วัดชลธาราสิงเห เดิมเรียกว่า“วัดท่าพรุ”หรือ“วัดจ๊ะเห" ท่านอาจารย์พุด(หรือพระครูโอภาสพุทธคุณ)สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2403 โดยขอที่ดินจากพระยาเดชานุชิตฯ(พระยารัฐกลันตัน)เพื่อก่อตั้งวัด ในระยะแรกมีเพียงอาคารไม้ เช่น กุฏิ ศาลา อุโบสถกลางน้ำ ฯลฯ จากนั้นท่านอาจารย์พุดได้สร้างอุโบสถและพระประธาน รวมทั้งเขียนภาพในอุโบสถและในกุฏิ ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.2426
ช่วงที่พระครูนราเขตสังคกิจเป็นเจ้าอาวาส ท่านตั้งชื่อวัดใหม่โดยนำคำว่า“น้ำ”(เหตุผลก็เพราะอาณาเขตวัดอยู่ริมแม่น้ำตากใบ)มารวมกับบุญญาธิการของท่านอาจารย์พุดที่มีอิทธิฤทธิ์ดุจดั่ง“สิงห์” จึงกลายเป็น“ชลธาราสิงเห” ในอดีตมีการก่อสร้างและปรับปรุงเสนาสนะต่างๆเพิ่มเติม เช่น วิหาร กุฏิ หอระฆัง หอไตร ศาลาท่าน้ำ ฯลฯ ด้วยสถาปัตยกรรมพื้นบ้านภาคใต้ที่ประดับลวดลายไม้ฉลุอย่างวิจิตรบรรจง
แต่เหนือสิ่งอื่นใด วัดชลธาราสิงเหเป็นวัดสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งขณะนั้นอังกฤษต้องการยึดครองมลายู ไทยจึงทำสัญญากับอังกฤษปี พ.ศ.2451 ยอมยกดินแดนไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิสให้ไป มีการปักปันเขตแดนใหม่โดยใช้สันเขาและแม่น้ำลากเส้นเป็นแนวตามหลักสากล ทำให้เข้าไปถึงบ้านปลักเล็ก(พื้นที่ระหว่างอำเภอเมืองนราธิวาสและอำเภอตากใบ) แต่ไทยแย้งว่าดินแดนแถบนี้เป็นของไทยโดยอ้างอุโบสถในวัดชลธาราสิงเหที่ก่อสร้างตามแบบศิลปะไทย อังกฤษเลยยอมเลื่อนการปักปันเขตแดนลงไปทางใต้จนถึงแม่น้ำโกลก วัดชลธาราสิงเหจึงได้รับการขนานนามว่า“วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”ตั้งแต่นั้นมา
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนวัดชลธาราสิงเหเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2518 และสิ่งก่อสร้างสำคัญในวัดประกอบด้วย...
1.พระอุโบสถ สร้างขึ้นปี พ.ศ.2416 ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว
2.พระเจดีย์ เป็นเจดีย์ประธานทรงระฆังในแบบศิลปกรรมท้องถิ่นภาคใต้ สร้างขึ้นราว พ.ศ.2456 - 2462 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2484
3.พระพุทธไสยาสน์ สร้างโดยพระครูสทิธิสารฉัตรเมื่อปี พ.ศ.2484
4.หอระฆัง ซึ่งมี 2 หลัง คือหอระฆังหลังคาจตุรมุขและหอระฆังหลังคามณฑป (หรือหอกลอง)
5.กุฏิเจ้าอาวาส มีลักษณะเป็นอาคารไม้สองชั้นยกพื้นสูง ใต้ถุนโล่ง หลังคาเป็นทรงปั้นหยาซ้อน 2 ชั้น สร้างระหว่างปี พ.ศ.2437-2456 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2475 ต่อมาใช้เป็นสถานที่จำพรรษาของพระครูปัจจันตเขตคณารักษ์ (ยิ้ม ฐานวโร)
6.กุฏิพระครูวิมลถาปนกิจ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2482
7.กุฏิสิทธิสารประดิษฐ์ สร้างในปี พ.ศ.2498
8.หอพระนารายณ์ ใช้เป็นอาคารบรรจุอัฐิของโนรากอ (นายกอ)
นอกจากนี้ยังมีอาคารศึกษาพระธรรมซึ่งปัจจุบันเป็นเรือนเอนกประสงค์ ส่วนกุฏิเจ้าอาวาสองค์แรกบริเวณแม่น้ำตากใบได้ชำรุดทรุดโทรมไปหมด ไม่ทิ้งร่องรอยอยู่กลางสายน้ำให้เห็นแล้ว
สิ่งที่ต้องกล่าวถึงก็คือ ศาลาโถงริมน้ำหลังคามณฑป เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2458 รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคมาถึงอำเภอตากใบและเสด็จขึ้นประทับ ณ ศาลาริมน้ำหลังนี้เพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันเรือ อีกทั้งยังมีศาลาริมน้ำขนาดลดหลั่นเรียงต่อเนื่องอีกหลายหลัง ซึ่งมีผู้คนเข้ามาในวัดเพื่อนั่งรับลมชมทิวทัศน์ที่ศาลาริมน้ำกันด้วย
ดูเผินๆ วัดนี้ก็ดูเงียบสงบดี แต่หารู้ไม่ว่าในอดีต วัดชลธาราสิงเหต้องผ่านประวัติศาสตร์ในยุคที่อังกฤษเข้ามาล่าอาณานิคม แล้วยึดดินแดนไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิสไป โดยมีการปักปันเขตแดนใหม่ และวัดนี้ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยไม่เสียดินแดนปลายด้ามขวานส่วนนี้ไป
บน – บรรยากาศเมื่อเดินจากประตูหน้าวัดเข้ามา ทุกอย่างร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ เราจะเห็นศาลานั่งพักตามรายทางด้วย
ซ้ายบน – อุโบสถของวัดชลธาราสิงเห สร้างขึ้นปี พ.ศ.2416 โครงสร้างก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเป็นชั้นซ้อนกันและมีชายคาปีกนกเรียงลดหลั่นลงมา 3 ชั้น มีเสานางเรียงทรงสี่เหลี่ยมรองรับเชิงชาย เครื่องบนประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หน้าบันเป็นปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประตูหน้าต่างก่อเป็นซุ้มมงกุฎ มีกำแพงแก้ว และใบเสมาล้อมรอบจำนวน 8 ซุ้ม
ขวาบน – ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยอยู่
ซ้ายล่าง - พระเจดีย์ทรงลังกาเป็นเจดีย์ประธานทรงระฆังในแบบศิลปกรรมท้องถิ่นภาคใต้ สร้างขึ้นราว พ.ศ.2456 - 2462 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2484 องค์เจดีย์ก่ออิฐถือปูนบนฐานสี่เหลี่ยมทรงสูงล้อมรอบด้วยลานประทักษิณ
ขวาล่าง - อาคารนี้คือกุฏิสิทธิสารประดิษฐ์ สร้างในปี พ.ศ.2498 เป็นอาคารไม้ยกพื้นสูง หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องดินเผา ยอดหลังคาและปลายมุขหลังคาเป็นรูปหัวนาคหรือหางหงส์ (จากภาพ ภายในอาคารตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมและใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดชลธาราสิงเหตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ เช่น ลำดับนามเจ้าอาวาสวัดชลธาราสิงเห ความเป็นมาของอำเภอตากใบ สถานที่สำคัญของอำเภอตากใบ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของชาวตากใบ การเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคของรัชกาลที่ 6 ประวัติของวัดชลธาราสิงเห ฯลฯ)
ได้เวลาเข้าพิพิธภัณฑ์
ขวากลางบน - บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์
- เรามาชมตัวอย่างภายในพิพิธภัณฑ์นี้กัน
ขวาบน - สิ่งของต่างๆในการดำรงชีวิตของผู้คนในอดีต เช่น สุ่ม ข้อง ชะนาง การตากปลา ฯลฯ
ซ้ายกลางบน – หุ่นขี้ผึ้งเล่าประกอบภาพเหตุการณ์การร่างสนธิสัญญาไทย-อังกฤษฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2451
ซ้ายกลางล่าง – ตู้โชว์จานพิมพ์ลายจากประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส
- หลายอาคารควรค่าแก่การศึกษา
ขวากลาง - อาคารนี้คือกุฏิเจ้าอาวาส มีลักษณะเป็นอาคารไม้สองชั้นยกพื้นสูง หลังคาเป็นทรงปั้นหยาซ้อน 2 ชั้น สร้างระหว่างปี พ.ศ.2437-2456 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2475 ต่อมาใช้เป็นสถานที่จำพรรษาของพระครูปัจจันตเขตคณารักษ์ (ยิ้ม ฐานวโร) ชั้นหนึ่งของอาคารมีมุขยื่นมาจากห้องโถงถึงหน้ากุฏิ โดยพื้นไม้ของมุขเสมอกับพื้นห้องโถงที่ยังไม่ยกระดับ ด้านข้างของมุขเป็นชานปูนลดชั้นขนาบทั้งซ้ายและขวา ทางเข้ามีสามส่วนคือ ทางเข้าส่วนกลางที่เชื่อมกับมุขด้านหน้าเป็นประตูบานเฟี้ยม ส่วนประตูซ้ายและขวาทำเป็นประตูซุ้มมีหลังคาซ้อนสามชั้นซึ่งเชื่อมกับชานปูน ภายในมีภาพจิตรกรรมบนเพดาน คาน หัวเสา ฝาผนัง ส่วนหน้าบันเป็นภาพจิตรกรรมรูปครุฑยุดนาคในลายพฤกษา
ซ้ายล่าง - บริเวณด้านหลังกุฏิเจ้าอาวาส ผนังอาคารทำจากไม้แบบฝาปะกนทาสีฟ้า เหลือง แดงสลับกับช่องหน้าต่างยอดมงกุฎ ขณะที่ใต้ถุนมีลักษณะโล่ง
ขวาล่าง - อาคารนี้คือกุฏิพระครูวิมลถาปนกิจ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2482 หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องดินเผา มีไม้ฉลุประดับหลังคา ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง
เก็บตกรายละเอียดให้ครบ
ซ้ายบน - หอพระนารายณ์ใช้เป็นอาคารบรรจุอัฐิของโนรากอ (นายกอ) เนื่องจากตอนมีชีวิตอยู่ โนรากอมักแสดงเป็นพระนารายณ์ จึงสร้างหอพระนารายณ์ไว้บรรจุอัฐิตนเอง
ขวาบน - หอระฆัง(หรือหอกลอง)เป็นหอระฆังหลังคามณฑป ฝาผนังหอระฆังชั้นบนเป็นฝาไม้ มีช่องหน้าต่างขนาดเล็ก ประดับลวดลายคล้ายฝาผนังกุฏิเจ้าอาวาส ภายในหอระฆังมีระฆัง 2 ใบ ใบหนึ่งสร้างปี พ.ศ.2460 ขณะที่อีกใบสร้างในปี พ.ศ.2533
ซ้ายกลาง - หอระฆังหลังคาจตุรมุข เดิมเป็นหอไตรกลางสระน้ำในวัด เมื่อชำรุดจึงย้ายมาสร้างบนบก แล้วดัดแปลงเป็นหอระฆังแทน โดยมีลักษณะเป็นอาคารไม้สูง 2 ชั้น ยอดมณฑปมุงกระเบื้องดินเผาประดับช่อฟ้าและหางหงส์
ขวากลางบน – อาคารนี้คือวิหารพระพุทธไสยาสน์
ขวากลางล่าง – ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ สร้างโดยพระครูสทิธิสารฉัตรเมื่อปี พ.ศ.2484 เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นประดับด้วยกระจกสีทอง องค์พระยาว 7.40 เมตร กว้าง 2 เมตรบนฐานนาค ส่วนฐานและฝาผนังประดับด้วยเครื่องถ้วยยุโรป จีน และญี่ปุ่น
ซ้ายล่าง – อาคารปฏิบัติธรรม
- สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของวัดชลธาราสิงเหก็คือ ศาลาริมน้ำ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคถึงอำเภอตากใบ แล้วเสด็จขึ้นประทับ ณ ศาลาริมน้ำหลังนี้เพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันเรือ
ขวาล่าง – ศาลาริมน้ำขนาดเล็กอีกหลายหลังเรียงติดกันไป ปัจจุบันมีผู้คนในละแวกมานั่งพักผ่อนในศาลาริมน้ำมากมาย เนื่องจากเงียบและบรรยากาศดี แรงลมริมแม่น้ำตากใบโกรกได้ชื่นฉ่ำมาก
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
320 | 5257 | 297649 |