ถนนคนเดินศรีสะเกษ

คำอธิบาย


(สามารถคลิกอ่านคำอธิบายของกินของใช้ได้ที่"คำอธิบาย")

ถนนคนเดินศรีสะเกษจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่ห้าโมงเย็นเป็นต้นไปบนถนนโชติพันธ์ สำหรับเส้นทางถนนคนเดิน ถ้าเริ่มต้นจากถนนโชติพันธ์บริเวณสามแยก(ที่บรรจบกับถนนวิเศษภักดี) จุดนี้เป็นโซนจอดรถมอเตอร์ไซค์ก่อน จากนั้นเมื่อเดินตามถนนโชติพันธ์เข้ามาโซนถนนคนเดิน ถนนโชติพันธ์จะแบ่งถนนคนเดินเป็นช่องทางเดินซ้ายและขวา โดยกลางถนนเป็นแผงลอยสองแถวหันหลังชนกัน แต่ละแถวหันหน้าแผงเข้าหาช่องทางเดินของตนเอง แผงแถวกลางนี้จะยาวตั้งแต่ต้นทางไปจนสุดทางของถนนคนเดิน(บริเวณสามแยกที่มีถนนกสิกรรมซึ่งเป็นถนนใหญ่มาบรรจบ) โดยมีการเว้นช่วง(เป็นทางให้นักท่องเที่ยวเดินตัดไปมาระหว่างสองช่องทางเดิน)เป็นระยะด้วย

สำหรับถนนคนเดินนี้ขอแบ่งเป็นสี่ช่วงด้วยกัน เริ่มต้นจากช่องทางเดินฝั่งซ้ายก่อน สำหรับช่วงที่หนึ่งนั้น ตลอดแนวซ้ายสุดของช่องทางเดินจะติดกับสวนสาธารณะหนองแคนเฉลิมพระเกียรติไปตลอดทาง โดยมีแผงลอยตั้งอยู่ริมถนนเลียบหน้าสวนสาธารณะหนองแคนไปตลอด จากนั้นจึงเป็นพื้นที่ของบ้านหลังเดี่ยวหนึ่งหลัง เมื่อพ้นบ้านหลังเดี่ยวไป เราจะพบสามแยก(ที่มีถนนหลังศูนย์พละมาบรรจบอยู่ทางซ้ายมือ) ซึ่งแผงลอยทางซ้ายจะยาวต่อเนื่องจนมาสิ้นสุดที่สามแยกนี้ ขณะที่แผงลอยขวามือกลางถนนก็ยาวต่อเนื่องมาเรื่อยๆจนจบช่วงแรกที่บริเวณนี้เช่นกัน สำหรับประเภทแผงลอย ทางขวาจะเป็นเต็นท์พับเกือบทั้งหมด ขณะที่ทางซ้ายก็เป็นเต็นท์พับเช่นกัน แต่เต็นท์พับฝั่งซ้ายจะแบ่งเป็นสองช่วง เนื่องจากมีโซนสวนสนุกและกิจกรรมสำหรับเด็กมาคั่นกลาง โดยสินค้าในเต็นท์พับทางซ้ายช่วงแรกมีทั้งของกินและของใช้ โดยของใช้บางส่วนเป็นงานฝีมือ ขณะที่เต็นท์พับช่วงที่สองเป็นของกินทั่วไปและเน้นพืชผักผลไม้ปลอดสาร(ที่ชาวบ้านนำมาจำหน่าย) ซึ่งข้าวของช่วงที่หนึ่งทั้งหมดมีดังนี้ เครื่องดื่ม อาหารเพื่อสุขภาพ ของนึ่ง ผักสด สมุนไพรผักพื้นบ้าน ผลไม้ รองเท้า เสื้อผ้าชายหญิง งานฝีมือ สินค้าโอทอป เสื้อผ้าพื้นเมือง ขนมไทย ของแห้ง ของกินเล่น นาฬิกา กระเป๋า สวนสนุก มุมเด็ก ไข่ ของหมักดอง พืชไร่ อาหารอีสาน เครื่องสำอาง ของเล่นเด็ก กับข้าว ของตกแต่ง เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับชายหญิง สายตา เสื้อผ้ามือสอง อาหารปักษ์ใต้ สินค้าแฟนซี อุปกรณ์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้าพกพา ของต้ม ของปิ้งย่าง น้ำผลไม้คั้นและปั่น และของทอด

จากนั้นเรามาเข้าสู่ช่วงที่สอง เริ่มจากสามแยกเมื่อสักครู่ที่กล่าวไว้ แล้วตรงขึ้นไปอย่างเดียว โดยซ้ายมือสุดขึ้นไปบนฟุตบาทด้านในต่อจากนี้เป็นสนามโล่ง ถัดจากสนามโล่งเข้าไปอีกเป็นสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ โดยแผงลอยจะเรียงอยู่ริมถนนเลียบสนามโล่งไปตลอด ขณะที่ทางขวาเป็นแผงกลางถนนที่หันหน้าแผงเข้าช่องทางเดินนี้ สำหรับเส้นทางช่วงที่สองของถนนคนเดินจะสิ้นสุดที่สามแยก(ที่มีถนนกสิกรรมมาบรรจบ) ซึ่งประเภทแผงลอยมีเต็นท์พับน้อยลงมาก ส่วนใหญ่เป็นขาโต๊ะแผงลอย ผ้าฟาง ราวแขวน เสื่อ โต๊ะเหล็ก ขาโต๊ะเตาแก๊ส รถเข็น โต๊ะพับสแตนเลส ตะแกรง และชั้นวาง ขณะที่สินค้าแผงฝั่งซ้ายเป็นของใช้เกือบทั้งหมด ส่วนขวามือจำหน่ายของกินเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีของใช้ช่วงปลายทางด้วย และสินค้าทั้งหมดก็ได้แก่ เครื่องดื่มแช่เย็น ของทอด เสื้อผ้าชายหญิง สายตา ผลไม้ อาหารทั่วไป กระเป๋า อุปกรณ์มือถือ กับข้าว ของกินเล่น อาหารอีสาน ของนึ่ง อาหารเพื่อสุขภาพ ของปิ้งย่าง ผักสด อาหารญี่ปุ่น ขนมไทย เสื้อผ้าสูงวัย แมลงทอด ไอศกรีม เครื่องดื่ม พืชไร่ รองเท้า เสื้อผ้าพื้นเมือง เครื่องสำอาง ของมีคม เบเกอรี่ ของใช้ในบ้าน พันธุ์ไม้ เครื่องนอน ของเล่นเด็ก สินค้ามือสอง เครื่องประดับ อาหารปักษ์ใต้ ของตกแต่ง สัตว์เลี้ยง ของเก่า งานแฮนด์เมด อาหารตามสั่ง ของยำ ผัดเส้นต่างๆ เครื่องแต่งกาย ของกินยามเช้า เสื้อผ้าสูงวัย ตุ๊กตา สินค้าโอทอป งานบริการ เครื่องหนัง ของแห้ง และเสื้อผ้าเด็ก

ทั้งนี้บนสนามโล่งทางขวาขึ้นไปบนฟุตบาทได้เพิ่มโซนขายสินค้าขึ้นมา โดยทำเป็นหนึ่งช่องทางเดินสายตรงและเว้นแผงลอยทางซ้ายริมถนนสองช่วงเพื่อเป็นทางเข้าออกขึ้นไปโซนนี้ (แต่ระยะทางเดินบนสนามจะสั้นกว่าทางเดินช่วงที่สองบนถนน) ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่คือเสื้อผ้าชายหญิง ที่เหลือก็มีเครื่องสำอาง กระเป๋า สวนสนุก และอาหารอีสาน

จากนั้นเมื่อเรามาบรรจบกับถนนกสิกรรม ก็ให้วกกลับเข้าช่องทางเดินขวามือฝั่งตรงข้ามได้เลย (หรือถ้าเรามาถนนคนเดินศรีสะเกษจากถนนกสิกรรม ช่องที่เราจะเข้าก็คือฝั่งซ้ายมือนั่นเอง) สำหรับช่องทางเดินนี้ก็คือช่วงที่สาม ซ้ายมือจะเป็นพื้นที่วิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษตลอดทางไปจนสุดถนนคนเดิน โดยช่วงที่สามนี้ แผงลอยซ้ายมือจะอยู่เลียบกำแพงนอกเขตวิทยาลัยไปตลอดแนว โดยเราจะเห็นอาคารเรียนอยู่หลังกำแพงด้วย ส่วนขวามือเป็นแผงลอยกลางถนนที่หันหน้าแผงเข้าช่องทางเดินนี้ สำหรับช่วงที่สามจะสิ้นสุดบริเวณเดียวกับจุดเรี่มต้นของช่วงที่สอง โดยสินค้าช่วงนี้จำหน่ายของกินเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงของใช้อยู่ช่วงต้นทางและปลายทางของช่วงที่สองเท่านั้น ขณะที่ประเภทแผงลอยจะใกล้เคียงกับช่วงที่สอง ซึ่งสินค้าทั้งหมดมีรองเท้า เสื้อผ้าชายหญิง เครื่องแต่งกาย ของนึ่ง อุปกรณ์รถยนต์ เครื่องประดับ เสื้อผ้าเด็ก เบเกอรี่ ผลไม้ อุปกรณ์มือถือ เสื้อผ้ามือสอง อาหารเพื่อสุขภาพ ของปิ้งย่าง ขนมจีนน้ำยา อาหารญี่ปุ่น เครื่องดื่มแช่เย็น ชากาแฟ ของกินเล่น ของทอด ผัดเส้นต่างๆ น้ำผลไม้ปั่นและคั้น เครื่องดื่ม อาหารอีสาน ผลไม้หั่นชิ้น ของหมักดอง กับข้าว ขนมไทย ของเล่นเด็ก อาหารมุสลิม อาหารทั่วไป ของหวาน ผลไม้ดอง ของใช้ส่วนตัว สินค้าจากศิลปิน ตุ๊กตา กระเป๋า ขนมปัง และสายตา ทั้งนี้ระหว่างกลางทางของช่วงที่สองและสามจะเว้นแผงลอยกลางถนนเป็นลานของโต๊ะเก้าอี้ให้นักท่องเที่ยวได้นั่งกินข้าวของที่ซื้อมาด้วย

แล้วเราก็เข้าสู่ช่วงสุดท้ายหรือช่วงที่สี่ ตลอดแนวทางซ้ายยังเป็นเขตวิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษเช่นเคย แต่จุดนี้จะเป็นป่ารกและบ่อน้ำอยู่หลังรั้วไปตลอดแทน ส่วนฝั่งขวาก็เป็นแผงลอยที่หันเข้าช่องทางเดินนี้ สำหรับประเภทแผงลอยโซนนี้มีเต็นท์พับเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังน้อยกว่าแผงเต็นท์พับของช่วงที่หนึ่ง ที่เพิ่มเข้ามาเป็นระยะมีผ้าปู ราวแขวน ขาโต๊ะแผงลอย และผ้าบลูชีท สำหรับช่วงที่สี่นี้ไม่มีของกินเลย ซึ่งทั้งหมดได้แก่ หมวก เสื้อผ้าชายหญิง รองเท้า  เสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าสูงวัย เครื่องสำอาง ชุดชั้นใน เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย ของใช้ส่วนตัว สายตา อุปกรณ์มือถือ นาฬิกา ของใช้เบ็ดเตล็ด ของเล่นเด็ก ตุ๊กตาเสื้อผ้ามือสอง สินค้าแฟนซี หนังสือเก่า กระเป๋า เครื่องหนัง และเปิดหมวก (อนึ่ง มีโต๊ะสแตนเลสเพียงหนึ่งโต๊ะของป้าที่จำหน่ายผักสดในโซนนี้)



สิ่งหนึ่งของถนนคนเดินศรีสะเกษที่ทีมงานเดาผิดไป(ก่อนจะมาถึง)ก็คือ เส้นทางของช่องทางเดินทั้งซ้ายขวารวมกัน ยาวสุดลูกหูลูกตากว่าที่คิดไว้ทีเดียว ส่วนร้านค้าก็พร้อมใจเปิดแผงเต็มทุกล็อก ความใคร่รู้ในฐานะนักท่องเที่ยวก็อดสงสัยไม่ได้ นอกจากเข้าไปสัมผัสด้วยตาตนเอง ขอให้ทุกคนกุมมือตามมาได้เลย
บน – ตอนนี้เราอยู่ช่วงที่หนึ่งของถนนคนเดินอย่างที่เคยเกริ่นไว้ ต้องยอมรับโดยสดุดีว่า คนเยอะมาก นักท่องเที่ยวให้การตอบรับดีเหลือเกิน จวบจนตะวันตกดิน เต็นท์พับซ้ายขวาก็เปิดไฟสว่างไสวอย่างที่เห็น โดยแผงซ้ายมือเน้นของกิน แต่ของใช้ก็พอมี ส่วนขวามือเป็นของอุปโภคล้วนๆ (จากภาพ ด้านหลังเต็นท์ขายของทางซ้ายเข้าไปคือสวนสาธารณะหนองแคน)
ซ้ายบน – เริ่มที่แผงกางเกงขาสั้นและกางเกงบ๊อกเซอร์ก่อน ขณะที่อีกด้านเป็นถุงเท้าคละสี
ขวาบน – มุมใกล้ภาพคือกางเกงยีนส์ผู้หญิง ส่วนไกลภาพที่ลูกค้ากับคนขายสนทนากันเป็นกางเกงยีนส์ผู้ชาย
ซ้ายกลาง – สำหรับสาวๆที่กลัวไม่มีเสื้อผ้าเที่ยวนอกบ้าน ร้านนี้มีเสื้อแขนสั้นแขนยาว เอวลอย กางเกงยีนส์ขาสั้น และกางเกงพลิ้วมาให้สวมใส่
ขวากลาง – เสื้อชาวเขาและเสื้อผ้าพื้นเมืองต่างๆรวมอยู่ที่ร้านนี้แล้ว
ซ้ายล่าง – เจ้านี้มีแว่นตาดีไซน์เก๋ๆมาให้เลือก ทั้งแบบสายตายาวหรือสายตายาวบวกเลนส์กรองแสง ขณะที่สายตาสั้นก็มี หรือจะเป็นสายตาสั้นบวกเลนส์กรองแสงก็ได้อีก แต่ถ้าสายตาปกติ แล้วอยากใส่เลนส์กรองแสงจอคอมหรือจอมือถือ ที่นี่ก็น้อมรับความต้องการ
ขวาล่าง – แม่ค้าแผงนี้จำหน่ายปากกาเจล ปากกาเจลหัวไฟ ปากกาลูกลื่น และปากกาไฮไลต์ครบทุกแบบ นอกจากนี้ยังมีผ้าบลัฟ ตัวห้อยกระเป๋า หมวกอาบน้ำ และซองใส่บัตร




เพิ่งเริ่มต้นเอง พลังใจยังเต็มร้อย
ซ้ายบน – ใครอยากให้บ้านสดชื่นด้วยกลิ่นพฤกษา ถุงหอมนานาพันธุ์มีดอกโมก กล้วยไม้ ซากุระ และแคนตาลูป แต่ถ้าใครชอบกลิ่นหอมระเหยจากอโรม่าก้านไม้ ก็เข้ามาสัมผัสความรัญจวนได้
ขวาบน – เด็กและผู้ใหญ่กำลังยองๆเลือกตัวรีดกับสติกเกอร์อยู่
ซ้ายกลางบน – ทีมงานขอทิ้งทวนแผงของใช้ด้วยปราสาทสไลเดอร์ที่เป็นขวัญใจของมหาชนตัวน้อย ขณะที่ผู้ใหญ่นั่งเฝ้าอยู่ด้านนอก
- ต่อไปเข้าสู่โหมดของกินกัน
ขวากลางบน – แม่ค้าร้านนี้ลงมือทำขนมไทยมากมายให้ลิ้มรส เริ่มตั้งแต่ขนมต้มไส้มะพร้าว เปียกปูนใบเตย ขนมกล้วย ฟักทองนึ่ง กล้วยนึ่ง และถั่วแปบ
ซ้ายกลางล่าง – ไข่ม้วนแผงนี้มีรสชาติดังนี้ แฮมชีส ไส้กรอกชีส ไส้กรอก และปูอัด
ขวากลางล่าง – คนขายเน้นขนมเทียนแก้วโดยเฉพาะ ส่วนที่อยู่ข้างๆมีบะจ่างและหมี่กรอบ
ซ้ายล่าง – มุมนี้มีไข่เป็ด ไข่เค็มดิบทอดไข่ดาว ไข่เค็มต้มสุก รวมทั้งไข่เค็มจอมปลวกและใบเตย
ขวาล่าง – ใครชอบปลาส้ม ตัวเลือกมีปลาตะเพียนไร้ก้างและปลาเทโพ



เดินกันต่อกับช่องทางเดินที่หนึ่ง
ซ้ายบน – โต๊ะนี้มีรายการอาหารใส่ถุงอันได้แก่ ไข่ลูกเขย ผัดปลาดุก แกงหน่อไม้ ซุบหน่อไม้ และหน่อไม้ต้ม
ขวาบน – พ่อค้านำกล้วยไข่หวานๆสีเหลืองอร่ามที่ปลูกเองมาจำหน่าย
ซ้ายกลาง – ผักปลอดสารที่ชาวบ้านนำมาวางขายก็น่าจับตาเช่นกัน เห็นแผงสีเขียวแย่งซีนกันอยู่หลายร้าน อย่างเช่นน้องผู้หญิงคนนี้ที่มีผักชีลาว ต้นหอม ขึ้นฉ่าย มะระขี้นก ดอกแคขาว พริก มะเขือส้มตำ สะเดามัน ผักบุ้ง โหระพา กะเพรา และถั่วพู
ขวากลาง – มาถึงแผงสุดท้ายของช่วงแรกแล้ว สินค้าสมุนไพรที่มาปัดเป่าโรคภัยบนโต๊ะมีดังนี้ รากสามสิบ ว่านชักมดลูก ปลาไหลเผือก ขมิ้น รางจืด กวาวเครือขาว กวาวเครือแดง กระชายดำ พระเจ้าห้าพระองค์ เครือเขาหลง เห็ดหลินจือ ไหลแดง เถาวัลย์เปรียง ม้ากระทืบโรง ว่านขอทองแก้ น้ำมันว่าน น้ำมันหม่อง สมุนไพรอบตัว ชาชงสมุนไพร มะตูมแห้ง รวมทั้งถั่วดาวอินคา
กลาง – เข้าสู่ช่วงที่สองแบบไม่รอรี นักท่องเที่ยวยังเยอะตลอดทาง ของกินฝั่งขวาเริ่มมีสีสันจนต้องมองแบบไม่วางตา แต่ของใช้ฝั่งซ้ายก็มีเสน่ห์ไม่น้อย (จากภาพ หลังแผงลอยทางซ้ายขึ้นไปบนฟุตบาทที่เห็นเป็นต้นไม้ก็คือลานดินโล่ง ขณะที่ทางขวาอีกฟากเป็นอาคารเรียนของวิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษซึ่งอยู่ติดกับช่องทางเดินขวามือของช่วงที่สาม)
ซ้ายล่าง – เครื่องสำอางไม่เคยตกสำรวจจากถนนคนเดินเลย สินค้าร้านนี้ก็เยอะใช่เล่น ตัวอย่างเช่น เจลมะรุมบำรุงผิว เจลแต้มสิว เซรั่มหน้าใส แปรงปัดขนตา มาสคารา แป้งพัฟ โลชั่นผิวขาว ดินสอเขียนคิ้ว ลิปกลอส อายแชโดว์ แป้งรองพื้น ฯลฯ
ขวาล่าง – เสื้อยืดแขนสั้นลายจี๊ดๆอยู่บนราวแขวนแล้ว




เดินกันยาวๆไป
ซ้ายบน – เคสมือถือระบุยี่ห้อตามตำแหน่งเรียบร้อย ใครมีของค่ายไหน คงรู้จุดยืนของตัวเอง
ขวาบน – ยุคสมัยนี้ สินค้ามือสองราคาประหยัดถูกอกถูกใจใครหลายคน พ่อค้าและแม่ค้าจึงมีรองเท้าชายหญิงมาฝาก เริ่มตั้งแต่รองเท้าคัทชูหญิง รองเท้าส้นเตี้ยและส้นสูง รองเท้าบัลเลต์ รองเท้ากีฬา รองเท้าหนัง รวมถึงรองเท้าผ้าใบ
ซ้ายกลางบน – การออมทรัพย์เป็นเรื่องที่ดี กระปุกออมสินเลยขอแชร์พื้นที่ด้วยคน
ซ้ายกลางล่าง – คนขายวัยรุ่นมีต้นแคกตัสหลายสายพันธุ์มาประดับเรือนเช่นกัน (จากภาพ ต้นใหญ่ริมขวาด้านล่างเป็นแม่พันธุ์ที่ทางร้านมาตั้งโชว์ให้ดู)
ขวากลาง – พ่อค้านำสุนัขบางแก้วน่ารักน่าชัง(ซึ่งเป็นพันธุ์ผสมมาออดอ้อนสาวกเจ้าตูบ) มีทั้งพันธุ์ผสมกับไซบีเรียน โกลเด้น และอัลเซเชียน ชอบบางแก้วตัวไหน ก็เช็กกับเจ้าของได้
- จากนี้เข้าสู่โหมดของบริโภคบ้าง ขอจัดหนักกับหมวดต้มผัดแกงทอดก่อนใคร
ซ้ายล่าง – กับข้าวกับปลาแผงนี้มีดังนี้ แกงขี้เหล็ก แกงไตปลา พะแนงหมู ต้มยำ ผัดเผ็ดปลาดุก ถั่วฝักยาวผัดหมูกรอบ และผัดหน่อไม้
ขวาล่าง – ขณะที่เจ้านี้มีเมนูมาให้อิ่มหนำสำราญกันต่อ ทั้งคั่วกลิ้ง ไข่พะโล้ แกงเปรอะ ลาบหมู แกงเขียวหวาน ยำปลาทู แกงขี้เหล็ก และต้มยำ




แฮปปี้กับกองทัพของกินไปเลย
ซ้ายบน – ลุงและป้าสองคนทำไปขายไป เมนูก็มีตำป่น ตำแจ่ว ผักต้มสามอย่าง รวมทั้งทอดมันปลากราย
ขวาบน – ส่วนป้าคนนี้มีแกงเห็ดรวมเพื่อสุขภาพมาแนะนำ
ซ้ายกลางบน – โต๊ะนี้มียำรสแซ่บอยู่สามอย่างคือ ยำรวมทะเล ยำเล็บมือนาง และยำปลาหมึก
ขวากลาง – สำหรับคนที่ชอบหมาล่า เสบียงพร้อมเสริฟก็เช่น เบคอนและแฮมพันเห็ดเข็มทอง เนื้อไก่ เนื้อหมู เห็ดออรินจิ ปูอัด ไส้กรอก บร็อกโคลี ฯลฯ
ซ้ายกลางล่าง – ลุงกำลังนั่งทำขนมฝักบัวหอมกรุ่นอยู่เลย
ซ้ายล่าง – บนแผงนี้มีขนมงาทอด กล้วยทับราดน้ำกะทิในถุง กล้วยทอด ข้าวเม่าทอด และขนมไข่นกกระทา
ขวาล่าง – ขณะที่แม่ค้าอารมณ์ดีคนนี้มีข้าวโพดคลุกเนยน้ำตาล หรือใครอยากราดแยมสตรอว์เบอร์รีและบลูเบอร์รี ก็ได้เช่นกัน ส่วนขนมปังปิ้งเนยนมน้ำตาลอยู่ทางขวา




ช่วงที่สองขอทิ้งทวนอีกสักสองแผง
ซ้ายบน – ของกินเพิ่งระอุจากกระทะเลย ทั้งไก่วิงส์แซ่บ ไก่บาร์บีคิว แซนด์วิชทอด ไก่ชุบแป้งทอด และเฟรนช์ฟรายส์
ขวาบน – สำหรับร้านนี้มีข้าวเกรียบปากหม้อ สาคู และปอเปี๊ยะทอด
- เมื่อเดินมาถึงสามแยกที่ถนนโชติพันธ์มาบรรจบกับถนนกสิกรรม ก็ให้ทุกคนวกกลับเข้าสู่ช่วงที่สามต่อ
กลาง – ใครเหงาแล้วมาถนนคนเดินที่นี่ รับรองหายเหงาแน่ คนซื้อคนขายช่องทางนี้ยังคึกคักต่อเนื่อง ส่วนของกินของใช้ที่รุมล้อมตัวเรา คงต้องขึ้นอยู่กับกิเลสในใจแล้วว่า จะหักห้ามได้มากน้อยเพียงไร
ซ้ายกลาง – เสื้อยืดของผู้ชายร้านนี้มีทั้งแขนสั้นและแขนกุด ใครชอบเสื้อใส่สบาย เชิญเร่เข้ามา
ซ้ายล่าง – ส่วนกระเป๋าผู้หญิงซุ้มนี้มาเป็นโกดังเลย เริ่มจากกระเป๋าสะพาย กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าใส่ของ ไปจนถึงเป้
ขวาล่าง – ตุ๊กตาทารกน่ารักๆพร้อมให้เด็กๆจับจองแล้ว




เคลียร์ของใช้อีกหนึ่งแผง แล้วไปต่อของกินที่เป็นทีเด็ดของฟากนี้กัน
ซ้ายบน – ร้านนี้มีลูกค้ามุงดูสินค้าอยู่พอดี เท่าที่เห็นมีสายชาร์จ สายยูเอสบี เมมการ์ด หูฟัง พาวเวอร์แบงก์ และลำโพงพกพา
ขวาบน – ขอประเดิมความหิวแผงนี้ด้วยปลานิลนึ่ง น้ำพริก ไข่ทรงเครื่อง กุนเชียง หมูยอทอด ปลาทูทอด ไข่ชะอม แกงจืดเต้าหู้ ต้มจืดมะระ และข้าวเหนียว
ซ้ายกลางบน – แม่ค้าข้าวปุ้นโต๊ะนี้เน้นขนมจีนน้ำยาล้วนๆ วันนี้มีน้ำยาป่า น้ำยาไก่ และน้ำยากะทิ รวมทั้งหมี่กะทิ
ซ้ายกลางล่าง – กุ้งทอดแผงนี้ตัวโตทีเดียว
ขวากลาง – ใครสนใจไส้กรอกอีสาน อีกไม่กี่อึดใจ เซ็ตร้อนๆบนเตาถ่านก็พร้อมเปิบแล้ว
ซ้ายล่าง – พ่อค้าหอยทอดยกทะเลขึ้นมาร่วมแจมจนแน่นกระทะตั้งแต่กุ้ง หมึก และหอย
ขวาล่าง – ส่วนเนื้อหมูร้านนี้มีให้เคี้ยวเพลินลิ้นดังนี้ หมูทอด หมูสามชั้นทอด เอ็นไก่ทอด และกระดูกอ่อนทอด ถ้าเพิ่มข้าวเหนียวร้อนๆ ก็บอกออกไป



อย่าหยุดยั้ง เดินหน้าต่อ
ซ้ายบน – ของนึ่งในซึ้งทั้งไส้กรอกหลากรส ลูกชิ้น และปูอัดมีน้ำจิ้มกับผักพร้อมแล้ว ขณะที่อีกฝั่งเป็นของทอดคือ ไส้กรอกและเกี๊ยวห่อไส้กรอก ตบท้ายด้วยไส้กรอกวุ้นเส้น
ขวาบน – คนขายกำลังปิ้งกล้วยน้ำว้ากับข้าวเหนียวปิ้งอยู่
ซ้ายกลางบน – เค้กสีสันฉูดฉาดบนถาดเหล่านี้สะกดสายตามาก ทั้งสีช็อกโกแลต แยมสตรอว์เบอร์รี แยมบลูเบอร์รี เรนโบว์สปริงเคิล ฝอยทอง เชอร์รี่ วีปครีม และใบเตย นอกจากนี้ยังมีเค้กกล้วยหอมและเอแคลร์มาแท็กทีมด้วย
ขวากลางบน – หมึกบดถือว่าอยู่คู่ชาวบ้านมานาน ไม่ว่าจะเทศกาลไหนๆ
ซ้ายกลางล่าง – ผลไม้ดองของแม่ค้าแผงนี้มีองุ่น มะม่วง มะยม มะขาม พุทรา และมะกอก
ขวากลางล่าง – เจ้าของร้านเพิ่งเรียงซูชิสารพัดหน้าเต็มแผงไม่ทันไร ลูกค้าก็ถือกล่องโฟมล้อมวงทันที
ซ้ายล่าง – น้ำผลไม้ปั่นเจ้านี้มีเครื่องในแก้วให้เลือกดังนี้ ส้ม มะนาว แอปเปิลเขียว แอปเปิลแดง สับปะรด มะเขือเทศ แคร์รอต บร็อกโคลี ละมุด โยเกิร์ต เยลลี่ กล้วยหอม แตงโม แคนตาลูป และสตรอว์เบอร์รี
ขวาล่าง – อำลาช่วงที่สามกับเครื่องดื่มที่มาประเคนความชื่นใจอีกชุดใหญ่ เริ่มจากในขวดมีน้ำข้าวโพด น้ำใบบัวบก น้ำอัญชันมะนาว น้ำส้มคั้น และน้ำกระเจี๊ยบ ส่วนในโหลแก้วยังมีน้ำลำไย น้ำมะนาว น้ำมะพร้าว และน้ำมะตูม สำหรับแถวหลังเป็นหมวดของน้ำอัดลม




ละลายทรัพย์กับช่วงที่สี่ต่อ
บน – คลื่นมนุษย์ยังคงมากมาย มิน่าข้าวของถึงล้นหลามตลอดทาง อุปสงค์และอุปทานเป็นของคู่กันจริงๆ (จากภาพ มุมนี้เป็นจุดสตาร์ตของช่วงที่สี่ซึ่งมีแต่สินค้าอุปโภค ขณะที่หนทางเบื้องหน้ายังอีกยาวไกล)
ซ้ายบน – เริ่มต้นกันที่เสื้อผ้าของหนูน้อย ตั้งแต่หมวก เสื้อ กางเกง ไปจนถึงชุดนอน
ขวาบน – ตอนนี้เรากำลังผ่านเต็นท์เสื้อผ้าคูลๆของสาวๆแนวเอิร์ธโทนกันแล้ว
ซ้ายกลาง – ร้านนี้มีชุดชั้นในรายล้อมทั่วร้าน ครบทุกไซส์แน่นอน
ขวากลาง – เดินต่อไปก็เจอกับแผงรองเท้าเจ้าใหญ่มุมนี้ ประเภทรองเท้าก็มีรองเท้าส้นตึก ส้นสูง ส้นเตี้ย รองเท้าแตะสวมกับแบบหนีบ รองเท้าบัตเลต์ รองเท้าผ้าใบ และอีกสารพัด สนใจก็สวมถุงเท้าลองได้
ซ้ายล่าง – ขณะที่รองเท้าผู้ชายบนตะแกรงมีรองเท้าแตะแบบสวมและรองเท้าผ้าใบ
ขวาล่าง – ผู้หญิงคนไหนอยากให้เส้นผมเป็นระเบียบ แม่ค้ามีที่คาดผม ยางรัดผม โบว์ผูกผม กิ๊บ และหวีไว้รองรับ

 



หันซ้ายแลขวากันเพลินจนเกือบลืมดูเวลา นี่เราเดินมาเป็นชั่วโมงแล้วเหรอนี่ ทำไมความสุขถึงสั้นจริง
ซ้ายบน – ซุ้มของเล่นเด็กของพ่อค้าเริ่มจากเครื่องมือแพทย์ เกมเศรษฐี รถเข็นช้อปปิ้ง คันธนู ชุดแต่งตัว ไดโนเสาร์เครื่องครัว ชุดตกปลา รถแข่ง เครื่องคั้นน้ำผลไม้ ฟิกเกอร์จากภาพยนตร์ รถถัง เครื่องแคชเชียร์ ปืนกล รถไฟ ชุดแต่งตัวเจ้าชายเจ้าหญิง เครื่องประดับ ไปจนถึงของใช้ดูแลเด็กทารก
ขวาบน – บ้านหลังไหนยังพร่องเครื่องนอน เช่น หมอน ผ้าปู ผ้าห่ม ฯลฯ ร้านนี้มีตัวช่วย
ซ้ายกลางบน – มุมของคนรักเครื่องหนังกลับมาอีกครั้งกับแจ๊กเก็ต กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าสะพาย และเข็มขัด
ขวากลางบน – เราแอบมาเหล่คนขายร้านนี้กัน ที่นี่เรียกว่าวันสตอปเซอร์วิชทีเดียวเนื่องจากหลายอย่างรวบรวมไว้ที่นี่แล้ว สาวๆไม่ต้องไปไหนไกล ทั้งหมดมีหมวกแฟชั่น ต่างหู แว่นตากรองแสง และสร้อยคอ
ซ้ายกลางล่าง – ส่วนแผงนี้รวบรวมสินค้ามือสองมาวางให้เลือก มีทั้งเสื้อผ้า หนังสือ กระเป๋า และกางเกงยีนส์
ขวากลางล่าง – ระหว่างเดินในช่วงที่สี่แอบสะดุดตากับม่านละครหุ่นเชิดมุมนี้ ทีมงานเลยหยุดยืนชมความสามารถอยู่ครู่ใหญ่ โดยหลังฉากเป็นวัยรุ่นชายคนหนึ่งกำลังใช้สองมือเชิดหุ่น(ให้นักท่องเที่ยวด้านหน้าได้ชม) ขณะเดียวกัน เขาก็พากย์สดตัวละครไปด้วย
- เสร็จสิ้นจากช่วงที่สี่แล้ว ยังมีข้อมูลบางอย่างให้เคลียร์อีกเล็กน้อย
ซ้ายล่าง – อย่างที่บอกไว้ว่า ช่วงที่สองของถนนคนเดิน ถ้าเราขึ้นไปลานดินโล่งทางซ้าย เต็นท์สินค้ารอลูกค้าอยู่อีกหลายร้านเลย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า (ส่วนที่หลุดฉากไปมีรถเข็นส้มตำกับแผงเครื่องสำอาง) ขณะที่มุมไกลคือปราสาทสไลเดอร์ที่เด็กๆรวมพลังใจกันอีกจุด
ขวาล่าง – และโซนสบายๆของนักท่องเที่ยวที่ซื้อของคาวหวานมานั่งกินกันจะอยู่กลางทางของช่วงที่สองและสาม กับข้าวกับปลาและเสียงเจื้อยแจ้วของผู้คน ทำให้บรรยากาศชื่นมื่นดีแท้

TODAY THIS MONTH TOTAL
489 5426 297818
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top