วัดอรัญญิกาวาส

คำอธิบาย


วัดอรัญญิกาวาสเป็นวัดเก่าแก่ในศตวรรษที่ 10-16 (หรือราวปี พ.ศ.1030) สร้างพร้อมเมืองราชบุรีในสมัยขอม พื้นที่วัดตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มห่างจากแม่น้ำแม่กลองมาทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร บริเวณโดยรอบมีสภาพเป็นทุ่งนา เดิมเรียก“วัดจำเริญธรรมวิหาร”

วัดนี้เคยถูกทิ้งร้างไประยะหนึ่ง กระทั่งเจ้าคุณมหาสมณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดมหาสมณารามที่เขาวังเมืองเพชรบุรีธุดงค์มาถึง จึงบูรณะและเป็นเจ้าอาวาส ดังปรากฏหลักฐานในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง เสด็จประพาสไทรโยค จ.ศ.1239 (พ.ศ.2420) ความว่า“.....วัดนี้เป็นวัดธรรมยุติกา ยังวัดอรยิกที่พระยาธรรมจรรยามาสร้างเปลี่ยนชื่อวัดจำเริญธรรมวิหาร.....” โบราณสถานสำคัญภายในวัดประกอบด้วย

1.ปรางค์ขอม-เขมร(ที่นับถือศาสนาพราหมณ์)เป็นปรางค์ประธานสมัยอยุธยาตอนกลาง
2.พระพุทธไสยาสน์(พระนอน)
3.อุโบสถ
4.เจดีย์รายทรงระฆัง
5.สระน้ำ

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดอรัญญิกาวาสเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2541



ศิลปะขององค์พระปรางค์และมุมประดับปรางค์วิจิตรตั้งแต่แรกเห็นจริงๆ เรียกว่าเป็นโบราณสถานที่ทีมงานตั้งใจมาเห็นด้วยตา แล้วก็ไม่ผิดหวัง บริเวณรอบองค์พระปรางค์ยังรายล้อมด้วยระเบียงคดที่มีพระพุทธรูปหินทรายมากมาย ทำให้เสน่ห์ของวันวานอบอวลไปทุกตารางนิ้ว
ซ้ายบน – ภาพของปรางค์ประธานโดดเด่นจากด้านนอกเลย เดี๋ยวเราเข้าไปชมด้านในกัน (จากภาพ นอกจากองค์พระปรางค์แล้ว เหนือตัวอักษร rn ขึ้นไป ยังเห็นมุมประดับขนาดเล็กอยู่เหนือหลังคาด้วย โดยมีระเบียบคดเป็นอาคารล้อมไว้)
ขวาบน – องค์พระปรางค์ถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญ สร้างในสมัยอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.2030-2035 อายุราว 530 ปี ผู้สร้างคือขุนหาญ บุญไทย องค์พระปรางค์มีขนาดสูงใหญ่ ก่ออิฐถือปูนแบบอยุธยา ส่วนยอดมีนพศูลโลหะ ตัวเรือนธาตุประดับซุ้มจระนำ หน้าบันตกแต่งด้วยลายปูนปั้น มีการบูรณะครั้งแรกในปี พ.ศ.2425 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2440 ซึ่งการบูรณะครั้งนั้น ได้พบพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปทองคำขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 8 นิ้วด้วย (จากภาพ รอบองค์พระปรางค์สลักลวดลายงดงามต่างๆ เช่น พระนารายณ์ทรงครุฑ เป็นประติมากรรมแบบศิลปะลพบุรี ศิลปะเขมร และศิลปะอู่ทอง ฯลฯ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยา)
ซ้ายกลาง – มุมประดับปรางค์ขนาดเล็กทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันเหลือเฉพาะทิศใต้เท่านั้น
ขวาล่าง – ภาพขององค์พระปรางค์และมุมประดับปรางค์ขนาดเล็กทางทิศใต้ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกัน
ซ้ายล่าง – ทางเดินรอบองค์พระปรางค์

 



ยังอยู่รอบองค์พระปรางค์อีกสักครู่
ซ้ายบน – บริเวณรอบองค์พระปรางค์รายล้อมด้วยระเบียงคดทั้งสี่ทิศ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายโบราณจำนวนทั้งสิ้น 41 องค์
ขวาบน – พระพุทธรูปหินทรายเหล่านี้เป็นหินทรายแดงและได้รับการบูรณะในปี พ.ศ.2471 เป็นศิลปะแบบลพบุรีและมีการโบกปูนทับอีกชั้น บางองค์เคยถูกโจรผู้ร้ายเข้ามาตัดเศียร แต่นำไปไม่ได้เพราะพระหินแดงส่วนมากถูกก่อปูนหุ้มไว้ ปัจจุบันทางวัดทำการกะเทาะปูนที่หุ้มออกและซ่อมแซมไปแล้วประมาณ 10 องค์
ซ้ายกลางบน – อุโบสถเก่าหลังนี้เป็นอาคารก่ออิฐหลังคาทึบตัน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ด้านนอกมีระเบียงประดับกระเบื้องปรุแบบจีน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3-5 อุโบสถหลังนี้ได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2438 ผู้ก่อสร้างอุโบสถคือ พระยาธรรมจรัญญานุกูลมนตรี (จำเริญ บุรณศิริ)
ขวากลาง – ภายในพระอุโบสถมีพระประธานปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก สูง 6 ศอก เป็นพระพุทธรูปปั้นปูนปิดทอง สันนิษฐานว่า ภายในองค์พระประธานมีพระพุทธรูปหินแดงสมัยลพบุรีประดิษฐานอยู่ ท่านเจ้าอาวาส(ในปี พ.ศ.2529)เล่าว่า ภายในอุโบสถเคยมีของมีค่า เช่น พระพุทธรูปทองคำ โต๊ะบูชาทำด้วยมุก (ที่พระยาธรรมจรัญญานุกูลถวายไว้) ฯลฯ แต่ปรากฏว่า พระพุทธรูปทองคำถูกโจรผู้ร้ายขโมยไป เหลือแต่โต๊ะบูชามุก ซึ่งปัจจุบันได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่กุฎิ
ซ้ายกลางล่าง – ด้านหลังองค์พระปรางค์เป็นที่ประดิษฐานพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญ สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยอยุธยาราวปี พ.ศ.2030-2035 องค์พระนอนเป็นพระพุทธรูปศิลาแลงขนาดใหญ่ ประทับบนฐานสี่เหลี่ยมในลักษณะนอนตะแคงขวา มีหมอนสามเหลี่ยมและพระหัตถ์ขวายกขึ้นรองรับพระเศียร ความยาวทั้งสิ้น 15 วา ต่อมามีการบูรณะซ่อมแซมโดยโบกปูนสร้างครอบองค์จริง แล้วตำปูนเพชรโบกทับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งองค์ที่สร้างใหม่มีความยาว 30 วา โดยพระพุทธปาพจนบดีในปี พ.ศ.2505 แต่ยังไม่แล้วเสร็จดี ต่อมาท่านเจ้าพระคุณพระมหาสมณวงศ์ (แท่น) ทำการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2535 โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการบูรณะและแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2547 ซึ่งก่อนการบูรณะครั้งนี้ ได้พบพระพุทธรูปทองคำขนาดเล็กกว่า 100 องค์ในองค์พระพุทธไสยาสน์ด้วย
ซ้ายล่าง – เจดีย์รายตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมแบบลังกา
ซึ่งเป็นศิลปะที่นิยมสร้างในสมัยสุโขทัยและอยุธยา เดิมปรากฏอยู่เพียง 2 องค์ แต่การขุดตรวจทางโบราณคดีในปี พ.ศ.2558 ทำให้พบหลักฐานเพิ่มเติมรวมเป็น 6 องค์
ขวาล่าง – สระน้ำ(ที่อยู่ด้านหลังพระพุทธไสยาสน์)เป็นสระสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว 20 เมตร กว้าง 25 เมตร ขอบสระก่อด้วยอิฐทั้งสี่ด้าน สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา

TODAY THIS MONTH TOTAL
323 5260 297652
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top