ประสาทโดนตวลเป็นปราสาทขอมขนาดเล็ก ตั้งอยู่บริเวณแนวชายแดนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านภูมิซรอล โดยอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 488 เมตร และสร้างในพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 1545 สมัยเดียวกันกับปราสาทพระวิหาร (ตามจารึกรอบประตูปราสาท)
บริเวณปราสาทโดนตวลประกอบด้วย
1. ปราสาทประธาน เป็นปรางค์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม โดยมีอาคารโถงและโคปุระ(หรือซุ้มประตู)อยู่ด้านหน้า ฐานปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงหินทราย ผนังไปถึงเรือนยอดก่อด้วยอิฐ (ทั้งนี้ได้พบอักษรโบราณจากคำจารึกรอบปราสาท ซึ่งถอดข้อความได้ว่า เป็นการออกคำสั่งโดยพระบรมบพิตรที่เผยแพร่คำประกาศจับข้าทาสที่หนีคือ จันทรพรและลาตวิ(ที่ไกรยจักวัลละ) โดยจะมอบให้เป็นข้าทาสแด่พระกัมรเตงชคัต)
2. บรรณาลัยและฐานศิลาแลง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน แผงผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 6.50 เมตร ยาวประมาณ 8.60 เมตร ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลง ถัดขึ้นมาก่อด้วยหินทราย ฐานสูงประมาณ 70 เซนติเมตร ย่อมุมด้านละ 3 มุม ส่วนเครื่องบน สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นหลังคาไม้มุงกระเบื้อง และเชื่อกันว่า บรรณาลัยคือ
- สถานที่เก็บรักษาคัมภีร์ ตำราทางศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์
- หรือเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพของเทพเจ้า
- หรืออาจเป็นที่รวบรวมเครื่องใช้ในการทำพิธีบวงสรวงทางศาสนาพราหมณ์ก็ได้
3. สระน้ำโบราณที่ห่างจากปราสาทประธานไป 100 เมตร
นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับช่องเขาโดนตวลว่า ครั้งหนึ่งเคยมีสตรีสูงศักดิ์หน้าตาสวยงาม(ซึ่งผู้คนต่างเรียกชื่อนางตามจุดเด่นของเรือนร่าง)เป็นภาษาเขมรว่า“นางเนียง ด็อฮ ทม” (หรือ“นางถันใหญ่”ซึ่งแปลว่า"ผู้หญิงที่มีหน้าอกใหญ่") เล่ากันว่า นางมาจากอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ และนอกจากหน้าอกที่ใหญ่แล้ว ความสวยงามก็เลื่องลือไปถึงกษัตริย์ขอมด้วย พระองค์จึงโปรดให้ข้าราชบริพารไปรับนางมาที่ราชสำนัก ทั้งๆที่นางมิได้ยินยอมแต่อย่างใด ระหว่างทางได้พักแรม ณ ลานหิน(ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทโดนตวล)ก่อนจะลงสู่แผ่นดินเขมร ขณะเดียวกัน นายตาเล็ง(ผู้หลงใหลในตัวนาง)ได้ติดตามมาเพื่อนำตัวนางกลับไป แต่เหล่าอำมาตย์(ที่พาไป)ไม่ยอม จึงเกิดการต่อสู้ นายตาเล็งถูกฆ่าในป่าตามเส้นทางของแผ่นดินเขมร ป่าแถบนั้นจึงมีชื่อว่า“ป่าตาเล็ง”นั่นเอง
ก่อนถึงผามออีแดงไม่ไกล มีปรางค์แห่งหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางป่าบนเขาใกล้หน้าผา ตัวปรางค์ค่อนข้างสมบูรณ์และมีอาคารโถงกับโคปุระอยู่ด้านหน้า ใกล้กันยังมีบรรณาลัย และห่างไปราวร้อยเมตรก็เป็นสระน้ำโบราณ ปรางค์และสิ่งก่อสร้างรายล้อมแห่งนี้มีชื่อปราสาทโดนตวล
บน – ภาพมุมกว้างนี้ทำให้เห็นปราสาทโดนตวลเป็นปรางค์อยู่ทางขวาและฐานศิลาแลงของบรรณาลัยอยู่ทางซ้าย บรรยากาศรอบด้านเป็นป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง
ไปดูส่วนต่างๆของปราสาทโดนตวลกัน
ซ้ายบน – ภาพปราสาทโดนตวลระยะใกล้ทำให้เห็นโคปุระ(หรือซุ้มประตู)เป็นเสาหินทรายสี่ต้นอยู่ด้านหน้า ส่วนเสาหินทรายสี่ต้นด้านหลังบริเวณอาคารโถงที่หน้าปรางค์สันนิษฐานว่าสร้างเพื่อรองรับหลังคามณฑป
ซ้ายกลาง – ประตูทางเข้าหน้าอาคารโถง
ขวาบน – เมื่อเข้าอาคารโถงมา แล้วมองไปเบื้องหน้า เราจะเห็นปรางค์ตั้งสูงตระหง่านในระยะใกล้เช่นนี้ โดยฐานปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงหินทรายสูงขึ้นมาครึ่งหนึ่งจนถึงเรือนธาตุ ส่วนช่วงกลางจนถึงยอดปรางค์ก่อด้วยอิฐ
ซ้ายล่าง – บรรยากาศโดยรอบของอาคารโถง(ที่เราเดินเข้ามา) (จากภาพ เราจะเห็นเสาหินทรายทั้งสี่ต้นของอาคารโถงอย่างชัดเจน)
ขวาล่าง – ภาพของสระน้ำโบราณที่อยู่ห่างจากปราสาทโดนตวลราว 100 เมตร (มีหญ้าและวัชพืชขึ้นทั่วรอบคันดิน)
ล่าง – และที่อยู่ใกล้ประสาทโดนตวลก็คือ บรรณาลัย ฐานล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ถัดขึ้นมาคือหินทราย
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
489 | 5426 | 297818 |