วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน หมู่ที่ 3 บ้านพระฝาง ตำบลผาจุก เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามทะเบียนวัดระบุไว้ว่า ประมาณปี พ.ศ.1700 (หรือก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) และเคยเป็นที่ตั้งของเมืองสวางคบุรีมุนีนาถด้วย วัดพระฝางนับเป็นกลุ่มโบราณสถานของเมืองสวางคบุรีเพียงแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่
วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในสมัยสุโขทัยและเป็นวัดพระมหาธาตุประจำเมืองสวางคบุรี ซึ่งเคยเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ในอดีตได้เริ่มมีการจัดส่งศาสนทูตมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในเมืองไทยและได้สร้างพระมหาสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ โดยมีการชักชวนประชาชนให้มานมัสการพระบรมธาตุ ซึ่งต่อมาก็ทวีจำนวนคนเพิ่มขึ้นจากความเลื่อมใสและศรัทธา ภายหลังจึงกลายเป็นแหล่งชุมชนประกอบอาชีพอย่างหนาแน่น ในที่สุดก็จัดตั้งเป็นเมืองขึ้น โดยมีชื่อว่า“สว่างบุรี”หรือ“เมืองสว่าง”ซึ่งหมายความว่า“เมืองที่ได้รับแสงสว่างจากพระพุทธศาสนา” ต่อมาได้กลายเป็น“เมืองสวางคบุรี” โดย”ไม้เอก”หายไป และมีตัว“ค”ขึ้นมาแทน ครั้นมาถึงสมัยอาณาจักรโคตรบูรได้จัดตั้งเป็นเมืองด่านสำหรับขวางข้าศึก จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเมืองขวาง แต่คนไทยโบราณพูดควบกล้ำตัว“ข”ไม่ชัด มักออกเสียงเป็นตัว“ฝ” จึงกลายเป็นเมืองฝางในที่สุด
ปัจจุบันวัดพระฝางมีเนื้อที่ 20 ไร่เศษ และเคยเป็นวัดที่จำพรรษาของ“เจ้าพระฝาง”แห่งเมืองสวางคบุรี ผู้นำชุมนุมเจ้าพระฝางในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2
ภายในวัดพระฝางปรากฏหลักฐานโบราณสถานคือ วิหารหลวงกับองค์เจดีย์ประธานที่อยู่ทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตกมีกำแพงด้านหน้า ซึ่งเป็นกำแพงแก้วล้อมรอบวิหารและเจดีย์ไว้ ส่วนด้านหลังเจดีย์เป็นกุฏิพระสังกัจจายณ์ซึ่งปฏิสังขรณ์ใหม่ แต่ยังรักษาเค้าโครงเดิมอยู่ ส่วนโบสถ์อยู่เยื้องไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากวิหารหลวงประมาณ 50 เมตร ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระฝางทรงเครื่อง เป็นศิลปะแบบกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีการจัดสร้างพระฝางองค์ใหม่ขึ้นมาและประดิษฐานในอุโบสถวัดพระฝางแทนองค์เดิม บริเวณหน้าวิหารหลวงยังเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณของวัดพระฝางด้วย ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมวัตถุโบราณที่ขุดพบในชุมชนบ้านพระฝาง รวมทั้งบริเวณวัดและบริเวณหาดแม่น้ำน่าน
วัดพระฝางตั้งอยู่ในทำเลทองเพราะมีแม่น้ำน่านไหลผ่านเป็นวิวทิวทัศน์ บรรยากาศก็ดูร่มรื่นท่ามกลางป่าไม้และขุนเขา ที่สำคัญ สิ่งก่อสร้างหลายอย่าง แม้จะผ่านมาเนิ่นนานนับร้อยปี แต่กลับคงสภาพสมบูรณ์จนน่าทึ่งและไม่น่าเชื่อว่า โบราณสถานเหล่านี้มีอายุอานามขนาดนั้นแล้ว นอกจากนี้ในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณให้ชมด้วย
ซ้ายบน – บรรยากาศภายในวัดที่เราจะเห็นกุฏิพระสังกัจจายณ์อยู่ด้านหน้าสุด ถัดไปเป็นองค์พระเจดีย์ ส่วนมุมไกลคือวิหารหลวง
- ตอนนี้ก็ถึงเวลาเก็บรายละเอียดสำคัญๆกัน ขอเริ่มต้นจุดเด่นของวัดก่อน นั่นคือเจดีย์ประธาน
ขวาบน – เจดีย์พระธาตุพระฝางเป็นรูปทรงเจดีย์แปดเหลี่ยมองค์ระฆังกลม ตั้งอยู่บนฐานเรียงซ้อนกันสามชั้น ชั้นถัดไปเป็นพระเจดีย์กลม บริเวณคอระฆังใต้บัลลังฆ์กลีบบัวยอดอ้วนปักฉัตรไม่สูงนัก เจดีย์พระธาตุวัดพระฝางเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยและมีการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เดิมสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย คาดว่าเปลี่ยนมาเป็นทรงลังกาในสมัยพระเจ้าบรมโกศ (จากภาพ ภาพนี้เราจะเห็นเจดีย์พระธาตุทั้งองค์ ซึ่งยังอยู่ในสภาพครบถ้วนและงดงาม)
ซ้ายกลาง – องค์พระเจดีย์ในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งมีต้นตาลขึ้นเคียงคู่อยู่นอกกำแพงแก้ว
ขวาล่าง – นอกจากองค์พระเจดีย์ที่สวยงามแล้ว เจดีย์ขนาดเล็กที่รายล้อมอยู่รอบองค์พระธาตุก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
- รายละเอียดปลีกย่อยของวัดยังมีอีก
ซ้ายล่าง – วิหารหลวงพ่อเชียงแสน
เดินชมสิ่งสำคัญของวัดกันต่อ
ซ้ายบน – ภาพของพระพุทธรูปเมืองฝางหรือหลวงพ่อเชียงแสนในวิหารหลวงพ่อเชียงแสน ซึ่งเป็นศิลปะเชียงแสน ชาวเมืองฝางต่างศรัทธาหลวงพ่อเชียงแสนองค์นี้เป็นอย่างมาก (จากภาพ หลังจากค้นพบหลวงพ่อเชียงแสนองค์นี้ ก็มีโจรบุกเข้ามาขโมยหลายครั้ง ล่าสุดขโมยยอดเกตุมาลาไป จึงต้องทำรั้วเหล็กกั้นขึ้นมา)
ซ้ายกลางบน – วิหารหลวงเป็นอาคารขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย
ขวาบน – ประตูหน้าของวิหารหลวงที่หลายคนกล่าวว่าสวยงาม (จากภาพ บานประตูวิหารเป็นลายสลักไม้ลายพุ่มเทพพนม)
ซ้ายกลางล่าง - เมื่อเดินเข้ามาแล้ว ภายในเป็นห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ช่วงกลางมีมุขหน้าหลัง โดยใช้หลังคาผืนใหญ่คลุมช่วงหลังคามุขหน้าหลังลงมา แล้วลอดผ้าใช้เชิงชายใหญ่ เสากลางเป็นเสาแปดเหลี่ยมหัวบัวและทอดยาวไปประมาณ 7 เมตร กลุ่มเสาด้านในทำด้วยศิลาแลง ตัดเป็นเขียงสำเร็จรูปซ้อนกัน ส่วนเสารอบนอกก่อด้วยอิฐแผ่นแปดเหลี่ยมตัดครึ่ง เป็นงานศิลปกรรมสมัยอยุธยาและได้รับการปฏิสังขรณ์เมื่อคราวที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จมาบูชาพระมหาธาตุและปฏิสังขรณ์อีกครั้งในรัชกาลที่ 4
ซ้ายล่าง - อุโบสถ (จากภาพ อุโบสถเป็นอาคารหลังเดียวในแบบสมัยอยุธยาตอนปลายที่สมบูรณ์ที่สุด ลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าและหันหน้าไปทางทิศตะวันตก)
ขวาล่าง - เมื่อเข้ามาในอุโบสถ จะคล้ายกับพระพุทธรูปลอยเด่นอยู่ในอากาศ เนื่องจากผู้ออกแบบในสมัยอยุธยาตั้งพระพุทธรูปไว้ในช่องคูหาของมุขซึ่งเป็นส่วนที่มืดสลัวที่สุดและไม่มีหน้าต่าง พระประธานจึงแลดูเปล่งประกายสีทองในบรรยากาศของความลึกลับและศักดิ์สิทธิ์ การออกแบบเพดานแบ่งเป็น 4 ช่วงด้วยกัน ช่วงที่ 1 ดาวดวงกลางเป็นดอกบัวขนาดเล็กและมีดอกจอกรายล้อม ช่วงที่ 2 ดวงดาวมีขนาดใหญ่ขึ้นเกือบคับกรอบและมีขนาดเป็นสองเท่าของดาวดวงแรก ช่วงที่ 3 ดาวเพดานมีขนาดใหญ่ขึ้นจนล้นกรอบออกมากรอบนอกและมีขนาดเป็นสองเท่าของดาวดวงที่สอง และช่วงที่ 4 เน้นความเข้มของดาวดวงกลางที่ใหญ่กว่าดาวทั้งสามช่วงก่อนหน้าและเพิ่มความแน่นของลายประกอบมากขึ้น ความงามทั้งหมดเป็นตัวอย่างเดียวในประวัติศาสตร์และเป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่เคยปรากฏในงานสมัยอยุธยาใดๆของจังหวัดอุตรดิตถ์
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
406 | 5343 | 297735 |