ถนนนั่งยองทองผาภูมิ

คำอธิบาย


(สามารถคลิกอ่านคำอธิบายของกินของใช้ได้ที่"คำอธิบาย")

ทุกๆสิ้นปีจนถึงปีใหม่เป็นเวลา 3 วันตั้งแต่เช้าถึงสองทุ่ม บริเวณถนนบุษปวานิชใกล้ตลาดสดทองผาภูมิจะปิดการสัญจรทางรถเพื่อจัดกิจกรรมถนนคนเดินส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในชื่อ“ถนนนั่งยองทองผาภูมิ” โดยพ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านจะนำของกินของใช้ต่างวัฒนธรรมมารวมกันไว้ที่นี่ รวมทั้งการแสดงท้องถิ่นและวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง พม่า นักเรียนในอำเภอ พร้อมเสียงประชาสัมพันธ์ผ่านลำโพงตลอดวัน

สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ ล็อคขายของจะจัดวางอาหารคาวหวานบนแผงโต๊ะเตี้ยๆตลอดถนนคนเดิน บางแผงมีเก้าอี้ตัวเล็กให้ผู้มาเที่ยวงานได้นั่งกินที่หน้าแผงเลย ขณะที่บางเจ้าก็เป็นแบบซื้อกลับไป นอกจากนี้ยังมีโต๊ะสแตนเลส ราวแขวน รถเข็นริมทางอีก

เริ่มจากด้านหน้างาน ฝั่งซ้ายเป็นอาคารโครงเหล็กตลาดเทศบาลทองผาภูมิ ส่วนฝั่งขวาเป็นตึกแถวและเวทีแสดงยกพื้นสูง จุดนี้จะมีประตูไม้ไผ่(หรือที่คนโบราณเรียกว่า“ประตูย่องสาว”)ให้ผู้คนได้เดินลอดเข้างานด้วย เมื่อมาถึงทางเข้าถนนคนเดิน จะมีศาลาไม้มุงจากและตั้งป้ายไม้ไว้ข้างๆโดยเขียนว่า“ถนนนั่งยอง ทองผาภูมิ”พร้อมวางเก้าอี้เตี้ยๆให้นักท่องเที่ยวได้นั่งถ่ายรูปคู่ป้าย

คราวนี้ถ้าเรามองจากถนนคนเดินเข้าไป แผงขายของจะเป็นโต๊ะเตี้ยๆอยู่ตรงกลางถนน(เหมือนเกาะกลาง)และจัดแผงเป็นแบบสองแถวหันหลังชนกัน แต่ละแผงหันหน้าไปฝั่งทางเดินของตนเอง ทำให้มีสองช่องทางเดินโดยปริยายคือ ช่องทางเดินที่หนึ่งฝั่งซ้ายและช่องทางเดินที่สองฝั่งขวา ส่วนบ้านริมถนนทั้งสองฟากมีทั้งเปิดหน้าร้านและไม่เปิดขายของ สำหรับบนฟุตบาทตามหน้าบ้านก็มีแผงลอยเช่นกัน

ทีนี้เราเลือกสำรวจช่องทางเดินที่หนึ่งหรือฝั่งซ้ายของถนนคนเดินก่อน ฝั่งขวาของทางเดินก็คือโต๊ะเตี้ยๆตลอดงาน แต่ระหว่างทางของโต๊ะเตี้ยๆยังมีทางเดินตัดขวางเพื่อเชื่อมช่องทางเดินทั้งสองฝั่งเป็นระยะๆให้คนในงานเดินข้ามไปมาได้ โดยจุดเด่นแต่ละทางเชื่อมก็คือ ทางเชื่อมที่หนึ่งมีโต๊ะไม้ทรงกลมขนาดใหญ่พร้อมเก้าอี้เล็กๆให้คนในงานนำของมานั่งกินกัน ส่วนทางเชื่อมที่สองเป็นศาลามุงจากให้นักท่องเที่ยวนั่งพักหรือกินของที่ซื้อมา ขณะที่ทางเชื่อมที่สามก็เป็นศาลามุงจากเช่นกัน นอกจากนี้แผงแถวกลางตลอดสายยังมีทางเดินตัดขวางเล็กๆในแต่ละช่วงที่สามารถเดินทะลุไปมาทั้งสองช่องทางเดินเพื่อให้คนขายเดินเข้าออกได้ด้วย

ทีนี้เรามาดูของกินของใช้ฝั่งซ้ายขวาของช่องทางเดินที่หนึ่งกัน เริ่มจากฝั่งโต๊ะเตี้ยๆก่อน ของที่ขายก็มีของอบนึ่ง ขนมกะเหรี่ยง ของกินเล่น พืชไร่ เบเกอรี่ เครื่องดื่ม ชากาแฟ ผลไม้ อาหารทั่วไป ขนมจีนน้ำยา ขนมปัง เบเกอรี่ ขนมไทย ของปิ้งย่าง ต้นไม้ประดับ ของแห้ง เครื่องประดับสตรี ของทอด ของหมักดอง ผลไม้อบแห้ง และอาหารเหนือ ขณะที่ฝั่งซ้ายตามหน้าร้านและแผงลอยบนฟุตบาทก็เริ่มจากเครื่องแต่งกาย กระเป๋า ของใช้ในบ้าน ของทอด เบเกอรี่ เครื่องครัว งานบริการ ของกินเล่น เครื่องสังฆภัณฑ์ เสื้อผ้า ผลไม้ เครื่องมือการเกษตร อุปกรณ์มือถือ ชุดใส่บาตร เครื่องดื่ม อาหารทั่วไป ผักสด พืชไร่ ลูกโป่ง จนไปถึงของเล่นเด็ก สำหรับช่องทางเดินบนถนนคนเดินจะมาสุดทางบริเวณหน้าสำนักงานสาธารณสุขทองผาภูมิ

ทั้งนี้ปลายถนนคนเดินมีจุดให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเพิ่มเติม โดยบางปีเป็นหลักกิโลขนาดใหญ่ ขณะที่บางปีก็เป็นสะพานไม้

เมื่อเราเดินวนจากด้านท้ายของช่องทางเดินที่หนึ่งกลับมาช่องทางเดินอีกด้าน(หรือฝั่งขวาจากปากทางถนนคนเดิน)ก็เท่ากับเป็นโซนหลังของช่องทางเดินที่สองแล้ว ซึ่งช่องทางเดินนี้มีแผงลอยบนฟุตบาทถี่ขึ้นและเยอะกว่าช่องที่หนึ่ง ขณะที่แผงโต๊ะเตี้ยๆทางขวายังแน่นขนัดเหมือนเดิม สำหรับแผงลอยทั้งสองฝั่งของโซนหลังในช่องทางเดินที่สองจะเน้นของใช้ ซึ่งก็มีเสื้อผ้ามือหนึ่งและมือสอง ของใช้ในบ้าน เครื่องแต่งกาย สินค้าแฟชั่น และพระเครื่อง จากนั้นถึงเป็นแผงของกินมากขึ้นทั้งสองฟากของทางเดินไปจนถึงหน้าถนนคนเดิน โดยสินค้าจากแผงฝั่งขวาบนเกาะกลางยาวไปถึงต้นทาง เริ่มตั้งแต่ของกินเล่น เสื้อผ้าเด็ก ของปิ้งย่าง ของเล่นตอกแผง เบเกอรี่ ของหวาน อาหารอีสาน ผลไม้ เครื่องดื่ม ของอบนึ่ง ของเล่นเด็ก อาหารเหนือ อาหารทั่วไป เครื่องดื่มแช่เย็น ของทอด อาหารและขนมพม่า ขนมไทย ขนมปัง ขนมชาวกะเหรี่ยง เสื้อถนนนั่งยอง ไปจนถึงขนมและอาหารชาวมอญ ส่วนซ้ายมือตามแผงลอยริมทางและหน้าร้านไปถึงปากทางเข้าด้านหน้าของช่องทางเดินที่สองก็มีของกินเล่น ของชำร่วย ของปิ้งย่าง ขนมไทย งานแฮนด์เมด เครื่องดื่ม เสื้อทองผาภูมิ เครื่องประดับสตรี ของเล่นตอกแผง เปิดหมวก ของอบนึ่ง เสื้อผ้าชาวเขา งานบริการ อาหารทั่วไป สินค้าแฟชั่น เสื้อผ้าชายหญิง ของใช้ในบ้าน กระเป๋า ของชำ เครื่องสำอาง และตุ๊กแกยาง

และสิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ก็คือ บรรยากาศย้อนยุคที่จำลองขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทรงเตี้ยหรือของกินในงาน ต่างสะท้อนให้เห็นว่า ชาวทองผาภูมิในอดีตมีวิถีชีวิตความเป็นมาเช่นไร



ถ้าใครมาอำเภอทองผาภูมิช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แล้วแวะตลาดเช้าหาของกิน เราจะได้ยินเสียงประชาสัมพันธ์ดังผ่านลำโพงมาแต่ไกล เพราะถนนนั่งยองทองผาภูมิกับตลาดเช้าอยู่ติดกันพอดี ทีมงานเหลือบดูบรรยากาศจากด้านหน้า เป้าหมายเย้ายวนใจยิ่งนัก แรงจูงใจช้อปปิ้งแบบด่วนจี๋ไปรษณีย์จ๋าจึงเริ่มขึ้น
ซ้ายบน - ปากทางต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยประตูไม้ไผ่หรือที่คนโบราณที่นี่เรียกว่า“ประตูย่องสาว” (จากภาพ เราสามารถเดินผ่านประตูย่องสาวเข้างานหรือจะเดินจากด้านข้างประตูย่องสาวที่เป็นทางโล่งๆทั้งสองฝั่งก็ได้)
ขวาบน – เมื่อมาถึงหน้างาน ถนนที่มีบ้านเรือนตึกแถวทั้งสองฟากคือถนนบุษปวานิช โดยกลางถนน(ก่อนเข้างาน)มีศาลาไม้มุงจากพร้อมป้ายถนนนั่งยองทองผาภูมิให้ผู้คนได้ถ่ายรูปคู่เป็นที่ระลึก ซึ่งมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจอยู่ตลอด (จากภาพ ช่องทางเดินซ้ายมือที่ชายเสื้อขาวกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินเดินเข้าไปเป็นช่องทางเดินที่หนึ่ง ซึ่งเราจะเข้าไปก่อน ส่วนช่องทางเดินขวามือหรือช่องทางเดินที่สองก็อยู่ขวามือของศาลาไม้ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเข้าออกจากฝั่งไหนก่อนก็ได้)
กลาง - ภาพนี้คือบรรยากาศภายในงานถนนนั่งยองทองผาภูมิซึ่งจัดปีละครั้ง กลางถนนบุษปวานิชจะมีแผงลอยเป็นโต๊ะเตี้ยๆตามแบบฉบับวิถีชีวิตของคนสมัยก่อน แผงเหล่านี้แบ่งเป็นสองแถวหันหลังชนกัน แต่ละแถวหันหน้าแผงไปช่องทางเดินของตนเอง ส่วนพ่อค้าแม่ค้าก็นั่งปรุงของกินและจำหน่ายข้าวของกันไป ขณะที่นักท่องเที่ยวในงานก็แฮปปี้กับการเลือกซื้อยกใหญ่
ซ้ายกลาง - เราเริ่มต้นถนนนั่งยองทองผาภูมิที่ช่องทางเดินซ้ายก่อนเลย ผู้คนกำลังวุ่นวายกับสินค้าตามแผง อันไหนน่ากิน สิ่งไหนถูกใจ ก็เข้าไปเจรจากับคนขายตามธรรมเนียม
ขวากลาง - กระเพาะปลากับก๋วยจั๊บพร้อมเสริฟแล้ว ใครอยากกินก็นั่งลงเก้าอี้เตี้ยหน้าแผงได้เลย
ซ้ายล่าง - แผงเล็กๆเจ้านี้จำหน่ายก๋วยเตี๋ยวโบราณ มีทั้งบะหมี่ เส้นหมี่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และวุ้นเส้น ใครอยากได้น้ำไสหรือต้มยำ(น้ำมะนาวสด) ก็บอกคนขายไป แต่ถ้าพิเศษกากหมู ก็เพิ่มเงินอีกนิด
ขวาล่าง - ป้าเจ้าของร้านยึดเมนูยำเห็ด ยำส้มโอ และยำใบบัวบกเป็นประจำทุกปี




ขอจัดเต็มกับช่องทางเดินฝั่งนี้ต่อ
ซ้ายบน – เชฟหญิงทำข้าวเกรียบปากหม้ออย่างรัว ออเดอร์ลูกค้ามากันเพียบ
ขวาบน – แม่ค้ากำลังทอดทองโยะอยู่
ขวากลางบน – ที่หน้าบ้านหลังหนึ่งมีป้าออกมาทอดเม็ดมะม่วงหิมพานต์อยู่หน้าบ้าน โดยผู้ช่วยขวามือคอยสะเด็ดน้ำมันให้แห้ง แล้วบรรจุถุงจัดจำหน่าย
ซ้ายกลาง – น้องผู้หญิงมีขนมและของกินเล่นให้นักท่องเที่ยวได้ฝากท้องกันเบาๆดังนี้ ทองม้วน ขนมปังกรอบเนยน้ำตาล เวเฟอร์โรล ถั่วกรอบแก้ว ฟักทองฉาบ โรตีกรอบ ถั่วปากอ้า ขนมอาลัว ขนมดอกจอก ขนมนางเล็ด ถั่วทอง โดนัต คุกกี้ เค้กโรล กระเจี๊ยบแก้ว ขนมปังลูกเกด รวมทั้งเบเกอรี่ต่างๆ
ขวากลางล่าง - ขนมเค้กสีสันสวยงามมากันเป็นกล่อง สูงกันเป็นชั้น ตัวอย่างเช่น เค้กฝอยทอง เค้กสตรอว์เบอร์รี เค้กผลไม้ เค้กวานิลลา เค้กแบล็กฟอเรสต์ ฯลฯ รวมทั้งขนมเปี๊ยะอีกหนึ่งสำรับ
ซ้ายล่าง - เด็กคนนี้นำขนมวง ขนมไข่หงส์ ขนมงาทอด หมี่กรอบ และพุทราไทยเชื่อมมาวางขาย ใครสนใจก็เตรียมเงินไว้
ขวาล่าง – พี่ผู้หญิงมีน้ำมะพร้าวปั่นนมสดเป็นทางเลือก




ขอเพลิดเพลินกับช่องทางเดินนี้อีกหน่อย
ซ้ายบน – แม่ค้าร้านนี้เตรียมเมนูเครื่องดื่มไว้หลากหลายตามนี้ ชาดำเย็น ช็อกโกแลต เอสเพรสโซ ลาเต้ คาปูชิโน นมเย็น นมสด โกโก้เย็น ชาเย็น มอกค่า และน้ำผลไม้โซดาต่างๆ
ขวาบน - ช่วงท้ายของช่องทางเดินมีแผงของเล่นเด็กแผงใหญ่อยู่เจ้าเดียว สินค้าที่ทำให้จิตใจเด็กไม่อยู่กับเนื้อกับตัวก็มีรถแข่ง รถบรรทุก รถบังคับ ดาบกายสิทธิ์ เครื่องครัว ตุ๊กตาแต่งตัว หุ่นยนต์ เครื่องมือแพทย์ ชุดไม้ตีกอล์ฟ โทรศัพท์ของเล่น กีตาร์ของเล่น ปืนของเล่น กระสอบทรายต่อยมวยเด็ก และชุดตัวต่อ
ซ้ายกลาง – ป้าแผงนี้มีเสื้อผ้าชายหญิงมานำเสนอ
ขวากลางบน - เราไปดูหน้าร้านกันสักหลัง สินค้าที่จำหน่ายมีจาน ถ้วย ตะแกรง แปรงขัดโถส้วม น้ำยาล้างจาน ใยขัด ฝอยสแตนเลส กระจกส่องหน้า คอตตอนบัด กระปุกออมสิน กระทะ หม้อ ซึ้ง พานขันน้ำ โถข้าว ถังน้ำ ตะกร้า ปิ่นโต ไม้แขวนเสื้อ ไม้ตียุง กระปุกออมสิน เสื่อพับ ตะกร้อลวก
ก๋วยเตี๋ยว ถุงมือ เสื่อยาง ร่ม กระบอกน้ำ น้ำยาล้างห้องน้ำ ชาม ไม้ขนไก่ แปรงซักผ้า แปรงขัดพื้น แก้วน้ำ ท่อดูดฝุ่น พรมเช็ดเท้า เก้าอี้พลาสติก กระบอกฉีดน้ำ กระติกน้ำแข็ง กล่องใส่ทิชชู่ กะละมัง และม็อบถูพื้น
- จากนั้นก็วกเข้าสู่ช่องทางเดินที่สองจากด้านหลัง(หรือช่องทางเดินฝั่งขวา)ทันที
ซ้ายกลางล่าง - ช่องทางเดินนี้ล้นหลามด้วยนักท่องเที่ยวเช่นเคย ส่วนของกินของใช้ยังคงประดังมาจากทุกทิศทาง
ซ้ายล่าง - แม่ค้ากำลังโรยหน้าหอยทอดให้ลูกค้า ใครท้องร้อง ก็แจ้งความจำนงไป
ขวาล่าง – ข้าวเปียกร้อนๆรอทุกคนอยู่




อิ่มท้องให้สาแก่ใจไปเลย
ซ้ายบน - แม่ค้าทำส้มตำไป คนออเดอร์ก็ยืนรอหน้าร้านไป เมนูอื่นๆยังมีอีก เช่น ตำมะม่วง ตำแตง ตำป่า ตำโคราช ฯลฯ
ขวาบน – คนขายมีขนมจีนน้ำยากะทิ แกงเขียวหวาน และน้ำยาหยวก
ซ้ายกลางบน - เจ้านี้ทำไข่เจียวทรงเครื่องโปะข้าวสวย โดยมีเนื้อหมู หอมใหญ่ แคร์รอต มะเขือเทศ มะเขือยาว พริก และต้นหอมมาทรงเครื่อง
ขวากลางบน – ไม่บ่อยนักที่ทีมงานจะเห็นบาร์บีคิวย่างบนเตาถ่านในถนนคนเดิน
ซ้ายกลางล่าง – ข้าวเม่ากับกล้วยทอดทยอยลงกระทะไม่ทิ้งช่วง
ขวากลางล่าง – แผงนี้จำหน่ายสี่ประเภทคือ ไข่นกกระทาพร้อมน้ำจิ้ม ไข่ครก ไข่ทรงเครื่อง และวุ้นสีแฟนซี
ซ้ายล่าง – ขนมไทยถือเป็นส่วนประกอบของถนนคนเดินที่ต้องพบเจอ ทั้งหมดมีขนมมัน ขนมเปียกปูนใบเตย ข้าวเหนียวดำหน้ารวมกระฉีกและสังขยา ถั่วแปบ วุ้นซาหริ่ม และขนมด้วง
ขวาล่าง - เต้าทึงร้อนเย็นร้านนี้มีเครื่องตามภาพอันได้แก่ พุทราเชื่อม ลูกชิด เม็ดแมงลัก ถั่วซีก วุ้น ถั่วแดง ลูกเดือย และสาคูเม็ดใหญ่

 



เดินไปเดินมาเหมือนน้ำหนักจะขึ้น ขอทำไม่รู้ไม่ชี้ไปก่อน
ซ้ายบน – พ่อค้าหนุ่มและผู้ช่วยสาวช่วยกันปรุงเครปอยู่ ใครอยากสั่งอะไร จะมีกระดาษให้จด แล้วรอคิว ส่วนใครไม่รู้ว่ามีหน้าอะไรบ้าง ตัวอย่างมีพริกเผา พิซซ่า แยมบลูเบอร์รี กล้วย ลูกเกด มาร์ชเมลโลว์ เรนโบว์ คอนเฟลก แยมส้ม ไข่ ปูอัด ไส้กรอก หมูหยอง เอ็มแอนด์เอ็ม ฯลฯ แต่ถ้าอยากได้นูเทลลาหรือฝอยทองหรือต้องการเปลี่ยนเป็นแผ่นแป้งชาร์โคล ก็ต้องเพิ่มสตางค์
ขวาบน – ตู้แช่เย็นบนเกาะกลางถนนน่ารักดี เครื่องดื่มต่างๆมีน้ำดื่มตราทีพี โออิชิรสต่างๆ(คือ น้ำผึ้งมะนาว ต้นตำรับ และข้าวญี่ปุ่น) ยาคูลท์ โค้ก แฟนตา และสไปรท์ ส่วนกล่องด้านบนเป็นผัดหมี่
ซ้ายกลางบน - ห้องนี้ขายของแห้งของชำทั่วไป บางอย่างก็เป็นผลิตภัณฑ์จากพม่า ภาพรวมทั้งร้านมีพริกแห้ง หอมแดง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ธูป สบู่ แปรงสีฟัน น้ำยารีดผ้า แป้งทาตัว ซีอิ๊วขาว ถั่วลิสง น้ำมันพืช น้ำจิ้มไก่ น้ำส้มสายชู ซอสมะเขือเทศ น้ำยาล้างจาน นมข้นหวาน ชา ขนมปังปี๊บ แป้งเย็น แป้งน้ำหอม ไข่ไก่ ยาสีฟัน กระเทียม หมากแห้ง ถุงร้อน ผงปรุงรส แป้งทานาคา เครื่องเทศจากพม่า หมี่เหลืองพม่า กาแฟซอง ผงชูรส ปลากรอบ ไข่ น้ำดื่ม ปลากระป๋อง ซอสปรุงอาหาร ซอสพริก โอวัลติน กะปิ เวเฟอร์กลิ่นทุเรียน ถั่วปากอ้า และน้ำมะนาวขวด
ซ้ายกลางล่าง - ไก่แฮนด์เมดเหล่านี้ประดิษฐ์จากเศษวัสดุต่างๆ แถมยังมีไข่ไก่(ที่เวลาบีบ)ส่งเสียงได้ด้วย หลายคนให้ความสนใจและพูดคุยกับเจ้าของร้าน
ขวากลาง – แม่ค้าซุ้มนี้จำหน่ายเสื้อชาวเขาและเสื้อที่ระลึกทองผาภูมิ
- ทีมงานขอเสริมรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ

ซ้ายล่าง – ระหว่างทางเชื่อมทั้งสองฟากของช่องทางเดินบริเวณเกาะกลาง แผงลอยจะโดนเว้นช่วงเป็นระยะเพื่อเปิดพื้นที่ให้เดินไปมาและทำเป็นมุมนั่งกิน บางจุดเป็นศาลามุงจาก บางจุดก็เป็นโต๊ะไม้เตี้ยทรงกลมอย่างที่เห็น
ขวาล่าง – เรามาตบท้ายด้วยสะพานไม้ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปคู่ที่ด้านหลังถนนคนเดินดีกว่า (อนึ่ง บางปีถ้าไม่ใช่สะพานไม้แบบนี้ ก็จะเป็นหลักกิโลขนาดยักษ์แทน)



TODAY THIS MONTH TOTAL
449 5386 297778
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top