พระปรางค์สามยอดสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นปรางค์ที่เรียงติดกัน 3 องค์และมีฉนวนเป็นทางเดินเชื่อมถึงกัน องค์ปรางค์สร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นและเสาประดับกรอบประตูสลักด้วยฤาษีนั่งชันเข่าอยู่ที่โคนเสา ซึ่งเป็นศิลปะเขมรแบบบายน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ด้านหน้าพระปรางค์หันไปทางทิศตะวันออก
พระปรางค์สามยอดนี้เดิมเป็นศาสนสถานพุทธศาสนามหายาน ภายในปราสาทมีเพดานไม้ลายเขียนสีรูปดอกไม้ จนกระทั่งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาและสร้างพระวิหารก่อด้วยอิฐบริเวณด้านหน้าปราสาทองค์กลาง ในส่วนของประตูและหน้าต่างเป็นทรงโค้งดอกกลีบบัว
ถ้าใครเป็นนักสะสมธนบัตรเก่าๆ ให้ลองสังเกตแบงก์ห้าร้อยรุ่นเดิมของในหลวงรัชกาลที่เก้าดู ที่ด้านหลังเราจะเห็นพระปรางค์สามยอดพิมพ์โดดเด่นเลย แล้วถ้าใครได้มาสัมผัสด้วยตา นอกจากความสวยงามที่ดูยิ่งใหญ่กว่าในแบงก์แล้ว สิ่งที่เห็นเพิ่มเติมก็คือ ลิงแสมฝูงมโหฬารที่วิ่งซุกซนอยู่รอบตัวเรา
- หลังจากชำระค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท ต่างชาติ 50 บาท ทีมงานก็เข้าสู่ด้านในทันที
ซ้ายบน – ภาพของพระปรางค์สามยอดที่หันหน้าเข้าทิศตะวันตก (จากภาพ พระปรางค์สามยอดประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ โดยมีฉนวนทางเดินเป็นตัวเชื่อมองค์ปรางค์แต่ละองค์ องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงและบริเวณผิวมีการฉาบปูนทับลงไป นอกจากนี้ยังนิยมใช้ลายปูนปั้นประดับองค์ปรางค์แต่ละองค์ด้วย)
- จากนั้นทีมงานขอพาไปชมพระปรางค์สามยอดแต่ละองค์กัน คราวนี้จะให้ชมด้านที่หันหน้าเข้าทิศตะวันออก(หรือทางรถไฟ)บ้าง โดยเริ่มจากองค์ปรางค์ทิศใต้(หรือถ้าเป็นภาพซ้ายบน ก็คือองค์ปรางค์ที่อยู่มุมไกลภาพ)
ขวาบน – องค์ปรางค์ทิศใต้ (จากภาพ ฐานขององค์ปรางค์ประกอบด้วยฐานเขียงชั้นที่หนึ่ง ฐานเขียงชั้นที่สอง ฐานบัวคว่ำและฐานบัวลูกแก้ว และเหนือฐานบัวลูกแก้วประดับด้วยลายปูนปั้นทำเป็นลายกรวยเชิง ขณะที่องค์ปรางค์มีมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ทิศ แต่มีประตูเข้าได้ 3 ทางคือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก มุขด้านข้างทำเป็นฉนวนเชื่อมปรางค์องค์ทิศใต้กับปรางค์องค์กลาง โดยมุขปรางค์ทำเป็นมุข 2 ชั้นสร้างลดหลั่นลงไป มุขตอนหน้ามีขนาดเล็กและเตี้ยกว่ามุขชั้นที่ 2 บริเวณหลังคาสลักเลียนแบบเครื่องไม้ ส่วนหลังคาของฉนวนทางเดินประดับด้วยบราลี เป็นแท่นหินที่ผ่านการแกะกลึง บริเวณฉนวนเชื่อมปรางค์มีการเจาะช่องไว้เพื่อใช้เป็นประตู แต่ปัจจุบันถูกปิดด้วยลูกกรงเหล็ก ยอดปรางค์ทำเป็นหลังคารูปพุ่มซ้อนกัน 4 ชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยซุ้มบัญชร และใต้ซุ้มบัญชรทำเป็นรูปประตูหลอก บริเวณมุมประดับด้วยกลีบขนุนที่สลักเป็นรูปนาค(หรือนาคปัก) ส่วนบนสลักเป็นรูปดอกบัว)
ซ้ายกลาง – ปรางค์องค์กลาง (จากภาพ ฐานล่างมีลักษณะเป็นฐานบัวลูกฟัก องค์ปรางค์และฐานมุขประกอบด้วยฐานเขียงชั้นที่หนึ่ง ฐานเขียงชั้นที่สอง ฐานบัวคว่ำ และฐานบัวลูกแก้ว เหนือฐานบัวลูกแก้วมีลายกรวยเชิงประดับเส้นคิ้วมาคั่นเสมอ องค์ปรางค์มีมุขยื่นออกมา 4 ทิศ องค์ปรางค์ทำเป็นชั้นเชิงบาตร 2 ชั้น ซึ่งสถาปัตยกรรมเหมือนกับองค์ปรางค์ทางด้านทิศใต้และทิศเหนือ ส่วนมุขปรางค์ทำเป็น 2 ชั้นลดหลั่นลงไป สำหรับปรางค์องค์กลางมีทางเข้า 2 ทางคือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เนื่องจากมีมุขปรางค์ทิศเหนือและทิศใต้เป็นฉนวนเชื่อมปรางค์องค์อื่นๆ ยอดปรางค์ทำเป็นหลังคารูปพุ่มซ้อนกัน 4 ชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยซุ้มบัญชร ใต้ซุ้มบัญชรทำเป็นประตูหลอก นอกจากนี้ยังมีการประดับแผ่นศิลาสลักเป็นรูปเทพประจำทิศ โดยมุมของหลังคาแต่ละชั้นมีกลีบขนุนสลักเป็นรูปนาค 5 เศียร ขณะที่ด้านบนสุดเป็นรูปดอกบัว อนึ่ง ปรางค์องค์กลางมีความสูง 21.5 เมตร)
ขวาล่าง – องค์ปรางค์ทิศเหนือ (จากภาพ ฐานล่างทำเป็นฐานบัวลูกฟัก ถัดจากฐานบัวลูกฟักก็เป็นฐานแบบเดียวกับฐานของปรางค์องค์กลาง เนื่องจากเป็นฐานเดียวกัน สำหรับองค์ปรางค์มีมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ทิศ องค์ปรางค์ทำเป็นชั้นเชิงบาตร 2 ชั้น มีการเพิ่มมุมด้านละ 2 มุมที่ชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 2 ส่วนมุขปรางค์ทำเป็น 2 ชั้นลดหลั่นลงไป สำหรับองค์ปรางค์ทิศเหนือมีทางเข้า 3 ทางคือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือ ส่วนทิศใต้เป็นฉนวนทางเดินเชื่อม ขณะที่บนสันหลังคาฉนวนมีบราลีประดับ ยอดองค์ปรางค์ทำเป็นหลังคารูปพุ่มซ้อนกัน 4 ชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยซุ้มบัญชร ใต้ซุ้มบัญชรทำเป็นประตูหลอก นอกจากนี้ยังประดับแผ่นศิลาสลักเป็นรูปเทพประจำทิศบริเวณมุมของหลังคาแต่ละชั้นมีกลีบขนุนสลักเป็นรูปนาค 5 เศียร)
ซ้ายล่าง – ฉนวนทางเดินเชื่อมระหว่างองค์ปรางค์ (จากภาพ ฉนวนทางเดินเชื่อมด้านทิศตะวันตกนี้ เชื่อมระหว่างปรางองค์กลางและปรางค์ทิศเหนือ โดยนำอิฐสอปูนมาเรียงปิดทับ แล้วฉาบปูนทับอีกครั้ง)
หลังจากเดินชมพระปรางค์แต่ละองค์ไปแล้ว ทีมงานขอเก็บตกรายละเอียดอื่นๆมาให้ชมต่อ
ซ้ายบน – วิหารของพระปรางค์สามยอดมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สภาพของวิหารเหลือเพียงผนังด้านทิศเหนือและผนังหุ้มกลองด้านทิศตะวันออก ส่วนเครื่องบนพังทลายลงหมด ประตูของผนังหุ้มกลองด้านทิศตะวันออกก่ออิฐเป็นซุ้มโค้งหรืออาร์ชแบบตะวันตก ส่วนประตูทางเข้าที่ผนังด้านข้างของวิหารและหน้าต่างที่ผนังด้านหลังของวิหารก่ออิฐเป็นซุ้มโค้งกลีบบัว ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงด้านทิศเหนือเท่านั้น อนึ่ง โครงสร้างผนังก่ออิฐหนาทึบสลับกับศิลาแลงบางส่วน อันเป็นเทคนิคที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ขวาบน - ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายปางสมาธิ(ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20) 1 องค์ เข้าใจว่าสร้างในสมัยพระนารายณ์มหาราชที่มีพระราชประสงค์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงพระปรางค์สามยอดให้เป็นเขตพุทธาวาส (จากภาพ ด้านหลังคือ ปรางค์องค์กลาง)
- จากนั้นเราเข้าไปชมภายในพระปรางค์สามยอดกันบ้าง
ซ้ายกลาง – ประตูของฉนวนทางเดินเชื่อมระหว่างองค์ปรางค์แต่ละองค์
ขวาล่าง – ฉนวนทางเดินเชื่อมระหว่างปรางค์องค์กลางและปรางค์ทิศเหนือมีการก่ออิฐสอปูนเป็นผนังทึบบริเวณประตูด้านทิศตะวันตก(อย่างที่เห็นภาพไปแล้ว)และทำเป็นฐานประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยอยุธยา(ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก)ขึ้นมา
ซ้ายล่าง – ฐานโยนีภายในคูหาขององค์ปรางค์ทิศใต้
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
473 | 5410 | 297802 |