ถนนคนเดินเซราะกราว

คำอธิบาย


(สามารถคลิกอ่านคำอธิบายของกินของใช้ได้ที่"คำอธิบาย")

ถนนคนเดินเซราะกราวเป็นถนนสายวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้แต่ละหมู่บ้านและตำบลนำผลิตภัณฑ์ หัตกรรม ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมมาแสดงและจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบุรีรัมย์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถได้แสดงออกด้วย คำว่า“เซราะกราว”มาจากชื่อกองเชียร์ของทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด คำนี้เป็นภาษาท้องถิ่นหมายถึง“คนบ้านนอก” ถนนคนเดินแห่งนี้เปิดบริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2557 โดยมีทุกวันเสาร์และอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 16.00 ถึง 22.00

ถนนคนเดินเซราะกราวเป็นเส้นทางตรงบนถนนรมย์บุรี(ที่มีความยาว 315 เมตร)จากสี่แยกศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองบุรีรัมย์(ที่ตัดกับถนนพิทักษ์)ไปจนถึงสี่แยกสวนสาธารณะเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ 200 ปี(ที่ตัดกับถนนจิระ) หรือจะเดินสลับแยกกันก็ได้ ตลอดถนนรมย์บุรีจะแบ่งเป็นสองช่องทางเดินคือ ช่องทางเดินที่หนึ่ง(ซึ่งอยู่ทางซ้าย)และช่องทางเดินที่สอง(ซึ่งอยู่ทางขวา)

สำหรับแผงลอยเกือบทั้งหมดมีเต็นท์พับคลุมอยู่ ส่วนประเภทแผงลอยมีโต๊ะพับ ราวแขวน ตะแกรง รถเข็น ขาโต๊ะแผงลอย รวมทั้งปูผ้าและแบกะดิน

นับจากนี้ เราขอเริ่มต้นช่องทางเดินที่หนึ่ง(ทางซ้ายมือ)จากสี่แยกศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ก่อน สำหรับช่องทางเดินนี้มีแผงลอยซ้ายขวาตลอดทาง โดยแผงลอยทางซ้ายอยู่ติดสวนสาธารณะ ส่วนแผงลอยฝั่งขวาอยู่กลางถนนรมย์บุรี(ซึ่งเป็นแผงหันหลังชนกันกับแผงลอยและถนนช่องทางเดินที่สอง) สำหรับช่องทางเดินที่หนึ่ง(ทางซ้ายมือ)นี้ขอแบ่งเป็นสองตอนคือ
- ตอนแรกเป็นถนนหน้าแคบระยะสั้นในช่วงแรก จากนั้นถนนจึงขยายกว้างขึ้นในช่วงต่อมา ซึ่งหน้ากว้างนี้มีระยะถนนคนเดินยาวกว่าหน้าแคบ
- ขณะที่ถนนตอนที่สองจะแคบ(เหมือนช่วงแรกของตอนแรก)ตลอดทั้งสาย (ไม่มีหน้ากว้าง)

ส่วนข้าวของในตอนแรก ช่วงหน้าแคบเป็นของกินทั้งสองฟาก ขณะที่ช่วงหน้ากว้างมีแผงของกินอยู่ฝั่งซ้ายและแผงของใช้อยู่ฝั่งขวา โดยของกินก็มีกับข้าว ผลไม้ อาหารอีสาน น้ำผลไม้สดปั่นและคั้น ขนมจีน ของนึ่ง ของยำ ของแห้ง ของทอด ของกินเล่น อาหารทั่วไป ของปิ้งย่าง ขนมปัง เครื่องดื่ม ขนมไทย ชากาแฟ อาหารท้องถิ่น ผักสด ผักพื้นบ้าน ไข่ เบเกอรี่ อาหารตุรกี ผลไม้แปรรูป และอาหารญี่ปุ่น ส่วนของใช้จำหน่ายเครื่องนอน พระเครื่อง เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ของใช้ส่วนตัว เสื้อที่ระลึก“เซราะกราว” เสื้อที่ระลึกกีฬา ของเก่า สายตา กระเป๋า หมวก ต้นไม้กระถาง นาฬิกา เสื้อผ้าชายหญิง เครื่องสำอาง งานดีไอวาย งานแฮนด์เมด รองเท้า และของเล่นเด็ก

ต่อไปเป็นตอนที่สองในช่องทางเดินแรก ซึ่งตลอดทางมีแต่ของกินไปจนถึงสี่แยกสวนสาธารณะเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ 200 ปี โดยแผงฝั่งซ้ายติดกับคลองละลม ส่วนแผงฝั่งขวาอยู่กลางถนนเช่นเดิม สินค้าต่างๆได้แก่ ของกินเล่น ขนมไทย อาหารทั่วไป ของปิ้งย่าง ของยำ ของทอด อาหารอีสาน ของหมักดอง เครื่องดื่ม อาหารญี่ปุ่น ผลไม้ ไข่ เบเกอรี่ ขนมปัง อาหารอิตาเลียน ก๋วยเตี๋ยว น้ำพริก ของหวาน อาหารปักษ์ใต้ อาหารซีฟู้ด ของนึ่งต้ม น้ำผลไม้สดปั่นและคั้น น้ำแข็งไส อาหารอีสาน ของแห้ง สมุนไพร ผักสด พืชไร่ และอาหารท้องถิ่น โดยมีของใช้เพียงผลิตภัณฑ์จากไม้และรองเท้า

เมื่อมาถึงสี่แยกสวนสาธารณะเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ 200 ปี(ที่ตัดกับถนนจิระ) เราวกเข้าช่องทางเดินที่สองจากสี่แยกนี้ต่อเลย (ซึ่งก็คือช่องทางเดินทางขวาจากสี่แยกศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองบุรีรัมย์) สำหรับช่องทางเดินนี้ขอแบ่งเป็นสองตอน(เหมือนช่องทางเดินที่หนึ่ง)คือ
- ตอนแรกที่เป็นถนนหน้าแคบตลอดทาง
- ตอนที่สองที่เป็นถนนหน้ากว้างระยะยาวก่อน จากนั้นจึงเป็นถนนหน้าแคบระยะสั้นบริเวณสี่แยกศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ (ซึ่งก็คือการย้อนรอยถนนหน้าแคบและหน้ากว้างของช่องทางเดินที่หนึ่งกลับไปนั่นเอง)

โดยแผงลอยซ้ายมือของช่องทางเดินที่สองตอนแรกและตอนที่สองจะเลียบฟุตบาทเรียงตามสถานที่ต่างๆดังนี้ โดมสวนรมย์บุรี 200 ปี จวนผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ และสาธารณสุขเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ส่วนแผงลอยฝั่งขวา ถ้าเป็นตอนแรก(ที่เป็นถนนหน้าแคบ)จะมีแผงลอยไม่มาก เนื่องจากพื้นที่กลางถนนน้อยกว่าถนนหน้ากว้าง ด้านขวากลางถนนเลยเป็นมุมวางสินค้าของแผงทางขวาในช่องทางเดินที่หนึ่งแทน ขณะที่ตอนที่สอง ช่วงแรกเป็นถนนหน้ากว้าง แผงลอยทางขวากลางถนนจะหันหลังชนกับแผงลอยขวามือของช่องทางเดินที่หนึ่ง แล้วพอเข้าสู่ถนนหน้าแคบช่วงหลัง แผงลอยทางขวาจึงเป็นมุมวางสินค้าของแผงลอยขวามือในช่องทางเดินที่หนึ่งเนื่องจากพื้นที่กลางถนนน้อยเช่นเดิม (นั่นเท่ากับว่า แผงลอยกลางถนนทั้งหน้าแคบตอนที่หนึ่งและตอนที่สองหันหน้าร้านเข้าช่องทางเดินที่หนึ่งหมด)

สำหรับข้าวของตอนแรกของช่องทางเดินที่สอง แผงทางซ้ายเป็นของใช้ล้วนๆ ขณะที่แผงทางขวามีแผงของกินไม่มาก โดยสินค้ามีดังนี้ เสื้อผ้าพื้นเมือง ของตกแต่ง ของใช้ในบ้าน สินค้าสมุนไพร
ของใช้ส่วนตัว เสื้อผ้าชายหญิง เสื้อที่ระลึก“บุรีรัมย์”และ“เซราะกราว” กระเป๋า เครื่องราง เครื่องประดับสตรี งานแฮนด์เมด ของชำร่วย ของเล่นเด็ก อุปกรณ์มือถือ เสื้อผ้าเด็ก เครื่องแต่งกาย สินค้าแฟนซี ของเก่า เครื่องเขียน รองเท้า และพระเครื่อง ส่วนของกินมีผักสด ผลไม้ ของกินเล่น ขนมไทย และของแห้ง

ตอนที่สองมีแต่ของใช้ เริ่มจากรองเท้า ของเล่นเด็ก เสื้อผ้าชายหญิง เสื้อเด็ก นาฬิกา ของใช้ในบ้าน ของชำร่วย เสื้อที่ระลึก“เซราะกราว” ต้นไม้กระถาง เสื้อผ้าสูงวัย เครื่องแต่งกาย ของสะสม เครื่องหนัง อุปกรณ์มือถือ กระเป๋า เครื่องประดับ งานบริการ สายตา และเครื่องสำอาง

ทั้งนี้ช่วงกลางถนน(ที่เว้นระยะแผงลอยให้เป็นพื้นที่โล่ง)ยังมีการแสดงเปิดหมวกเป็นระยะๆ รวมทั้งมีเวทีการแสดง มุมนั่งกิน และงานบริการบริเวณคลองละลม




นอกจากชาวบุรีรัมย์เป็นปึกแผ่นเรื่องกีฬากันดีแล้ว คำว่า“เซราะกราว”ยังดังระบือไปถึงไหนต่อไหนอีก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อถนนคนเดินประจำเย็นวันเสาร์อาทิตย์ที่เราจะเห็นหลายคนใส่เสื้อบอลโปโล(สีกรมท่าเข้ม)กัน คนไหนยังไม่เคยมาถนนคนเดินแห่งนี้ คงต้องลองเปลี่ยนแผนเสียใหม่
บน – บริเวณนี้เป็นถนนหน้ากว้างของช่องทางเดินที่หนึ่งจากสี่แยกศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองบุรีรัมย์
ผู้คนต่างตบเท้ามาซื้อของกินของใช้ที่นี่ ตอนนี้ดูท่าจะตั้งแผงเสร็จหมดแล้ว สินค้ากำลังได้ที่เลย เดี๋ยวเข้าไปซื้อของกินดีกว่า
ซ้ายบน – ใครชอบไก่มีกระดูก ไก่แซ่บ ไก่กรอบ ไก่ต้นตำรับ และคางกุ้งแซ่บ ทุกอย่างเพิ่งชุบแป้งทอดขึ้นมาจากกระทะ
ขวาบน – แผงนี้เน้นอาหารสำเร็จรูปซื้อกลับไป เมนูที่ขายมีแหนมผัดไข่ราดข้าว ข้าวผัดหมู บะหมี่หมูอบ และข้าวคลุกกะปิ
ซ้ายกลาง – ลูกชิ้นหมู(ยืนกิน)พร้อมน้ำจิ้มอยู่มุมนี้
ซ้ายล่าง – แม่ค้าเจ้านี้มีรายการตำสารพัดอันได้แก่ ตำไทย ตำลาว ตำโคราช ตำพริกกระเทียม ตำซั่ว ตำขนมจีน ตำถั่ว ตำแตง รวมทั้งมีข้าวเหนียวกับเส้นขนมจีนด้วย
ขวาล่าง – กับข้าวซุ้มนี้มีมากมาย ขอแถลงพอเป็นสังเขปดังนี้ แกงจืดเต้าหู้หมูสับ แกงส้ม(ภาคกลาง) แกงเปรอะ หมูผัดหน่อไม้ แกงขี้เหล็ก ปลาราดพริก ต้มข่าไก่ จับฉ่าย แกงเทโพ แกงพะแนง ฯลฯ




ของกินกำลังฉลุยอยู่ เสร็จแล้วค่อยเป็นหมวดของใช้
ซ้ายบน – สองมือสองไม้ของแม่ลูกช่วยกันทำหมูสะเต๊ะอย่างแข็งขัน
ขวาบน – แม่ค้าโต๊ะนี้มีโรลรสส้ม โรลลูกเกด ขนมหม้อแกง คัพเค้กลูกเกด เค้กกล้วยหอม ขนมหน้าแตก ชิฟฟอนหน้าฝอยทองและหน้าเนย รวมทั้งขนมเปี๊ยะไส้ฟักและถั่ว
ซ้ายกลางบน – คนขายช่วยกันตีแป้งโรตีตามออเดอร์ลูกค้าอย่างคล่องแคล่ว
ขวากลางบน – ป้ารถเข็นกำลังทำขนมเบื้องไส้หวานและเค็มไว้ล่วงหน้า
ซ้ายกลางล่าง - แผงผักพื้นบ้าน ผักสด และพืชไร่เรียงติดกันหลายเจ้า ทุกอย่างปลอดสารปนเปื้อน เผอิญเห็นเจ้านี้มีผักท้องถิ่นอยู่สองอย่าง เลยอยากแนะนำให้รู้จัก นั่นคือ"สะเดาดิน"หรือ"ผักขี้ขวง"(ที่อยู่ทางซ้ายของใบสีม่วงๆแดงๆ นั่นก็คือผักโขมแดง)และ"ผักอีถ่อน"(ที่อยู่แถวหลังสุดกลางภาพเป๊ะ)
- อย่างที่สัญญาไว้ ตอนนี้ไปดูของใช้ต่อ
ขวากลางล่าง – ซุ้มนี้เป็นจุดนัดพบของเครื่องสำอางบนใบหน้าจริงๆ ตัวอย่างเช่น อายแชโดว์ ลิปสติก บลัชออน แป้งพับ ดินสอเขียนคิ้ว ครีมผิวขาว อายไลเนอร์ ครีมกันแดด มาสคารา ฯลฯ
ซ้ายล่าง – แผงนี้มาพร้อมหมวกแฟชั่นและกระเป๋าคาดอกลายเท่ๆ
ขวาล่าง – ใครชอบแว่นตากรอบบาง น่าจะถูกใจใช่เลย




ของใช้จากแผงลอยฝั่งขวายังมีอะไรให้เดินดูอีก
ซ้ายบน – เทปเพลงเก่าๆหวนกลับมาอีกครั้ง ถูกใจนักร้องหรือเพลงของใคร ก็หยิบตลับเทปพร้อมสอบถามราคาได้ บนแผงคร่าวๆก็มีลิฟท์กับออยชุด“ZOO A-HA” เบิร์ดชุด“ธงไชยเซอร์วิช” บันทึกการแสดงสดคาราบาวชุด“ปากหมา” โชคชัยเจริญสุขชุด“โชค” พงษ์สิทธิ์คำภีร์ชุด“ขอโทษทีรอบนี้ไม่มี3ช่า” แอมเสาวลักษณ์ชุด“แอมเอง” โบว์สุนิตาชุด“Beau” แอนนันทนาชุด“Footwork” นิตยาบุญสูงเนินชุด“ก้าวใหม่” ขจรศักดิ์ชุด“สงวนลิขสิทธิ์” ไฮแจ็คชุด“เล่นเจ็บเจ็บ” โจอี้บอยชุด“JoeyMan” พงษ์พัฒน์ชุด“ภาคพิสดาร” โลโซชุด“Rock&Roll” ฯลฯ
ขวาบน – สำหรับเต็นท์นี้จำหน่ายกระเป๋าใส่ของดีไซน์เก๋ๆให้สาวๆได้สะพายโฉบเฉี่ยว
ขวากลาง – แม่ค้าเจ้านี้นั่งขายยางรัดผม โบว์ผูกผม กรรไกรตัดเล็บ แปรงและหวี รวมทั้งที่คาดผม
- ตอนแรกของช่องทางเดินที่หนึ่งสัมฤทธิ์ผลด้วยดี เราเข้าสู่ตอนที่สองกัน
กลาง – อย่างที่บอกไว้ว่าตอนที่สองเป็นถนนหน้าแคบ ทางเดินกระชับขึ้น แต่เนื่องจากเป็นเรื่องของอาหารเต็มๆ ผู้คนเลยอลหม่านไปทุกหย่อมหญ้า ซ้ายขวามีแต่คนออซื้อของ ขณะที่ตรงกลางต้องเบี่ยงตัวเดินตามภาพ
ซ้ายล่าง – เราตะลุยของกินร้านแรกกับบะหมี่เกี๊ยวหมูแดง แต่ถ้าใครชอบหมี่หยก ให้บอกคนขายเนิ่นๆ
ขวาล่าง – น้าแผงนี้จำหน่ายกล้วยทับพร้อมน้ำกะทิ ทั้งยังมีมะพร้าวแก้วมาเป็นบ้านใกล้เรือนเคียง



ของกินตามเราไปทุกฝีก้าว ทุกคนเลยอิ่มหมีพีมัน
ซ้ายบน – พอเปิดซึ้งออกมา ติ่มซำอย่างหมูห่อสาหร่าย ซาลาเปา และขนมจีบก็หอมฉุยไปทั่ว
ขวาบน – อยู่ภาคอีสาน แต่ความเผ็ดร้อนของอาหารใต้ก็มาร่วมขบวนด้วย เมนูจัดจ้านต่างๆก็เช่น ต้มเค็มปลาทู ต้มส้มปลาทู แกงส้มกุ้งมะละกอ แกงเหลืองปลาทูสดหน่อไม้ดอง คั่วกลิ้งหมู แกงไตปลา แกงคั่วหอยแครงใบชะพลู ฯลฯ
ซ้ายกลางบน – แม่ค้าเอาใจคนรักอาหารเส้นกับก๋วยเตี๋ยวปลาเส้น ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา และบะหมี่(แห้งกับเย็นตาโฟ)
ขวากลางบน – สำหรับแผงนี้ขอเน้นหอยนางรมอย่างเดียว ใครชอบยำแนวนี้คงมียิ้ม
ซ้ายกลางล่าง – ข้าวมันไก่ต้มและไก่ทอดจัดลงภาชนะพร้อมเสริฟเรียบร้อย
ขวากลางล่าง – มุมนี้สันทัดเรื่องข้าวขาหมูเท่านั้น อยากได้ติดหนังหรือเนื้อล้วน ก็บอกคนขายไป
ซ้ายล่าง – กระเพาะปลาตั้งฐานทัพรอทุกคนแล้ว
ขวาล่าง – ความแซ่บเจ้านี้มีสำรับดังต่อไปนี้ ยำหมูยอ ยำวุ้นเส้น ยำหมึก ยำเพื่อสุขภาพ ยำเล็บมือนาง ยำหอยแครงกุ้งสด ยำไข่เค็ม และยำข้าวโพด




อ้วนกระปุ๊กลุกต่อไปกับอีกหนึ่งชุดใหญ่เพราะกับข้าวกับปลาไม่ผ่อนแรงให้ใครเลย
ซ้ายบน – โต๊ะนี้มีกุ้งอบวุ้นเส้นเป็นเจ้าถิ่น
ขวาบน – คนรักของหวานคงปลื้มใจไม่น้อยเมื่อแผงนี้จำหน่ายข้าวเหนียวเปียก สาคูถั่วดำ เต้าส่วน มันเชื่อม รวมทั้งทับทิมกรอบ ลอดช่อง และเฉาก๊วย
ซ้ายกลางบน - ความเป็นไทยยังคงสืบสานต่อไปกับข้าวต้มมัด ขนมใส่ไส้ และขนมเทียนไส้เค็มกับหวาน
ขวากลางบน – อาหารเพื่อสุขภาพร้านนี้มีสลัดผัก สลัดผลไม้ และสลัดโรล พร้อมครีมรสชาติต่างๆเริ่มจากกีวี่ ซีฟู้ด งาดำ พริกไทยดำ ไปจนถึงรสดั้งเดิม
ซ้ายกลางล่าง – น้ำพริกหลายประเภทขอมีส่วนร่วมกับถนนคนเดิน เริ่มตั้งแต่น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกข่า น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกแมงดา น้ำพริกนรก น้ำพริกปลาดุกฟู น้ำพริกปลาร้า รวมทั้งกะปิและน้ำพริกเผา ส่วนของกินอื่นๆมีหมูยอ ไก่คั่วสมุนไพร ไข่ชะอม ปลาทู และกุนเชียง
ขวากลางล่าง – ขนมไทยเลื่องชื่อจริงๆ แม่ค้าร้านนี้เลยนำขนมชั้น ข้าวเหนียวแก้ว สาคูไส้หมู ขนมตาล และขนมถ้วยฟูออกมาโชว์เสน่ห์ปลายจวัก
ซ้ายล่าง – ต่อให้คนมุงเต็มร้านจนมองไม่เห็น ก็รู้ทันทีว่าเป็นสินค้าประเภทไหนเพราะเสียงเครื่องปั่นดังออกมาหลายเดซิเบล ความสดชื่นค่ำนี้จึงมีแอปเปิ้ลเขียวและแดง มะนาว กล้วยหอม แคร์รอต ส้ม แตงโม
มะเขือเทศ สตรอว์เบอร์รี สับปะรด ละมุด รวมทั้งน้ำดื่มและน้ำส้มคั้น
ขวาล่าง – ขอตบท้ายหมวดของกินช่องทางเดินที่หนึ่งด้วยข้าวสารอาหารแห้งซึ่งก็มีข้าวหอมมะลิ ข้าวฮาง ข้าวหอมมะลินิล ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวกล้อง




หลังจากอิ่มเอมจนครบแล้ว คราวนี้ก็วกเข้าช่องทางเดินที่สองตอนแรก(จากสี่แยกสวนสาธารณะเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ 200 ปี)ต่อเลย
ซ้ายบน – ตอนที่หนึ่งของช่องทางเดินนี้อยู่บนถนนหน้าแคบ(ซึ่งเป็นแถบเดียวกับตอนที่สองของช่องทางเดินที่หนึ่ง) ทำให้แผงฝั่งขวาหันหน้าร้านเข้าช่องทางเดินที่หนึ่งหมด ตอนนี้สินค้าทุกอย่างเลยเรียงรายอยู่ทางซ้าย ขณะที่ผู้คนยังเนืองแน่นทุกจุด
ขวาบน – ป้าเต็นท์นี้จำหน่ายผ้าถุง(ที่ทำจากผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าผสม)และผ้าขาวม้าเป็นหลัก
ซ้ายกลางบน – เสื้อที่ระลึก“จังหวัดบุรีรัมย์”และ“เซราะกราว”มีขายอยู่หลายร้านตลอดโซนของใช้
ขวากลาง – กระเป๋าแฮนด์เมดของแม่ค้าร้านนี้ตัดเย็บเองทั้งหมด
ซ้ายกลางล่าง – ตุ๊กตาน่ารักจากการ์ตูนดังมากมาย แบบที่เห็นปุ๊บก็ร้องอ๋อปั๊บ เช่น ซูเปอร์แมน ยูนิคอร์น มิกกี้เมาส์ มาริโอ การ์ฟิลด์ ไมก์ตาเดียว เอลซ่า มินเนียน หมีพูห์ เคอร์มิต ฯลฯ
ซ้ายล่าง – มุมนี้ขายสินค้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยหลายอย่าง เริ่มจากกล่องใส่หูฟัง สติกเกอร์ ตัวรีดติดเสื้อ เทปกระดาษ ร่มกันแดด ที่คั่นหนังสือ ไปจนถึงกล่องใส่แว่น ขณะที่ฝั่งขวามีต่างหูและสร้อยอีกมาก
ขวาล่าง – เจ้าของนั่งอยู่บนฟุตบาทหลังร้าน โดยวางของเก่ามากมายอยู่ริมถนนด้านหน้า ตัวอย่างก็มีกรรไกรดับเทียน ไม้คมแฝก ตะบันหมาก กรอบรูป เครื่องชั่งสปริง ที่เปิดขวด เกือกม้า เชิงเทียน ฯลฯ แต่ที่โดดเด่นคือ กระบอกฉีดน้ำดับเพลิงโบราณ(ที่เป็นแท่งยาวสุดและวางพาดทแยงอยู่ตรงกลาง)




ตอนนี้เข้าสู่ตอนที่สองของถนนหน้ากว้าง ของใช้สารพัดออกมาวาดลวดลายเพียบ
บน – ความคับคั่งของผู้คนโซนของใช้ไม่แพ้โซนของกินเลย ข้าวของแน่นขนัดแบบนี้ พกสตุ้งสตางค์เอาไว้ แล้วไปให้สุดทางจนถึงถนนหน้าแคบบริเวณสี่แยก(ที่เราตั้งต้นเข้ามา)กัน
ซ้ายบน – เต็นท์นี้เน้นเสื้อลูกไม้พร้อมผ้าถุงเข้าชุดสำหรับผู้ใหญ่ แต่เสื้อผู้หญิงทั่วไปก็มีปะปนอยู่
ขวาบน – วัยรุ่นคนไหนชอบสไตล์เมทัล เสื้อแนวเฮวี่แบบนี้น่าจะโดนใจทีเดียว
ซ้ายกลาง – เสื้อผ้าของสาวๆหลากหลายแบบทั้งแขนสั้นแขนยาว เดรส กางเกงเอวสูง และสายเดี่ยว มีให้เลือกจุใจหลายร้าน
ขวากลาง – หนูๆกำลังสนุกกับการช้อปเสื้อ(พร้อมลายที่ใฝ่ฝันไว้)
ซ้ายล่าง – ป้าคนขายนั่งจำหน่ายรองเท้าผ้าใบสำหรับเด็กเล็กและเด็กโต
ขวาล่าง – พี่ผมยาว(ที่สวมหมวก)มีแต่เครื่องหนังทั้งนั้น เริ่มจากเข็มขัด กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าสะพาย ไปจนถึงหัวเข็มขัด

 



การเดินทางบนถนนรมย์บุรีสะดวกโยธินดี ถ้าอย่างนั้นก็เข้าบทสรุปช่วงท้ายเลย
ซ้ายบน – แผงนี้จำหน่ายต้นแคกตัสหลากหลายสายพันธุ์(เอาไว้ประดับห้อง)
ขวาบน – พ่อค้ามีของเล่นมายั่วยวนเด็กๆมากมาย เช่น ตุ๊กแกปลอม ไดโนเสาร์ ปืนของเล่น รถแข่ง กุญแจมือ ฟิกเกอร์จากการ์ตูน(เช่น ฮัลก์ ฯลฯ) รถบังคับ สัตว์ต่างๆ ชุดแต่งตัว ถุงตด ฯลฯ รวมทั้ง
เคเบิลไบต์(หรือตัวงับสายชาร์จ)
ซ้ายกลาง – ลุงคนนี้นั่งขายพัดที่ทำจากใบตาลอยู่บนพื้น (ที่จังหวัดบุรีรัมย์มีสินค้าโอทอปประเภทนี้ด้วย เพียงแค่เราคลี่พัดออกมาเป็นวงกลม(อย่างที่ลุงกางอยู่) เท่านั้นก็คลายร้อนได้แล้ว)
ขวากลางบน – ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เก่าล้วนมีคุณค่าทางจิตใจสำหรับนักสะสม
ขวากลางล่าง – งานนี้มีแต่สาวๆเมื่อแม่ค้ารับทำเล็บปลอมเจล ทาสีเจล และถอดสีเจล
ซ้ายล่าง – ถนนหน้ากว้างมีการเว้นช่องไฟแผงลอยเป็นระยะเพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ได้อวดฝีไม้ลายมือกัน อย่างเช่นเด็กและวัยรุ่นวงนี้ที่นำเครื่องดนตีสากลมาประยุกต์เข้ากับเครื่องดนตรีท้องถิ่น (ได้อารมณ์โปงลางดี)
ขวาล่าง – และภาพนี้ก็คือพื้นที่ข้างคลองละลมที่หลายคนนำของ(ที่ซื้อ)มานั่งกินบนเสื่อและโต๊ะเตี้ย(โดยถนนคนเดินเซราะกราวจัดบริการให้กับนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว)

TODAY THIS MONTH TOTAL
77 6530 315643
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top