เจดีย์หักตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองราชบุรีทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาและเชื่อกันว่าเป็นที่อยู่ของคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีหรือวิปัสสนาธุระ
หลักฐานทางโบราณคดีของเจดีย์องค์นี้มีลักษณะเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมทรงสูงขนาดย่อม ก่อด้วยอิฐและศิลาแลงฉาบปูน อิฐในฐานชั้นแรกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เนื้ออิฐมีแกลบข้าวปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก คล้ายกับอิฐที่พบทั่วไปตามโบราณสถานสมัยทวารวดี ฐานชั้นที่สองก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 2 ขั้น ส่วนของเรือนธาตุและส่วนยอดพังทลายลงมาเมื่อปี พ.ศ.2481 ทางด้านทิศตะวันตกของฐานเจดีย์มีซากฐานอาคาร สันนิษฐานว่าเป็นวิหาร ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูป พบเป็นชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดงประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัยและปางสมาธิ
ลักษณะของเจดีย์หักนี้คล้ายคลึงกับกลุ่มเจดีย์ที่เรียกกันว่า“แบบเมืองสรรค์” พบที่เจดีย์ในวัดพระแก้ว อำเภอสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท (กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-19) และกลุ่มเจดีย์“แบบสุพรรณบุรี”ในจังหวัดสุพรรณบุรี (ก่อสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 19) เช่น เจดีย์วัดพระรูป เจดีย์รายวัดไก่เตี้ย เจดีย์วัดพระแก้ว เป็นต้น ผลการศึกษาสรุปว่า เจดีย์หัก วัดเจติยารามนั้นเป็นเจดีย์ที่มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี แต่ได้ชำรุดและพังทลายลง ต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
เจดีย์หักวัดเจติยารามนี้น่าจะมีความสัมพันธ์ทางรูปแบบและวิวัฒนาการร่วมกับเจดีย์แปดเหลี่ยมของวัดพระแก้วในจังหวัดชัยนาทและวัดพระรูปกับวัดไก่เตี้ยในจังหวัดสุพรรณบุรี กำหนดอายุสมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16) ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา (ราวพุทธศตวรรษที่ 21-22)
โบราณสถานเจดีย์หักแห่งนี้ตั้งอยู่หมู่ 3 บ้านเจดีย์หัก ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
เจดีย์หักเป็นโบราณสถานที่อยู่ท่ามกลางชุมชนและติดถนนใหญ่ จากประวัติความเป็นมาหลายยุคสมัยในช่วงทวารวดีและกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเจดีย์ที่มีชื่อเสียงแห่งนี้อยู่บนพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 93 ตารางวา จนแม้แต่ชื่อถนนและชื่อตำบลก็มาจากชื่อสถานที่แห่งนี้ด้วย
บน – ใครที่วิ่งผ่านถนนเจดีย์หัก คงไม่มีใครไม่รู้จักเจดีย์หักที่อยู่คู่กับชาวราชบุรีเป็นแน่เพราะตำแหน่งที่โดดเด่นท่ามกลางบ้านเรือนและถนนเจดีย์หักที่อยู่ทางขวา วันนี้ทีมงานจะพามาชมสถานที่แห่งนี้กัน (จากภาพ รถหลายคันที่ขับผ่านต่างบีบแตรเพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่)
ไปดูรายละเอียดใกล้ๆกัน
ซ้ายบน – เจดีย์หักเมื่อมองจากด้านหน้าเข้าไป
ขวาบน – อีกด้านหนึ่งของเจดีย์หักที่มองจากใต้ต้นนนทรี เราจะเห็นประชาชนมากราบไหว้กัน ส่วนขวามือของเจดีย์หรือทางทิศตะวันตกจะมีฐานอาคารยื่นออกมาจากเจดีย์ด้วย สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นวิหารมาก่อน
ขวากลาง – บริเวณฐานวิหารมีซากตอไม้ขึ้นอยู่
ซ้ายกลาง – รูปทรงของเจดีย์อีกด้านหนึ่ง
ขวาล่าง – เราเข้ามาสัมผัสเจดีย์ใกล้ๆดีกว่า (จากภาพ เจดีย์หักได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จากกรมศิลปากรครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2532)
ซ้ายล่าง – และนี่คือภาพเจดีย์หักจากอีกฟากของถนนเจดีย์หัก
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
310 | 5247 | 297639 |