โนนเมืองเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสานตอนบนเพราะเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนเข้าสู่มนุษย์ยุคประวัติศาสตร์ หลักฐานสำคัญจากการขุดค้นในปี พ.ศ.2524 2526 และ 2534 ก็คือ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ค้นพบโครงกระดูกและเครื่องมือเครื่องใช้ที่อุทิศให้แก่ศพ เครื่องปั้นดินเผาแบบต่างๆ กำหนดอายุราว 2500 ปี ส่วนยุคประวัติศาสตร์ค้นพบหลักฐาน เช่น ใบเสมา เครื่องปั้นดินเผาเครื่องประดับและหลักฐานอื่นๆที่แสดงความสัมพันธ์กับพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นโบราณวัตถุสมัยทวารวดีและสมัยลพบุรี อายุประมาณ 800 ถึง 1200 ปีมาแล้ว
สำหรับอายุสมัยของชุมชนที่โนนเมือง กำหนดจากการศึกษาเปรียบเทียบกับโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งอื่นๆและการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์โดยวิธีเรดิโอคาร์บอน จึงสรุปได้ว่า มีวัฒนธรรม 3 สมัยดังนี้
1. ระยะแรกเป็นวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายมีอายุราว 2500 ปี
2. ระยะที่สองเป็นระยะที่ได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาแล้ว จัดเป็นวัฒนธรรมยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นหรือสมัยทวารวดี มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-16
3. ระยะที่สามเป็นวัฒนธรรมสมัยลพบุรี มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17-19
สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในเมืองไทย บางครั้งก็ได้ความงดงามจากธรรมชาติ บางครั้งก็ได้ความเอร็ดอร่อยจากอาหารท้องถิ่น แต่ครั้งนี้ เมืองโบราณโนนเมืองจะให้แง่มุมที่ต่างไป เราจะได้เรียนรู้ว่า มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์เขามีความเป็นอยู่เช่นไรและสร้างสรรค์ผลงานอะไรให้ชมบ้าง
บน – การวิเคราะห์และแปลความหลักฐานจากร่องรอยหลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์และหลักฐานโบราณคดีที่พบร่วมกัน สามารถระบุได้ว่า คนโนนเมืองมีกรรมวิธีปลงศพด้วยการฝังโบราณวัตถุและนิเวศน์วัตถุ(ที่พบร่วมกับศพ)เพื่ออุทิศสิ่งของเครื่องใช้ให้คนตาย จุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตายที่อาจมุ่งหมายให้วิญญาณคนตายพึงพอใจและไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนเป็น ในพิธีกรรมฝังศพ ผู้ประกอบพิธีในชุมชนจะเลือกพื้นที่ฝั่งศพที่อาจเป็นพื้นที่เฉพาะหรืออยู่ในบริเวณที่พักอาศัยของครอบครัว เมื่อขุดหลุมแล้ว จึงทุบภาชนะดินเผาให้แตกเป็นชิ้นๆปูรองก้นหลุม จากนั้นนำร่างผู้ตายที่ห่อมัดด้วยผ้าทอหรือเปลือกไม้วางลงในหลุม โดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกหรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือหรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ แล้ววางเศษภาชนะดินเผาลงบนร่างผู้ตายหรือนำภาชนะดินเผาวางไว้ตามจุดต่างๆของร่างผู้ตายร่วมกับของอุทิศอื่นๆ เช่น อาหาร เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กและสำริด เปลือกหอย เครื่องประดับจากหิน ฯลฯ โดยชนิดของวัสดุ ความหายากและปริมาณของที่อุทิศอาจสะท้อนถึงความแตกต่างทางสังคมของแต่ละบุคคลด้วย (จากภาพ บริเวณเมืองโบราณโนนเมืองแห่งนี้เคยเป็นป่าผลัดใบประเภทป่าเต็งรังและอยู่ในพื้นที่ราบของลุ่มแม่น้ำชีที่มีต้นน้ำอยู่ในพื้นที่สูงมาก่อน หลังจากผ่านไปสามพันปี ทุกอย่างก็คือป่าอย่างที่เห็น ตอนนี้มีเก้าอี้หินอ่อนให้นั่งเป็นระยะ ทางเดินปูนที่เชื่อมระหว่างอาคารจัดแสดงแต่ละหลัง และศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณโนนเมือง)
- ทีมงานขอเริ่มเดินชมอาคารจัดแสดงทั้งห้าหลังเลย แต่ละหลังจะน่าสนใจแค่ไหน เราไปติดตามตัวอย่างกัน
ซ้ายบน – อาคารหลังที่ 1
ขวาบน – บรรยากาศในอาคารหลังที่ 1
ซ้ายล่าง – อาคารนี้มีขนาดของหลุมขุดค้นใหญ่ที่สุด ซึ่งอยู่ใจกลางเนินดินที่สูงที่สุดของโนนเมือง โดยสูงจากพื้นที่นาโดยรอบประมาณ 5 เมตร มีความลาดเอียงของพื้นที่จากด้านตะวันตกมาทางตะวันออกเล็กน้อย เริ่มดำเนินการขุดค้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2534 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2535 ขนาดของหลุมขุดค้นทั้งหมดคือ 14 x 4 เมตรและขุดลึกลงไปประมาณ 3 เมตรจากพื้นผิวดิน โบราณวัตถุที่พบแบ่งตามประเภทของวัสดุคือดินเผา หิน โลหะ แก้ว กระดูกสัตว์ และโครงกระดูกมนุษย์ 9 โครง
ขวาล่าง – โครงกระดูกนี้เป็นเพศหญิง อายุราว 20-25 ปี สูงประมาณ 159 เซนติเมตร ฝังศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศเหนือ แขนข้างซ้ายวางไว้บนหน้าท้อง แขนขวาวางแนบลำตัว ขาเหยียดยาว น่าจะมีการมัดที่หัวเข่าและข้อเท้าด้วย สิ่งของที่อุทิศให้ผู้ตายประกอบด้วยลูกปัดหินอาร์เกต 6 เม็ด ซึ่งพบอยู่ในปาก ภาชนะที่ทุบให้แตกวางไว้บริเวณข้างๆลำตัวทั้งซ้ายและขวา ขวานเหล็กมีบ้อง 1 ชิ้น วางบริเวณกระดูกเชิงกรานด้านขวา เครื่องมือเหล็กคล้ายเคียว 1 ชิ้น วางบนต้นขาข้างซ้าย ภาชนะดินเผาคล้ายขัน 1 ใบ วางข้างหน้าแข้งซ้าย และลูกปัดเปลือกหอยอีก 1 เม็ด ส่วนสาเหตุการตายพบว่า กระดูกบริเวณกกหูด้านขวาแตกคล้ายถูกกระแทกหรือทุบด้วยของแข็งอย่างแรงจนกะโหลกศีรษะแตก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุการตายของโครงนี้
ขออยู่ในอาคารหลังที่ 1 อีกสักครู่
ซ้ายบน – โครงกระดูกนี้เป็นเพศชาย อายุราว 20-25 ปี สูงประมาณ 168 เซนติเมตร ฝังศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ วางมือไว้บริเวณหน้าท้อง แขนขวาใส่กำไลสำริดทรงกระบอกและพบเศษผ้าติดอยู่ที่กำไล แขนซ้ายใส่กำไลเปลือกหอย 2 วง และมีอีก 2 วงวางอยู่บริเวณลำตัว มีการมัดที่ข้อมือ หัวเข่า และข้อเท้า ก่อนฝังศพมีการเตรียมหลุมโดยทุบภาชนะดินเผาให้แตกและปูเป็นพื้นตั้งแต่ศีรษะถึงลำตัว จากนั้นนำภาชนะดินเผาโปรยลงบนร่างอีกครั้งก่อนเอาดินกลบ พบภาชนะดินเผาขนาดเล็กวางอยู่บริเวณปลายเท้า ซึ่งคงเป็นของที่อุทิศให้ผู้ตาย
ขวาบน – โครงกระดูกนี้เป็นผู้ใหญ่ ไม่สามารถระบุเพศ อายุ และส่วนสูงได้ เนื่องจากโครงกระดูกถูกรบกวนมาก จากแนวการวางตัวของกระดูกที่เหลือ คงจะหันศีรษะไปทางทิศเหนือ โดยมีภาชนะทุบแตกวางไว้รอบๆและพบชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็ก 1 ชิ้น
ซ้ายกลางบน – อาคารหลังที่ 2
ซ้ายกลางล่าง – บรรยากาศในอาคารหลังที่ 2
ขวากลาง – อาคารหลังที่ 2 อยู่ใจกลางเนินดินของโนนเมือง ห่างจากอาคารหลังที่ 1 ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 25 เมตร เริ่มขุดค้นเมื่อปี พ.ศ.2525 และพบโครงกระดูกทั้งหมด 8 โครง
ซ้ายล่าง – ในภาพนี้มีทั้งหมดสองโครงกระดูก
- โครงกระดูกทางซ้ายเป็นเพศชาย อายุราว 15-18 ปี ไม่สามารถระบุส่วนสูงได้ ฝังศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก แขนวางแนบลำตัว ใส่กำไลสำริดที่แขนทั้งสองข้าง บริเวณข้อเท้าทั้งสองข้างน่าจะมีการหักหรือดัดข้อเท้าเพราะส่วนที่เป็นส้นเท้าหันเข้าด้านในทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นการวางที่ผิดลักษณะทางกายวิภาค สิ่งของที่อุทิศให้ผู้ตายพบว่า มีการทุบภาชนะดินเผาให้แตก แล้ววางไว้ข้างลำตัวทั้งสองข้างตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า คล้ายเป็นขอบเขตการฝัง ที่ปลายเท้ามีการวางภาชนะดินเผาเคลือบน้ำโคลนสีแดงขัดมันค่อนข้างสมบูรณ์ 1 ใบ ภายในบรรจุก้อนดินเผาไฟและแกลบข้าวผสมอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นภาชนะดินเผาที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว
- โครงกระดูกทางขวาเป็นเพศชาย อายุราว 20-30 ปี สูงประมาณ 147 เซนติเมตร ฝังศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก แขนวางแนบลำตัว บริเวณข้อเท้าทั้งสองข้างน่าจะมีการหักหรือดัดข้อเท้าเช่นเดียวกับโครงกระดูกทางซ้าย สิ่งของที่อุทิศให้กับผู้ตาย พบว่ามีการทุบภาชนะดินเผาให้แตก แล้ววางไว้ข้างลำตัวเฉพาะด้านขวา ตั้งแต่ช่วงเอวจรดปลายเท้า บริเวณเหนือศีรษะพบภาชนะที่ผ่านการใช้งานแล้ว โครงกระดูกซ้ายและขวามีลักษณะที่สัมพันธ์กันหลายประการคือ ฝังในชั้นดินระดับเดียวกัน วางศพใกล้เคียงและมีทิศทางเดียวกัน รูปแบบการฝังและพิธีกรรมก็คล้ายกัน รวมทั้งลักษณะความผิดปกติของกระดูกเท้าด้วย ดังนั้นอาจกล่าวในเบื้องต้นได้ว่า ทั้งสองโครงนี้เสียชีวิตในเวลาไล่เสี่ยกันและมีพิธีกรรมฝังศพโดยคนที่มีความเชื่อเหมือนกัน
ขวาล่าง - โครงกระดูกนี้เป็นเด็ก อายุ 6-9 ปี ไม่สามารถระบุเพศและส่วนสูงได้เนื่องจากสภาพกระดูกถูกรบกวน โครงนี้ฝังศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก แขนวางแนบลำตัว ขาเหยียดยาวทั้งสองข้าง กะโหลกศีรษะบริเวณกกหูหรือทัดดอกไม้แตกคล้ายถูกกระแทกหรือตีด้วยของแข็ง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต สำหรับสิ่งของที่อุทิศให้ผู้ตาย พบว่ามีการทุบภาชนะดินเผาให้แตก แล้ววางไว้บริเวณด้านข้างโครงกระดูก โดยวางเป็นแนวยาวตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า
มุ่งหน้าสู่อาคารหลังต่อไป
ซ้ายบน – อาคารหลังที่ 3
ขวาบน – บรรยากาศในอาคารหลังที่ 3
ซ้ายกลางบน – อาคารนี้ตั้งอยู่ใกล้กับคันดินชั้นในด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีความลาดชันของพื้นที่จากทิศตะวันออกมาทิศตะวันตก เริ่มขุดค้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2534 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2535 หลุมขุดค้นนี้มีขนาด 7 x 4 เมตร ขุดลึกลงไปจากพื้นผิวดินประมาณ 3 เมตร ในหลุมขุดค้นนี้มีทั้งหมด 5 โครงกระดูก แต่สามารถศึกษารายละเอียดได้เพียง 3 โครง เนื่องจากอีก 2 โครงติดอยู่ตรงผนังหลุม
ขวากลาง – โครงกระดูกนี้เป็นเพศชาย อายุราว 45-50 ปี สูงประมาณ 169 เซนติเมตร ฝังศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แขนแนบลำตัว ขาเหยียดตรง มีรอยบิดบริเวณข้อเท้า กะโหลกศีรษะแตกคล้ายถูกทุบด้วยของแข็ง ทำให้กระดูกยุบเข้าไปข้างใน(ส่วนของกกหูขวา) กระดูกสันหลังผุกร่อนมาก ขณะที่กระดูกส่วนอื่นยังดีอยู่ ลักษณะเช่นนี้อาจเกิดจากกรดบางชนิด แขน 2 ข้างใส่กำไลเปลือกหอยข้างละ 4 วง เป็นกำไลต้นแขน ข้างกะโหลกศีรษะด้านขวามีตุ้มหูเปลือกหอยรูปวงกลม 1 วง สิ่งของที่อุทิศให้ผู้ตายคือ ภาชนะดินเผาทุบแตกที่วางรอบๆร่างตั้งแต่บริเวณสะโพกไปถึงปลายเท้า ส่วนใหญ่เป็นภาชนะเคลือบน้ำโคลนสีแดงขัดมัน
ซ้ายกลางล่าง – อาคารหลังที่ 4
ซ้ายล่าง – บรรยากาศในอาคารหลังที่ 4
ขวาล่าง – อาคารหลังที่ 4 ตั้งอยู่ค่อนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของเนินดินโนนเมือง หลุมขุดค้นมีขนาด 9 x 4 เมตร ขุดลึกลงไปจากพื้นผิวดินประมาณ 3 เมตร ดำเนินการขุดค้นในปี พ.ศ.2525 และปี พ.ศ.2526 โครงกระดูกในหลุมขุดค้นนี้มี 5 โครงด้วยกัน
เรามาทัศนศึกษาโครงกระดูกในอาคารหลังที่ 4 เลย
ซ้ายบน – โครงกระดูกนี้เป็นเพศชาย อายุราว 18-23 ปี สูงประมาณ 159-165 เซนติเมตร ฝังศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีลักษณะของการมัดและห่อศพ สวมกำไลเปลือกหอยที่แขนขวา บริเวณกระดูกหัวเหน่าด้านซ้ายมีร่องรอยถูกทุบด้วยของแข็งและการติดเชื้ออย่างรุนแรง โดยสังเกตจากรอยช้ำและการพลิกแปรของกระดูกแข้งซ้ายจนถึงปลายเท้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ร่ายกายไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวกระดูกส่วนดังกล่าวได้ สำหรับสิ่งของที่อุทิศให้ผู้ตาย พบว่ามีภาชนะดินเผา ทุบแตกปูรองใต้กระดูกขาส่วนล่างและวางเศษภาชนะดินเผาบริเวณด้านขวาของกระดูกขาส่วนล่าง รวมทั้งบริเวณข้างลำตัวทั้งสองด้านตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงลำตัว
ขวาบน - โครงกระดูกตามภาพนี้มีอยู่ทั้งหมดสองโครง
- โครงกระดูกทางซ้ายเป็นเพศชาย อายุราว 25-30 ปี สูงประมาณ 156-159 เซนติเมตร ฝังศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย ไม่พบร่องรอยการมัดห่อศพ มือขวาเหยียดยาวในลักษณะที่มือซ้ายถูกหักเพื่อดัดวางบนเชิงกราน พบร่องรอยโรคเหงือกร่นและการใช้ไม้เสียบเพื่อบรรเทาอาการปวดระหว่างฟันกรามขวาบนซี่ที่ 1-2 และฟันกรามน้อยบนซี่ที่ 1-2 สำหรับสิ่งของที่อุทิศให้ผู้ตายนั้น พบชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็กวางอยู่ข้างกระดูกต้นแขนซ้าย มีภาชนะดินเผาทุบแตกวางบนกระดูกหน้าแข้งทั้ง 2 ข้างและข้างกระดูกต้นขาซ้าย
- โครงกระดูกทางขวาเป็นเพศหญิง อายุราว 20-25 ปี สูงประมาณ 153 – 157 เซนติเมตร ฝังศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีร่องรอยการมัดห่อศพ ฟันกรามขวาบนซี่ที่ 2-3 ฟันขากรรไกรล่างซ้ายซี่ที่ 3 หลุดออกไปก่อนตาย สำหรับสิ่งของที่อุทิศให้ผู้ตายประกอบด้วยภาชนะดินเผาทรงชาม(บรรจุเบี้ยดินเผา 1 ชิ้น)วางอยู่ที่ปลายเท้า บริเวณกระดูกหน้าแข้งด้านซ้ายยังพบกลุ่มเศษภาชนะดินเผาวางอยู่หนาแน่น
ขวากลางบน – อาคารหลังที่ 5
ซ้ายกลาง – บรรยากาศในอาคารหลังที่ 5
ขวากลางล่าง – อาคารหลังนี้อยู่ค่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเนินดินโนนเมือง โดยอยู่ห่างจากอาคารหลังที่ 4 ไปทางตะวันตกประมาณ 18 เมตร มีขนาดของหลุมขุดค้นคือ 9 x 4 เมตร ขุดลึกลงไปจากพื้นผิวดินประมาณ 3 เมตร ดำเนินการขุดค้นเมื่อปี พ.ศ.2526 โดยพบโครงกระดูกทั้งหมด 6 โครง แต่สามารถศึกษาได้เพียง 5 โครง เนื่องจากอีกหนึ่งโครงมีสภาพกระดูกที่ถูกรบกวนมาก
ซ้ายล่าง – ภาพนี้มีโครงกระดูกทั้งหมดสองโครง
- โครงกระดูกทางขวาเป็นเพศหญิง อายุราว 35-40 ปี สูงประมาณ 143-147 เซนติเมตร ฝังศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีร่องรอยการมัดและห่อศพ บริเวณกะโหลกศีรษะส่วนหน้าผากมีร่องรอยถูกทุบด้วยของแข็ง สิ่งของที่อุทิศให้ผู้ตายคือ เศษภาชนะดินเผาปูรองศพและวางอยู่ที่ปลายเท้า
- โครงกระดูกทางซ้าย(บริเวณตัวอักษร www)เป็นเพศชาย อายุราว 25-30 ปี ไม่สามารถระบุส่วนสูงได้แน่ชัด เนื่องจากมีสภาพถูกรบกวนจากการฝังโครงกระดูกทางขวา โครงกระดูกนี้ฝังในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีการใช้ภาชนะดินเผาทุบแตกปูรองศพเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย นอกจากนี้บริเวณใกล้กันยังพบรอยหลุมเสาเรือนด้วย
ขวาล่าง – และตัวอย่างโครงกระดูกสุดท้ายที่นำมาเล่าให้ฟังเป็นเด็ก อายุประมาณ 0-5 ปี ไม่สามารถระบุเพศและส่วนสูงได้แน่ชัด ฝังศพในลักษณะนอนหงายพับเข่าไปด้านข้าง ศีรษะหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ สิ่งของที่อุทิศให้ผู้ตายคือ บริเวณคอพบห่วงสำริด 2 วง กระพรวนสำริด 1 ลูกวางอยู่ระหว่างกระดูกขาส่วนล่างและมีเศษภาชนะดินเผาวางอยู่ที่ปลายเท้า
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
324 | 5261 | 297653 |