พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณศูนย์วิจัยป่าชายเลนจังหวัดระนอง มีความสำคัญทางด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งหนึ่งของโลกเนื่องจากป่าชายเลนบริเวณนี้พบว่า มีจำนวนพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์มากกว่า 300 ชนิด มีสภาพอุดมสมบูรณ์และเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนมากมาย นอกจากนี้ พื้นที่แห่งนี้ยังมีการศึกษาวิจัยด้านระบบนิเวศป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศหลายโครงการ จนทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นที่รู้จักเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยระบบนิเวศป่าชายเลนและการอนุรักษ์ป่าชายเลน
ในปี พ.ศ.2540 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้ป่าชายเลนและพื้นที่โดยรอบบริเวณอำเภอเมืองระนองเป็น“พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง” (Ranong Biosphere Reserve) ภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑล ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์วิจัยและถ่ายทอดสดเทคโนโลยีทรัพยากรป่าชายเลนที่ 3 (ระนอง) หรือศูนย์วิจัยป่าชายเลน (เดิม) ครอบคลุมพื้นที่ 189,431 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ป่าชายเลน ป่าดิบชื้น พื้นที่ชายฝั่งทะเล หาดเลน พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีระบบนิเวศป่าชายเลนเป็นตัวแทนพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งนี้ พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนองนับเป็นที่พื้นที่ป่าชายเลนแห่งแรกของโลกที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ปัจจุบันทั่วโลกมีพื้นที่สงวนชีวมณฑลจำนวน 651 แห่งใน 120 ประเทศ (มิถุนายน 2558) วัตถุประสงค์การประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลประกอบไปด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและการสนับสนุนการศึกษาวิจัยและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
พื้นที่สงวนชีวมณฑลแบ่งออกเป็น 3 เชต ได้แก่ เขตแกนกลาง เขตกันชน และเขตรอบนอก ซึ่งในแต่ละเขตมีการจัดการที่แตกต่างกัน เขตแกนกลางเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย กิจกรรมต่างๆไม่สามารถดำเนินการได้ ยกเว้นกิจกรรมการศึกษาวิจัยและติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เขตกันชน ซึ่งล้อมรอบเขตแกนกลาง เป็นพื้นที่อนุญาตให้มีเพียงกิจกรรมที่ไม่ขัดแย้งกับการอนุรักษ์ในเขตแกนกลาง ได้แก่ การศึกษาวิจัยด้านสิ่งแวด้อม นันทนาการ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การวิจัยและการฝึกอบรม เป็นต้น เขตรอบนอก เป็นพื้นที่ที่สามารถดำเนินกิจการต่างๆได้ แต่ไม่ส่งผลกระทบกับเขตแกนกลาง เช่น กิจกรรมการเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์ การใช้ประโยชน์โดยชุมชนท้องถิ่น และการตั้งถิ่นฐานของชุมชน เป็นต้น
พื้นที่สงวนชีวมณฑลจึงเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนองนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนองได้ยึดแนวทางการจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลขององค์การยูเนสโก รวมทั้งมีการประสานกับชุมชนในท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ในการมีส่วนร่วมต่อการจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง ทั้งนี้เพื่อให้พื้นที่ป่าชายเลนแห่งนี้ได้รับการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนในการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดจนสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมต่างๆที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน
สถานที่ติดทะเลหลายที่ นอกจากหาดทรายสวยๆแล้ว ป่าชายเลนก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายด้วย เพราะเปรียบเสมือนห้องเรียนและแหล่งเรียนรู้ไปในตัว อย่างเช่นป่าโกงกางแห่งนี้ที่ทางยูเนสโกประกาศให้เป็น“พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง“ ที่สำคัญ อยู่ทะเล แดดร้อนเปรี้ยงปร้าง แต่อยู่ป่าโกงกาง อากาศเดียวกันแท้ๆ กลับร่มรื่นชื่นใจ
ซ้ายบน – ปากทางเข้าพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง Ranong Biosphere Reserve มีป้ายรอต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่ (จากภาพ ทางขวาเป็นพื้นหินที่นำนักท่องเที่ยวเข้าสู่ศูนย์วิจัยป่าชายเลนระนอง)
ขวาบน – เมื่อเข้ามาแล้ว จุดนี้คือบรรยากาศเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติของป่าชายเลน ต้นโกงกางและพันธุ์ไม้ต่างๆขึ้นรายล้อมอยู่รอบตัวเรา สำหรับเส้นทางเดินถือว่าไม่ยาวเท่าไหร่ เดินได้สบายๆ
ซ้ายกลาง – เรามาสัมผัสป่าโกงกางช่วงแรกสักเล็กน้อย ต้นไม้มีให้ศึกษามากมายดังนี้ โกงกางใบเล็ก แสมดำ ตะบูนขาว โกงกางใบใหญ่ ถั่วขาว ถั่วดำ โปรงแดง เหงือกปลาหมอดอกม่วง และพังกาหัวสุมดอกขาว
ขวากลาง – ทางเดินสายตรงช่วงแรกมีทางแยกขวามือไปสู่ทางเดินช่วงที่สองด้วย แต่ทีมงานของสำรวจช่วงแรกก่อน โดยการเดินตรงต่อไป
ซ้ายล่าง – เมื่อเดินมาสุดปลายทาง เบื้องหน้าคือสะพานข้ามคลองในป่าชายเลน ซึ่งสะพานนี้ปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวข้ามไปอีกฝั่งเนื่องจากเส้นทางเดินอีกด้านเป็นทางเดินไม้และชำรุด ส่วนทางแยกซ้ายมือ เราจะพบซุ้มอนุบาลต้นกล้าป่าชายเลนกลางแจ้ง
ขวาล่าง – และนี่คือ พันธุ์พืชที่ทางศูนย์กำลังเพาะกล้าในซุ้มอนุบาล ซึ่งพันธุ์ไม้เหล่านี้อยู่ในรายชื่อที่เราเพิ่งเดินผ่านมานั่นเอง
สำรวจกันต่อ
ซ้ายบน – ลำน้ำในป่าโกงกางที่มองจากบริเวณสะพาน
ขวาบน – จากนั้นเราเดินย้อนกลับไปเข้าเส้นทางช่วงที่สองกัน
ซ้ายล่าง – บรรยากาศของป่าโกงกางช่วงที่สองไม่แตกต่างจากช่วงแรก พันธุ์ไม้นานาชนิดยังคงรายล้อมรอบตัวเรา ทั้งนี้ระหว่างทางมีศาลานั่งพักพร้อมป้ายอธิบายเรื่องราวต่างๆนั่นคือ "ความหมายของป่าชายเลน" "ประโยชน์ของพันธุ์ไม้ต่างๆในป่าชายเลน" "ชีวิตของสัตว์ในป่าชายเลน" และ"ความพิเศษของต้นไม้ในป่าชายเลน" (สำหรับพันธุ์ไม้ที่เห็นเพิ่มเติมในช่วงที่สองคือ ต้นปรงหนู)
ขวากลาง – ลิงแสมเกลือกกลิ้งไปมาบนทางเดินศึกษาธรรมชาติ (บางตัวก็เกาะรากค้ำยันเล่น)
ขวาล่าง – สัตว์ชนิดหนึ่งที่โดดเด่นในป่าชายเลนระนองคือ"แม่หอบ" ซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดเป็นสิ่งมีชีวิตโบราณที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคไมโอซีนหรือประมาณ 16 ล้านปีมาแล้ว แม่หอบเป็นสัตว์ทะเลหายาก พบในป่าชายเลนบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันโดยเฉพาะจังหวัดระนอง มีลักษณะคล้ายกุ้งกับปู ลำตัวเรียวยาว มีสีแดงเข้มปนน้ำตาล ขนาด 20-30 เซนติเมตร หัวมีขนาดใหญ่ ส่วนท้องแบ่งเป็นปล้องชัดเจน มีขา 5 คู่ ขาคู่แรกมีลักษณะเป็นก้ามใหญ่ ทำหน้าที่หาอาหารและป้องกันตัว ส่วนอีก 4 คู่เป็นขาเดิน แม่หอบกินอินทรียวัตถุในดินเป็นอาหาร โดยออกหากินตอนกลางคืน แม่หอบสร้างรังหรือที่อยู่อาศัยคล้ายจอมปลวก โดยการขุดรูลึกประมาณ 1 เมตรด้วยขาคู่หน้า 2 คู่ แล้วขนดินเอามากองเป็นเนินสูงเพื่อป้องกันน้ำทะเลท่วมถึง มองดูคล้ายจอมปลวกในป่าชายเลนหรือเรียกว่า"จอมหอบ" ภายในจอมหอบมีรูเชื่อมต่อกันมากมาย แม่หอบถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์เนื่องจากช่วยสร้างสมดุลในการหมุนเวียนธาตุอาหารของระบบนิเวศป่าชายเลน (จากภาพ รูปปั้นแม่หอบบริเวณทางเข้า)
ล่าง – และจุดชมวิวของศูนย์วิจัยป่าชายเลนหงาวนี้ นักท่องเที่ยวจะเห็นเรือนยอดของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนต่างๆกระจายตัวไปไกลนับแสนไร่
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
462 | 5399 | 297791 |