วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

คำอธิบาย


วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่กลางเมืองลำพูน ภายในวัดเป็นที่ตั้งของพระธาตุหริภุญชัยปูชนียสถานสำคัญยิ่งแห่งดินแดนล้านนามาแต่โบราณ ตามตำนานกล่าวว่า ในรัชสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีผู้ครองนครหริภุญชัย พระองค์โปรดให้ช่างสร้างปราสาท แล้วปลูกหอจัณฑาคาร(ที่พระบังคนหรือสุขา)ไว้ใกล้กับปราสาท โดยพระองค์มิได้ทรงทราบว่า ที่ตรงนี้มีพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว เวลาพระองค์เสด็จไปลงพระบังคนครั้งใด จะมีกาตัวหนึ่งที่เฝ้าอยู่ บินมาถ่ายมูลต้องพระเศียร แล้วกระพือปีกบินโฉบเหนือพระเศียร ทำกิริยาขับไล่พระองค์ให้พ้นจากที่นั่น พระเจ้าอาทิตยราชทั้งทรงพิโรธและอัศจรรย์ใจยิ่งนัก จึงรับสั่งให้ข้าราชบริพารช่วยกันจับกาตัวนั้นมา แล้วนำไปขังไว้

คืนนั้นทรงพระสุบินว่า เทพยาดามาแจ้งแก่พระองค์ให้เอาทารกเกิดได้ 7 วันไปขังรวมกับกา ทารกได้ฟังเสียงกาทุกวัน ก็จะฟังภาษากาออก ครั้นบรรทมตื่นแล้ว พระเจ้าอาทิตยราชก็โปรดให้ทำตามที่ทรงพระสุบินทุกประการ เมื่อทารกมีอายุได้ 2 ขวบ ก็สามารถรู้ภาษาและพูดกับกาได้ พระเจ้าอาทิตยราชก็โปรดถามสาเหตุที่กาประพฤติต่อพระองค์แต่หนหลัง จึงทรงทราบว่า บริเวณหอจัณฑาคารเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระบรมศาสดา จึงโปรดให้รื้อหอจัณฑาคารและขุดดินไม่ดีออก แล้วตั้งพิธีมณฑลปักราชาวัตรฉัตรธง แต่งด้วยดอกไม้หอมและจุดเทียนทำการสักการบูชา ทรงโปรดให้สร้างพระธาตุสูง 3 วาเป็นแบบเจดีย์มอญบรรจุสารีริกธาตุ แล้วสร้างพระวิหารการเปรียญ ศาลาน้อยใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นวัดสำคัญประจำนับจากนั้น

ในขณะนั้นพระองค์และชาวเมืองต่างศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างยิ่ง เมืองหริภุญชัยยุคนี้ถือว่ามีความเจริญรุ่งเรืองที่สุด ชาวเมืองถือศีลภาวนาอยู่ไม่ขาดและรับเอาพระพุทธศาสนาจากเมืองมอญมาประดิษฐานที่นครหริภุญชัย โดยสถาปนาองค์พระธาตุหริภุญชัยขึ้นในปี พ.ศ.1607 แล้วหาช่างทองมาทำโกศทองคำ ประดับด้วยรัตนะทั้ง 7 ประการเพื่อครอบองค์พระธาตุ เป็นสถูปทรงปราสาทสูง 12 ศอก (6 เมตร) มีเสาสี่ต้นและมีประตูสี่ด้าน

ครั้นในยุคของพระยาสรรพสิทธิ์ ทรงชักชวนให้ประชาชนสร้างโกศทองคำสูง 4 ศอกลูกหนึ่งครอบโกศที่พระเจ้าอาทิตยราชสร้างไว้และสร้างปราสาทสูง 5 วา

ต่อมาเมื่อพระยามังรายจากเมืองไชยปราการยกทัพมาตีเมืองหริภุญชัย ก็สามารถยึดครองเมืองหริภุญชัยได้ พระยามังรายทรงเกิดพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนาและบูรณะองค์พระเจดีย์หริภุญชัย โดยทำให้มีสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด สันนิษฐานว่า มีรูปทรงคล้ายเจดีย์เชียงยืนที่อยู่ที่คณะเชียงยืน

ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ทรงโปรดให้บูรณะพระเจดีย์หริภุญชัยครั้งใหญ่โดยปรับรูปทรงให้มีระเบียบกระพุ่มยอดเดียว ฐานกว้างยาวด้านละ 52 ศอก สูง 92 ศอก แล้วทำแท่นวางดอกไม้แต่ละด้าน ยาวประมาณ 57 ศอก สูง 2 ศอกกว่า จากนั้นก่อกำแพงศิลาแลงยาว 228 ศอก กว้าง 150 ศอกทั้งสี่ด้านเพื่อรักษาองค์พระธาตุไว้ แล้วหุ้มองค์พระเจดีย์หลวงด้วยแผ่นทองแดงอาบน้ำตะโกทองตั้งแต่ฐานธรณีถึงยอด ทั้งนี้ยังปิดทองคำเปลวเพิ่มอีกชั้นหนึ่งด้วย ทำให้องค์พระธาตุมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังมาจนถึงทุกวันนี้

วัดพระธาตุหริภุญชัยมีเนื้อที่โดยประมาณ 28 ไร่ 3 งาน ทิศเหนือติดกับถนนอัฎฐารส ทิศใต้ติดกับถนนชัยมงคล ทิศตะวันออกติดกับถนนรอบในเมือง และทิศตะวันตกติดกับถนนอินทยงยศ วัดนี้มีกำแพง 2 ชั้น คือรอบบริเวณวัดชั้นนอกและก่อกำแพงทำเป็นศาลาบาตรรอบองค์พระธาตุหริภุญชัยชั้นในอีกหนึ่งชั้น

ภายในวัดมีสถานที่สำคัญดังนี้

1.
องค์พระธาตุหริภุญชัย เจดีย์ทรงล้านนาที่สวยที่สุดในโลก เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีระกา กำเนิดขึ้นในยุคของพระเจ้าอาทิตยราช
2.วิหารหลวง เมื่อเข้าสู่เขตบริเวณพระบรมธาตุแล้ว จะแลเห็นพระวิหารหลวงใหญ่ตั้งอยู่เบื้องหน้า ประจำทิศตะวันออกของพระธาตุหริภุญชัย

3.พระพุทธบาทสี่รอยจำลอง ตั้งอยู่หลังวิหารพระพุทธ
4.พิพิธภัณฑ์ 50 ปี รวบรวมวัตถุโบราณต่างๆของทางภาคเหนือไว้มากมาย
5.เจดีย์ปทุมวดี อยู่บริเวณทิศเหนือขององค์พระธาตุหริภุญชัย
6.พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ตั้งอยู่ในพระวิหารบริเวณหน้าวัด
7.หอกังสดาร อยู่ทางทิศเหนือของพระวิหารหลวง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2481
8.หอพระไตรปิฎกหรือหอธรรม อยู่ทางทิศใต้ของพระวิหารหลวง เป็นที่บรรจุหนังสือใบลานจารด้วยอักขระพื้นเมือง
9.วิหารพระเจ้าทันใจ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาสมัยเชียงแสนขนาดใหญ่
10.วิหารพระพุทธ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย


ได้ยินกิตติศัพท์ความงดงามระดับโลกของเจดีย์แห่งล้านนามานาน ครั้นมาถึงวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ต้องยอมรับเลยว่าสวยสมคำเยินยอจริงๆ การเข้ามากราบไหว้ นอกจากเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่ดีแล้ว เรื่องราวต่างๆรอบวัดก็ถือเป็นโบนัสความรู้ด้วย ส่วนใครที่เกิดปีระกา(หรือปีไก่) พระธาตุองค์นี้คือพระธาตุประจำปีเกิด
- เริ่มต้นด้วยองค์พระธาตุที่หลายคนกล่าวขานว่าเป็นเจดีย์แห่งล้านนาที่สวยที่สุดในโลกก่อนเลย
ซ้ายบน – “พระธาตุหริภุญชัย”ส่องแสงสีทองจากองค์พระธาตุได้สวยงาม (จากภาพ จากตำแหน่งที่ทีมงานยืนคือ อยู่ข้างเขาพระสุเมรุ(หรือเขาสิเนรุ) เราจะเห็นวิหารหลวงอยู่ทางขวา ส่วนวิหารที่โดนวิหารหลวงบังอยู่ไกลๆคือ วิหารพระละโว้ ขณะเดียวกัน ผู้คนต่างมาสักการะขอพรและเดินเวียนพระธาตุตลอดทั้งวันไม่ขาดสาย)
- ขอเดินรอบพระธาตุหริภุญชัยในระยะใกล้หน่อย
ขวาบน – เรามาชื่นชมความสวยงามจากมุมแรกนี้
ซ้ายกลาง – แสงอาทิตย์ตกกระทบทำให้สีเหลืองทองบนองค์พระธาตุส่องเรืองรอง
ขวาล่าง – ยังมีอีกมุมหนึ่งมาฝากกัน
ซ้ายล่าง – จุดนี้เป็นทิศตะวันตกที่ทีมงานยืนอยู่ แล้วมองไปที่ด้านหลังขององค์พระธาตุ ไม่ว่าจะมองจากด้านหน้าหรือด้านหลังก็สวยงามทั้งนั้น



องค์พระธาตหริภุญชัยมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้เราได้ศึกษาต่อ
ซ้ายบน – รูปแบบสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ส่วนฐานเป็นฐานบัวลูกแก้วประดับลวดบัวในผังสี่เหลี่ยมจตุรัสยกเก็จซ้อนกัน 2 ชั้น แต่คั่นด้วยชั้นหน้ากระดานที่ยืดสูงต่อขึ้นด้วยฐานเขียงในผังวงกลมซ้อนกัน 3 ชั้นและชั้นบัวในผังวงกลม 3 ชั้นซ้อนลดหลั่นกันเพื่อรองรับส่วนเรือนธาตุที่เป็นองค์ระฆังกลมขนาดเล็ก องค์ระฆังนี้ประดับด้วยดอกประจำยามและลายดุนแผ่นทองเหลืองรูปพระพุทธรูปปางต่างๆ ขณะที่บัลลังก์(ในผังสี่เหลี่ยม)ย่อมุมต่อขึ้นไปเป็นส่วนยอดที่เป็นปล้องไฉนทรงกลวยปลียอด และประดับปลายยอดด้วยฉัตรทองคำ นอกจากนี้ รอบองค์พระธาตุยังมีเสารั้วทองเหลืองปิดทองคำเปลวตามโคลงนิราศหริภุญชัยที่เรียกว่า“ลำเวียง”ล้อมรอบ ขณะเดียวกัน ทั้งสี่มุมของเสารั้วชั้นนอกยังมีฉัตรทองเหลืองซึ่งเป็นเครื่องบูชาองค์พระเจดีย์และมีหอเสื้อซึ่งเป็นที่สถิตย์ของท้าวจตุโลกบาลด้วย
ขวาบน – “หอยอหรือวิหารน้อย”เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางของทั้งสี่ด้าน
ขวากลาง – “วิหารหลวง” โดยรอบมีพระระเบียงทุกด้านและมีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่วิหารหลังนี้สร้างขึ้นทดแทนหลังเก่าที่ถูกพายุพัดถล่มเมื่อปี พ.ศ.2458 ซึ่งคนเก่าแก่มักเล่าว่า วิหารหลังเดิมสวยงามวิจิตรนัก แม้แต่ไม้ระแนงทุกอันก็ลงรักปิดทอง ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้หนึ่งที่มาร่วมบูรณะวิหารหลังใหม่นี้ ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2463
ซ้ายล่าง - วิหารหลวงหลังนี้เป็นที่บำเพ็ญกุศลและประกอบศาสนกิจเป็นประจำทุกวันพระ เช่น การฟังธรรม การบวช ฯลฯ เราจึงเห็นประชาชนหลั่งไหลมากราบไหว้และถวายสังฆทานอยู่ตลอดเวลา
ขวาล่าง – ภายในพระวิหารมีพระปฎิมาใหญ่ประดิษฐานอยู่บนแท่นแก้วรวม 3 องค์ ก่ออิฐถือปูนและลงรักปิดทององค์ใหญ่กับองค์เล็ก นอกจากนี้ยังมีพระพุทธปฏิมาหล่อด้วยโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนชั้นต้นและชั้นกลางประดิษฐานอยู่อีกหลายองค์ ได้แก่ พระเสตังคมณี(ที่หล่อขึ้นใหม่แทนองค์เดิมที่พระยามังรายอัญเชิญไว้ที่วัดเชียงมั่น) พระรอดทองคำแท้ และพระพุทธเจ้าน้อย



เดินออกจากวิหารหลวง ยังมีสถานที่ต่างๆมากมายให้เราได้ชมอีก
บน – ก่อนจะเริ่มต้นถาวรวัตถุอื่นๆต่อ เรามาชมบรรยากาศภายในวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารบ้าง ทุกอย่างดูเป็นระเบียบและสะอาดตาไปหมด (จากภาพ ทางซ้ายเป็นกำแพงศาลาบาตรชั้นใน ส่วนตัวอักษร ar ก็คือ หอกังสดาล สำหรับซุ้มประตูสีขาวไกลๆที่ตัวอักษร er ก็คือ ซุ้มประตูโขงท่าสิงห์ ขณะที่วิหารตรงอักษร tang ก็คือ วิหารหลวง จนถึงวิหารขวาสุดตรงอักษร com ก็คือ วิหารพระละโว้)
- ตอนนี้ทีมงานขอเริ่มจากในเขตกำแพงวัดชั้นใน
ซ้ายบน - ภายในวิหารพระเจ้ากลักเกลือ(หรือพระเจ้าแดง)เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่และทาด้วยสีแดง มีพระลักษณะเกือบเหมือนปางมารวิชัย ที่แตกต่างกันก็คือ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือกระบอกเกลือ พระหัตถ์ขวาทรงถือผลสมอ แยกตามคำบาลีว่า “หริ”แปลว่า“ผลสมอ” “ภุญช”แปลว่า“เสวย” และ“ย”แปลว่า“ผู้ประพฤติ” รวมความได้ว่า“ผู้เสวยผลสมอ” ซึ่งบริเวณนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมา และมีชาวป่าคนหนึ่งนำผลสมอพร้อมด้วยกลักเกลือ(หรือกระบอกเกลือ)มาถวาย เมื่อพระพุทธเจ้าฉันผลสมอเสร็จ ก็ทิ้งกระบอกเกลือไว้ที่นี่ จึงสร้างพระพุทธรูปขึ้น เรียกว่า”พระเจ้ากลักเกลือ” ด้วยเหตุนี้ สัญลักษณ์ของวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารก็คือ“พระพุทธรูปปางฉันสมอ” ส่วนที่คนทั่วไปเรียกว่า“พระเจ้าแดง” สันนิษฐานว่า คนโบราณนำก้อนอิฐมาแช่น้ำ แล้วนำสีแดงที่เกิดจากก้อนอิฐมาทาพระพุทธรูป ทำให้จีวรของพระพุทธรูปองค์นี้มีสีแดงนั่นเอง
ขวาบน – ภายในวิหารพระพุทธเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน(ลงรักปิดทอง)ขนาดใหญ่ เรียกว่า“พระพุทธ”ซึ่งหมายถึงตัวแทนพระพุทธเจ้า
ขวากลาง – ภายในวิหารพระไสยยาสน์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนอนก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง สร้างก่อนปี พ.ศ.2060 ถือเป็นพระนอนที่เก่าแก่องค์หนึ่งในจังหวัดลำพูน
ซ้ายล่าง - ภายในวิหารพระละโว้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน เรียกว่า“พระละโว้”
ขวาล่าง - ภายในวิหารพระเจ้าทันใจเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาสมัยเชียงแสน หล่อด้วยโลหะ เรียกว่า“พระเจ้าทันใจ”


ไปชมวิหารพระเจ้าพันตนกัน
ซ้ายบน – ภายในวิหารพระเจ้าพันตนบรรจุพระพุทธรูปปางต่างๆมากมาย จึงเรียกว่า“พระเจ้าพันตน”
ขวาบน – พระพุทธบาทสี่รอยเป็นพระพุทธบาทสร้างใหม่โดยจำลองพระพุทธบาทสี่รอยจากอำเภอแม่ริมเพื่อเป็นที่เคารพบูชาสำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปสถานที่จริง
ซ้ายกลาง – อาคารพิพิธภัณฑ์ 50 ปี ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (จากภาพ จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ในกิจการพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นแหล่งศึกษาและรักษาสมบัติวัฒนธรรมของชาติไว้ จึงได้ดำเนินการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นในปี พ.ศ.2470 โดยมีเจ้าคำขจรศักดิ์เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์และพระอมรเมธี (อมร อมรปณโญ) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยในขณะนั้นเป็นผู้ดูแลและรวบรวมโบราณวัตถุจากทั่วมณฑลพายัพ กระทั่งกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญชัยให้อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากรในปี พ.ศ.2504 ต่อมากรมศิลปากรมีโครงการสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ถาวรที่ทันสมัยขึ้นใหม่ จนกระทั่งได้รับมอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินราชพัสดุเดิม อันเป็นที่ตั้งเรือนจำจังหวัดลำพูนบนถนนอินทยงยศ ตรงข้ามวัดพระธาตุหริภุญชัยทางทิศตะวันตก กรมศิลปากรจึงสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นในปี พ.ศ.2517 จากนั้นได้ย้ายโบราณวัตถุจากอาคารหลังเก่าในวัดพระธาตุหริภุญชัยและโบราณวัตถุที่ประชาชนบริจาคเพิ่มเติมมาไว้หลังใหม่ (มีต่อ))
ขวากลางบน – (ต่อจากซ้ายกลาง) แต่เนื่องด้วยพิพิธภัณฑ์ยังคงได้รับบริจาคและสะสมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุอย่างต่อเนื่อง พระราชมหาเจติยาภิบาล (ไพบูลย์ ภูริวิปโล) เจ้าอาวาสในขณะนั้นจึงสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ 50 ปีเป็นวิหารทรงล้านนาประยุกต์ขึ้นมาใหม่และเปิดให้ประชาชนเข้าชมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2541
ซ้ายล่าง – พิพิธภัณฑ์พระเมืองแก้ว (จากภาพ บริเวณระเบียงคตที่เป็นสถานที่จัดเก็บโบราณวัตถุและศิลปวัตถุประเภทเครื่องไม้แกะสลัก เช่น สัตภัณฑ์ หีบธรรม ชิ้นส่วนประดับอาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ ฯลฯ โดยพระเทพรัตนนายก เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยรูปปัจจุบันได้ปรับปรุงพื้นที่ส่วนระเบียงคตให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติถวายแก่พระเมืองแก้ว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 11 ในราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนาในช่วง พ.ศ.2038-2068 พระองค์มีคุณูปการแก่เมืองลำพูนเป็นอย่างยิ่ง จึงตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่นี้ตามชื่อกษัตริย์พระองค์นี้)
ขวากลางล่าง – ศาลาบาตร (จากภาพ บริเวณระเบียงคตชั้นในมีภาพวาดตำนานพระธาตุหริภุญชัยพร้อมประวัติความเป็นมา (ซึ่งส่วนหนึ่งก็เขียนอยู่ในเนื้อหาเกริ่นนำแล้ว))
ขวาล่าง - สถานที่กักกันบริเวณครูบาศรีวิชัย (จากภาพ เมื่อครั้นที่ท่านถูกข้อกล่าวหาต่างๆจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ ทางการกับเจ้าคณะจังหวัดจึงนำท่านมากักบริเวณไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยและที่นี่ก็คือที่ที่ท่านนั่งพำนักบำเพ็ญภาวนาอยู่เป็นประจำนานกว่า 1 ปี)


อยู่ในวัด จิตใจผ่องใส เห็นอะไรก็ร่มรื่นไปหมด
ซ้ายบน –
สุวรรณเจดีย์ (หรือเจดีย์ปทุมวดี) (จากภาพ ตามตำนานกล่าวไว้ว่า สร้างโดยพระนางปทุวดีอัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราชในราว พ.ศ.1607 (หลังจากพระเจ้าอาทิตยราชทรงสร้างพระธาตุหริภุญชัยแล้วเสร็จได้ 4 ปี) ส่วนตำนานมูลศาสนาระบุเพิ่มเติมว่า ในครั้งนั้นทรงโปรดให้ประดับทองคำบริเวณส่วนยอดของเจดีย์ จึงได้ชื่อว่า“สุวรรณเจดีย์” โดยเป็นเจดีย์ก่ออิฐ แต่ฐานก่อด้วยศิลาแลง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนเหลื่อมกัน 3 ชั้น รองรับเรือนธาตุที่มีซุ้มจระนำซ้อนลดหล่นกัน 5 ชั้น ภายใต้ฐานชั้นล่างเป็นกรุบรรจุพระเปิม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์คู่บุญบารมีของพระเจ้าอาทิตยราช ส่วนซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนแสดงปางประทานอภัย(ศิลปะหริภุญชัยราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งช่วงเวลานั้น เมืองหริภุญชัยมีความเจริญอย่างสูงสุดทั้งด้านการค้า ศาสนา และศิลปะวิทยาการ))
ขวาบน – หอกังสดาล (จากภาพ แต่เดิม หอกังสดาลมีรูปทรงเป็นเสาก่ออิฐฉาบปูน 2 ต้น แล้วแขวนกังสดาลสำริดขนาดใหญ่ที่หล่อถวายจากวัดพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยครูบาเฒ่าสูงเม่นและคณะศรัทธาของพระมหาเถรวัดป่าสูงเม่น จังหวัดแพร่ ใน พ.ศ.2403 แล้วถวายเป็นพุทธบูชาแก่พระธาตุหริภุญชัย ต่อมาได้บูรณะเปลี่ยนรูปทรงที่แขวนกังสดาลเป็นอาคารโล่งสูง 2 ชั้น ศิลปะหริภุญชัย โดยแขวนกังสดาลไว้ชั้นล่างและแขวนระฆังสำริดที่หล่อขึ้นในสมัยเจ้าดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ ผู้ครองเมืองลำพูนไว้ชั้นบน)
ขวากลาง – เขาพระสุเมรุหรือเขาสิเนรุ (จากภาพ ตามประวัติไม่ปรากฏการก่อสร้าง แต่พบหลักฐานจากภาพถ่ายเก่าว่า ตั้งอยู่หลังหอพระไตรปิฎกมาแต่โบราณ รูปแบบสถาปัตยกรรมประกอบด้วยฐานเขียงกลมซ้อนกัน 3 ชั้น รองรับท้องไม้ ประดับด้วยลูกแก้วอกไก่และกรอบช่องกระจก เหนือขึ้นไปเป็นบัวหงายขึ้นรับเขาพระสุเมรุ ซึ่งประกอบด้วยสัตตบริภัณฑ์คีรีและมหานทีสีทันดร จำลองด้วยแผ่นทองสำริดดุนนูนศิลปะหริภุญชัยเป็นลวดลายต้นไม้ เทพยดา สัตว์ป่า และเหล่าอสูรซ้อนเหลี่อมกัน 7 ชั้น ชั้นบนสุดประดับด้วยไพชยนต์มหาปราสาทซึ่งเปรียบเสมือนที่ประทับของพระอินทร์ เขาพระสุเมรุนี้สร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องแกนกลางของโลกและจักรวาล ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียในยุคพระเวทย์ ต่อมาได้แพร่หลายเข้ามาในกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นับถือศาสนาพุทธและเชื่อว่า น่าจะแผ่เข้ามายังอาณาจักรล้านนาพร้อมพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ชาวเมืองนิยมบูชาเขาพระสุเมรุเพราะถือว่าเป็นภูเขาที่เกี่ยวกับพระประวัติของพระพุทธเจ้าตามคติความเชื่อ
ซ้ายล่าง – หอธรรม (หรือหอพระไตรปิฎก) (จากภาพ ตามหลักฐานศิลาจารึกพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร(ลพ.15)พบว่า หอธรรมสร้างโดยพระเมืองแก้ว(กษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่)และพระราชมารดาใน พ.ศ.2053 ครั้งนั้นได้โปรดให้สร้างหอพระไตรปิฎกและพระพุทธรูปทองคำมาประดิษฐานในหอธรรมแห่งนี้ โดยเป็นอาคาร 2 ชั้น หันหน้าไปทางทิศตะวันตก แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จ 2 ชั้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง อาคารชั้นล่างก่ออิฐถือปูน มีบันไดขึ้นสู่ชั้นบน ชั้นบนเป็นเครื่องไม้ ไม้โครงสร้างตกแต่งด้วยการแกะสลักลายพันธุ์พฤกษาปิดทองล่องชาด ผนังอาคารตกแต่งด้วยลายฉลุไม้ปิดทองล่องชาดประดับกระจก ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องโลหะ
- ที่ผ่านมา ทีมงานเดินสำรวจสถานที่สำคัญบริเวณกำแพงชั้นในของวัดไปแล้ว คราวนี้ถึงเวลาไปชมรายละเอียดอื่นๆรอบกำแพงด้านนอกบ้าง ซึ่งก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
ขวาล่าง – “ซุ้มประตูโขงท่าสิงห์”เป็นซุ้มประตูเข้าสู่เขตพุทธาวาสของวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ และมีหลังคาเป็นแบบ“ซุ้มโขง”คือ ก่อผนังเสาทั้งสองด้านโค้งเข้าหากัน ยอดหลังคาสร้างเป็นทรงปราสาทซ้อนกันหลายชั้น ซุ้มประตูนี้เชื่อว่า สร้างขึ้นพร้อมการปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุหริภุญชัยในพุทธศตวรรษที่ 21 ด้านหน้าซุ้มประตูมีประติมากรรมสิงห์ปูนปั้น(ซึ่งสร้างขึ้นช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24)ประดับอยู่ทั้งสองข้าง (ซึ่งแต่เดิมสิงห์คู่นี้เป็นกำแพงวังชั้นนอกของพระเจ้าอาทิตยราช ครั้นถวายเป็นสังฆารามแล้ว จึงรื้อซุ้มชั้นนอกออกไป แล้วปั้นสิงห์คู่ประดิษฐานไว้แทน)
ล่าง –
พระพุทธรูปปางไสยยาสน์ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ในวิหารพระนอน



หลังจากอยู่ในวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารนานนับชั่วโมง ตอนนี้ก็เข้าสู่บทส่งท้าย
ซ้ายบน –
วิหารพระเจ้าทองทิพย์
มีซุ้มพระพุทธรูป(ฝีมือโบราณประดับลวดลาย)ประดิษฐานเป็นรูป 4 ซุ้ม ด้านในบรรจุพระพุทธรูปขนาดกลางหล่อด้วยโลหะเรียกว่า“พระเจ้าทองทิพย์” เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นกลาง ลงรักปิดทองสวยงาม อุโบสถหลังนี้เป็นที่ประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ในช่วงเข้าพรรษาและออกพรรษา (จากภาพ วิหารพระเจ้าทองทิพย์เป็นพระอุโบสถที่ก่อสร้างโดยแสนสรรพ ช่างบ้านกอแงะ ตำบลประตูป่า ซึ่งมีขนาดกว้างขวาง บรรจุพระสงฆ์ได้ไม่ต่ำกว่า 150 รูป มีมุขยื่นออกด้านหน้าและมีระเบียงทั้งทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนด้านหลังไม่มีมุขแบบหลังคา 2 ชาย)
ขวาบน – “เจดีย์เชียงยัน”มีตำนานท้องถิ่นระบุว่า สร้างโดยพ่อครัวและแม่ครัวที่ทำอาหารเลี้ยงช่างที่มาก่อสร้างองค์พระธาตุหริภุญชัย จึงมีชื่อท้องถิ่นอีกชื่อหนึ่งว่า“เจดีย์แม่ครัว” ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐทรงปราสาท 5 ยอด และจากรูปแบบสถาปัตยกรรม นักวิชาการทางประวัติศาสตร์เชื่อว่า เจดีย์องค์นี้น่าจะอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ส่วนประติมากรรมปูนปั้นประดับองค์เจดีย์ สันนิษฐานว่า เป็นงานบูรณะซ่อมแซมในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 และน่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับการปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุหริภุญชัยเพราะมีรูปแบบอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน (จากภาพ อาคารด้านหลังเจดีย์เชียงยันคือ โรงเรียนเมธีวุฒิกร)
ซ้ายกลางบน – วิหารพระอัฏฐารส (จากภาพ วิหารนี้เป็นวิหารทรงมณฑป ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งก่ออิฐถือปูนปางมารวิชัย สูง 18 ศอก พระเจ้าธรรมิกราชทรงสร้างเมื่อ พ.ศ.1660 หน้าวิหารพระอัฏฐารสมีโบสถ์ภิกขุณีซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณตั้งอยู่)
ซ้ายกลางล่าง ภายในวิหารพระกัจจายน์มีพระพุทธรูปที่มีพุงขนาดใหญ่ แต่เชื่อกันว่า ภายในพุงมีแต่ความคิดฉลาดอยู่ คนที่นี่มักเรียกตามลักษณะรูปลักษณ์ของชาวล้านนาว่า“พระเจ้าปุ๋มผะหญา” (จากภาพ
วิหารพระกัจจายน์สร้างก่อนปี พ.ศ.2060 แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนสร้าง)
ขวากลาง – วิหารสะดือเมือง (จากภาพ วิหารนี้อยู่ถัดจากคณะสะดือเมืองไปทางด้านหลัง ซึ่งถือว่าสถานที่แห่งนี้เปรียบเสมือนใจกลางเมืองคือ สะดือเมือง วิหารหลังนี้มีขนาดเล็ก ภายในวิหารสะดือเมืองประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสมัยเชียงแสนขนาดกลางจำนวน 10 องค์)
ซ้ายล่าง - คณะสะดือเมือง (จากภาพ เดิมเรียกว่า วัดสะดือเมือง ซึ่งเป็นที่พำนักของท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันคือ พระเทพรัตนนายก และมีสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดลำพูนอยู่ในบริเวณเดียวกันด้วย สิ่งสำคัญหนึ่งอย่างก็คือ "พระราหูทรงครุฑ”อยู่บริเวณหน้ากุฏิท่านเจ้าอาวาสหรือบริเวณอักษร com)
- เนื่องจากเป็นวัดที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของภาคเหนือ ร้านค้าย่อมมีมากมายแน่นอน
ขวาล่าง - บริเวณวัดมีของกินของใช้ที่เปิดเป็นห้องแถวติดกันเป็นล็อกๆอยู่ตามแนวขอบของวัด ขณะที่กลางลานคอนกรีตก็มีแผงลอยเช่นกัน (จากภาพ มุมนี้เป็นโซนเสื้อผ้า เครื่องดื่มในตู้เย็น และของกินเล่น)
รายการสินค้า - อาหารมีข้าวผัด(หมู แหนม หมูยอ) ข้าวกะเพรา(ไก่ หมู ไข่ดาว) ข้าวผัดรวม ข้าวผัดคะน้า ราดหน้าทะเล ผัดซีอิ๊ว ข้าวผัดพริกแกง(หมู ไก่ ทะเล) ก๋วยเตี๋ยวรสเผ็ด(มีตัวเลือกคือ เนื้อสด เนื้อเปื่อย หมูหมัก ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเนื้อ) ของกินเล่นต่างๆมีกล้วยปิ้ง กาละแม สาหร่ายชุบแป้งทอด เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม กล้วยดิบตากแห้ง เครป(พร้อมตัวเลือกดังนี้ กล้วย ไข่ไก่ แยมสตรอว์เบอร์รี แยมบลูเบอร์รี แยมส้ม นูเทลลา เนยถั่ว ฝอยทอง ไก่หยอง ใบเตย ไส้กรอก หมูหยอง เบคอน ทูน่า แฮม น้ำพริกเผา ปูอัด ไข่กุ้ง และชีส) ไส้กรอกทอด และลูกชิ้นทอด เครื่องดื่มในตู้เย็นและลังน้ำแข็งมีลิโพ ฉลาม คาราบาว เอ็มร้อยห้าสิบ กระทิงแดง สปอนเซอร์ โค้ก เป๊ปซี่ สไปรท์ แฟนต้า(น้ำเขียว น้ำแดง น้ำส้ม) เอส นมโฟร์โมสต์ นมไทยเดนมาร์ก ไวตามิลค์ น้ำดื่มสิงห์
บีทาเก้น น้ำดื่มคริสตัล โออิชิรสต่างๆ(คือฮันนีเลมอน องุ่นเคียวโฮ และข้าวญี่ปุ่น) เย็นเย็นสูตรจับเลี้ยง ดัชมิลล์ซีเล็กเต็ด แลคตาซอย เรดดี้บูตรสโกจิเบอร์รี เนสกาแฟ เบอร์ดี้ C-Vittรสเลมอน มินิทเมดพัลพี น้ำเฉาก๊วยขวด และน้ำมะพร้าวขวด ตัวอย่างเครื่องดื่มอื่นๆยังมีน้ำมะพร้าวปั่น เฉาก๊วยนมสด น้ำแคนตาลูป น้ำลิ้นจี่ น้ำสตรอว์เบอร์รี น้ำมะนาว น้ำบลูเลมอน แดงโซดา ชามะนาว เขียวโซดา น้ำบ๊วย โกโก้ น้ำส้มคั้น น้ำเสาวรสสดปั่น ชาเขียว กาแฟร้อน ชาไทย ชาเย็น ฯลฯ หมวดขนมขบเคี้ยวมีปาปริก้า โปเต้ สแน็กแจ๊ก ป๊อกกี้รสช็อกโกแลต ไมโลซีเรียล เบนโตะรสทรงเครื่อง เลย์รสต่างๆ(คือ ซาวครีมและหัวหอม โนริสาหร่าย Shockรสโนริสาหร่ายซ่อนชิ้นเผ็ดซี้ด เอ็กซ์ตราบาร์บีคิว และไข่เค็ม) โรลเลอร์โคสเตอร์รสชีสต้นตำรับ สติ๊กโกฟิงเกอร์รสช็อกโกแลต เบงเบง ครีมโอ บิสชินรสมะพร้าว คาราด้า เมนทอสรสมินต์ ปูไทยรสปลาหมึก แจ็กซ์พร้อมซอสมะเขือเทศ ข้าวเกรียบกุ้งรวยเพื่อนรสดั้งเดิม เท็นจัง(รสปลาหมึกและรสไก่ย่าง) โกโก้ครันช์ ฟันโอ(รสชาเขียวและรสมะพร้าว) ขนมยูโรเบเกอรีบอลรสช็อกโกแลต รวมทั้งยาอมสเตร็ปซิลและไอศกรีมเนสเลย์ ตัวอย่างของแห้งของชำมีน้ำตาลทรายขาว น้ำหวานเข้มข้น น้ำส้มสายชู น้ำมันพืช ซีอิ๊วขาว น้ำปลา และเกลือ ของใช้ก็เช่น เสื้อผ้าพื้นเมือง ผ้าถุงสำเร็จรูป ผ้าพันคอ เสื้อผ้ากะเหรี่ยง หมวก เสื้อเด็ก เสื้อผ้าสตรี เสื้อที่ระลึกพระธาตุหริภุญชัย รองเท้าแตะ ย่าม เครื่องมือต่างๆ(เช่น จอบ ที่ขูดมะพร้าว พร้า ฯลฯ) ร่ม พระเครื่อง ถ่านไฟฉาย ยาดม แว่นตา แป้งทาตัว ซองจดหมาย ถุงหิ้ว ยาสีฟัน ธูปเทียน ทิชชู่ และสลากกินแบ่ง

TODAY THIS MONTH TOTAL
508 5445 297837
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top