วัดกำแพงแลง

คำอธิบาย


วัดกำแพงแลงหรือวัดเทพปราสาทศิลาแลง ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าราบ อยู่ห่างจากแม่น้ำเพชรบุรีมาทางตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร ชื่อดั้งเดิมไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด สำหรับชื่อที่เรียกกันว่า“กำแพงแลง”นั้นคงเป็นชื่อที่ผู้คนในสมัยหลังเรียกตามลักษณะที่พบเห็น เนื่องจากภายในวัดมีปราสาทเขมรก่อด้วยศิลาแลงและมีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ จากลักษณะดังกล่าวจึงเป็นที่มาของชื่อวัดนี้ว่า"กำแพงแลง"ซึ่งหมายถึงกำแพงวัดที่ก่อด้วยศิลาแลงนั่นเอง

วัดกำแพงแลงเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมเขมรโบราณ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ปรากฏหลักฐานตามศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา กล่าวถึงรายชื่อหัวเมืองต่างๆ จำนวน 23 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดเกล้าให้ส่งพระชัยพุทธมหานาถไปประดิษฐานยังเมืองเหล่านั้น นักวิชาการได้สันนิษฐานว่า ชื่อ"เมืองศรีชัยรบุรี"ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกน่าจะหมายถึง"เมืองเพชรบุรี"

สำหรับปราสาทเขมรในวัดศิลาแลงนั้นมีทั้งหมดห้าปราสาทด้วยกันคือ ปราสาทประธาน ปราสาทด้านทิศเหนือ ปราสาทด้านทิศใต้ ปราสาทด้านทิศตะวันตก และอาคารทรงปราสาท กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดกำแพงแลงในราชกิจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 หน้า 3692 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2547 ครอบคลุมเนื้อที่โบราณสถานทั้งสิ้น 7 ไร่ 1 งาน 62 ตารางวา



วัดกำแพงแลงมีปราสาทศิลปะขอมแบบบายนที่เก่าแก่ แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ศิลปะขอมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่มาไกลถึงทางใต้ได้มากที่สุดก็คือ ปราสาทเหล่านี้นั่นเอง เพราะปกติ เราจะเห็นเฉพาะภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทีมงานเลยขอพาทุกคนมายังภูมิภาคที่ต่างออกไปบ้าง
บน – ตำแหน่งของปราสาทศิลปะขอมในวัดกำแพงแลง (จากภาพ อักษร ernt คือปราสาทประธาน อักษร g.co คือ ปราสาททางทิศเหนือ อักษร nr คือปราสาททางทิศใต้ ส่วนด้านหลังปราสาทประธานคือ ปราสาททางทิศตะวันตก ซึ่งตอนนี้โดนปราสาทประธานบังไป และอักษร www.k คือปราสาททางทิศตะวันออก)
- ทีมงานขอแจกแจงเรียงตามรายชื่อปราสาทข้างต้นแล้วกัน
ซ้ายบน - ปราสาทประธานเป็นอาคารในผังรูปกากบาท ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกฟัก ส่วนยอดของปราสาทได้หักพังลงมา เหลือแต่หลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มีนาคปักและกลีบขนุนประดับอยู่ตามมุมหลังคา ตัวเรือนธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีมุขทางเข้าคูหาภายในทั้ง 4 ด้าน ซุ้มหน้าบันเหนือประตูมุขด้านทิศใต้และทิศตะวันตกของปราสาทยังคงหลงเหลือลวดลายปูนปั้นอยู่ (จากภาพ ปราสาทประธานสร้างถวายพระพุทธรูปนาคปรกหรือพระชัยพุทธมหานาถ)
ขวาบน - คูหาภายในประดิษฐานหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปหินทรายสีแดง ศิลปะสมัยอยุธยา ซึ่งนำมาจากวัดกุฏิทองในอำเภอเมืองเพชรบุรี
ซ้ายล่าง - ปราสาทนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของปราสาทประธาน มีลักษณะคล้ายกับปราสาทประธานแต่มีขนาดย่อมกว่า เป็นอาคารในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกฟัก มีทางเข้าคูหาจากด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว อีกสามด้านทำเป็นซุ้มประตูหลอก เหนือเรือนธาตุก่อเป็นหลังคาซ้อนกัน 5 ชั้น ส่วนยอดชำรุดหักหาย ตัวเรือนธาตุมีร่องรอยการสร้างมุขยื่นออกมาทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่งเป็นการก่อเสริมในภายหลัง ปัจจุบันตัวปราสาทอยู่ในสภาพหักพังลง เหลือเพียงผนังด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก (จากภาพ ปราสาททิศเหนือสร้างถวายพระนางปรัชญาปารมิตา แสดงถึงความมีปัญญาเนื่องจากในมือของพระนางถือคัมภีร์)
ขวาล่าง – พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในปราสาททิศเหนือ



 

เดินชมปราสาทต่างๆต่อ
ซ้ายบน - ปราสาทนี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของปราสาทประธาน มีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับปราสาทด้านทิศเหนือ แต่มีสภาพสมบูรณ์กว่ามาก เป็นอาคารในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกฟัก ตัวเรือนธาตุมีร่องรอยการสร้างมุขยื่นออกมาทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่งเป็นการก่อเสริมในภายหลัง โดยมีทางเข้าคูหาจากทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว อีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก ที่อกเลาของประตูหลอกด้านทิศเหนือมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานพรประดิษฐานอยู่ ด้านทิศใต้มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานอภัยประดิษฐานอยู่ ส่วนทิศตะวันตกมีสภาพชำรุดมาก เหนือเรือนธาตุเป็นหลังคาซ้อนกัน 5 ชั้น ส่วนยอดยังหลงเหลือองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ค่อนข้างสมบูรณ์ (จากภาพ ปราสาททิศใต้สร้างถวายพระโพธิสัตว์โลกิเตศวร แสดงถึงความเมตตากรุณา)
ขวาบน – ภายในคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์และพระพุทธรูปขนาดเล็กต่างๆ
ขวากลางบน – ปราสาทหลังนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก(หรือด้านหลัง)ของปราสาทประธาน ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายเกือบหมด เหลือเพียงผนังด้านทิศเหนือและส่วนฐาน มีประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นอาคารที่มีฐานสูงกว่าปราสาททุกหลัง สันนิษฐานว่าน่าจะมีการสร้างขึ้นในภายหลัง เนื่องจากชุดฐานเป็นฐานลูกแก้วอกไก่(ซึ่งต่างจากฐานปราสาทประธานและปราสาทบริวารทั้ง 2 หลัง) (จากภาพ ปราสาททิศตะวันตกสร้างถวายแด่พระโลเกศวรเปล่งรัศมี)
ซ้ายกลาง – ปราสาทศิลาแลงหลังนี้(รวมทั้งมุขทางเข้า)อยู่ตรงข้ามกับปราสาทประธานทางทิศตะวันออก ตัวปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมและมีมุขยื่นออกมาจากเรือนธาตุทั้ง 4 ด้าน มีลักษณะเป็นจัตุรมุขลดหลั่นกัน 2 ชั้น บริเวณผนังตอนกลางของมุขสลักเป็นลายลูกมะหวดในช่องหน้าต่างหลอก มุขที่ยื่นออกไปทางทิศเหนือและใต้ทั้งสองข้างไม่มีประตูทางเข้า แต่ตกแต่งเป็นประตูหลอก เหนือประตูขึ้นไปเป็นซุ้มหน้าบันแบบปราสาทในประเทศกัมพูชา สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงตกแต่งด้วยปูนปั้นประดับอาคารทั้งหลัง เนื่องจากพบร่องรอยปูนปั้นบางส่วนที่สันหลังคา ส่วนมุขที่ยื่นประดับบราลีทำจากศิลาแลง และมีหลังคาซ้อนกันทั้งหมด 5 ชั้น
ขวากลางล่าง – ภายในห้องโถงของปราสาทเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญที่ชาวบ้านนับถือ นั่นคือ หลวงพ่อนิล
- สำหรับรายละเอียดของปราสาทก็ครบถ้วนแล้ว เราไปเก็บตกเรื่องอื่นๆสักเล็กน้อย
ซ้ายล่าง – พระอุโบสถของวัดกำแพงแลง (จากภาพ หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สิ้นไป ปราสาทก็ถูกทิ้งร้างไปราว 600 ปีเศษ จนถึงสมัยที่พุทธศาสนาแบบหินยานเริ่มเข้ามาแพร่หลายในดินแดนแถบนี้ วัดเทพปราสาทศิลาแลงหรือวัดกำแพงแลงจึงถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2497)
ขวาล่าง – ภาพดั้งเดิมของปราสาทศิลาแลงเมื่อปี พ.ศ.2479 ถ่ายโดยช่างภาพชาวต่างชาติชื่อ Robert Larimore Pendleton

TODAY THIS MONTH TOTAL
281 5218 297610
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top