สะพานรัษฎาภิเศก

คำอธิบาย


สะพานสีขาวทรงคลาสสิกนี้ผ่านประวัติศาสตร์มายาวนานถึงสามรุ่น โดยสะพานรัษฎาภิเศกรุ่นแรกเป็นสะพานไม้ในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้านครลำปางองค์สุดท้าย และสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2436 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ส่วนชื่อ“รัษฎาภิเศก”นี้มีที่มาจากการสร้างสะพานเพื่อน้อมเกล้าฯถวายเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีรัชดาภิเษกรัชกาลที่ 5

แต่สะพานไม้รุ่นแรกก็พังทลายในปี พ.ศ.2444 เพราะทนแรงกระแทกจากท่อนซุงยามน้ำหลากไม่ไหว เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตจึงสร้างสะพานขึ้นใหม่เป็นรุ่นที่สอง โดยครั้งนี้เป็นสะพานไม้เสริมเหล็ก แต่สะพานรัษฎาภิเศกรุ่นที่สองก็พังลงอีกในปี พ.ศ.2458 เนื่องจากผุกร่อน กอปรกับไม่อาจต้านทานซุงที่ไหลบ่ามากับกระแสน้ำได้เหมือนครั้งแรก

รัชกาลที่ 8 จึงโปรดเกล้าให้สร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อความคงทนถาวร สะพานรัษฎาภิเศกรุ่นที่สามนี้สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2460 โดยเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กสีขาวทรงโค้งคันธนูทั้งหมด 4 โค้ง

เหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี พ.ศ.2485 – 2488 สะพานรัษฎาภิเศกได้รอดพ้นการโจมตีทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยการทาสีพรางตา รวมทั้งคำกล่าวอ้างของครูลูซี สตาร์ลิง ผู้อำนวยการโรงเรียนวิชชานารี(ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายสัมพันธมิตร)ที่ว่า"จุดนี้มีเพียงทหารญี่ปุ่นที่เป็นเสนารักษ์และเป็นย่านโรงพยาบาล ไม่มีผลทางยุทธศาสตร์ใดๆ" สะพานรัษฎาภิเศกจึงรอดพ้นการทิ้งระเบิดมาได้

สะพานรัษฎาภิเศกสะพานนี้ยังสะท้อนถึงยุคสมัยการขนส่งรถไฟหลวงและงานการก่อสร้างปูนซีเมนต์ไทยตามพระราชปรารภของรัชกาลที่ 6 ด้วย ปัจจุบันสะพานเหล็กข้ามน้ำรุ่นเดียวกันตามเส้นทางรถไฟสายเหนือล้วนผุพังหมดแล้ว เหลือแต่สะพานรัษฎาภิเศกที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้



ถ้าใครอยู่บนถนนตลาดเก่าหรือเดินเล่นถนนคนเดินกาดกองต้า เมื่อมาถึงถนนรัษฎา คงไม่พลาดอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของเมืองลำปาง นั่นคือสะพานรัษฎาภิเศกที่ข้ามแม่น้ำวัง สะพานนี้เป็นถนนสองเลนสวนกัน โดยโครงสร้างสะพานทาสีขาวล้วน ตอนนี้ขอขึ้นไปเดินเล่นบนสะพานก่อน
บน – จุดนี้เป็นหัวสะพานฝั่งถนนตลาดเก่าหรือถนนคนเดินกาดกองต้า สะพานทรงคลาสสิกนี้ทำให้เห็นพวงมาลาสีเขียวบนยอดเสา(เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5) ครุฑสีแดงกลางเสา(แทนตราสัญลักษณ์แผ่นดินสยามสมัยรัชกาลที่ 6) และไก่ขาวที่อยู่ข้างเสา(แทนสัญลักษณ์ประจำจังหวัดลำปาง) โดยสัญลักษณ์ทั้งสามนี้อยู่บนเสาของหัวสะพานอีกฝั่งเช่นกัน




เรามาชมวิวบนสะพานดีกว่า
ซ้ายบน – ภาพนี้เป็นหัวสะพานรัษฎาอีกด้านหนึ่ง(ที่อยู่ฝั่งตลาดเทศบาล 3 รัษฎา)
ซ้ายกลางบน – ลักษณะโค้งคันธนูของสะพานมีทั้งหมด 4 โค้ง (จากภาพ ด้านนี้กำลังมุ่งหน้าไปทางตลาดเทศบาล 3 รัษฎา)
ขวาบน – บรรยากาศบนสะพาน(ที่หันหน้าไปทางถนนตลาดเก่าหรือถนนคนเดินกาดกองต้า)
ซ้ายกลางล่าง – บนสะพานมีทางเดินริมถนนและเห็นวิวแม่น้ำวังได้ตลอด
ซ้ายล่าง – นอกจากรถราที่วิ่งข้ามสะพานแล้ว ชาวบ้านยังใช้สัญจรไปมาด้วย
ขวาล่าง – และรถม้าลำปางชมเมือง(ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัด)ก็ขออวดโฉมบนสะพานด้วยคน

TODAY THIS MONTH TOTAL
348 853 301314
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top