วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร

คำอธิบาย


331วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกและเป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุพนม ซึ่งเป็นพุทธเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของชาวไทยล้านช้างมาตั้งแต่โบราณและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงด้วย

องค์พระธาตุพนมมีสัณฐานเป็นสี่เหลี่ยม ภายในบรรจุอุรังคธาตุ(หรือกระดูกส่วนหน้าอก)ของพระพุทธเจ้าไว้ ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมายังลุ่มแม่น้ำโขงและบรรทมที่ภูกำพร้า 1 คืน (ภูกำพร้าคือ เนินที่สูงกว่าบริเวณอื่น) โดยมีวิษณุกรรมคอยอุปัฏฐากรับใช้ รุ่งเช้าพระองค์เสด็จไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูรและทรงพักที่ใต้ต้นรัง (บริเวณพระธาตุอิงฮังในประเทศลาว) แล้วเสด็จกลับทางอากาศมาเสวยที่ภูกำพร้า จากนั้นพระองค์ทรงถามพระอินทร์ที่มาเข้าเฝ้าในขณะนั้นถึงสาเหตุที่มาค้างแรม ณ สถานที่แห่งนี้ พระอินทร์ตอบว่า เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านมาแล้วถึง 3 พระองค์ในภัทรกัปนี้ อันได้แก่ กกุสันธะ โกนาคมนะ กัสสปะที่นิพพานไปแล้ว (ภัทรกัปหมายถึง กัลป์ที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติมากถึง 5 พระองค์) เมื่อพระองค์ฟังคำตอบจากพระอินทร์ ก็เสด็จไปหนองหานหลวงเพื่อแสดงธรรมโปรดพญาสุวรรณภิงคาร จากนั้นทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ แล้วเสด็จกลับพระเชตวันและนิพพานที่กุสินารานคร ขณะถวายพระเพลิงบนเชิงตะกอน ทำอย่างไรไฟก็ไม่ลุกไหม้ พระมหากัสสปะจึงนำคณะสงฆ์เดินเวียนขวา 3 รอบ แล้วอธิษฐานว่า“พระธาตุองค์ใดที่จะให้ข้าพระบาทนำไปประดิษฐาน ณ ภูกำพร้า ก็ขอให้พระธาตุองค์นั้นเสด็จมาสถิตอยู่บนฝ่ามือของข้าพระบาทด้วยเถิด” เมื่อสิ้นคำอธิษฐาน พระอุรังคธาตุก็เสด็จมาประดิษฐานบนฝ่ามือขวาของพระมหากัสสปะ แล้วพระสรีระของพระพุทธเจ้าก็ลุกไหม้อย่างน่าอัศจรรย์

ต่อมาพระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ได้นำพระอุรังคธาตุมาที่ดอยแท่น (ภูเพ็ก อำเภอพรรณานิคม) แล้วแจ้งข่าวต่อพญาสุวรรณภิงคารและพญาอีกสี่เมือง ได้แก่ พญานันทเสนแห่งเมืองศรีโคตบูร (บริเวณใต้ลำน้ำเซบั้งไฟในประเทศลาว) พญาจุลมณีพรหมทัตแห่งเมืองจุลมณี (เมืองหลวงพระบาง) พญาอินทปัตถนครแห่งเมืองอินทปัตถ์ (ประเทศกัมพูชา) พญาคำแดง (อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี) ทั้งหมดต่างยินดีที่จะร่วมสร้างองค์พระธาตุพนมเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ

และจากจดหมายเหตุ ในปี พ.ศ.500 มีการปฏิสังขรณ์ครั้งแรกจากพระอรหันต์ 5 องค์ (ซึ่งอดีตก็คือพญาทั้ง 5 พระองค์ที่ร่วมสร้างองค์พระธาตุพนม) รวมทั้งฤาษี 2 ตนที่นำศิลาจากยอดภูเพ็กมาประดิษฐานบนชั้นสองขององค์พระธาตุ

จากนั้นพระเจ้าโพธิศาลแห่งหลวงพระบางได้บูรณะองค์พระธาตุพนมจากที่ดูหมองเศร้าให้ผ่องใสเป็นครั้งที่สอง

ครั้งที่สามพระยานครพิชิตราชธานีศรีโคตรบูรหลวงปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนมและสร้างกำแพงแก้วกับหอบูชาข้าวพระขึ้นอีก 2 หอ

เมื่อถึงครั้งที่ 4 เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก(หรือญาคูขี้หอม)ก็บูรณะต่อเติมองค์พระธาตุพนมตั้งแต่ชั้นสองขึ้นไปจนถึงยอด โดยสูงจากพื้นดินเป็น 43 เมตร มีฉัตรทองคำสูง 4 เมตร รวมเป็น 47 เมตร

ในครั้งที่ห้า พระเจ้าอนุรุทธราช(เจ้าเมืองเวียงจันทร์)พร้อมกับพระบรมราชา สุดตา(เจ้าเมืองนครพนม)และพระยาจันทสุริยวงศา กิ่ง(เจ้าเมืองมุกดาหาร)ได้บูรณะองค์พระธาตุพนมกับอุโบสถและสร้างถนนอิฐหน้าวัดเพิ่มเติม

ส่วนครั้งที่หก พระครูวิโรจน์รัตโนบล(แห่งวัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี)ก็บูรณะอีกครั้งโดยโบกปูนตั้งแต่พื้นถึงยอดและซ่อมแซมกำแพงที่ชำรุด

จากนั้นยังคงมีการบูรณะอยู่ต่อเนื่อง กระทั่งรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม นำโดยหลวงวิจิตรวาทการ(ซึ่งเป็นอธิการบดีกรมศิลปากรขณะนั้น)ได้ทำการซ่อมแซมและต่อเติมส่วนยอดให้สูงขึ้นอีก 10 เมตร จนเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 องค์พระธาตุพนมได้พังทลายลงมาเนื่องจากฝนตกและมีพายุติดต่อกันหลายวัน จึงได้รับการปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์อีกครั้งในปี พ.ศ.2522

โดยองค์ปัจจุบันมีความสูง 57.60 เมตรและมีฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร ทั้งนี้สันนิษฐานกันว่า องค์พระธาตุพนมดั้งเดิมอาจเป็นปราสาทเขมรที่สร้างขึ้นสมัยก่อนมีเมืองพระนครและมีชื่อเรียกรูปแบบดังกล่าวว่า"ไพรกเมง-กำพงพระ" ซึ่งการได้รับอิทธิพลจากศิลปะจามนี้ก็เนื่องจากที่ตั้งขององค์พระธาตุพนมอยู่บนเส้นทางคมนาคมระหว่างลุ่มน้ำโขงตอนกลางของประเทศลาวและช่องเขาไปยังอาณาจักรจามปาในประเทศเวียดนามใต้นั่นเอง

นอกจากนี้บริเวณวัดพระธาตุพนมยังมีสิ่งที่ควรกล่าวถึงอีก อันได้แก่
1. สถูปอิฐพระธาตุพนมองค์เดิม ตั้งอยู่เกาะกลางสระน้ำหน้าวัด ภายในสถูปเก็บเศษอิฐปูนของพระธาตุพนมองค์เดิมที่เคยพังทลายลงมาและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปอัญมณี พระอรหันตธาตุ วัตถุมงคลต่างๆไว้ด้วย
2. พระองค์แสนศาสดา เป็นพระประธานศิลปะล้านช้างในสมัยพระเจ้าวิชุลราชแห่งหลวงพระบาง ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ
3. วิหารหอพระแก้ว สร้างโดยพระเจ้าโพธิศาลแห่งหลวงพระบางเมื่อคราวเสด็จมาบูรณะองค์พระธาตุพนม และเป็นที่เข้าใจว่าได้มีการหล่อพระประธาน“พระพุทธมารวิชัยศาสดา”ไปพร้อมกัน แต่ครั้งล่าสุด วิหารหอพระแก้วถูกองค์พระธาตุพนมล้มทับ ทำให้หลังคาและฝาผนังของวิหารทลายลง แต่องค์พระประธานกลับไม่ได้รับความเสียหาย กรมศิลปากรจึงลงรักปิดทององค์พระใหม่ แล้วกั้นฉัตรห้าชั้น และให้องค์“พระพุทธมารวิชัยศาสดา”ประดิษฐานไว้กลางแจ้งที่ฐานเดิม
4. กระตึบพระอรหันต์(หรือหอพระนอน) พระยาสุมิกธรรมวงศาแห่งเมืองมรุกขนคร(หรือจังหวัดนครพนม)ทรงสร้างกุฏิจำพรรษาถวายพระอรหันต์ทั้ง 5 องค์ช่วงที่บูรณะองค์พระธาตุพนมเป็นครั้งแรก
5. ญาคูขี้หอม ท่านได้ล่องเรือตามลำน้ำโขงพร้อมประชาชนกว่าสามพันคนเพื่อมาบูรณะองค์พระธาตุพนม ส่วนสาเหตุที่ได้รับฉายาเช่นนี้ก็เพราะท่านเป็นพระครูที่ได้รับความเลื่อมใสจากชาวลาวตอนใต้เป็นอย่างมาก โดยมีผู้คนเก็บสิ่งของและเครื่องใช้ของท่านมาบูชา แม้แต่อุจจาระก็ไม่รังเกียจ
6. เสาอินทขีล เสาหลักแปดเหลี่ยมยอดมน(ซึ่งสร้างเพื่อเป็นปริศนาธรรม)และมีตัวอัสสมุขี(หรือยักษ์หน้าม้า)ที่สลักจากหินทรายวางอยู่ข้างเสาอินทขีล ทั้งหมดรายล้อมรอบกำแพงแก้วชั้นนอกขององค์พระธาตุพนม โดยมีใบเสมาปักอยู่สี่มุมรอบกำแพงแก้วชั้นใน


ชื่อเสียงขององค์พระธาตุพนมคงไม่ต้องพูดถึงแล้ว ขนาดคนลาวยังข้ามมาสักการะมากมาย ส่วนคนไทยก็มากันทั่วฟ้าเมืองไทย แถมชื่ออำเภอยังเป็นชื่อเดียวกับองค์พระธาตุอีก ที่สำคัญ ตอนนี้กำลังรอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วย ใจของทีมงานก็เชียร์ให้ได้ในเร็ววัน สำหรับใครที่เกิดปีวอก(หรือปีลิง) พระธาตุแห่งนี้เป็นปีเกิดของคุณ

ซ้ายบน – ขอต้อนรับพุทธศาสนิกชนทุกท่านเข้าสู่ดินแดนแห่งความศรัทธา เราจะพบผู้คนจากทั่วสารทิศแวะเวียนมาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไม่ขาดสาย วินาทีที่ทีมงานเห็นพระธาตุพนมจากทางเข้ากำแพงแก้วหน้าวัด สถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุช่างตราตรึงยิ่งนัก (จากภาพ จุดนี้เป็นทางเข้าทิศตะวันออก ซึ่งเป็นจุดเนืองแน่นที่สุดและเป็นหนึ่งในทางเข้าจากทั้งหมดสี่ทิศของกำแพงแก้ว เราจะเห็นผู้คนหลั่งไหลเข้าสู่องค์พระธาตุพนมพร้อมควันธูปเทียนที่ลอยอยู่เบื้องหน้า เดี๋ยวอีกสักครู่ พลังศรัทธานี้จะปรากฏแก่สายตาท่านผู้ชม)
ขวาบน – ตอนนี้ขอถอดรองเท้าเดินเข้ากำแพงแก้วชั้นในเพื่อชมองค์พระธาตุให้เต็มตาสักหน่อย
ซ้ายล่าง – จุดนี้เป็นพระธาตุพนมตอนกลางวันที่มองจากกำแพงแก้วด้านนอกอีกฝั่งหนึ่ง นอกจากองค์พระธาตุแล้ว กำแพงแก้วเองก็วิจิตรเช่นกัน
ขวาล่าง – ภาพของพระธาตุพนมยามค่ำคืนเมื่อมองจากกำแพงแก้วชั้นนอกเข้าไป พระธาตุพนมยามค่ำคืนสวยไม่แพ้ตอนกลางวันจริงๆ


มาถึงถิ่นทั้งที ก็ขอเดินรอบพระธาตุให้อิ่มเอมใจก่อน

ซ้ายบน – ถึงเวลาเข้าห้องเรียนกันแล้ว คราวนี้มาดูคำอธิบายขององค์พระธาตุพนมเพื่อความกระจ่างกันบ้าง เรือนธาตุชั้นที่ 1 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธจักรพรรดิรัตนมหาวรมุนี เรือนธาตุชั้นที่ 2 เป็นที่ประดิษฐานแผ่นศิลาจารึกพระปรมาภิไธย เรือนธาตุชั้นที่ 3 เป็นที่บรรจุผอูบสำริดซึ่งมีพระอุรังคธาตุอยู่ภายใน และเรือนธาตุชั้นที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานมณฑป ส่วนคำอธิบายเสริมอื่นๆมีดังนี้ ประตูทางเข้าองค์พระธาตุพนมทำเป็นซุ้มประตูอยู่ด้านบน ขณะที่ด้านข้างเป็นภาพสลักบุคคล(บนแผ่นอิฐ)กำลังขี่ช้างและม้า ซึ่งเชื่อมโยงกับตำนานอุรังคธาตุ นั่นคือ หลังจากพญาทั้ง 5 สร้างอูบมุงเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุเสร็จ ก็เสด็จกลับเมือง พระวิษณุกรรมจึงลงมาแกะสลักรูปพญาจากเมืองต่างๆกำลังทรงช้างทรงม้าเนื่องจาก มีส่วนช่วยในการสร้างอูบมุงพร้อมลวดลายประดับบนผนังรอบเรือนธาตุชั้นที่ 1 ทั้งสี่ทิศ (แต่ก็มีนักวิชาการทางประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ภาพแกะสลักนี้อาจเป็นผู้นำพื้นเมืองสมัยก่อนหรืออาจเป็นนักรบตามคติทางศาสนา พราหมณ์มากกว่าศาสนาพุทธก็ได้) ส่วนลายก้านต่อดอก แต่เดิมเป็นลายดอกไม้ร่วง และยอดพระธาตุพนมเป็นทรงบัวเหลี่ยม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเจดีย์ในศิลปะล้านช้าง
- กิจกรรมรอบพระธาตุพนมมีอะไรบ้าง

ขวาบน – กิจกรรมอีกอย่างคือ การเขียนชื่อตนเองลงผ้าห่มพระธาตุ แล้วถือผ้าเดินรอบพระธาตุสามรอบ ทั้งนี้การเดินรอบพระธาตุพร้อมถือผ้านั้น ต้องวนรอบกำแพงแก้วชั้นนอกเท่านั้น เมื่อวนครบสามรอบแล้ว ก็นำผ้ามาห่มรอบองค์พระธาตุพนมเพื่อความสมบูรณ์ของพิธี
ขวากลาง – บางครั้งพุทธศาสนิกชนในจังหวัดและต่างถิ่นก็เดินทางมาถือศีลและเจริญภาวนา บริเวณกำแพงแก้วชั้นใน ทุกอย่างเงียบสงบ กำหนดจิตไปกับลมหายใจ สมาธิไม่ไหวติง
กลาง – ภาพแห่งพลังศรัทธา เห็นแล้วก็พลอยยินดีปรีดาไปด้วย ผู้คนแห่แหนเข้ากำแพงแก้วชั้นในอย่างล้นหลามท่ามกลางแสงแดดเพื่อเดินสวดมนต์ รอบพระธาตุสามรอบพร้อมดอกไม้ธูปเทียน เมื่อเวียนเสร็จ ก็มานั่งหน้าพระธาตุอธิษฐานตามความปรารถนาของแต่ละคน

- สำหรับภาพขององค์พระธาตุพนมและกิจกรรมรอบองค์พระธาตุก็สัมฤทธิ์ผลน่าพอใจ แต่บริเวณรอบองค์พระธาตุยังมีสิ่งที่ต้องบรรยายเพิ่มเพื่อความกระจ่าง เรามาเรียนรู้ไปพร้อมกัน
ซ้ายล่าง – เมื่อเข้าจากหน้าวัดมา ภาพแรกที่เห็นก็คือภาพนี้ ข้างหน้าคือวิหารหอพระแก้ว(ซึ่งเป็นลานโล่งกลางแจ้ง) ส่วนซ้ายมือคืออุโบสถ ขณะที่กำแพงแก้วทิศตะวันออกอยู่ด้านหลังวิหารหอพระแก้ว และถัดเข้าไปก็เป็นองค์พระธาตุพนมที่ตั้งเด่นสง่า
- ทีมงานขอเริ่มจากวิหารพระแก้วก่อน

ขวาล่าง – วิหารหอพระแก้ว (จากภาพ วิหารพระแก้วสร้างขึ้นครั้งแรกราวปี พ.ศ.2073 – พ.ศ.2102)



ยังอยู่บนวิหารพระแก้ว
ซ้ายบน – พระพุทธมารวิชัยศาสดา (จากภาพ พระพุทธมารวิชัยศาสดา(ที่มีฉัตรห้าชั้นกั้นอยู่)คือพระประธานบนลานวิหารหอพระแก้วแห่งนี้)
- ต่อไปก็เดินทางสู่อุโบสถ
ขวาบน - ในอุโบสถ เราจะเห็นพุทธศาสนิกชนกราบไหว้พระประธาน(หรือองค์พระแสนศาสดาที่ห่มจีวรสีแดง)ตลอดวัน ขณะที่พระสงฆ์ในโบสถ์จะสวดให้พรญาติโยมพร้อมมอบสายสิญจน์ให้นำติดตัวกลับไป

ขวากลาง – พระแสนศาสดา (จากภาพ พระแสนศาสดาเป็นงานพุทธศิลป์แบบล้านช้าง มีพระพักตร์นูน พระนาสิกโด่ง และพระองค์เกลี้ยงเกลา ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปศิลปะล้านนาและอักษรธรรมที่จารึกตรงฐาน ขององค์พระก็คล้ายคลึงกับอักษรธรรมของล้านนาด้วย จึงเป็นไปได้ว่า อาณาจักรล้านช้างได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากอาณาจักรล้านนา อันสืบเนื่องจากการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสองอาณาจักรนั่นเอง)
ซ้ายกลาง – เนินพระอรหันต์เป็นที่จำพรรษาของพระอรหันต์ 5 รูปที่ได้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม กล่าวคือ หลังจากพระมหากัสสปเถระและพญาทั้ง 5 สร้างสถูปเพื่อเป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุพนมในปี พ.ศ.8 แล้ว จากนั้นประมาณ 500 ปีต่อมา พระยาสุมิตธรรมวงศาแห่งเมืองมรุกขนครและพระอรหันต์ 5 รูปก็ทำการบูรณะ โดยพระยาสุมิตธรรมวงศาได้สร้างกุฏิถวายพระเถระทั้ง 5 เพื่อเป็นที่พำนักจำพรรษา ปัจจุบันกุฏิที่โดดเด่นที่สุดอยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระธาตุพนม นั่นคือ กระตึบ(หรือหอพระอรหันต์ตามรูปภาพนี้)ซึ่งสร้างถวายแด่พระอรหันต์สองรูปคือ พระมหารัตนเถระและพระมหาจุลรัตนเถระ

ซ้ายล่าง – อีกหนึ่งตัวอย่างของกุฏิอยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระธาตุพนม นั่นคือ หอพระนอน(หรือหอพระพุทธไสยาสน์)ซึ่งสร้างถวายแด่พระสังควิชาเถระ
ขวาล่าง - เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กหรือญาคูขี้หอม เกิด ณ บ้านกะลึม เมืองพาน (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี) ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา เจ้าราชครูบรรพชาศึกษาธรรมอย่างแตกฉานตั้งแต่อายุยังน้อย จนได้รับการสถาปนาเป็น“ซาจัว”หรือ“ราชาแห่งสามเณร” ภายหลังอุปสมบทเสร็จ ก็มาประจำอยู่ที่วัดโพนสะเม็ก ชานเมืองเวียงจันทร์ และได้รับการแต่งตั้งให้มีสมณศักดิ์เป็นเจ้าราชครูตั้งแต่ยังเป็นพระหนุ่ม จากพระเจ้าสุริยวงศาแห่งกรุงเวียงจันทร์ แต่ประชาชนมักขนานนามท่านว่า“พระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก” ปี พ.ศ.2233 เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก พร้อมประชาชนราว 3000 คนล่องเรือตามลำน้ำโขงเพื่อมาบูรณะองค์พระธาตุพนม โดยบูรณะตั้งแต่เรือนธาตุชั้นที่ 2 ไปจนถึงยอดและสวมยอดองค์พระธาตุพนมด้วยเหล็กเปียกหรือเหล็กไหล และหลังจากท่านมรณภาพ อัฐิธาตุส่วนหนึ่งได้บรรจุไว้ในสถูปข้างกำแพงแก้วชั้นนอกทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (จากภาพ รูปหล่อขนาดเท่าตัวจริงของญาคูขี้หอมหรือเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กตั้งอยู่หน้าสถูปที่บรรจุอัฐิธาตุของท่าน)



 

นอกจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ทางทิศตะวันตกขององค์พระธาตุพนมที่ปลูกโดยสมเด็จพระมหาวีระวงศ์เมื่อปี พ.ศ.2485 แล้ว วัดนี้ยังมีสิ่งที่ไม่ควรพลาดอีก
ซ้ายบน - เสาอินทขีล เป็นเสาทรงแปดเหลี่ยม ยอดมน ปราชญ์โบราณท่านให้มองเป็นปริศนาธรรมและมีตัวอัสสมุขี(หรือรูปสัตว์ในนิทาน)สลักจากหินทรายวางอยู่ข้างเสาอินทขีลรอบกำแพงแก้วชั้นนอก กล่าวคือ ระหว่างที่เจดีย์องค์พระธาตุพนมรูปทรงโอคว่ำสร้างขึ้น(หลังจากพระสัมมา สัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 8 ปี) พญาทั้ง 5 ได้นำศิลาจากสถานที่ต่างๆมาทำเป็นเสาอินทขีลดังนี้ ต้นที่ 1 นำมาจากเมืองกุสินารา ฝังไว้ที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและสร้างตัวอัสสมุขีไว้ที่โคนเสา 1 ตัว ต้นที่ 2 นำมาจากเมืองพาราณสี ฝังไว้ที่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้และสร้างตัวอัสสมุขีไว้ที่โคนเสา 1 ตัว ต้นที่ 3 นำมาจากทวีปลังกา ฝังไว้ที่มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ และต้นที่ 4 นำมาจากเมืองตักศิลา ฝังไว้ที่มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ขวาบน - พระวิหารคต สร้างขึ้นเพื่อแบ่งเขตเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2481 มีทั้งหมด 107 ห้อง แต่ละห้องยาว 3 เมตรและมีประตู 3 ห้อง รวมทั้งหมด 110 ห้อง นอกจากนี้ยังมีซุ้มประตูทางทิศตะวันออกหน้าวัด 3 ซุ้ม โดยซุ้มประตูใหญ่ตรงกลางสร้างขึ้นใหม่และเจาะประตูด้านข้างอีก 2 ซุ้ม พระวิหารคตทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศใต้ ใช้เวลาสร้าง 11 ปี จึงแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2491 และในปีพ.ศ.2537 ก็บูรณะอีกครั้งโดยพระธรรมปริยัติมุนี ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมในขณะนั้น

ขวากลาง – บ่อน้ำพระอินทร์ เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในพระราชพิธีมูรธาภิเษกของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลปัจจุบัน คำว่า“มูรธาภิเษก”แปลว่าการยกให้หรือการแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ ปัจจุบันน้ำอภิเษก(ซึ่งทำเป็นพิธีพลีกรรม)ตักมาจากปูชนียสถานสำคัญในจังหวัด ต่างๆรวม 18 แห่ง ในจังหวัดนครพนมมี 2 แห่งคือ บ่อน้ำพระอินทร์ที่วัดพระธาตุพนมและน้ำจากหนองบัวทองในอำเภอวังยาง ปี พ.ศ.2518 ช่วงบูรณะองค์พระธาตุพนมที่พังล้มลง ทางวัดถือโอกาสขุดลอกบ่อ ปรากฏว่า พบหินบางๆเป็นแผ่นใหญ่ปิดก้นบ่อ เมื่องัดออกมา น้ำก็พุ่งจนพาคนงานลอยขึ้นถึงปากบ่อ นับแต่นั้น บ่อน้ำพระอินทร์ก็มีแต่น้ำใสสะอาด (จากภาพ ด้านหลังบ่อน้ำพระอินทร์คือ ฆ้องขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร สร้างขึ้นโดยวัดและผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาค โดยนำธงชาติของประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศมาไว้ด้านหน้าฆ้องเพื่อประชาสัมพันธ์การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน)
ซ้ายกลาง – สถูปอิฐพระธาตุพนมองค์เดิม ตั้งอยู่เกาะกลางสระน้ำหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารไปทางทิศตะวันออกเฉียง เหนือ ห่างจากองค์พระธาตุพนมราว 200 เมตร สถูปอิฐพระธาตุพนมนี้สร้างจากอิฐของพระธาตุพนมองค์เดิมที่ล้มลง สูงประมาณ 14 เมตร เป็นทรงสี่เหลี่ยมคล้ายกับองค์พระธาตุพนมยุคแรก ภายในบรรจุเศษปูนพระธาตุพนมองค์เดิม(ที่ล้มลงมา) นอกจากนี้ยังบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ พระพุทธรูป อัญมณี และวัตถุมงคลอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก หลังคาขององค์สถูปมีลักษณะกลมเหมือนโอคว่ำ บนยอดมีดอกบัวปั้น 5 ดอก เป็นดอกบัวที่บานแล้ว 4 ดอก อีก 1 ดอกเป็นดอกบัวตูมเพื่อให้เป็นปริศนาว่า ในภัทรกัปนี้จะมีพระพุทธเจ้าตรัสรู้ 5 พระองค์ 4 พระองค์ได้ตรัสรู้และปรินิพพานแล้ว อีกหนึ่งพระองค์จะมาตรัสรูในภายภาคหน้า ซึ่งได้แก่ พระศรีอริยเมตไตย์ นอกจากเศษอิฐเศษปูนของพระธาตุพนมองค์เดิม อีกส่วนหนึ่งที่เป็นลวดลาย ได้นำไปเก็บไว้ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมรัตนโมลีศรีโคตรบูรด้วย
ขวาล่าง – ซุ้มประตูโขงขนาดใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันออกนอกวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
- วันนี้เดินฝ่าฝูงชนในวัดมาทั้งวันแล้ว ทีมงานขอออกไปซื้อของกินของใช้สักเล็กน้อย

ซ้ายล่าง - นอกจากสถานที่สำคัญภายในวัดแล้ว ภายนอกหน้าวัดยังมีร้านค้าที่เป็นห้องแถวปูนแบ่งเป็นห้องๆและแผงลอยเรียงรายตามทางเกือบร้อยเจ้าเห็นจะได้ มากมายก่ายกองจริงๆ กว่าจะสำรวจเสร็จ สินค้าที่มีมากที่สุดคือ เสื้อผ้า รองลงมาคือ สมุนไพร ทีมงานใช้เวลาอยู่พักใหญ่เลยกว่าจะรวบรวมมาจนครบ
รายการสินค้า – สินค้าอุปโภคมีผ้าถุง(ผ้าไหมและผ้าฝ้าย) เสื้อที่ระลึก“องค์พระธาตุพนม” หมวกแฟชั่น ขันโตกลาว กระติบ ร่ม กางเกงวอร์ม ผ้าถุง เสื้อพื้นเมือง เสื่อพับ หมวกแฟชั่น หมวกชาวนา หมวกแก๊ป เสื้อขาวเขา เสื้อเด็ก เสื้อคนแก่ ดาบไม้ กระบวย บายศรี พวงมาลัย ดอกไม้ไหว้พระ ของเด็กเล่น(เช่น ตุ๊กตา รถขุดดิน เฮลิคอปเตอร์ ฯลฯ) แคน โหวด สุ่มไก่ จักจั่นของเล่น พวงกุญแจที่ระลึก และพัดสาน ผลไม้มีมันแกว สับปะรด สละ กล้วยหอม ทุเรียน กล้วยน้ำว้า ส้ม ส้มโอ มังคุด แอปเปิล องุ่น มะละกอ มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงแก้วขมิ้น และมะพร้าว ส่วนหั่นชิ้นมีสับปะรด ฝรั่งแช่บ๊วย แตงโม แคนตาลูป และฝรั่ง ของกินเล่นมีขนมครก คุกกี้ ข้าวจี่ กล้วยปิ้ง ข้าวเหนียวปิ้ง มันปิ้ง กาละแมครูน้อย และน้ำผึ้ง รวมทั้งไอศกรีมวอลล์ เครื่องดื่มปรุงที่ร้านมีเนสกาแฟ ชาเขียว ชามะนาว โอเลี้ยง แดงโซดามะนาว โอวัลติน นมสด โกโก้ น้ำบ๊วย เผือก สตรอว์เบอร์รี แคนตาลูป ไมโล น้ำผึ้งโซดามะนาว นมเย็น ชาดำเย็น อิตาเลียนโซดาบลูเลมอน อิตาเลียนโซดาบลูเบอร์รี และอิตาเลียนโซดากีวี่ ผลไม้คั้นและปั่นมีแตงโม มะพร้าว สับปะรด ส้ม มะนาว และแอปเปิล น้ำอัดลมใส่แก้วมีเป๊ปซี่ เอส(น้ำส้มและน้ำแดง) โค้ก แฟนต้า(น้ำเขียว น้ำแดง น้ำส้ม) และสไปรท์ ส่วนเครื่องดื่มแช่น้ำแข็งมีเนสกาแฟ เบอร์ดี้ น้ำผลไม้กาโตะ น้ำดื่มคริสตัล น้ำสิงห์ โออิชิรสน้ำผึ้งมะนาว เย็นเย็น(สูตรจับเลี้ยงและสูตรเก๊กฮวยผสมน้ำผึ้ง) เอ็มร้อยห้าสิบ และน้ำอัดลมกระป๋อง อาหารมีผัดซีอิ๊ว ข้าวผัด ต้มยำ ราดหน้า คะน้าหมูกรอบ ไข่เจียวหมูสับ กะเพราหมูหรือไก่ หอยทอด ผัดไทย ผัดพริกแกง ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยว(หมูน้ำใส หมูน้ำตก เนื้อน้ำตก เย็นตาโฟ) และข้าวขาหมู ตัวอย่างสมุนไพรมีน้ำมันเลียงผา ยาผีบอก เครือเขาหลง กาวเครือขาวและแดง เถาวัลย์เปรียง พระเจ้าห้าพระองค์ หนอนตายยาก รางจืด ว่านร้อยนาง ไพลเหลือง ฝางแดง ยาแก้กินของผิด ยาหม่องฟ้าทะลายโจรเถาเอ็นอ่อน สบู่ยาแก้คัน ดีปลี ยาแก้ปวดฟัน ยาหัว รากสามสิบ ว่านม้าห้อ รากปลาไหลเผือก ยาแก้ตกขาว ว่านหัวร้อยรู ยาล้างนิ่ว กำลังเสือโคร่ง ยาแก้ริดสีดวง ว่านชักมดลูก ขมิ้นดำ ว่านดอกเงินดอกทอง เถาเอ็นเหลือง ว่านดักแด้ ยาเลิกเหล้า น้ำมันโอสถทิพย์ น้ำมันเขียวเสลดพังพอนวังพรม สเปรย์ตะไคร้หอม ยาหอมชนะลม108จำพวกวัดโพธิ์ ยาหม่องน้ำเทียนถัง น้ำมันดอกบัวบาน ยาลดระดับน้ำตาล เห็ดหลินจือ ยาหม่องไพลสด ยาหม่องคลายเส้น ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปลาปล่อยและสลากกินแบ่ง


TODAY THIS MONTH TOTAL
401 5338 297730
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top