สะพานสารสินเป็นสะพานแรกที่สร้างข้ามช่องแคบปากพระและเชื่อมระหว่างบ้านท่าฉัตรไชยในจังหวัดภูเก็ตกับบ้านท่านุ่นในจังหวัดพังงาบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 โดยมีกรมทางหลวงเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งมีทั้งหมดสองช่องการจราจร สำหรับโครงสร้างสะพานเป็นคอนกรีตอัดแรง มี 8 ช่วง ช่วงยาว 50 เมตร 6 ช่วง ช่วงยาว 30 เมตร 2 ช่วง มีทางรถกว้าง 8 เมตร ทางเท้าข้างละ 1.50 เมตร และมีทางเชื่อมฝั่งบ้านท่าฉัตรไชยยาว 186 เมตร ทางเชื่อมฝั่งบ้านท่านุ่นยาว 114 เมตร รวมความยาวสะพาน 660 เมตร โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นผู้ประกอบพิธีเปิดสะพานเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2510 ส่วนชื่อสะพานตั้งชื่อตามนามสกุลของนายพจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติในขณะนั้น
เรื่องราวที่ทำให้สะพานสารสินเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ ตำนานรักสะเทือนใจที่ไม่สมหวังของนายดำ แซ่ตันและนางสาวกาญจนา แซ่หงอ โดยนายดำเป็นเพียงคนขับรถสองแถว(หรือรถโพถ้อง)ระหว่างสะพานสารสินในตำบลไม้ขาวและตัวเมืองภูเก็ต รวมทั้งรับจ้างกรีดยาง ส่วนนางสาวกาญจนามีฐานะดีกว่าและเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครูภูเก็ต โดยทางบ้านนางสาวกาญจนาได้กีดกันไม่ให้คนทั้งสองคบหากัน ในที่สุดทั้งคู่จึงตัดสินใจกระโดดน้ำจบชีวิตกลางสะพานสารสินโดยใช้ผ้าขาวม้ามัดตัวทั้งสองคนไว้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516 เรื่องราวทั้งคู่โด่งดังไปทั่วและทำให้สะพานสารสินเป็นที่รู้จักจนมีการสร้างเป็นภาพยนตร์โดยผู้กำกับเปี๊ยก โปสเตอร์ในชื่อ“สะพานรักสารสิน”เมื่อปี พ.ศ.2530 นำแสดงโดยรอน บรรจงสร้างและจินตรา สุขพัฒน์
ต่อมาในปี พ.ศ.2535 มีการสร้างสะพานท้าวเทพกระษัตรีเป็นสะพานคู่ขนานสะพานสารสินเพื่อระบายการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น โดยให้สะพานสารสินเป็นเส้นทางขาออกจากจังหวัดภูเก็ตและสะพานท้าวเทพกษัตรีเป็นเส้นทางขาเข้า แต่การจราจรที่ยังคับคั่งต่อเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต สภาพทรุดโทรมของสะพานสารสินจนไม่อาจซ่อมแซมให้สมบูรณ์ได้ อีกทั้งเรือประมงและเรือท่องเที่ยวมักชนสะพานสารสินบ่อยครั้งเนื่องจากมีช่องลอดใต้สะพานต่ำ ทำให้มีการจัดสรรงบสร้างสะพานสารสิน 2 (หรือสะพานท้าวศรีสุนทร)ขึ้นในปี พ.ศ.2552 เพื่อทดแทนสะพานสารสินที่ใช้งานมากว่า 42 ปี โดยสะพานสารสิน 2 (หรือสะพานท้าวศรีสุนทร)เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2554
ส่วนสะพานสารสินได้มีการรื้อช่วงกลางสะพานเดิมออกไป แล้วปรับปรุงให้เป็นสะพานลอยคนเดินข้ามพร้อมสร้างหอชมวิวสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสผสมผสานอาคารหลังคาทรงปั้นหยาแบบภาคใต้ โดยยกช่วงกลางสะพานให้สูงเท่ากับสะพานท้าวเทพกษัตรีและสะพานสารสิน 2 (หรือสะพานท้าวศรีสุนทร)เพื่อให้การคมนาคมทางน้ำสะดวกและปลอดภัยขึ้น ปัจจุบันสะพานสารสินกลายเป็นหนึ่งในสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต
ทุกครั้งที่นั่งรถข้ามสะพานสารสิน 2 (หรือสะพานท้าวศรีสุนทร)จากอำเภอถลางไปอำเภอโคกกลอยทีไร ซ้ายมือจะเห็นสะพานสารสินเดิมซึ่งเคยใช้สัญจรทางรถข้ามเกาะภูเก็ตเช่นกัน แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นสะพานคนเดินข้ามและปรับปรุงทัศนียภาพบนสะพานใหม่หมด ครั้งนี้จึงอยากเปลี่ยนจากการนั่งรถเป็นการเดินข้ามเกาะแทนบ้าง
บน – วันนี้ลมดีอะไรปานนี้ ต้นปาล์มปลิวกันให้ว่อน สะพานสารสินจากบ้านท่าฉัตรไชยของอำเภอถลางก็ดูสวยสะอาดตา (จากภาพ ทางเชื่อมช่วงนี้เป็นแนวเดียวกับสะพานสารสินเดิมที่เคยใช้สัญจรทางรถ ส่วนด้านหน้าเป็นบันไดขึ้นสะพานสารสิน(ที่ยกระดับในภายหลัง))
ซ้ายบน – ตอนนี้มาถึงหน้าบันไดทางขึ้นลงแล้ว ด้านบนมีศาลาด้วย
ขวาบน – ระหว่างเดินขึ้นบันได เราจะเห็นสะพานสารสินยกระดับ(หรือสะพานคนเดิน)และมีหอชมวิวแปดเหลี่ยม(ซึ่งเป็นไฮไลต์ของสะพานสารสิน)อยู่กลางสะพานคนเดินข้าม
ขวากลาง – เมื่อขึ้นมาด้านบน ก็จะพบศาลาตามนี้ แดดร้อนก็หลบร่มได้ (จากภาพ จุดนี้คืออยู่บนสะพานคนเดิน แล้วเดินเลยจากศาลาออกมาก่อน จากนั้นหันกลับไปมองศาลาอีกครั้ง)
ซ้ายล่าง – จากที่มองศาลาเมื่อสักครู่ เราหันกลับ แล้วมุ่งหน้าเดิน หอชมวิวแปดเหลี่ยมก็ปะทะสายตาทันที
ขวาล่าง – ภาพหอชมวิวแปดเหลี่ยมสไตล์ชิโนโปรตุกีสกลางสะพานคนเดินในระยะใกล้ หอชมวิวหลังนี้มีสองชั้น อีกไม่กี่อึดใจก็เห็นวิวแล้ว
เดินกันต่อบนสะพานคนเดิน
ซ้ายบน – ตำแหน่งนี้อยู่ภายในหอชมวิวที่มองจากชั้นล่างขึ้นไปชั้นบนและมีบันไดโค้งขึ้นได้ทั้งสองฝั่ง
ขวาบน – ตอนนี้เราอยู่ชั้นบนและมองไปยังตำแหน่งยืนชมวิว ด้านนอกเป็นสะพานคนเดินข้ามจากอำเภอถลางที่เพิ่งเดินมา (จากภาพ เราจะเห็นรถบรรทุกสิบหกล้อและรถกระบะกำลังมุ่งหน้าเข้าบ้านท่าฉัตรไชยบนสะพานท้าวเทพกษัตรี ส่วนรถบัสนำเที่ยวสีขาวและรถอีกสี่ห้าคันที่ตามหลังมา(ซึ่งวิ่งมาทางตัวเรา)กำลังไปฝั่งบ้านท่านุ่นบนสะพานสารสิน 2 (หรือสะพานท้าวศรีสุนทร))
ขวากลางบน – ยังอยู่ชั้นบนเหมือนเดิม แต่ลองมองดูด้านล่างของหอชมวิวบ้าง ทั้งนี้ยังเห็นชั้นสองแบ่งเป็นสองฝั่ง แต่เราสามารถเดินเชื่อมชั้นบนถึงกันได้ด้วยทางเดินแปดเหลี่ยมรอบหอชมวิวด้านนอก
ซ้ายกลาง – พูดถึงทางเดินแปดเหลี่ยมรอบหอชมวิวชั้นสอง เราออกไปดูกันสักสองมุม มุมนี้ทำให้เราเห็นสะพานคนเดิน(ที่ยกระดับและศาลาอีกฟากหนึ่ง)ก่อนลงบันไดไปฝั่งบ้านท่านุ่น
ขวากลางล่าง – ส่วนมุมนี้คงรู้สึกผิดอย่างมหันต์ ถ้าไม่เก็บภาพมาฝากกัน เพราะเบื้องหน้าก็คือ ช่องแคบปากพระนั่นเอง
ซ้ายล่าง - บรรยากาศบันไดทางลง ภาพเบื้องหน้าก็คือสะพานสารสินแนวเดิมที่เชื่อมบ้านท่านุ่นของอำเภอโคกกลอย ตอนนี้ทุกอย่างเป็นอันเสร็จพิธี
- สะพานดังขนาดนี้ แน่นอนว่า ร้านค้าและนักท่องเที่ยวย่อมเป็นของคู่กัน
ขวาล่าง - คราวนี้กลับไปที่คอสะพานสารสินฝั่งบ้านท่าฉัตรไชยอีกครั้ง บริเวณนี้จะมีแผงลอยประมาณ 20 ร้าน ถ้าดูในภาพนี้ ทีมงานยืนอยู่บริเวณสะพานสารสิน แล้วมองเข้าโซนแผงลอยเลย ดังนั้นแผงลอยฝั่งซ้ายจะอยู่เลียบข้างสะพานสารสิน 2 (หรือสะพานท้าวศรีสุนทร)เป็นช่วงสั้นเนื่องจากมีลานหญ้าข้างสะพานมากั้น ขณะที่ขวามือมีแผงลอยเรียงรายมากกว่าเนื่องจากเป็นพื้นที่ริมถนนตลอดแนว ส่วนตรงกลางเป็นถนนให้รถวิ่ง สำหรับประเภทแผงลอยมีรถพ่วงข้างเป็นอันดับหนึ่ง ที่เหลือมีโต๊ะพับ ราวแขวน กระบะเปิดท้าย รถซาเล้ง และเต็นต์พับ สินค้าที่ขายมากที่สุดคือ ของกิน
รายการสินค้า - ของกินมีดังนี้ ยำมาม่า ยำมะม่วง หมึกบด ไข่ปิ้ง ถั่วต้ม ปูจักจั่นนึ่ง เกี๊ยวทอด มันฝรั่งทอด ขนมขาหมู ปอเปี๊ยะทอด ไข่ไก่แผง กล้วยปิ้งไส้ทะลัก(ซึ่งมีห้าไส้คือ ชาเขียว เผือก มันม่วง สับปะรด และฝอยทอง) มันปิ้ง กล้วยปิ้ง(ราดน้ำกะทิ) ลูกชิ้นทอด และไส้กรอกทอด สำหรับของหวานกินกับน้ำแข็งมีน้ำแข็งไส(ซึ่งมีตัวเลือกดังนี้ ขนมปัง เม็ดแมงลัก มันเชื่อม สับปะรดเชื่อม ลูกชิด บุกฟรุตสลัดสามสี เฉาก๊วย วุ้นมะพร้าว ฟักทองเชื่อม และวุ้นใส) รวมทั้งเฉาก๊วยโบราณและเฉาก๊วยนมสด หมวดผลไม้มีกล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง มะละกอ มะม่วงแก้วขมิ้น และส้มโอ เครื่องดื่มใส่แก้วมีกาแฟร้อนเย็น โอเลี้ยง ชาเย็น ชาดำเย็น ชาเขียว โอวัลติน โกโก้ นมสด นมเย็น แดงโซดา เขียวโซดา โค้ก แฟนต้า(น้ำส้ม น้ำเขียว และน้ำแดง) และสไปรท์ ส่วนเครื่องดื่มแช่ลังน้ำแข็งมีเอ็มเพรสโซ(รสโรบัสตาและรสเอสเพรสโซ) เอ็มร้อยห้าสิบ โค้ก เป๊ปซี่ แฟนต้า(น้ำส้มและน้ำแดง) โออิชิรสน้ำผึ้งมะนาว น้ำดื่มน้ำทิพย์ และน้ำดื่มคริสตัล ทั้งนี้ยังมีร้านอาหารซีฟู้ดริมทะเลอีกหนึ่งร้าน สำหรับสินค้าอุปโภคมีเสื้อผ้าชายหญิง เสื้อที่ระลึก“สะพานรักสารสิน” และของเล่นเด็ก(เช่น ตุ๊กตาเป็ดเหลือง หุ่นยนต์ ธนู ปืนกล นาฬิกา ดาบกายสิทธิ์ ลูกกวาดกังหัน ฯลฯ)
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
422 | 5359 | 297751 |