หมอนรางรถไฟสุดท้ายของสายใต้ (สุไหงโก-ลก)

คำอธิบาย


สะพานรถไฟสายนี้เป็นเส้นทางที่เชื่อมมาจากสถานีสุไหงโก-ลกของประเทศไทย (ซึ่งขบวนรถไฟไทยจากทางเหนือจะล่องมาสิ้นสุดที่สถานีนี้) จากนั้นรางรถไฟก็ข้ามแม่น้ำโก-ลก แล้วไปบรรจบกับชายแดนไทยมาเลเซีย

สำหรับสะพานเหล็กนี้มีการเสริมความมั่นคงสะพานจนถึงชายแดนฝั่งไทย ซึ่งออกแบบโดยกองสำรวจสะพาน มีค่าใช้จ่ายในการสร้างอยู่ที่ 27,460,000 บาท และสร้างเสร็จเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2560 ทั้งนี้เมื่อพ้นหมอนรางรถไฟสุดท้ายของชายแดนไทยบริเวณรั้วแดงไป สถานีต่อไปของฝั่งมาเลเซียก็คือสถานีรถไฟรันเตาปันจังนั่นเอง



ทีมงานเคยข้ามไปประเทศมาเลเซียที่ด่านสุไหงโก-ลกอยู่หลายครั้ง จะเห็นสะพานสร้างใหม่นี้อยู่ทางซ้ายไม่ไกล วันนี้ได้จังหวะนั่งรถไฟปู๊นปู๊นมาลงอำเภอสุไหงโก-ลกอีกครั้ง เลยตัดสินใจเดินเล่นริมรางรถไฟไปเรื่อยๆเพราะตั้งใจไปดูสะพานเหล็กพร้อมกับหมอนรางรถไฟหมอนสุดท้ายแบบม้วนเดียวจบไปเลย
บน – ในที่สุดก็เดินมาถึงสะพานเหล็กที่จะพาเราข้ามแม่น้ำโก-ลกไปชายแดนไทยแล้ว บริเวณนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสะพาน ซึ่งส่วนใหญ่จะทาสีดำ ทำให้ดูน่าเกรงขาม (หลายครั้งเราคงเคยได้ยินชาวบ้านเรียกสะพานรถไฟว่า“สะพานดำ”ก็ด้วยเหตุผลนี้)

 


เราไปเก็บภาพรวมของสะพานเหล็กกันดีกว่า
ซ้ายบน – เดินตามรางรถไฟมา ด้านหน้าไกลลิบๆคือสะพานเหล็ก ซึ่งเป็นเป้าหมายของเรา
ขวาบน – ตอนนี้กำลังประจันหน้ากับปลายแหลมของรางยึดหมอนรางรถไฟก่อนเข้าสู่ตัวสะพาน
ขวากลางบน – เมื่อเดินขึ้นมา เบื้องหน้าก็คือรางรถไฟบนสะพานเหล็ก
ซ้ายกลาง – วินาทีนี้เรากำลังอยู่กลางสะพาน โครงหลังคาดูสูงตระหง่านดี (จากภาพ ทางขวาติดตั้งตัววัดระดับน้ำในแม่น้ำหรือคลองของกรมชลประทานและมีแผงโซลาร์เซลล์อยู่ด้านบน)
ขวากลางล่าง – ตลอดฝั่งขวามือของสะพาน เราจะเห็นแม่น้ำโก-ลกและสะพานรถข้ามจากฝั่งไทย(ไปฝั่งมาเลเซีย)ด้วย
ซ้ายล่าง – ตอนนี้เข้าใกล้ชายแดนไทยแล้ว ทางซ้ายเป็นหอ(สีเขียว)ไว้คอยสังเกตการณ์ ซึ่งอยู่ในเขตมาเลเซีย ส่วนอาคารสีขาวฝั่งขวาเป็นที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซีย
ขวาล่าง – แล้วเราก็มาถึงรั้วสีแดงที่กั้นชายแดนไทยมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ด้านหลังรั้วสีแดง ถ้ารถไฟวิ่งต่อไป ก็จะเจอสถานีรถไฟรันเตาปันจังของมาเลเซีย ขณะที่หมอนรางรถไฟสุดท้ายก็อยู่ใต้รั้วสีแดงล่างสุดนั่นเอง และถึงแม้ว่ารางรถไฟสายนี้จะหยุดให้บริการมานานแล้ว โดยเปลี่ยนไปใช้สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ของไทยเพื่อเชื่อมกับมาเลเซียแทน แต่สะพานเหล็กนี้ยังคงสะท้อนเรื่องราวในอดีตให้เราเห็นว่าครั้งหนึ่งรางรถไฟสายนี้ก็เคยเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ระหว่างสองประเทศเช่นกัน

TODAY THIS MONTH TOTAL
402 5339 297731
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top