ตลาดน้ำคลองแห

คำอธิบาย


(สามารถคลิกอ่านคำอธิบายของกินของใช้ได้ที่"คำอธิบาย")

ในอดีต ชุมชนคลองแหมีชีวิตที่เรียบง่าย ชาวบ้านนิยมพายเรือบอกเล่าข่าวสารในชุมชนและมักนำกุ้งหอยปูปลาที่หามา รวมทั้งพืชผักผลไม้ไปขายที่ท่าน้ำวัดคลองแห แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น รถยนต์เริ่มมีบทบาท อีกทั้งทางราชการตัดเส้นทางรถไฟผ่านชุมชน การสัญจรทางเรือจึงค่อยๆเลือนหายจากวิถีชีวิตชาวคลองแหไป จวบจนปี 2551 เทศบาลคลองแหได้เริ่มรื้อฟื้นวิถีชีวิตชุมชนขึ้นมาอีกครั้งโดยจัดตั้งตลาดน้ำเป็นครั้งแรก ณ ท่าน้ำวัดคลองแห

ทุกบ่ายวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์จนถึงค่ำ นักท่องเที่ยวมากมายโดยเฉพาะชาวมาเลเซียต่างมาเที่ยวและกินอาหารเครื่องดื่มจากในเรือ รวมทั้งเลือกซื้อสินค้าจากเรือนไม้ตามโซนต่างๆ ซึ่งเราสามารถเข้าตลาดน้ำคลองแหได้สองทางคือ จากเมืองหาดใหญ่วิ่งมาทางวัดคลองแหหรือจากถนนลพบุรีราเมศวร์เข้ามาก็ได้ ในการอธิบายเส้นทางครั้งนี้ ขอเริ่มจากถนนลพบุรีราเมศวร์เข้ามา

เมื่อมาถึงพื้นที่ตลาดน้ำแล้ว เราจะเห็นลานจอดรถและป้ายตลาดน้ำคลองแหก่อน ซึ่งตลอดทางเข้าตลาดน้ำเป็นลานหินคลุก ถ้าเราเดินตามลานหินไป ก็จะเจอบันไดลงสู่ท่าน้ำคลองแหซึ่งเป็นไฮไลต์ของตลาดน้ำ แต่ก่อนจะเดินลงไป ทางซ้ายของลานหินมีแผงสินค้ามากมาย โดยเป็นเรือนไม้หลังคาใบสาคู แต่ละเรือนไม้มีแผงสินค้าหันหน้าร้านออกช่องทางเดินซ้ายขวาของตนเอง ซึ่งหลังจากนี้ขอแบ่งเป็นสี่โซนคือ เรือนไม้ที่หันมาทางลานหิน(ที่จะไปคลองแห) แถบนี้มีสองโซนคือ โซนบน(หรือโซนหนึ่ง)ที่เราจะเห็นก่อนใครและโซนล่าง(หรือโซนสอง)ที่เราจะเห็นถัดลงไป โดยโซนบนมีเรือนไม้สี่แถวเป็นแนวลึกขนานกันลงไปทางคลองแหและมีทางเดินปูนระหว่างเรือนไม้ เมื่อโซนบนหมดระยะ จะมีทางเดินแนวขวางมาคั่น(ซึ่งก็คือ ช่องทางเดินแนวขวางที่สองของโซนสามที่เชื่อมต่อมา ซึ่งจะมีรายละเอียดในภายหลัง) จากนั้นถึงเป็นโซนล่างที่มีเรือนไม้อีกสี่แถวและยาวลึกต่อเนื่องลงไปจนถึงทางเดินปูนเลียบคลองแห(ซึ่งจุดนี้ก็มีที่นั่งกิน)และติดกับบันไดลงท่าเรือคลองแหด้วย ทั้งหมดนี้คือโซนบนและโซนล่างที่สามารถเห็นจากลานทางเข้าได้

ทีนี้ยังมีโซนสามที่อยู่ติดกับโซนบนและโซนล่าง เพียงแต่อยู่ด้านหลังทั้งสองโซน โดยโซนสามก็เป็นเรือนไม้เช่นกัน แต่จะยาวในแนวขวาง ซึ่งเรือนไม้โซนสามมีทั้งหมดเจ็ดแถวและขวางขนานกับโซนหนึ่งลงไปจนเสมอกับโซนสองที่ทางเดินปูนด้านล่าง สำหรับช่องทางเดินแนวขวางที่หนึ่งของโซนสามจะกว้างที่สุดและมีเรือนไม้ขนาดเล็กบริเวณนี้ด้วย ส่วนช่องทางเดินโซนสามที่เหลือจะกว้างใกล้เคียงกัน โดยเรือนไม้โซนสาม ด้านหนึ่งติดกับโซนหนึ่งและโซนสอง อีกด้านจะยาวขวางไปหมดระยะเท่ากันที่ถนนคอนกรีต(ที่มุ่งตรงสู่สะพานข้ามคลองแห)

ทั้งนี้ฝั่งตรงข้ามโซนสาม(ที่มีถนนมาคั่น)ยังมีแผงสินค้าเลียบแนวถนนเป็นโซนที่สี่อีก ซึ่งมีทั้งหน้าร้าน โครงเหล็กหลังคากระเบื้องเป็นล็อกๆ และแผงลอย ซึ่งเมื่อแผงโซนสี่มาถึงสะพาน จะหักเลี้ยวไปทางซ้ายเป็นรูปตัวแอลเป็นล็อกๆไปอีกระยะหนึ่ง

อนึ่ง แผงเรือนไม้โซนสามและเรือนไม้แถวที่สี่ของโซนหนึ่งกับโซนสองบางแผงอาจเหมาแผงและหันหน้าออกทั้งสองด้านเลย และเฉพาะเรือนไม้ที่สองและสามของโซนสามมีการเว้นช่องไฟไปหนึ่งแผงเป็นทางเดินทะลุไปอีกช่องทางเดินด้วย และทั้งหมดก็คือภาพรวมของโซนจำหน่ายสินค้า

เราจะเริ่มต้นที่โซนหนึ่งก่อน สำหรับของกินของใช้โซนหนึ่งจะใกล้เคียงกัน โดยช่องทางเดินที่หนึ่งเป็นแผงเดี่ยวที่หันหน้าร้านออกลานหิน(ไปคลองแห) ส่วนช่องทางเดินที่สอง สาม และสี่มีสินค้าซ้ายขวาตลอดทาง สำหรับช่องทางเดินที่ห้าของเรือนไม้แถวที่สี่ในโซนหนึ่ง แผงด้านหนึ่งหันเข้าโซนหนึ่ง ส่วนอีกด้านหันเข้าโซนสาม ซึ่งด้านที่หันเข้าโซนสามก็ขอรวมสินค้าไว้ในโซนหนึ่งด้วย และสินค้าโซนหนึ่งทั้งหมดก็มีอุปกรณ์รถ ชากาแฟ เครื่องดื่ม ของแห้งของฝาก ตุ๊กตา เสื้อที่ระลึกคลองแหและหาดใหญ่ เสื้อผ้าสูงวัย ผลไม้ปั่นและคั้น กระเป๋า เครื่องนอน เสื้อผ้าเด็ก ผลิตภัณฑ์จากไม้ อาหารทั่วไป ผลไม้ ของชำร่วย ขนมภาคใต้ ของตกแต่ง ของเล่นเด็ก เสื้อผ้าพื้นเมือง ของชำร่วย เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ของกินเล่น ของกินเล่นนำเข้า เสื้อผ้าชายหญิง งานแฮนด์เมด และสินค้าที่ระลึก

โซนสองก็มีสี่แถวเรือนไม้และห้าช่องทางเดิน โดยช่องทางเดินที่หนึ่งเป็นแผงเดี่ยวหันหน้าออกลานหิน(ใกล้บันไดลงคลองแห) ซึ่งลานหินโซนนี้ทำเป็นจุดนั่งกินขนาดใหญ่ ขณะที่เรือนไม้แถวที่สี่ของโซนสองก็หันหน้าเข้าโซนสามด้วย ซึ่งก็ขอรวมสินค้าไว้ในโซนนี้ ทั้งนี้โซนสองจะเด่นเรื่องของกิน โดยของใช้จะอยู่เฉพาะเรือนไม้แถวที่สี่ และของกินโซนสองทั้งหมดก็มีของแห้ง อาหารทั่วไป ขนมไทย ก๋วยเตี๋ยว ของกินยามเช้า ของกินเล่น ของปิ้งย่าง ผลไม้ เครื่องดื่ม ของทอด อาหารอิตาเลียน ชากาแฟ ไอศกรีม ผัดเส้น กับข้าว อาหารมุสลิม เบเกอรี่ อาหารญี่ปุ่น ขนมภาคใต้ อาหารชาวจีน ขนมจีนน้ำยา และอาหารอีสาน ส่วนของใช้ก็มีเสื้อผ้าชายหญิง เสื้อที่ระลึกหาดใหญ่ เครื่องประดับสตรี หมวกเสื้อผ้าคนสูงวัย ตุ๊กตา เครื่องนอน ของชำร่วย รองเท้า ของเล่นเด็ก และงานบริการ

ต่อไปก็เป็นโซนสาม โดยจากป้ายตลาดน้ำคลองแหเข้ามา แล้วเลี้ยวซ้าย ก็เป็นช่องทางเดินแนวขวางที่หนึ่ง เฉพาะเรือนไม้ฝั่งซ้ายของช่องทางเดินที่หนึ่งจะยาวเป็นแนวขวางและหักเป็นรูปตัวแอลมาลานจอดรถด้วย สำหรับสินค้าโซนสามมีแผงเสื้อผ้ามาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนของกินมีไม่มาก และเนื่องจากช่องทางเดินที่หนึ่งกว้างกว่าทุกช่องของโซนสาม จึงมีมุมโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งเพิ่ม โดยสินค้าโซนสามทั้งหมดก็มีเสื้อผ้าชายหญิง เสื้อผ้าสูงวัย ผลไม้ เครื่องประดับ กระเป๋า เสื้อผ้าเด็ก เสื้อที่ระลึกหาดใหญ่และคลองแห สมุนไพร ของตกแต่ง รองเท้า เสื้อผ้าพื้นเมือง เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิว สายตา ของแห้ง ของเล่นเด็ก หมวก ของชำร่วย ก๋วยเตี๋ยว เครื่องดื่ม ของใช้ในบ้าน และงานฝีมือ

ต่อไปก็เป็นโซนสี่ สำหรับโซนนี้มีสินค้าดังนี้ เกมต่างๆ เสื้อผ้าชายหญิง ต้นไม้กระถาง ของกินเล่น ของเล่นเด็ก ไอศกรีม ของแห้ง ของชำร่วย เสื้อผ้าพื้นเมือง สินค้าที่ระลึก และขนมไทย

แล้วเราก็มาถึงริมคลองแหแล้ว ตรงนี้คือจุดไฮไลต์สำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวมามืดฟ้ามัวดินกันอยู่ที่นี่ เนื่องจากเรือหลายสิบลำผูกติดกับท่าน้ำและจำหน่ายแต่ของกิน นักท่องเที่ยวเลยสนุกสนานกับการเลือกซื้อ แล้วนำมานั่งกินในศาลาท่าน้ำ และข้าวของทั้งหมดในเรือก็ได้แก่ขนมไทย อาหารและของกินเล่นมุสลิม ของกินเล่น ของทอด เครื่องดื่ม อาหารทั่วไป น้ำแข็งไส อาหารญี่ปุ่น ของปิ้งย่าง ไอศกรีม ก๋วยเตี๋ยว ของกินยามเช้า ขนมจีนน้ำยา ขนมภาคใต้ และผลไม้

คราวนี้เมื่อข้ามสะพานข้ามคลองแหมาแล้ว เรายังเจอถนนสายเดิมจากโซนสี่ที่เชื่อมข้ามมา โดยถนนฟากนี้ก็กลายเป็นถนนคนเดินและมีแผงลอยทั้งสองฝั่ง ฝั่งซ้ายมีทั้งแผงลอย โครงเหล็กกั้นเป็นล็อกๆ และบ้านเรือน ขณะที่ฝั่งขวาเป็นแผงลอยเลียบกำแพงหน้าวัดคลองแห ซึ่งแผงสินค้าทั้งสองฝั่งจะหมดระยะที่ประตูเข้าวัดคลองแห และถนนฟากนี้ก็เป็นอีกทางที่เข้ามาตลาดน้ำคลองแหจากเมืองหาดใหญ่นั่นเอง และสินค้าทั้งหมดของโซนนี้ก็มีของชำร่วย ผลไม้ ศิลปะพื้นบ้าน อุปกรณ์มือถือ ของกินเล่น กระเป๋า เสื้อผ้าชายหญิง ของเล่นเด็ก เครื่องแต่งกายชาย เครื่องประดับหญิง ของที่ระลึก สมุนไพร ล็อตเตอรี่ สายตา เครื่องดื่ม สมุนไพร ของใช้ในบ้าน เครื่องนอน ของแห้ง ของปิ้งย่าง ผักสด ของตกแต่ง รองเท้า ขนมไทย ของทอด ไอศกรีม เสื้อผ้าเด็ก งานฝีมือ และกระเป๋า



ตอนมาถึงตลาดน้ำแห่งนี้ ทีมงานนึกว่าตัวเองเผลอเดินข้ามกระจกทวิภพทะลุไปกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพราะมีแต่ชาวมาเลเซียแทบทั้งนั้น ทั้งภาษามลายู อังกฤษ และจีนกลางเซ็งแซ่ไปทั่วจนภาษาไทยกลายเป็นไม้ประดับไปชั่วขณะ ตอนนี้รถทัวร์นักท่องเที่ยวนับสิบคันและชาวมาเลเซียที่มาเที่ยวหาดใหญ่กันเอง ต่างก็มุ่งตรงสู่คลองแหกันหมด
ซ้ายบน – จากลานจอดรถด้านหน้า เมื่อเราเดินผ่านป้ายตลาดน้ำคลองแหเข้ามา แล้วมองไปทางซ้าย ก็จะเห็นเรือนไม้หลังคาใบสาคูหลายหลัง (จากภาพ เรือนไม้โซนแรกนี้ ก็คือโซนบน(หรือโซนหนึ่ง)ซึ่งมีสี่เรือนไม้และยาวเป็นแนวลึกลงไปทางคลองแห เราลองนับจำนวนเรือนไม้ได้เลย โดยด้านที่หันมานี้ก็คือช่องทางเดินที่หนึ่ง ซึ่งเป็นแผงเดี่ยวตามภาพ ก่อนจะเป็นช่องทางเดินอื่นๆถัดเข้าไป)
- ขอเริ่มต้นตัวอย่างสินค้าช่องทางเดินแนวลึกที่หนึ่งเลย
ขวาบน – ร้านนี้ขายสติกเกอร์ป้ายทะเบียนรถและออกแบบแผ่นป้ายให้ด้วย หรือถ้าใครสนใจพวงกุญแจป้ายทะเบียนขนาดเล็กเป็นที่ระลึก ก็มีเช่นกัน
ซ้ายกลางบน – มุมนี้มาพร้อมน้ำผลไม้ปั่นและคั้นเพื่อความสดชื่น เริ่มตั้งแต่ส้ม มะนาว แคร์รอต แตงโม สับปะรด มะม่วง แอปเปิ้ลแดง และมะพร้าว ทั้งนี้ยังมีน้ำหวานเข้มข้นและผลไม้หัวเชื้อรสชาติอื่นๆอีก
ขวากลางบน – ต่อไปเป็นช่องทางเดินที่สอง นักท่องเที่ยวต่างเดินช้อปสินค้าที่ชอบกัน
ซ้ายกลางล่าง – แผงนี้มีชุดไทยสำหรับเด็กค่อนข้างเยอะ สำหรับเสื้อสตรีก็มีจำหน่าย
ขวากลางล่าง – แม่ค้าร้านนี้ขายผ้าปาเต๊ะ กระโปรง และเสื้อสตรี ลายพิมพ์ทองเพียบเลย
ซ้ายล่าง – แล้วเราก็มาถึงร้านของฝากในช่องทางเดินนี้ ซึ่งมีถั่วลิสงอบกรอบ น้ำพริก มะขามคลุก มะม่วงคลุก สาหร่ายย่างกรอบ ใบชา นมข้นหวานรสต่างๆ และสินค้าของฝาก เช่น ถั่วกรอบแก้ว ฟักทองฉาบ ขนมนางเล็ด มันรังนก ข้าวเกรียบ ฯลฯ
ขวาล่าง – ตอนนี้เข้าสู่ช่องทางเดินที่สามแล้ว ข้าวของมีให้ชาวมาเลเซียเลือกไม่ขาดสาย




เราไปสำรวจช่องทางเดินที่สามกันเลย
ซ้ายบน – เผอิญมาเจอแผงของเล่นเข้าให้ สิ่งที่ล่อตาล่อใจเด็กๆวันนี้ก็มีชุดอาบน้ำ รถทหาร ตุ๊กตา รางรถแข่ง เครื่องบิน ชุดตกปลา โต๊ะสนุกเกอร์ รถยนต์ ชุดครัว ปืนของเล่น เตารีดของเล่น พัดลม พินบอล ไดโนเสาร์ เจ้าหญิง ชุดแคชเชียร์ หุ่นยนต์ และรถบัส
ขวาบน – ซุ้มนี้จำหน่ายผ้ามัดย้อมครามลวดลายต่างๆ มีทั้งเสื้อและเดรสผู้หญิงครบครัน
ซ้ายกลางบน – เจ้านี้มาพร้อมนาฬิกาแฟชั่นวัยรุ่นและวัยทำงานชาย รวมทั้งนาฬิกาปลุก
ขวากลางบน – มาสอดส่องช่องทางเดินที่สี่ต่อ นักท่องเที่ยวยืนเลือกซื้อข้าวของตลอดทาง
ซ้ายกลางล่าง – ร้านนี้เน้นสินค้าบุรุษทั้งเสื้อแขนสั้นแขนยาว เสื้อแจ๊กเก็ต และกางเกงยีนส์ (แต่กางเกงยีนส์มีของผู้หญิงด้วย)
ขวากลางล่าง – มาเมืองไทยแล้ว ถ้าไม่ได้ของที่ระลึกติดมือ ก็เหมือนขาดอะไรไป แม่ค้าซุ้มนี้เลยนำพวงกุญแจไม้ แม็กเน็ต โมเดลช้างและรถสามล้อ กรอบรูป รวมทั้งกระเป๋าผ้าใบเล็กมาเรียกน้ำย่อย
ซ้ายล่าง – แผงนี้มีงานฝีมือจากผ้ามาเป็นตัวชูโรง สินค้าก็มีกระเป๋า เป้ ถุงใส่ของ และกล่องทิชชู่
ขวาล่าง – ตอนนี้ก็เข้าสู่ช่องทางเดินสุดท้ายของเรือนไม้หลังที่สี่(ด้านที่หันไปโซนสาม) ชาวต่างชาติเขามุงอะไรกัน ไปดูตัวอย่างดีกว่า




ตามมาชมช่องทางเดินที่ห้าพร้อมๆกัน
ซ้ายบน – สินค้าที่ระลึกอีกอย่างก็คือ เสื้อยืด“หาดใหญ่” เจ้านี้มีหลากหลายลาย รวมทั้งเสื้อยืด“ตลาดน้ำคลองแห”
ขวาบน – เครื่องประดับสตรีแผงนี้โดดเด่นกว่าใคร มีทั้งสร้อยคอ ต่างหู กำไล แหวน และสร้อยข้อมือ
- ก็เห็นสีสันของโซนหนึ่งไปแล้ว คราวนี้เตรียมไปหวือหวากับโซนสอง(ที่มีแต่ของกิน)ต่อเลย
ซ้ายกลางบน – บริเวณนี้เป็นเรือนไม้หลังแรกของโซนสองที่หันหน้าแผงมาช่องทางเดินที่หนึ่ง และเลยจากทางเดินหน้าแผงมา ก็เป็นลานนั่งกินของนักท่องเที่ยวตามภาพ
ขวากลางบน – ตัวอย่างสักหนึ่งแผงของช่องทางเดินแนวลึกที่หนึ่งก็คือ ร้านอาหารตามสั่ง
ซ้ายกลางล่าง – ตัดเข้าสู่ช่องทางเดินที่สองกัน ผู้คนเดินซื้อของกินกันเพลิดเพลิน
ขวากลางล่าง – ใครที่ชอบกุ้งชุบแป้งทอดและปูชุบแป้งทอด คงสบโอกาสแล้ว
ซ้ายล่าง – ผลไม้สดและผลไม้หั่นชิ้นเจ้านี้มีสับปะรด มะม่วงเบา ฝรั่งแช่บ๊วย ฝรั่งสด แตงโม มะละกอ และมะม่วงมัน
ขวาล่าง – เดินโซนของกินทั้งที ถ้าขาดขนมไทยๆไป ชาวต่างชาติอาจเคืองได้ ซุ้มนี้เลยจัดข้าวเหนียวเปียกหน้ากะทิ สาคูไส้ไก่ ขนมต้ม ขนมมัน สังขยาฟักทอง ข้าวเหนียวกลอย และข้าวเหนียวมะม่วงมาให้ลิ้มลอง




ตอนนี้ก็ถึงช่องทางเดินที่สามของโซนของกิน ยลโฉมหน้าตาของกินต่อเนื่องเลย
ซ้ายบน – นักท่องเที่ยวยังเดินจับจ่ายของถูกปากอยู่ตลอด เราไปร่วมเปิดเมนูกัน
ขวาบน – แผงนี้มีข้าวผัดและผัดหมี่เหลืองท็อปปิ้งไส้กรอกชิ้นโตและไข่ดาวอีกใบ
ซ้ายกลางบน – ของกินเล่นและขนมร้านนี้จำหน่ายเครปกล้วยราดช็อกโกแลตกับหมูหยองราดมายองเนส ขนมโตเกียว แซนด์วิชหมูหยองน้ำสลัด และเมี่ยงคำ
ขวากลางบน – แม่ค้ากำลังทอดพืชผักธัญญาหารมาเป็นอีกทางเลือก โดยเริ่มจากดอกแค ตำลึง ใบบัวบก ดอกอัญชัน จนถึงเห็ดนางฟ้า
ซ้ายกลางล่าง – เดินไปเดินมาก็เข้าสู่ข่องทางเดินที่สี่ ด้านที่เป็นของกินจะอยู่เรือนไม้หลังที่สาม ส่วนด้านของใช้จะอยู่เรือนไม้หลังที่สี่ (ซึ่งตอนนี้ปล่อยเป็นหน้าที่ของอาหารไปก่อน) คนแถบนี้พลุกพล่านดี
ขวากลางล่าง – แผงนี้มาพร้อมยำ ส้มตำ และลาบสำหรับคนรักเมนูจัดจ้าน
ซ้ายล่าง – มาภาคใต้ ถ้าไม่เห็นขนมจีนน้ำยากะทิ น้ำยาป่า แกงไตปลา น้ำพริก และแกงเขียวหวาน คงเหมือนตกอะไรไป
ขวาล่าง – ช่องทางเดินนี้มีก๋วยเตี๋ยวเรือด้วย




เรามาถึงช่องทางเดินสุดท้ายของโซนสองแล้ว เคลียร์ให้ครบไปเลย
ซ้ายบน – ด้านหนึ่งของแผงเรือนไม้หลังที่สี่โซนสองก็หันเข้าโซนสามเช่นกัน แถบนี้มีอะไรน่าซื้อบ้าง ตามไปดู
ขวาบน – มุมนี้เป็นกางเกงผ้าแมมเบิดทั้งขาสั้นขายาว เจ้านี้เน้นเสื้อผ้าผู้หญิงอย่างเดียว
ซ้ายกลาง – ซุ้มนี้เป็นเสื้อผู้ชาย มีทั้งเชิ้ตแขนสั้น เสื้อยืด และเสื้อเด็กลายต่างๆ
- เสร็จสิ้นสำหรับโซนสองแล้ว เราไปสุ่มตัวอย่างช่องทางเดินที่หนึ่งของโซนสามต่อ เรือนไม้แนวขวางโซนนี้อลังการไปด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์จริงๆ
ขวากลาง – เจ้านี้จำหน่ายสินค้าหลากหลาย เริ่มตั้งแต่
กระเป๋า(ผักตบชวา)และกระเป๋าผ้า พวงกุญแจ กำไล สร้อยข้อมือ โมเดลรถสามล้อและช้าง รวมทั้งเสื้อลาย“หาดใหญ่”ที่แขวนเต็มฉากหลัง
ซ้ายล่าง – ชายมาเลเซียสองคนกำลังเลือกเสื้อ ขณะที่แม่ค้าแจกแจงสรรพคุณอยู่ ร้านนี้มีเสื้อเชิ้ตแขนยาว แจ๊กเก็ต กางเกงขาสั้นและกางเกงวอร์มของบุรุษ
ขวาล่าง – ลวดลายล้านนาภาคเหนือก็มีจำหน่ายในตลาดน้ำแห่งนี้ เสื้อ กางเกงขาสั้นขายาว และกระโปรงมีครบ
ล่าง – และภาพนี้ก็คือบรรยากาศช่องทางเดินแนวขวางที่หนึ่งของโซนสาม ซึ่งอย่างที่เคยบอกไปว่าเป็นช่องทางเดินกว้างที่สุด ลองย้อนดูรูปเปิด“ซ้ายบน”ของภาพชุดแรก ถ้าเดินไปทางขวาตามลานหินคลุกหรือตามแนวลึกของเรือนไม้โซนหนึ่ง เราจะไปทางโซนสอง แล้วถึงจะเป็นท่าน้ำคลองแห แต่ถ้าเราเลือกเดินตามลานหินคลุกไปทางซ้ายหรือแนวขวางหน้าเรือนไม้โซนหนึ่ง ก็จะเป็นภาพนี้ (จากภาพ ขวามือจะเห็นเรือนไม้สถาปัตยกรรมมลายู เรือนนี้เป็นซุ้มสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ซึ่งแทรกเดี่ยวขึ้นมาบริเวณช่องทางเดินที่หนึ่ง ข้างๆซุ้มนี้มีที่ให้นั่งพักด้วย ส่วนด้านหลังซุ้มเรือนเล็กนี้ก็คือเรือนไม้แนวขวางหลังที่สอง ขณะที่ด้านหลังเรือนไม้หลังที่สอง(ที่เรามองไม่เห็น)ก็เป็นช่องทางเดินที่สองถัดไป ส่วนเรือนไม้ทางซ้ายของภาพเป็นเรือนไม้ที่ยาวต่อเนื่องจากเรือนไม้แนวขวางหลังที่หนึ่ง แล้วหักเป็นรูปตัวแอลมาทางนี้ ดังนั้น แผงเสื้อเด็กสีแดงที่เห็นจึงเป็นแผงของเรือนไม้หลังที่หนึ่ง(ที่หักเป็นรูปตัวแอลมาแล้ว) ทีนี้ถ้าเราเดินตรงเข้าไปในช่องทางเดินนี้(ที่ชายเสื้อแดงมุมไกลกำลังเดินมา) ก็จะเจอถนนคอนกรีตและโซนสี่ต่อไป




หลังจากเห็นตัวอย่างสินค้าและคำอธิบายคร่าวๆของช่องทางเดินแนวขวางที่หนึ่งโซนสามเรียบร้อย เราไปเข้าช่องทางเดินที่สองต่อเลย
ซ้ายบน – ช่องทางเดินนี้จัดว่าคึกคักทีเดียว เครื่องนุ่งห่มมากันเต็มพื้นที่ ไปชมดีกว่า
ขวาบน – เจ้านี้จำหน่ายเสื้อผ้าสตรีมุสลิมวัยกลางคนและสูงวัย มีทั้งเล่นลวดลายมากน้อยต่างกันไป
ซ้ายกลางบน – ป้าร้านนี้มีข้าวของที่สาววัยรุ่นและวัยทำงานน่าจะชอบกัน เช่น สบู่มะขามผสมน้ำผึ้ง สบู่น้ำนมข้าว ครีมหน้าขาว แป้งทาตัว ดินสอเขียนคิ้ว โฟมล้างหน้า ครีมไข่มุก ลิปสติก สบู่สมุนไพร ยาทาเล็บ แฮร์ครีมกำจัดกลิ่น ฯลฯ
ขวากลางบน – มุมนี้นำแว่นตาแฟชั่นชายหญิงหลายรูปแบบมาช่วยเสริมเอกลักษณ์
ซ้ายกลางล่าง – จากนั้นมาชมผู้คนในช่องทางเดินที่สามจับจ่ายซื้อของต่อ
ขวากลางล่าง – ชาวมาเลเซียหลายกลุ่มมาเที่ยวกันเป็นครอบครัว เราเลยเห็นเสื้อเด็กชายหญิงกระจายทั่วตลาดน้ำ
ซ้ายล่าง – แผงนี้มาพร้อมหมวกแก๊ป หมวกทหาร หมวกสาน และงอบ
ขวาล่าง – แม่ค้าเจ้านี้นำรองเท้าแตะสตรีมาวางขายสารพัดแบบ ส่วนรองเท้าบุรุษมีไม่มากนัก




เราวกเข้าสู่ช่องทางเดินแนวขวางที่สี่เลย
ซ้ายบน – ทั้งสองฟากเต็มไปด้วยซุ้มร้านค้า ขณะที่ชาวมาเลเซียให้การตอบรับทุกช่องทางเดิน
ขวาบน – แผงหัวมุมเจ้านี้จำหน่ายเป้ กระเป๋าสะพาย และกระเป๋าถือมากมาย (หญิงมาเลเซียคนนี้กำลังเลือกลายอยู่ ส่วนลูกชายยืนมองเป้อยู่หน้าร้าน)
ซ้ายกลางบน – เสื้อผ้าล้านนา ผ้าถุงอีสาน และเสื้อม่อฮ่อมก็เป็นอีกหนึ่งสีสัน
ขวากลางบน – หน้าร้านซุ้มนี้จัดเรียงเสื้อและกางเกงสตรีมุสลิมสไตล์โมเดิร์นครบทุกตารางนิ้ว
- จากนี้ไปเป็นช่องทางเดินที่ห้าระหว่างเรือนไม้หลังที่ห้ากับหกและช่องทางเดินที่หกระหว่างเรือนไม้หลังที่หกกับเจ็ด แต่เรือนไม้หลังที่หกซึ่งคั่นกลางระหว่างสองช่องทางเดินนี้กว้างเท่ากับหนึ่งแผงเท่านั้น ดังนั้นภายในหนึ่งแผงจึงหันหน้าออกทั้งสองช่องทางเดิน ส่วนแผงเรือนไม้หลังที่เจ็ดจะเป็นแผงเดี่ยวและหันหน้าเข้าช่องทางเดินที่หก ส่วนอีกด้านเป็นผนังร้าน)
ซ้ายกลางล่าง – บรรยากาศช่องทางเดินที่ห้า เสื้อแสงยังครองใจมหาชน ส่วนนักท่องเที่ยวก็ชมสินค้าถูกใจต่อไป
ขวากลางล่าง – อาหารแผงนี้ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อเปื่อย ก๋วยเตี๋ยวไก่ ข้าวมันเนื้อ และข้าวมันไก่ (จากภาพ ร้านอาหารนี้ตั้งอยู่ตำแหน่งเรือนไม้หลังที่หกและเปิดโล่งทั้งซ้ายขวา ดังนั้น ถ้ามองจากด้านนี้ ซ้ายมือคือช่องทางเดินที่ห้าและขวามือก็คือช่องทางเดินที่หก ส่วนด้านหลังแผงทำเป็นที่นั่งกินซึ่งติดทั้งสองช่องทางเดินนั่นเอง)
ซ้ายล่าง – มาถึงช่องทางเดินที่หกแล้ว ผลิตภัณฑ์ผ้ายังฮอตฮิตติดลมบนไม่เปลี่ยน (จากภาพ มุมไกลมีชายมาเลเซียกำลังเลือกเสื้อโปโลอยู่)
ขวาล่าง – หัวมุมนี้เป็นงานฝีมือกระเป๋าและตะกร้าสาน




ตัวอย่างสินค้าทั้งหกช่องทางเดินของโซนสามเป็นอันสัมฤทธิ์ผล ต่อไปเป็นถนนคอนกรีตเพื่อดูสินค้าโซนสี่ต่อ
ซ้ายบน – นาทีนี้เรากำลังยืนอยู่ฝั่งโซนสาม ซึ่งจะเห็นถนนที่มีนักท่องเที่ยวเดินกันขวักไขว่ ขณะที่ฝั่งตรงข้ามถนนมีบ้านและเพิงโครงเหล็กเป็นล็อกๆติดกันไป ซึ่งก็คือ แผงสินค้าโซนสี่ที่ยาวเลียบแนวถนนนั่นเอง
ขวาบน – ใครแม่น คงต้องประลองฝีมือกันหน่อย บนกระดานตารางเบื้องหน้า ถ้าปาลูกดอกเข้าหมายเลข 1 หรือ 2 รับตุ๊กตาหนึ่งตัวไปเลย ถ้าปาไม่ติด ให้ปาใหม่ แต่ถ้าปาโดนศูนย์ จบเกม (จากภาพ สาวมาเลเซียสวมฮิญาบกลุ่มนี้กำลังเฮฮาปาจิงโกะกับการเล็งเป้า)
ซ้ายกลาง – ชายมาเลเซียคนนี้พาครอบครัวมาเที่ยว ตอนนี้ควักเงินจ่ายค่าลูกบอลเพื่อปาถ้วยสแตนเลสสามใบที่ตั้งอยู่ ถ้าปาให้ถ้วยทั้งสามใบกระเด็นคว่ำหมดได้ รับไปเลยตุ๊กตาหนึ่งตัว (ทุกคนรอบข้างต่างลุ้นระทึกแทน)
ขวากลางบน – แผงนี้จำหน่ายเสื้อและกางเกงสตรีลายพราง ตอนนี้แม่ค้ากำลังแนะนำไซส์ให้ลูกค้า
ขวากลางล่าง – ล็อกนี้มีลวดลายผ้าปาเต๊ะมากมาย นอกจากนี้ยังมีกระโปรงและโสร่งด้วย
ซ้ายล่าง – แล้วเราก็มาถึงไฮไลต์ของตลาดน้ำคลองแหเสียที ชาวมาเลเซียต่างแห่แหนมาท่าน้ำคลองแหเพื่อซื้อของกินในเรือ และเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นคือพลเมืองมาเลเซียทั้งนั้น โดยมีชาวมาเลย์และชาวจีนมากพอกัน ที่เหลือคือชาวอินเดีย โดยเฉพาะด้านบนของภาพที่ใกล้บันไดขึ้นลงจากโซนสอง(หรือโซนอาหาร) จำนวนคนที่เดินลงมาสมทบทำให้ริมคลองดูสับสนอลหม่าน แต่ก็สร้างสีสันไปในตัว บางคนยืนออเพื่อรอเข้าคิวซื้อของกินจากในเรือที่จอดเรียงรายนับสิบลำ ขณะที่หลายคนก็เดินเลือกของถูกปากอยู่ เมื่อได้ของกินถูกใจแล้ว นักท่องเที่ยวก็เข้าไปนั่งกินใต้เรือนไม้หลังคาใบสาคูด้านหลังตามภาพ
ขวาล่าง – คราวนี้มาเจาะบรรยากาศนักท่องเที่ยวที่ท่าน้ำคลองแหกัน ลูกค้าคนไหนต้องการอะไร ก็พูดภาษาอังกฤษบ้าง มลายูบ้าง จีนกลางบ้าง ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าคนไทยก็พอมีพื้นฐานภาษาขายของอยู่แล้ว อีกอย่างหลายคนที่นี่เป็นคนไทยมุสลิม เลยพอพูดมลายูถิ่นได้บ้าง แต่บางคนมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง ก็สื่อสารมลายูถิ่นกับชาวมาเลเซียสะดวกโยธิน ทีนี้เมื่อเมนู(ที่เราสั่ง)เสร็จเรียบร้อย คนขายจะยื่น“ไม้ถือ”(หรือไม้ที่ผูกติดกับกระจาด แล้วใส่ของกินไว้)มาด้านหน้าให้ลูกค้า ลูกค้าก็หยิบของกินไป แล้ววางเงินใส่กระจาด แฮปปี้กันทุกฝ่าย ที่สำคัญอีกอย่างคือ ภาชนะส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นตุ๊กตาดินเผา กระบอกไม้ไผ่ กะลา และใบตอง ซึ่งชาวมาเลเซียหลายคนก็นิยมภาชนะเหล่านี้ แต่จาน ถ้วย และแก้วปกติก็มี




ไปดูกับข้าวกับปลาในเรือดีกว่าว่าจะอุดมสมบูรณ์แค่ไหน
ซ้ายบน –
ป้าปรุง"ผัดไทยกุ้งสด"ตามออเดอร์อยู่
ขวาบน – ส่วนเรือลำนี้ขายซุปตีนไก่(หรือซูเปอร์ตีนไก่) ก๋วยเตี๋ยวต้มยำซีฟู้ด ก๋วยจั๊บไก่ และก๋วยจั๊บเนื้อเปื่อย (เรือบางลำก็มีลูกมือนั่งอยู่หน้าเรืออีกคนคอยส่งอาหารและรับเงินแทน“ไม้ถือ”)
ซ้ายกลางบน –
หม้อใหญ่พร้อมไข่นกกระทาและน่องไก่นี้คือ"กระเพาะปลา"
ขวากลางบน – เจ้านี้ขายข้าวหมกไก่และหมกไก่ทอด รวมทั้งไก่กอและ
ซ้ายกลางล่าง – ที่เห็นนี้คือ"ทะเลทอด" ซึ่งมีหอยแมลงภู่ หมึก และปูอัดลงไปคลุกเคล้ากับไข่
ขวากลางล่าง – สำหรับร้านนี้มีทอดมันปลาอินทรีกับยำของนึ่งต่างๆตั้งแต่ไส้กรอก ลูกชิ้น กุ้งหิมะ ไปจนถึงเต้าหู้ปลาและเต้าหู้ปูอัด
ซ้ายล่าง – แม่ค้าเปิดซึ้งให้ดูว่าในกระบอกไม้ไผ่เหล่านี้คือ"ห่อหมกนึ่งซีฟู้ด" (กำลังร้อนได้ที่เลย)
ขวาล่าง –
พ่อค้ากำลังจับตะหลิวทำ"ขนมปังทอดสอดไส้"

 


อาหารการกินในเรือยังมีเยอะกว่านี้ แต่เราขอสุ่มอีกหนึ่งตัวอย่างแล้วกัน
ซ้ายบน – และ
คนขายลำนี้มีน้ำลิ้นจี่ ลำไย มะพร้าว ชาเย็น และส้มมาให้คลายร้อน (จากภาพ กระบอกไม้ไผ่ทัดดอกกล้วยไม้พร้อมอยู่หน้าร้านแล้ว อยากใส่แก้วหรือกระบอกไม้ไผ่ก็บอกคนขายเลย แต่ราคากระบอกเพิ่มอีกนิดหน่อย)
- หลังจากเดินครบทุกจุดของฝั่งเทศบาลแล้ว เราเดินข้ามสะพานไปถนนเลียบกำแพงหน้าวัดคลองแหอีกฟากเลย
ขวาบน – สะพานข้ามคลองแหมีชื่อว่า“สะพานบุญคลองแห” ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลต์ที่นักท่องเที่ยวชอบมายืนถ่ายรูปกัน โดยยืนบริเวณรั้วสะพาน แล้วให้ตลาดน้ำด้านล่างเป็นวิวฉากหลังทอดยาวออกไปท่ามกลางแสงอาทิตย์อัสดง (อนึ่ง บนสะพานไม่มีการขายสินค้าใดๆ)
ซ้ายกลางบน – เมื่อข้ามสะพานมาแล้ว ถนนสายเดิมจากโซนสี่ก็พาเรามาถนนหน้าวัดคลองแหต่อ โดยฝั่งซ้ายเป็นเพิงโครงเหล็กแบ่งเป็นล็อก แผงลอยริมถนน รวมทั้งเปิดหน้าร้าน ส่วนฝั่งขวาเป็นแผงลอยเลียบกำแพงหน้าวัดทั้งหมด ซึ่งทั้งสองฝั่งไปสุดเขตถนนคนเดินที่หน้าประตูวัด ขณะที่นักท่องเที่ยวจากเมืองหาดใหญ่อีกส่วนหนึ่งก็เข้ามาจากเส้นทางนี้ วินาทีนี้จำนวนคนมาเลเซียยังนำขาดลอยในทุกพื้นที่
ขวากลางบน – ล็อกนี้จำหน่ายเสื้อยืดชาย (มีวัยรุ่นและผู้ใหญ่เข้ามาดูพอสมควร)
ซ้ายกลางล่าง – ผลิตภัณฑ์หนังตะลุงมีมาวางแผงเช่นกัน ส่วนข้างๆเป็นสลากกินแบ่ง
ขวากลางล่าง – แม่ค้ามุสลิมนำกระเป๋าถือลายสีใบใหญ่(ที่ทำจากต้นกระจูด)และกระเป๋าสะพายแขวนอยู่ด้านข้าง(ที่ทำจากต้นผักตบชวา)มาขาย เห็นหลายคนเข้ามาสอบถามกัน
ซ้ายล่าง – โต๊ะนี้นำโคมไฟตุ๊กตาสีน่ารักๆมานำเสนอ
ขวาล่าง – ขอทิ้งทวนตลาดน้ำคลองแหกับน้าร้านนี้ที่นำกุ้งแห้ง หมึกบด ลูกเกด อัลมอนด์ แมคาเดเมีย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พิชตาชีโอ พุทราจีนเชื่อม พุทราจีนอบแห้ง และลำไยแห้งมาจำหน่ายนักท่องเที่ยว

TODAY THIS MONTH TOTAL
328 5265 297657
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top