พระยาเสนานุชิต (นุช) ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าเป็นผู้สร้างกำแพงล้อมรอบจวนที่พำนัก ลักษณะเป็นกำแพงป้อมค่ายป้องกันศัตรู ก่อด้วยดินเหนียวผสมกรวดทรายแซมปูนล้วนหรือที่เรียกว่า“ผนังหล่อ” หนา 58.5 เซนติเมตร สูง 3.80 เมตร ไม่ได้ก่ออิฐถือปูนอย่างกำแพงทั่วไป ซึ่งพบเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย
ผังกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 95 เมตร ยาว 158 เมตร ภายในแบ่งเนื้อที่เป็นสองส่วนโดยมีกำแพงกั้น คือ ส่วนหนึ่งยาว 107 เมตร อีกส่วนยาว 51 เมตร
เล่ากันว่าเมื่อกลุ่มอั้งยี่ระหว่างพวกโฮเส่งและพวกงี่หิ้น(หรือหงี่เห้ง)ในเมืองตะกั่วป่ารบกันราวปี พ.ศ.2424 ราษฎรต่างแตกตื่นหนีภัยเข้ามาอาศัยอยู่ในกำแพงค่าย พวกอั้งยี่ที่สู้ไม่ได้ ก็หนีเข้ามาอยู่ในค่ายด้วย พระยาเสนาบดีนุชิตสั่งปิดประตูค่าย แล้วมายืนถือดาบบัญชาการป้องกันค่ายที่เชิงเทินหน้าค่ายด้วยตนเอง
อนึ่ง กำแพงด้านใต้ริมถนนอุดมธาราถูกทุบทำลายยาวประมาณ 20 เมตร เพื่อขยายถนนอุดมธาราให้กว้างขึ้น ปัจจุบันกำแพงค่ายเป็นทรัพย์สินของตระกูล ณ นคร กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา ตอนพิเศษ เล่ม 113 ตอนพิเศษ 50 ง วันที่ 18 ธันวาคม 2539 เนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา
บ้านทุกหลังในเมืองเก่าตะกั่วป่าคงไม่มีใครไม่รู้จักกำแพงค่ายแน่นอน สิ่งก่อสร้างนี้ถือเป็นจุดเด่นคู่เมืองเก่ามานานนับร้อยปีแล้ว ถึงวันนี้ก็ยังคงเด่นตะหง่านอยู่ และแม้วันเวลาจะผ่านไป แต่ความเป็นมาจากอดีตกลับไม่เคยผ่านไป
บน – บรรยากาศช่วงแดดร่มลมตกของกำแพงค่าย กำแพงผนังหล่อจะล้อมลานหญ้าอยู่ไกลลิบๆทั้งสี่ด้าน ส่วนกำแพงทรงเตี้ย(ที่แบ่งพื้นที่ภายในเป็นสองส่วน)จะอยู่กลางลานหญ้าอย่างที่เห็น ซึ่งปัจจุบันกำแพงดังกล่าวชำรุดไปตามกาลเวลา โดยฝั่งที่ทีมงานยืนอยู่มีเนื้อที่น้อยกว่า ขณะที่อีกด้านของกำแพงมีเนื้อที่มากกว่า(ตามที่เกริ่นไว้) นักท่องเที่ยวสามารถเดินบนลานหญ้าชมกำแพงค่ายได้ตามสะดวก
เรามาสำรวจกำแพงไปเรื่อยๆกัน
บน – กำแพงค่ายทั้งสี่ทิศ ณ วันนี้ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์เกือบทั้งหมด ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นหนาแน่นจากหลังกำแพงทิศเหนือก็แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาข้ามเข้ามา ขณะที่ในกำแพงค่ายเป็นลานกว้างที่มีหญ้าเตี้ยๆขึ้นปกคลุม
ซ้ายบน – เรามาชมกำแพงค่ายทางทิศเหนือที่มีต้นไม้ใหญ่เรียงรายอยู่หลังกำแพงใกล้ๆกัน
ขวาบน – กำแพงฟากทิศตะวันตกมีรากไม้ขึ้นชอนไชไปตามกำแพง กลายเป็นศิลปะของธรรมชาติอีกแขนงหนึ่ง
ขวากลาง – ประตูเข้าออกกำแพงค่ายมีรอบด้าน บางประตูยังอยู่ในสภาพดี ขณะที่บางประตูเริ่มรกและทรุดโทรมตามภาพ
ซ้ายล่าง – ภาพของกำแพงผนังหล่อ(ที่แบ่งลานหญ้าภายในเป็นสองฝั่ง)เริ่มพังทลายไปตามวันเวลา
ขวาล่าง – และนี่คือกำแพงค่ายทิศใต้ เราจะเห็นกำแพงผนังหล่อชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกัน ถ้ามองไปทางซ้ายสุดของภาพ พื้นคอนกรีตและรถยนต์ที่จอดอยู่ก็คือถนนอุดมธารา ซึ่งกำแพงค่ายมุมนี้ถูกทุบทำลายไปบางส่วนเพื่อขยายถนนสายนี้นั่นเอง
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
463 | 5400 | 297792 |