินทางขวา เกือบทั้งหมดเป็นคนในพื้นที่ ขณะที่หมู่บ้านใหญ่ใกล้น้ำตกที่สุดอยู่ห่างจากป่าออกไปราว 6-7 กิโลเมตร)
ซ้าย – เดินผ่านมาสักระยะก่อนถึงน้ำตกชั้นสุดท้าย ทีมงานลองหันไปมองสายน้ำที่ไหลออกไปอีกครั้ง
ขวา - แล้วเราก็มาถึงปลายทางของน้ำตกสิรินธรที่นักท่องเที่ยวสามารถมาถึงได้ ด้านหน้าคือซอกน้ำตกที่ไหลจากร่องเขาแคบๆด้านบนลงมา เท่าที่สังเกต เหนือร่องเขาขึ้นไปเป็นผาลาดชัน มีก้อนหินใหญ่ และต้นไม้ระเกะระกะตลอดธารน้ำ อีกทั้งเราไม่สามารถเดินจากด้านข้างทั้งสองฝั่งจากจุดนี้เพื่อไปซอกน้ำตกเบื้องหน้าได้แล้ว เนื่องจากไม่มีทางให้ไปต่อ ส่วนแอ่งน้ำด้านล่างลึก ใครจะเล่น ก็ต้องว่ายน้ำไปอย่างเช่นศีรษะของผู้ชายที่กำลังลอยคอใต้อักษร k
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
334 | 5271 | 297663 |