ตลาดนัดมูโนะ

คำอธิบาย


(สามารถคลิกอ่านคำอธิบายของกินของใช้ได้ที่"คำอธิบาย")

ตลาดนัดมูโนะเป็นตลาดนัดทุกวันศุกร์และจันทร์ เริ่มคึกคักตั้งแต่แปดโมงเช้าและซาในช่วงบ่าย โดยคนที่มาจับจ่ายคือชาวมาเลเซีย(ที่นั่งเรือข้ามแม่น้ำโก-ลกมา)ทั้งหมด ที่นี่จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า“ตลาดนัดสองแผ่นดิน”

จุดเริ่มต้นของตลาดอยู่บนถนนเข้าบ้านมูโนะ(จากถนนใหญ่สาย 42 มาประมาณ 100 กว่าเมตร) ซึ่งทั้งสองฝั่งเป็นบ้านชั้นเดียวและสองชั้นตลอดถนนบ้านมูโนะ เกือบทุกหลังเปิดหน้าร้านขายสินค้า ขณะที่ริมทางก็มีรถพ่วงข้างและซุ้มแผงลอยด้วย สำหรับสินค้าโซนนี้เริ่มจากของเล่นเด็ก รองเท้า กระเป๋า ของทอด ยา จักรยาน เฟอร์นิเจอร์ ดอกไม้พลาสติก เครื่องดื่ม สัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์สัตว์ ของกินเล่น ผ้าคลุมสตรี เสื้อผ้าชายหญิง เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในบ้าน เครื่องนอน เสื้อผ้าเด็ก ชากาแฟ ขนมและอาหารมุสลิม น้ำกะทิ ไปจนถึงเครื่องครัว

ทีนี้บนถนนบ้านมูโนะ จุดที่มีผู้คนคลาคล่ำจะอยู่ด้านหลังบ้านเรือนริมถนนฝั่งขวามือ ซึ่งเราสามารถเดินจากถนนบ้านมูโนะเข้าออกโซนด้านหลังนี้ได้ห้าช่องทางด้วยกัน

เริ่มตั้งแต่ตรอกทางเดินที่หนึ่ง สำหรับปากตรอกนี้ ทางขวาเป็นผนังของบ้านตึกริมถนน ซึ่งบริเวณนี้มีขาโต๊ะแผงลอยกางร่มตลาดนัดและเต็นท์พับตลอดแนว จากนั้นเข้ามาในตรอก จึงเป็นบ้านชั้นเดียวที่เปิดหน้าร้านเกือบทุกหลังยาวต่อกันไป แล้วจึงเป็นเพิงไม้สังกะสีที่สร้างบนดินจนถึงท้ายตรอก ส่วนฝั่งซ้ายเป็นผนังบ้านไม้สองชั้นจากริมถนน เมื่อเข้ามาในตรอก จึงเป็นอาคารตลาดหลังเก่า(ที่อยู่ด้านหลังบ้านไม้) สำหรับแผงลอยทางซ้าย เริ่มจากปากตรอกมีซุ้มแผงเหล็กดัดหนึ่งหลัง ที่เหลือเป็นขาโต๊ะแผงลอยใต้เต็นท์พับและร่มตลาดนัดเรียงรายอยู่นอกอาคารตลาดหลังเก่าตลอดแนว โดยสินค้าทั้งสองฟากก็มีเครื่องประดับสตรี ชากาแฟ เครื่องดื่ม ของกินเล่น อาหารมุสลิม เสื้อผ้าชายหญิง สัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์สัตว์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิว ชุดนักเรียน เสื้อผ้าเด็ก และอาหารตามสั่ง

คราวนี้มาพูดถึงอาคารตลาดหลังเก่า(ที่อยู่ด้านหลังบ้านไม้เมื่อสักครู่)ต่อ อาคารนี้ใหญ่และเก่าแก่ที่สุด โดยสร้างจากเสาปูน หลังคาเป็นโครงไม้มุงกระเบื้อง สำหรับแผงปูนเป็นแบบเปลือย ไม่ฉาบอะไร เราจึงเห็นอิฐบล็อกประกอบเป็นฐานชัดเจน ขณะที่โครงสร้างแผงแต่ละร้านทำจากไม้ ส่วนแผงแบบอื่นก็มีโต๊ะไม้ ราวแขวน และโต๊ะพับ แต่ที่โดดเด่นคือไม้แขวนเสื้อที่คล้องบ่วงเชือก แล้วปล่อยห้อยลงมาจากขื่อไปทั่วแผนกเสื้อผ้า โดยในอาคารมีทางเดินแนวลึกทั้งหมด 5 ช่องทางเดิน กลางอาคารมี 3 ช่องทางเดินและริมอาคารทางซ้ายขวาอีกอย่างละหนึ่ง ส่วนทางเดินแนวขวางมี 9 ช่องทางเดินด้วยกัน สำหรับสินค้ามีแต่ของใช้ล้วนๆ โดยเน้นเสื้อผ้าชายหญิงเป็นหลัก ที่เหลือก็มีเสื้อผ้าเด็ก ผ้าคลุมสตรี เครื่องครัว เครื่องประดับสตรี ของใช้ในบ้าน ผ้าหลา เครื่องสำอาง กระเป๋า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงผิว และรองเท้า

เมื่อออกจากอาคารตลาดหลังเก่านี้มา แล้วไปด้านหลังต่อ เราจะเจออาคารแผงปูนขนาดเล็กสร้างใหม่อีก 3 หลัง(ซึ่งมีขนาดความกว้างทั้งสามหลังรวมกันเท่ากับอาคารตลาดหลังเก่าพอดี) โดยทั้งสามหลังมีสินค้าวางขายบนแผงปูนแถวหน้าของแต่ละอาคารครบทุกล็อก ส่วนล็อกแถวหลังปล่อยโล่ง เนื่องจากผู้คนเน้นซื้อแผงด้านหน้ามากกว่า สำหรับสินค้าล็อกแถวหน้าอาคารทั้งสามก็มีของแห้ง อาหารทั่วไป รองเท้า เสื้อผ้าชายหญิง และขนมปังขายปลีกส่ง

ทีนี้จากหน้าอาคารทั้งสาม ถ้าเราเดินตรงไป จะพบทางสามแยกต่อ ถ้าเลี้ยวซ้ายเลย โซนนี้คือช่วงท้ายของตรอกทางเดินที่สอง (ทำให้อาคารตลาดหลังเก่าตอนนี้เปลี่ยนมาอยู่ซ้ายมือของเราแทน) และสิ่งที่เพิ่มเข้ามาทางขวาก็คืออาคารทรงยาวอีกหลัง ตรอกทางเดินที่สองนี้ถือว่าเนืองแน่นไปด้วยผู้คนมากที่สุดเนื่องจากข้าวของตลอดทางย้อนขึ้นไปจนถึงปากตรอก(ที่ติดกับถนนบ้านมูโนะ)มีแต่ของกินเป็นส่วนใหญ่ โดยแผงลอยซ้ายมือจะเลียบข้างอาคารตลาดหลังเก่าไปจนถึงล็อกห้องแถวชั้นเดียว แล้วเป็นเพิงไม้เลียบผนังข้างบ้านไม้สองชั้น(ริมถนนบ้านมูโนะ)ไปจนถึงปากตรอก ส่วนแผงลอยทางขวามือก็เริ่มตั้งแต่แผงปูนในอาคารหลังยาว แต่บางเจ้าก็ย้ายมาขายริมทางด้านล่างนอกอาคาร ถัดไปเป็นสามแยกมาคั่น(ซึ่งเราจะเลี้ยวขวาต่อ หลังจากจบตรอกที่สอง) แล้วต่อด้วยแผงลอยเลียบบ้านแถวชั้นเดียว ก่อนจะเป็นเพิงไม้เลียบผนังข้างบ้านริมถนนบ้านมูโนะไปจนถึงปากตรอก สำหรับของกินโซนนี้เรียกว่าละลานตาเลย เริ่มตั้งแต่ข้าวหมกไก่ทอด อาหารตามสั่ง ของกินเล่น ของชำ ผลไม้ อาหารและขนมมุสลิม ชากาแฟ อาหารทะเลแห้ง อาหารอีสาน สมุนไพร ขนมจีนน้ำยา ของปิ้งทอด อาหารทั่วไป เครื่องดื่ม เนื้อไก่ ไปจนถึงขนมปัง ขณะที่ของใช้ก็พอมีบ้าง เริ่มจากเสื้อผ้าชายหญิง ยาเส้น เครื่องประดับ ของเล่นเด็ก สื่อบันเทิง กระเป๋า สัตว์เลี้ยง ไปจนถึงนาฬิกา

คราวนี้เรากลับมาเลี้ยวตรงสามของตรอกทางเดินที่สองกัน สำหรับเส้นทางนี้ ฝั่งซ้ายของทางเดินเป็นบ้านแถวชั้นเดียวไปจนสุดทาง ส่วนฝั่งขวาเป็นล็อกขายของในอาคารยาวอีกด้านหนึ่ง แล้วจึงเป็นพื้นที่โล่งสำหรับจอดรถและตั้งแผงลอย ก่อนจะปิดท้ายด้วยเพิงไม้มุงสังกะสี โดยแผงลอยแถบนี้มีทั้งเปิดหน้าร้าน ลังพลาสติก ราวแขวน โต๊ะเตี้ย คีออส โต๊ะไม้ ถาด และแบกะดิน ส่วนของที่ขายก็มีผักสด ของแห้ง อาหารทะเล สมุนไพร สัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์สัตว์ เครื่องดื่ม เสื้อผ้าชายหญิง เครื่องประดับสตรี เครื่องสำอาง และของชำ

ถ้าเดินมุ่งหน้าต่อ เส้นทางจะบังคับให้เลี้ยวซ้าย เมื่อเลี้ยวมา แล้วเดินตงไป ตลอดทางเป็นทางเดินเล็กๆสายยาว โดยมีตรอกเข้าออกถนนบ้านมูโนะอยู่ด้านซ้ายอีกสามช่องนับจากนี้ ได้แก่ ตรอกที่สาม สี่ และห้า

ถ้าพูดถึงแผงลอย เริ่มจากขวามือมีเพิงไม้ติดกันเป็นล็อกๆเลียบแม่น้ำโก-ลกจนสุดปลายทาง (โดยท่าเรือที่ชาวมาเลเซียเทียบท่าขึ้นมาตลาด ก็อยู่ฝั่งนี้ด้วย)

สำหรับแผงลอยซ้ายมือ ขอกล่าวเป็นช่วงๆ ช่วงแรกจนถึงตรอกที่สามเป็นเพิงไม้ก่อน เมื่อเข้าสู่ทางเดินช่วงที่สองจนถึงตรอกที่สี่จะเป็นห้องแถวชั้นเดียวที่เปิดหน้าร้าน รวมทั้งมีเพิงไม้ด้วย

สำหรับตรอก(เข้าออกถนนบ้านมูโนะ)ที่สี่ ช่องนี้จะพิเศษคือแบ่งทางเดินเป็นสองฝั่ง ฝั่งซ้ายเป็นทางเดินโล่ง แต่ฝั่งขวาเป็นซอกทางเดินที่มีห้องแถวปูนชั้นเดียวอยู่ทั้งซ้ายและขวาของทางเดิน ซึ่งห้องแถวเหล่านี้เปิดหน้าร้านขายเสื้อผ้าสตรีและผ้าคลุมสตรีทั้งหมด

กลับมาทางเดินด้านในต่อ จากนั้นทางซ้ายก็เป็นเพิงไม้เลียบผนังข้างห้องแถวปูนชั้นเดียว แล้วจึงเป็นตรอก(เข้าออกถนนบ้านมูโนะ)ที่ห้า ซึ่งแผงขายของทางเดินริมแม่น้ำโก-ลกจะจบบริเวณแยกนี้

โดยสินค้าตามทางเดินริมแม่น้ำตั้งแต่ต้นมาจนถึงปลายทางก็มีเสื้อผ้าชายหญิง เครื่องดื่ม ของกินเล่น ผ้าคลุมสตรี กระเป๋า ผลไม้ ไอศกรีม เสื้อผ้าเด็ก อาหารทั่วไป เครื่องประดับสตรี ของแห้ง พันธุ์ไม้ ของชำ อาหารญี่ปุ่น ขนมไทย ของใช้ในบ้าน ผักพื้นบ้าน อาหารอีสาน และอาหารทะเลแห้ง



จากปากซอยมองเข้าไป ทีมงานดูไม่ออกเลยว่า บรรยากาศด้านในจะเปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือจริงๆ เพราะปกติบ้านมูโนะจะเงียบสงบ แถมหลายๆหมู่บ้านก็ติดริมแม่น้ำโกลกทั้งนั้น แต่กลับเป็นบ้านมูโนะที่แจ้งเกิดแบบสุดตัว เพราะชาวมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ วัยรุ่น และครอบครัวต่างแห่แหนมาจนเงินทองสะพัดกันให้ว่อน
บน – เริ่มต้นที่ถนนบ้านมูโนะก่อน บ้านไม้และบ้านตึกตลอดถนนพร้อมใจกันเปิดหน้าร้านถ้วนหน้า ส่วนอีกฝั่งตามแนวจอดรถมอเตอร์ไซค์ ก็เปิดหน้าร้านเกือบทุกหลังเช่นกัน ตอนนี้เหลือบมองนาฬิกา เป็นเวลา 8 โมงเช้า ชาวมาเลเซียเริ่มทยอยข้ามฟากมาแล้ว แต่ช่วงพีกจริงๆคือเก้าโมงเป็นต้นไป และถ้าเรามองไปสุดทางบริเวณต้นไม้พุ่มใหญ่ จุดนั้นคือทางออกถนนใหญ่สาย 42 (จากภาพ ถ้าอ่านจากเนื้อหาเกริ่นนำ กรณีเข้ามาจากถนนสาย 42 บ้านตึกและบ้านไม้เหล่านี้จะอยู่ขวามือของเรา ส่วนบ้านแนวรถมอเตอร์ไซค์ก็คือซ้ายมือ ทั้งนี้บ้านสองชั้นหลังเขียวริมถนนมุมไกลบริเวณเสาไฟฟ้าที่มีรถพ่วงข้างหลังคาเขียวจอดก็คือ ปากตรอกเข้าโซนด้านหลังช่องที่หนึ่ง ส่วนด้านหลังบ้านไม้ทั้งแถวเป็นที่ตั้งอาคารตลาดหลังเก่า ขณะที่ร่มตลาดนัดสีเขียวที่มีสาวมาเลเซียสวมฮิญาบสีชมพูคือปากตรอกช่องที่สอง สำหรับตรอกช่องอื่นๆก็อยู่ถัดเข้าไป)
ซ้ายบน – ส่วนใหญ่บนถนนบ้านมูโนะจะมีของใช้มากกว่าของกิน แต่เราขอประเดิมของกินสักหนึ่งแผงแล้วกัน แม่ค้าร้านนี้มีตาแปทอด กล้วยทอด มันทอด มันม่วงทอด ไส้กรอกทอด ไส้กรอกชุบแป้งทอด ลูกชิ้นทอด ไก่ยอทอด กือโป๊ะทอด ปูอัดทอด ถั่วต้ม รวมทั้งเครื่องดื่มใส่น้ำแข็งแก้วต่างๆเช่น โอเลี้ยง โอวัลติน น้ำส้ม น้ำแดง ลำไย สับปะรด มะพร้าว ลิ้นจี่ ฯลฯ หรือถ้าใครอยากได้เครื่องดื่มในตู้เย็น ก็มีให้เลือกอีก เช่น แฟนต้า(น้ำแดง น้ำส้ม น้ำเขียว) โค้ก ชเวปส์ เรดดี้บูต ฉลาม เอ็มร้อยห้าสิบ ฯลฯ
ขวาบน – บ้านหลังนี้เปิดหน้าร้านขายดอกไม้พลาสติกและกระเช้าในเทศกาลต่างๆ
ซ้ายกลาง – เจ้านี้โชว์จักรยานสำหรับเด็กเล็กที่เป็นสามล้อถีบและเด็กโตที่เป็นสองล้อ(ทั้งแบบมีตะกร้าและไม่มีตะกร้าหน้ารถ)
ขวากลาง – ใครอยากได้เครื่องนอน ให้มาสังเกตการณ์เจ้านี้ เริ่มตั้งแต่หมอน ผ้านวม หมอนข้าง ผ้าห่ม เสื่อ ฟูก รวมทั้งตะกร้าสานพลาสติก
ซ้ายล่าง – ส่วนบ้านหลังไหนขาดอุปกรณ์ในบ้าน สินค้าต่างๆของร้านนี้มีทัปเปิลแวร์ ถังน้ำ ซึ้ง ร่ม ถังขยะ กระติกน้ำ หม้อ กระทะ ลังพลาสติก กะละมัง รวมไปถึงพัดลมตั้งโต๊ะ
ขวาล่าง – หน้าบ้านนี้มีแต่ของเล่นแขวนระโยงระยางมากมาย เช่น ชุดโบว์ลิ่ง ชุดผลไม้ ตุ๊กตาเด็กอ่อนในเปล รถบรรทุก ห่วงยางเล่นน้ำ เฮลิคอปเตอร์ ปืนกล รถขนทราย รถแข่ง ฯลฯ




ยังอยู่บนถนนบ้านมูโนะอีกหน่อย
ซ้ายบน – หน้าร้านนี้เน้นจำหน่ายลูกเป็ด ไก่เริ่มโต นกกระทา กระต่าย นกปรอดหน้านวล กรงดักหนู และกรงเลี้ยงนกกรงหัวจุก
ขวาบน – เดรสและกางเกงผ้าพลิ้วสำหรับสาวมุสลิมแขวนให้ชมกันหลายดีไซน์
- หลังจากตระเวนซื้อของบนถนนแล้ว เราเข้าตรอกที่หนึ่งกันเลย
ซ้ายกลางบน – บรรยากาศในตรอกที่หนึ่งจะเห็นเต็นท์พับตลอดทาง โดยซ้ายมือมีเต็นท์ยาวตลอดแนว แต่ทางขวามีทั้งเต็นท์พับและหน้าร้านตามบ้าน (จากภาพ ถ้าสังเกตดีๆ เลยจากจานเคเบิลเข้าไป เราจะเห็นหน้าจั่วหลังคาด้วย หลังคานี้ก็คืออาคารตลาดหลังเก่าที่เต็นท์พับทางซ้ายตั้งแผงเลียบตลอดแนว)
ขวากลาง – เครื่องประดับเงินและทองรูปพรรณของพ่อค้าแม่ค้าโต๊ะนี้มีแหวน สร้อย สายข้อมือ และกำไล
ซ้ายกลางล่าง – เต็นท์นี้โชว์ฮิญาบสำเร็จรูปเต็มไปหมด สาวๆชอบสีไหนลายไหน เข้ามาเลือกเลย
ซ้ายกลางล่าง – ขณะที่เต็นท์นี้มีเสื้อแขนสั้นและกางเกงวอร์มของผู้ชายมาจำหน่าย
ขวาล่าง – เต็นท์กางเจ้านี้มีกองรองเท้าให้เลือกอย่างจุใจ ส่วนใหญ่เป็นรองเท้าแตะสวมและหนีบของชายหญิง แต่รองเท้าผ้าใบและรองเท้าเด็กก็เข้ามาแจมด้วย




แดดเริ่มร้อน แต่ทุกคนกลับหรรษากับการช้อป
ซ้ายบน – เพิงไม้นี้ขายเสื้อผ้ากับอุปกรณ์ทำละหมาดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เริ่มตั้งแต่เสื้อโต๊ป ตะละกง ผ้าปูละหมาด ไปจนถึงหมวกกะปิเยาะห์
ขวาบน – บ้านหลังนี้ชำนาญเรื่องนกกรงหัวจุกเป็นแน่ ใครขาดข้อมูลนกอะไร เจ้าของร้านมีคำตอบ
- เมื่อสักครู่ เราเดินชมสินค้ากลางแจ้งแล้ว คราวนี้ขอเข้าอาคารตลาดหลังเก่าเพื่อซื้อของเพิ่ม
กลาง – ภาพนี้ทำให้เราเห็นบรรยากาศโดยรวมของอาคารตลาดหลังนี้ ตัวอาคารเป็นเสาปูนพร้อมโครงหลังคาไม้มุงกระเบื้อง อาคารนี้เก่าแก่นับสิบๆปีแล้ว แต่กลับได้บรรยากาศคลาสสิกทุกครั้งที่มา ในอาคารมีเสื้อผ้าและของใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีของกินมาพัวพัน นอกจากนี้ ความกว้างขวางก็ทำให้สินค้าบนแผงกลายเป็นทำเลทองแทบทุกล็อก เนื่องจากโดนจับจองเต็มทุกพื้นที่
ซ้ายกลาง – แผงนี้มีจาน ชาม หม้อ และกระทะมากมายให้ลูกค้าเลือก
ขวากลาง – แล้วก็เป็นคิวของความสวยความงามบ้าง ตัวอย่างบนโต๊ะมีแป้งว่านหางจระเข้ บลัชออน เกลือสปา แป้งพัฟ สบู่ขึ้นเงา ดินสอเขียนคิ้ว ลิปสติก แป้งคูชั่น สบู่สมุนไพร ฯลฯ
ซ้ายล่าง – ป้าบนแผงปูนโดนห้อมล้อมด้วยสินค้าเป็นภูเขาเหล่ากา ทำให้ลูกค้ามาเลเซียเลือกกันหัวหมุนทีเดียว ตัวอย่างคร่าวๆก็เช่น แป้งเย็น แป้งเด็ก ยาสีฟัน เจลหล่อลื่นผิว สบู่สมุนไพร เจลอาบน้ำ ครีมมาส์กหน้า บอดี้โลชั่น แชมพูเด็ก ครีมนวดผม แชมพู โรลออน ครีมอาบน้ำ ครีมบำรุงผิวหน้า เซรั่มบำรุงผิวกาย ครีมปกป้องแสงแดด ฯลฯ
ขวาล่าง – ผงซักฟอกกับน้ำยาปรับผ้านุ่มปรากฏกายอยู่มุมนี้




เดินในอาคารต่อ ใครถูกใจอะไร ซื้อได้เลย ไม่ห้ามอยู่แล้ว
ซ้ายบน – จุดไหนเป็นพื้นที่โล่ง ก็มีขาโต๊ะแผงลอยมาตั้งร้าน อย่างเช่นซุ้มนี้ที่มีโบว์มัดผม กิ๊บ ที่คาดผม ตัวห้อยกระเป๋า กระเป๋าใส่เหรียญ และกระเป๋าสะพายมาจัดจำหน่าย
ขวาบน – รองเท้าแตะแบบหนีบและสวมเรียงหน้ากระดานมาเพียบ
ซ้ายกลาง – แม่ค้าแผงนี้มีผ้าหลายชนิดมานำเสนอกัน เช่น โสร่ง ผ้าปาเต๊ะ ผ้าปูละหมาด ตะละกง ฯลฯ
ขวากลาง – ผ้าหลาแผงนี้มีสาวน้อยสาวใหญ่มารุมซื้อจ้าละหวั่น ใครอยากได้สีไหนไปตัดทำอะไร คงสมใจเสียที
ซ้ายล่าง – ย่านนี้สำหรับคนรักกางเกงยีนส์
- จากนี้ไปดูโซนไม้แขวนเสื้อที่ผูกกับขื่อบนหลังคา แล้วห้อยเสื้อผ้าอาภรณ์ไปทั่วบริเวณบ้าง เราสามารถเดินแหวกม่านประเพณีเลือกซื้อตามใจชอบ และถ้าพูดถึงอาคารนี้ หมวดเสื้อผ้าคือนัมเบอร์วัน
ขวาล่าง – เสื้อสตรีแบบมีปก ไม่มีปก แขนสั้น แขนยาว มากันครบ




ยังมีความสุขดีในอาคารหลังนี้
ซ้ายบน – แถบนี้เป็นเสื้อยืดแขนสั้นและยาวของผู้ชาย ส่วนของผู้หญิงจะอยู่อีกด้าน ขณะที่ด้านบนมีเสื้อผ้าเด็กร่วมสมทบ
ขวาบน – แล้วเราก็มาจ๊ะเอ๋กับเสื้อผ้าลูกเด็กเล็กแดงกัน ร้านนี้เน้นกลุ่มเป้าหมายเด็กผู้ชาย
- หลังจากหลบร่มอยู่ในอาคารมานาน นาทีนี้ได้ฤกษ์ออกด้านนอกไปอาคารเล็กสามหลัง(ที่อยู่ด้านหลัง)บ้าง ขอสุ่มมาหนึ่งแผงแล้วกัน
ขวากลางบน – เจ้านี้จำหน่ายเกลือ แม่ค้าเลยตักใส่ถุงเตรียมให้ลูกค้าล่วงหน้า
- เราเพลิดเพลินกับของใช้มาสักพักใหญ่ คิดว่าหลายคนคงท้องร้องจ๊อกๆแล้ว ตอนนี้เมื่อเดินพ้นอาคารเล็กสามหลังไป ก็จะเจอสามแยก ถ้าเลี้ยวซ้ายเข้าด้านท้ายของตรอกทางเดินที่สองไปจนถึงปากตรอกเมื่อไหร่ เตรียมอ้วนฉุได้เลย
กลาง – ตรอกที่สองถือว่าคึกคึกไปด้วยคลื่นมนุษย์จากประเทศมาเลเซียและอุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยพ่อค้าแม่ขายชาวไทย เสียงภาษามลายูที่คนไทยและชาวมาเลเซียเสวนากัน เกือบเผลอนึกว่า ตัวเองกำลังอยู่ในรัฐกลันตรัง ขณะที่กับข้าวกับปลาและขนมนมเนย คงไม่ต้องเอ่ยถึง ได้พุงขยายกันถ้วนหน้าแน่ และถึงแม้มีของใช้ปะปนในตรอกนี้ด้วย แต่ตอนนี้ทำได้เพียงไม้ประดับไปชั่วขณะ
- ก่อนจะเข้าโหมดของกิน ขอเปิดฉากด้วยแผงนี้ก่อน
ซ้ายล่าง – ในตรอกที่สองมีแผงเพลงและหนังมาขับกล่อมผู้คนตลอดเวลา เพลงภาษามลายูบรรเลงกันแบบนอนสต๊อป โดยวันที่ทีมงานกำลังเดินช้อป พลันได้ยินจังหวะเต้นของเพลงไทยที่เคยฮิตมโหฬารในอดีต แต่ขณะนี้ถูกดัดแปลงเป็นภาษามลายู แถมเปลี่ยนเวอร์ชั่นเป็นการร้องคู่ชายหญิงในสไตล์พ่อแง่แม่งอน จนทีมงานต้องเข้าไปยืนแฝงตัวในร้านเพื่อฟังเพลงนี้เนื่องจากชายหญิงคู่นี้ร้องชิงไหวชิงพริบได้สนุกจริงๆ เพลงเต้นที่ทุกคนโยกตัวตาม แถมพูดชื่อเพลงไป ต้องร้องอ๋อกันทั้งบาง และเพลงนั้นก็คือเพลง“คู่กัด”ของพี่เบิร์ด ธงไชย
ขวาล่าง – หลังจากดื่มด่ำกับเสียงเพลงแล้ว อากาศร้อนๆแบบนี้ ขอจัดความหวานเย็นเข้าสู่ร่างกาย ก่อนจะแนะนำกองทัพของกินต่อ เผอิญแม่ค้าโต๊ะนี้มีความชื่นใจมาฝาก ส่วนประกอบในน้ำแข็งไสเริ่มตั้งแต่กล้วยเชื่อม ข้าวโพด เฉาก๊วย ขนมปัง ลองช่อง ทับทิมกรอบ มันเชื่อม ไปจนถึงลอดช่องสิงคโปร์ สำหรับเครื่องราดมีน้ำเชื่อม น้ำแดง และนมข้นหวาน ส่วนใครอยากเพิ่มอันไหนเข้าหรือคัดอันไหนออก บอกแม่ค้าได้เลย




บอกแล้วว่า ตรอกที่สองมีแต่ของกิน เตรียมตื่นตาตื่นใจไปพร้อมกัน ณ บัดนี้
ซ้ายบน – แม่กับลูกชายช่วยกันประสานงาน ลูกชายขับรถกระบะมาจอด แล้วรีบลงของตั้งร้านให้ ส่วนแม่ก็จัดการทำขนมถังแตกไส้มะพร้าวกับสังขยา ขณะที่ลูกชายตามหลังมาทำขนมโตเกียวอยู่อีกมุม
ขวาบน – ป้าเจ้านี้สับไก่อยู่ตำแหน่งเดิมทุกครั้ง ใครอยากได้ตีนไก่ เครื่องใน น่อง เนื้ออก หรือตัวไก่ ก็ว่ามาเลย
ซ้ายกลาง – คนขายนำขนมน่ากินหลายอย่าง(ที่เพิ่งทำจากบ้านห่างไม่กี่ก้าว)มาตั้งโต๊ะ เดี๋ยวสักพักก็มีคนมาล้อมวงแล้ว และรายการขนมบนโต๊ะทั้งหมดก็มีนิบะ ขนมหัวมัน พุดดิ้ง ฆอเดาะห์ กล้วยเชื่อม บวดสาคู ตาแปต้มกะทิ ข้าวเหนียวดำเปียก ถั่วเขียวต้มกะทิ และกล้วยบวดชี
ขวากลางบน – แผงนี้เป็นแผงยาวและทำอาหารหลายอย่างมาจำหน่าย หนึ่งในไลน์อาหารก็มีผัดหมี่และเส้นใหญ่ใส่ลูกชิ้น ยำขนมจีนปลาทู และข้าวหมกไก่
ขวากลางล่าง – กือโป๊ะทอดร้อนๆของชาวมุสลิมไม่เคยตกยุคไปไหน อยากกินรสดั้งเดิมหรือรสปาปริก้า ก็ชี้บอกคนขายไป
ซ้ายล่าง – ขนมและของกินเล่นมากมายรวมพลังกันอยู่ร้านนี้นี่เอง เท่าที่เห็นก็มีเวาะกอเมาะ ขนมจีบไส้ไก่ สลัดผัด หม้อแกงถั่ว เค้กกล้วยหอม น้ำตาลแว่น ขนมอาเกาะ กาละแม ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมไข่ ขนมหัวเราะ เปลือกส้มโอเชื่อมแห้ง ขนมงาพอง ลูกหยีทรงเครื่อง ขนมถ้วยฟู คัพเค้ก ขนมเจาะหู ขนมก้านบัว ขนมโก๋ โดนัต ถั่วตัด และขนมปังไส้สังขยา
ขวาล่าง – ใครชอบกินของยำต่างๆ เช่น ไก่ยอ เห็ดหูหนูขาว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตีนไก่ ฯลฯ หรือจะเป็นส้มตำรสจัดจ้าน ก็สั่งร้านไว้ก่อน




เวลานี้มีหน้าที่หาของกินถูกปากให้มากเข้าไว้
ซ้ายบน – แผงนี้วางปลาทะเลแห้งอยู่ในอาคารยาว (อาคารยาวอยู่ทางขวามือของเรา เมื่อเลี้ยวซ้ายที่สามแยกเข้าด้านท้ายตรอกที่สอง) ปลาหลากหลายชนิดแห้งพร้อมเสริฟแล้ว เช่น ปลาดาบเงิน ปลาหนวดฤาษี ปลาหลังเขียว ฯลฯ
ขวาบน – ขาโต๊ะแผงลอยของแม่ค้ามีส้ม สละ องุ่น ลำไย มะม่วงสุก มะม่วงมัน องุ่นแดง องุ่นเขียว และมะปรางมาให้ชั่งกิโลใส่ถุงกลับไป
- และขอแนะนำตรอกที่สองด้วยสามร้านต่อไปนี้ ซึ่งทุกเพิงมีที่นั่งกินทั้งหมด
ซ้ายกลางบน – เจ้านี้เป็นหมวดข้าวราดแกงและอาหารมุสลิมต่างๆให้ฝากท้อง โต๊ะใกล้ภาพก็เช่น ละแซ ขนมจีน วุ้นกะทิใบเตย ยำมะม่วง ฯลฯ ขณะที่โต๊ะไกลภาพ(ติดกับผู้หญิงเสื้อเหลือง)ก็เช่น ปลาราดพริก แกงเนื้อ มัสมั่นไก่ ผัดก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ หรือใครอยากกินน้ำอัดลม ก็มีเช่นกัน
ขวากลางบน – ล็อกนี้เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวน้ำและแห้งสารพัดเส้น อีกทั้งมีชากาแฟมาเข้าคู่ด้วย
ซ้ายกลางล่าง – และอีกหนึ่งล็อกที่อยู่ใกล้ปากตรอกที่สอง ตอนนี้ทีมงานต้องขอไปอยู่ใกล้ครัวดูแม่ค้าทำอาหารตามสั่ง แล้วพลางเหลือบมองว่า เสียงส่วนใหญ่ออเดอร์อะไรกัน
- ทีนี้ระหว่างกลางของตรอกที่สอง ยังมีสามแยกให้เลี้ยวอย่างที่เคยบอกไว้ เดี๋ยวเราจะไปทางนั้นกัน (จากภาพเปิด“กลาง”ของตรอกที่สองจะเห็นบรรยากาศคนเดินเยอะแยะก่อนเข้าสู่เพลง“คู่กัด” ให้มองไปที่ร่มตลาดนัดสีฟ้าในภาพ จุดนั้นเป็นสามแยก ถ้าเราเลี้ยวไปทางซ้ายของภาพเลย ก็เท่ากับเข้าช่องทางที่จะไปนี้ หรือถ้าเรามาจากท้ายตรอกที่สอง เมื่อพ้นซุ้มกระเป๋าสะพาย(บริเวณทางขวาของร่มตลาดนัดสีฟ้า)ออกมา ก็เท่ากับเราต้องเลี้ยวขวาที่สามแยกนั่นเอง)
ขวากลางล่าง – ชาวมาเลเซียยังควักกระเป๋าซื้อของเป็นว่าเล่นในช่องทางเดินนี้ เดี๋ยวขอสอดส่องว่า มีอะไรน่าซื้อบ้าง
ซ้ายล่าง – บ้านหลังนี้เปิดหน้าร้านขายของแห้งของชำ บนโต๊ะนี้มีของวางเรียงรายมากมาย เช่น ถั่วเขียว ถั่วขาว ถั่วแดง ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ใบชา น้ำตาลแว่น พริกแห้ง น้ำจิ้มไก่ หอมเจียว บูดูขวด ซอสพริก น้ำมะนาวขวด ซอสปรุงอาหาร ซีอิ๊วขาว หอมแดง น้ำปลา ซอสเย็นตาโฟ น้ำพริก น้ำมันพืช ผงขมิ้น หอมใหญ่ น้ำตาลทราย กระเทียมเจียว ฯลฯ
ขวาล่าง – แผงนี้อยู่หัวมุมสามแยกพอดี โดยแม่ค้านั่งขายบนเก้าอี้เตี้ย ส่วนสินค้ามีลอดช่องและลอดช่องสิงคโปร์ในถุงใกล้ภาพ ถัดไปเป็นขนมขึ้นและอาโปงไส้สังขยา ขณะที่มุมไกลจำหน่ายละแซและเส้นขนมจีน




เดินไป ซื้อของไป ฟังภาษามลายูไป ครึ้มอกครึ้มใจดี
ซ้ายบน – ล็อกในอาคารยาวด้านนี้มีแผงผักเป็นเจ้าประจำ โดยผักวันนี้มีข้าวโพดอ่อน มะเขือยาว กะหล่ำดอก มะเขือเทศ กระเจี๊ยบเขียว พริกหยวก ผักชี ถั่วฝักยาว คะน้า พริก มะนาว ต้นหอม ดอกไม้กวาด บวบงู และใบบัวบก
ขวาบน – เดินเข้ามาอีกหน่อยก็เจอแผงอาหารทะเลแล้ว ตอนนี้คิดได้หลายเมนูเลย เพราะปลาบนถาดมีปลาข้างเหลือง ปลาโฉมงาม ปลามง ปลาโอลาย ปลากล้วยหางเหลือง ปลาหางแข็ง และปลามงแซ่
ซ้ายกลาง – คีออสเจ้านี้ช่วยดับความกระหายได้ ลิสต์เครื่องดื่มก็มีน้ำอัดลม น้ำผลไม้รสต่างๆจากหัวเชื้อ ชาเย็น และกาแฟ
- เมื่อเดินมาสุดทาง ทางเดินจะบังคับให้เราเลี้ยวซ้ายต่อ ซึ่งเป็นเส้นทางริมแม่น้ำโก-ลกแล้ว สำหรับสินค้ามีจำหน่ายทั้งสองฟากของทางเดิน
ขวากลางบน – ภาพนี้เป็นบรรยากาศทางเดินเลียบแม่น้ำโก-ลกบางช่วง แผงลอยมีซ้ายขวาตลอด โดยฝั่งซ้ายเป็นเต็นท์พับผลไม้และเสื้อผ้า ขณะที่ฝั่งขวาเป็นเพิงเสาปูนเสื้อผ้า (จากภาพ ด้านหลังแผงผลไม้ก็คือแม่น้ำโก-ลก แต่ถ้าเดินจากแผงปลาและผักสดเมื่อสักครู่มา แล้วเลี้ยวซ้าย แผงผลไม้เจ้านี้จะเป็นขวามือของเราทันที นั่นเท่ากับว่า ถ้าเราเดินตรงขึ้นไปตามภาพนี้เลย แล้วเลี้ยวขวา เรากำลังกลับไปหาตรอกทางเดินที่สองอีกครั้ง)
ซ้ายล่าง – หน้าร้านนี้เปิดขายข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว อาหารของสัตว์ทะเล และอาหารแพะกับแกะ
ขวากลางล่าง – ส่วนร้านนี้เน้นขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป แต่ก็ขายปลีกด้วย เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำยาล้างจาน แชมพู น้ำปลา ซอสพริก ซีอี๊วขาว ผงซักฟอก ผลไม้คลุก ใบชา ฯลฯ
ขวาล่าง – กระบะเปิดท้ายนำแตงโมมาจำหน่ายด้วยคน




ตลาดนัดสองแผ่นดินก็มาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว ไม่เสียดายเวลาสักนิด
ซ้ายบน – ชาวมาเลเซียก็สนใจปลูกต้นไม้เช่นกัน ตัวอย่างพันธุ์ไม้มีกล้วยไม้ เฟื่องฟ้า กุหลาบ เศรษฐีเรือนใน เข็มเหลือง ฯลฯ
ขวาบน – ซุ้มนี้ขายเป้ลายน่ารักๆ เสื้อผ้าเด็ก และกระเป๋าพลาสติกแบบถือ
ซ้ายกลางบน - แม่ค้าเพิงนี้เน้นจำหน่ายเสื้อผ้าสตรี แต่ก็มีเสื้อผู้ชายและเด็กด้วย
ขวากลางบน – ร้านนี้เปิดจำหน่ายผ้าฮิญาบทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบพันหลากหลายสี
ซ้ายกลางล่าง – ยกทรง กางเกงใน และเสื้อซับในของสาวๆหลากสีหลายไซส์รอลูกค้าอยู่
- ที่เราเดินมาทั้งหมด เป็นแผงตามเส้นทางเลียบแม่น้ำโก-ลก แต่คราวนี้ขอตบท้ายกับตรอกที่สี่สักสองเจ้า ส่วนแผงของตรอกที่สามและห้ายังไม่หนาตาเท่า
ซ้ายกลางล่าง – มุมนี้ขายเสื้อสูงวัย กางเกง เสื้อพลิ้ว และเสื้อเดรสของสตรี ใครชอบลายแบบไหน ก็เข้าไปจับเนื้อผ้ากัน
ซ้ายล่าง – ส่วนร้านนี้เป็นเสื้อผ้าของบุรุษเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นเสื้อกีฬาและกางเกงวอร์ม ที่เหลือเป็นเสื้อยืดแขนสั้นและเสื้อผ้าเด็กผู้ชาย
ขวาล่าง – และภาพนี้ก็คือท่าเรือระหว่างสองแผ่นดิน มุมใกล้คือเรือที่เพิ่งเทียบท่าเสร็จและกำลังพาชาวมาเลเซียขึ้นแผ่นดินไทย ขณะที่อีกฟากคือท่าเรือฝั่งมาเลเซียที่กำลังรอข้ามแม่น้ำโก-ลกมา


TODAY THIS MONTH TOTAL
380 5317 297709
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top