ตลาดย้อนยุคนครชุม

คำอธิบาย


(สามารถคลิกอ่านคำอธิบายของกินของใช้ได้ที่"คำอธิบาย")

ตลาดย้อนยุคนครชุมจัดขึ้นทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ในสัปดาห์แรกของเดือนเป็นเวลาสามวันตั้งแต่สี่โมงเย็นเป็นต้นไป บรรยากาศภายในจำลองเหตุการณ์ย้อนยุคทั้งของกินของใช้ ร้านค้า และการแต่งกายชุดไทยของพ่อค้าแม่ค้า

สำหรับเส้นทางมาตลาดย้อนยุคนครชุมนั้น จากถนน 1078 ที่มาจากวัดพระบรมธาตุและสถานีขนส่งผู้โดยสารกำแพงเพชร ให้ตรงมาอย่างเดียว หรือจากถนนคีรีรัฐที่มาจากถนนพหลโยธิน เมื่อตรงเข้ามา ถนนสายนี้จะมาบรรจบกับถนนสาย 1078 เป็นสามแยก จากนั้นให้ตรงต่อไปตามถนนสาย 1078 อีกราวร้อยเมตร ก็จะเจอสามแยก ถ้าเรายังตรงขึ้นไปอีก (ไม่เลี้ยวขวาที่สามแยก) ก็มุ่งเข้าสู่ตลาดย้อนยุคนครชุมทันที

สำหรับการบอกเล่าเส้นทางจะแบ่งเป็นสองโซนคือ นับจากสามแยกตรงขึ้นไปก็คือจุดเริ่มต้นของตลาดย้อนยุคโซนแรก โดยสองข้างทางเป็นบ้านไม้ไปจนถึงสามแยกเวทีการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งโซนนี้มีเนื้อที่กว้าง ส่วนโซนที่สองเริ่มจากสามแยกเวทีการแสดง แล้วเลี้ยวเข้าซอยซ้ายมือ จากนั้นตรงไปจนสุดเขตป้ายตลาดย้อนยุค (แต่ถ้าตรงต่อไปอีก ก็จะพบกับถนนพหลโยธิน) ซอยนี้ก็มีบ้านไม้ปะปนกับบ้านตึก

สำหรับแผงลอยสินค้ามีทั้งโต๊ะเหล็ก โต๊ะไม้ ขาโต๊ะแผงลอย รถเข็น และโต๊ะพับ ขณะเดียวกัน บางบ้านก็เปิดหน้าร้านจำหน่ายสินค้าด้วย

ทั้งนี้ตลอดเส้นทางกลางถนนของโซนแรกมีโต๊ะและเก้าอี้จัดให้นักท่องเที่ยวได้นำอาหาร ขนม และเครื่องดื่มมานั่งกินได้ด้วย สินค้าเกือบทั้งหมดของโซนแรกเป็นของกิน ซึ่งมีดังนี้ ขนมไทย ของหวาน ของทอด ขนมภาคกลาง น้ำผลไม้ปั่นและคั้น ผลไม้อบแห้ง ของกินเล่น เครื่องดื่ม อาหารตามสั่ง อาหารอีสาน ขนมจีน กับข้าว น้ำพริก อาหารญี่ปุ่น ขนมภาคเหนือ อาหารทั่วไป และของปิ้งย่าง ส่วนของใช้ก็มีกระเป๋า หนังสือ ของเล่นเด็ก และเครื่องแต่งกายชายหญิง

ขณะที่โซนที่สองมีสลัด ของทอด อาหารทั่วไป อาหารเหนือ ของปิ้งย่าง อาหารหมักดอง ขนมปัง ของกินเล่นชาวจีน ไอศกรีม ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้หั่นชิ้น แมลงทอด ของกินเล่น กับข้าว ขนมไทย และอาหารท้องถิ่น ส่วนหมวดของใช้ก็มีหมวก ของเล่นเด็ก เสื้อผ้าพื้นเมือง มุมเด็ก และงานบริการ ทั้งนี้เฉพาะต้นทางของโซนสองมีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งกินอาหารเช่นกัน

สำหรับเวทีแสดงบริเวณสามแยกมีการร้องเพลงลูกทุ่งและลูกกรุงยุคเก่า รวมทั้งลานหน้าเวทีก็มีรำวงและเต้นลีลาสจากชุมชนนครชุมด้วย



ทุกๆสุดสัปดาห์แรกของต้นเดือน ถ้านักท่องเที่ยวคนไหนอยากพบเจอบรรยากาศย้อนยุคที่มีของกินยุคเก่ายุคใหม่ผสมผสานกัน พ่อค้าแม่ค้าแต่งตัวด้วยชุดไทย บ้านเรือนทั้งสองข้างยังเป็นไม้ และการร้องเล่นเต้นระบำของชุมชนนครชุม ก็ลองย้อนอดีตไปค้นพบความสุขเหล่านี้ด้วยกัน
บน – โซนแรกของตลาดย้อนยุคใหญ่สุดและคึกคัก ผู้คนในละแวกและนักท่องเที่ยวต่างเดินชมและซื้อของกินอย่างสนุกสนาน (จากภาพ เราจะเห็นบ้านไม้ตลอดทาง ขณะที่แผงลอยตั้งอยู่ริมถนนตามหน้าบ้านทั้งซ้ายและขวา โดยของบริโภคเฉิดฉายกว่าผู้ใด ส่วนใครอยากหามุมนั่งกิน โต๊ะผ้าปูสีเขียวเรียงอยู่กลางถนนตั้งแต่ต้นทางเข้ามาจนถึงลานหน้าเวทีแล้ว ฉะนั้นไม่ต้องห่วงไปใย)
ซ้ายบน – เรามาเริ่มต้นบ้านหลังนี้ที่เปิดหน้าร้านจำหน่ายผัดไทย ผัดซีอิ๊ว และราดหน้า
ขวาบน – พี่คนขายกำลังทำหอยทอดอย่างขะมักเขม้น
ซ้ายกลาง – ป้าร้านนี้นั่งทำสุกี้ทะเลและสุกี้หมูอยู่ ชอบแบบไหนก็เลือกแบบนั้น
ขวากลาง – แม่ค้าชุดไทยพับเพียบอยู่บนโต๊ะกับข้าวในหม้อดิน ป้ายต่างๆบอกยี่ห้อไว้หมดแล้วดังนี้ แกงขี้เหล็ก แกงหยวก แกงบอน แกงคั่วหอยขม รวมทั้งปลาร้าคั่วทรงเครื่องในกระปุก
ซ้ายล่าง – ใครชอบขนมจีนน้ำยา เจ้านี้มีน้ำยากะทิและแกงเขียวหวานเป็นตัวเลือก
ขวาล่าง – มุมนี้คือ กระเพาะปลาและก๋วยเตี๋ยวหลอด




กินชิลๆกับอากาศสบายๆยามเย็น
ซ้ายบน – เรามาถึงแผงตำสารพัดสาระเพบ้าง เมนูทั้งหมดมีตำไทยใส่ปู ตำปูปลาร้า ตำแตง ตำซั่ว ตำหอยดอง ตำข้าวโพดไข่เค็ม ตำไข่เค็ม ตำถั่ว ตำป่า ตำตีนไก่ ตำกุ้งสด ตำหอยแครง ตำหมึก ตำถาด ตำถาดทะเล และเกาเหลาทะเล
ขวาบน – รถเข็นคันนี้จำหน่ายสเต็ก ใจความหลักของร้านมีเนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา และเนื้อวัว โดยมีเฟรนช์ฟรายส์เป็นเครื่องเคียง
ซ้ายกลางบน – ป้าคนขายทอดของสามสิ่ง มีทอดมันหัวปลี ทอดมันข้าวโพด และปลาเห็ด(จากเนื้อปลากราย)
ซ้ายกลางล่าง – บัวลอยได้รับความสนใจไม่น้อยทีเดียว แป้งก้อนกลมสีต่างๆมีทั้งฟักทอง ใบเตย เผือก มันม่วง และข้าวเหนียวดำ ส่วนใครอยากใส่ไข่หรือไม่ใส่ ก็บอกไป
ขวากลาง – ที่เห็นสีดำๆบรรจุในกล่องคือ ขนมแดกงา
ซ้ายล่าง – ตำรับความหวานแบบไทยมีอยู่หลายร้านด้วยกัน สำหรับลุงร้านนี้มีอีกสี่อย่างมาร่วมแชร์พื้นที่ นั่นคือ เปียกปูน(สีดำกาบมะพร้าวเผา) ตะโก้เผือก ขนมดอกดิน และขนมแป้งอ่อน
ขวาล่าง – ด้วยความเป็นไทยของตลาดย้อนยุคแห่งนี้ ขนมไทยจึงตบเท้าเข้ามาเป็นว่าเล่น และขนมชุดใหญ่ของป้าแผงนี้ยังมีเม็ดขนุน สังขยา ข้าวเหนียวแก้ว ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ข้าวเหนียวตัด ขนมชั้น วุ้นกะทิ วุ้นใบเตย หม้อแกงถั่ว หม้อแกงไข่ และสาลี่มะพร้าว




พูดถึงของกินมาได้ครู่ใหญ่แล้ว อย่าลืมจับจองที่นั่งด้วย เดี๋ยวงานเข้า
ซ้ายบน – น้าชุดไทยทำขนมโป๊งเหน่งในหม้อเล็กๆใบนี้ ค่อยๆทำอย่างละเมียดละไมทีละสองอัน แต่ละแท่งต้องวนชุบแป้ง แล้วลงหม้อใหม่ทั้งหมดสามครั้ง ก่อนออกสู่ท้องตลาด ส่วนลูกค้าก็ยืนรอแบบใจร่มๆ
ขวาบน – คนขายน้ำผลไม้ร้านนี้มีแตงโมปั่น ส้มปั่น สตรอว์เบอร์รีปั่น และน้ำอัญชันผสมมะนาว (จากภาพ แตงโมปั่นอยากใส่แก้วหรือใส่ในผลแตงโมที่คว้านแล้วก็ได้)
- จากของกิน เราไปชมของใช้สักเล็กน้อย
ขวากลางบน – สำหรับโซนหนึ่งอำลาด้วยป้าและยายที่จำหน่ายตะกร้าสาน ไม้พาย ไม้เกาหลัง และกระบวย
ซ้ายกลาง – โซนที่สองเป็นซอยเล็กที่มีบ้านขนาบทั้งสองด้านเช่นกัน แผงลอยยังเรียงเป็นระยะทั้งสองฟาก เราจะเห็นนักท่องเที่ยวและชาวกำแพงเพชรเดินไปมาไม่ขาดสาย
ขวากลางล่าง – คนขายร้านนี้มีขนมจีนน้ำเงี้ยวและข้าวซอยมาให้ชิมเป็นตัวเลือก
ซ้ายล่าง – ส่วนป้าแผงนี้มีไส้อั่ว หมูฝอย หมูทอดกระเทียม ลาบหมู ไก่ทอด แหนม สลัดผลไม้ และข้าวเหนียวร้อนๆมาบรรเทาความหิว
ขวาล่าง – สามีภรรยาเจ้านี้มีปลาร้าผัดในจานใกล้ภาพ จานถัดไปเป็นน้ำพริกผัด ส่วนมุมไกลสุดในถุงคือ ปลาร้าทอด(ซึ่งก็คือเนื้อปลาสวายเป็นชิ้น)



เข้าสู่ช่วงท้ายอีกแล้ว
ซ้ายบน – พี่เจ้าของแผงกำลังทำขนมเบื้องญวนอยู่
ขวาบน – บนโต๊ะของลุงมีของกินเพียบเลย เริ่มจากในหม้อนึ่งซาลาเปา(ไส้หมูสับกับไส้ถั่ว)และขนมจีบ ตามด้วยขนมปังด้านนอกได้แก่ ขนมปังลูกเกด ขนมปังไส้หมูหยอง ขนมปังไส้กรอก ขนมมาม่อน ขนมโมจิ ขนมปังสังขยา บราวนี่ ขนมปังหน้าคัสตาร์ด คุกกี้ ชิฟฟอนรสใบเตย ชิฟฟอนรสช็อกโกแลต ขนมปังกรอบเนยน้ำตาล และขนมไข่
ซ้ายกลางบน – ถังนี้มีไอศกรีมกะทิเนื้อนิ่มแบบโบราณผสมเนื้อมะพร้าวมาเสริฟ
- สำหรับตัวอย่างของใช้โซนสองราบรื่นด้วยดี ไปชมหมวดอื่นๆในซอยกัน
ขวากลางบน – เจ้านี้เอาใจเด็กๆกันสุดฤทธิ์ทั้งของกินบนโต๊ะและของเล่นตอกแผงมากมายก่ายกอง เริ่มจากลูกอมช็อกโกแลตสารพัดรูปแบบ หมากฝรั่งบุหรี่ ลูกอมโกโก้ ชุดน้ำชา ชุดกระติกน้ำ เครื่องครัว สร้อยเพชร โมเดลการ์ตูน ถ้วย หุ่นยนต์ ลูกข่าง ไพ่ หน้ากากฮีโร่ต่างๆ ปืน ดาบกายสิทธิ์ ชุดตกปลา เครื่องมือแพทย์ โต๊ะสนุกเกอร์ กุญแจมือ หนังยาง บันไดงู สติกเกอร์วลียอดฮิต ตารางหมากฮอส เสื้อผ้ากระดาษ เครื่องบิน ไปจนถึงสัตว์ปลอม(คือจิ้งจก ตะขาบ หนู งู แมลงสาบ และตุ๊กแก)
ซ้ายกลางล่าง – พี่สาวแผงนี้มีสินค้าดังนี้ เสื้อพื้นเมือง ผ้าถุงสำเร็จรูป หมวกตอกไผ่และหมวกสานใบลาน รวมทั้งครองแครงกรอบ
ขวากลางล่าง – บริเวณท้ายซอยจะมีเจ้าหน้าที่จาก กศน.นครชุม เดินทางมาแจกหนังสือในองค์ความรู้ต่างๆหลายเล่มฟรี รวมทั้งโซนวาดภาพสำหรับเด็กๆก็เข้ามาแจม
- จบจากของอุปโภค ก็ถืงเวลาของรายละเอียดปลีกย่อย 
ซ้ายล่าง – มุมเช็กอินสำหรับถ่ายรูปในตลาดย้อนยุคนครชุมก็มีด้วย อาคารด้านหลังป้ายเคยเป็นโรงหนังเฉลิมนครมาก่อน ดังนั้นป้ายนี้จึงเป็นตัวแทนในอดีตอีกหนึ่งอย่างของชาวนครชุมที่นักท่องเที่ยวสามารถเก็บภาพเป็นที่ระลึกได้
ขวาล่าง – ตบท้ายด้วยการเต้นลีลาศของชาวนครชุม ณ ลานหน้าเวทีพร้อมเพลงลูกกรุงสนุกๆในอดีตที่ร้องสดบนเวที นักท่องเที่ยวตอนนี้นั่งไป กินไป ชมไป ขณะที่หลายคนมายืนล้อมวงเพื่อชมในระยะริงไซด์และเก็บความประทับใจกลับไป


TODAY THIS MONTH TOTAL
381 5318 297710
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top