สะพานมอญ

คำอธิบาย


สะพานมอญ(หรือสะพานอุตตมานุสรน์) ถือเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยกว่า 850 เมตร ซึ่งหลวงพ่ออุตตมะได้ริเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2527 โดยใช้แรงงานชาวมอญซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ฝั่งวัดวังก์วิเวการามเพื่อเชื่อมต่อชุมชนบ้านไหล่น้ำและชุมชนบ้านวังกะ(หรือหมู่บ้านชาวมอญ)ในตำบลหนองลู ทำให้ประชาชนทั้งสองฟากสามารถไปมาหาสู่ ทำมาค้าขาย ขนส่งพืชผลทางการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ได้

อีกทั้งยังเป็นเส้นทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่สองฝั่งของแม่น้ำซองกาเรียด้วย เมื่อการก่อสร้างสะพานแล้วเสร็จ จึงได้รับการขนานนามว่า“สะพานแห่งศรัทธา”เนื่องจากการก่อสร้างและขั้นตอนส่วนใหญ่เป็นแรงงานคนทั้งสิ้น

สำหรับวันสำคัญตามประเพณี ก็มีกิจกรรมต่างๆอีก เช่น การตักบาตรบนสะพานไม้ ฯลฯ

และเมื่อนักท่องเที่ยวมาสะพานมอญแล้ว สี่กิจกรรมที่จะเห็นบนสะพานไม้แห่งนี้ก็คือ
- หนึ่ง “มาเป็นหนุ่มมอญสาวมอญกันนะคะ” วิธีการคือ เด็กผู้หญิงจะแต้มแป้งทานาคาจากพิมพ์ไม้ลงบนแก้มทั้งสองข้างให้เรา
- สอง “เดี๋ยวผมจะกระโดดน้ำจากสะพานไปข้างล่างให้ดูครับ” วิธีการคือ เด็กชายในกลุ่มจะกระโดดน้ำโชว์จากสะพานที่ระดับความสูง 10 เมตร (แต่บางครั้งก็มี 14 เมตรด้วย)
- สาม “พี่รู้จักประวัติสะพานมอญหรือยังครับ/ค่ะ” วิธีการคือ กลุ่มเด็กชายหญิงจะเล่าประวัติของสะพานมอญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันให้เราฟัง
- และสี่ "ถ่ายรูปคู่กับสาวมอญ" วิธีการคือ บนสะพานจะมีสาวมอญที่กำลังเทินของทรงสูงไว้บนศีรษะ เราก็ขอเขาถ่ายรูปคู่เป็นที่ระลึกได้เลย

ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ทั้งสี่สามารถให้เงินเป็นกำลังใจแก่เด็กและหนุ่มสาวชาวมอญได้



ในอำเภอสังขละบุรี สถานที่ท่องเที่ยวติดอันดับต้นๆหนีไม่พ้นสะพานมอญแน่นอน ตั้งแต่เช้ามืดราวตีห้ากว่าเป็นต้นไป นักท่องเที่ยวมากมายจะตื่นมารวมพลบนสะพานเพื่อถ่ายรูปและเก็บบรรยากาศทิวทัศน์ท่ามกลางหมอกและอากาศเย็น โดยมีศาลาฝั่งบ้านไหล่น้ำและฝั่งบ้านวังกะ(หรือหมู่บ้านมอญ)เป็นตัวเชื่อม
บน – โครงสร้างสะพานมอญทำจากไม้ แล้วพาดผ่านแม่น้ำซองกาเลียที่เชื่อมหมู่บ้านทั้งสองฝั่งไว้ (จากภาพ ภาพของสะพานมอญที่มองจากตลิ่งแม่น้ำซองกาเลียฝั่งหมู่บ้านมอญ)
ซ้าย – สะพานมอญในวันที่ไร้ซึ่งนักท่องเที่ยว เราได้เห็นภาพสะพานมอญเป็นทางยาวเต็มๆเสียที
ขวาบน – จุดที่ศาลาฝั่งบ้านไหล่น้ำทอดยาวเป็นสะพานไม้ออกไป
ขวาล่าง – มุมนั่งพักและชมวิวทั้งสิบจุดตลอดซ้ายขวาบนสะพานไม้
ล่าง – อย่างที่เคยเกริ่นไว้ว่า นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางมาสะพานไม้ตั้งแต่ตีห้าครึ่งเป็นต้นไป แต่ภาพที่เห็นนี้เป็นช่วงตีสี่กว่า สะพานเงียบสนิทท่ามกลางอากาศเย็นและน้ำค้างที่เปียกชื้นทั่วบริเวณ



จากเรื่องราวของสะพาน เรามาประมวลกิจกรรมสนุกๆสี่อย่างกัน
ซ้ายบน – ก่อนอื่นมีภาพความเนืองแน่นของกลุ่มวัยรุ่น ครอบครัว และชาวต่างชาติที่มาเก็บภาพและเดินบนสะพานมอญกันในตอนเช้า ซึ่งเป็นช่วงพีกของวัน (จากภาพ หางแถวของขบวนยังอยู่ที่ศาลาบ้านวังกะโดยมีหมอกยามเช้าบนเนินเขาหมู่บ้านมอญเป็นฉากหลัง)
ขวาบน - นักท่องเที่ยวเข้ามาขอถ่ายรูปคู่กับสาวมอญที่กำลังเทินปิ่นโตซ้อนกันบนศีรษะ
ซ้ายกลางบน – กิจกรรมที่สร้างสีสันได้ดีก็คือ การกระโดดน้ำจากสะพานไม้ จะมีกลุ่มเด็กชายถอดเสื้อรออยู่ริมสะพาน ถ้ามีนักท่องเที่ยวอยากให้กระโดด เด็กก็พร้อมทันที แล้วไต่ลงไปตำแหน่งไม้ที่ระดับความสูง 10 เมตรตามภาพนี้ เรามาดูเด็กคนนี้เป็นตัวอย่าง ภาพแรกเป็นการเทกออฟจากรันเวย์อย่างสง่าผ่าเผย
ซ้ายกลางล่าง – ช่วงนี้เป็นจังหวะเหินเวหา
ซ้ายล่าง – ในที่สุดน้องคนนี้ก็แลนดิ้งลงสู่ผิวน้ำอย่างงดงาม จากนั้นก็ลอยตัว แล้วปีนกลับขึ้นสะพานอีกครั้ง (จากภาพ ถ้าสังเกตมุมขวาบนของภาพ“ซ้ายกลางบน”ใหม่ เราจะเห็นไม้ด้านบนสุดไปทางขวาสที่ยื่นออกมา นั่นคือตำแหน่งทางเดินบนสะพานของนักท่องเที่ยว ในบางครั้ง เด็กก็โชว์ให้เห็นว่า ณ จุดสูงสุดบนสะพานที่ระดับ 14 เมตรนี้ พวกเขาก็กระโดดได้ เพียงแต่ไม่ได้โชว์บ่อย เลยขอเน้นกระโดดแบบสบายๆดีกว่า)
ขวากลาง - เด็กชายหน้าขาวสองคนนี้กำลังเล่าประวัติสะพานมอญเป็นภาษาไทย(ด้วยสำเนียงมอญ)อยู่
ขวาล่าง – เรามาถึงกิจกรรมส่งท้ายกับการเป็นพลเมืองชาวมอญ โดยกลุ่มเด็กที่อยู่ริมสะพานจะนำแป้งทานาคาผสมน้ำ แล้วนำพิมพ์จุ่มลงทานาคาเปียก จากนั้นก็แต้มพิมพ์บนแก้มนักท่องเที่ยว (จากภาพ นักท่องเที่ยวคนนี้กำลังกลายเป็นหนุ่มมอญจากเด็กมอญที่กำลังแต้มพิมพ์ลงบนแก้ม ขณะที่ภาพในกรอบคือผลงานบนแก้มของเขา)

TODAY THIS MONTH TOTAL
371 876 301337
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top