วัดใหญ่จอมปราสาท

คำอธิบาย


วัดใหญ่จอมปราสาทเป็นวัดเก่าแก่ โดยมีอายุประมาณ 400 ปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เดิมชาวบ้านเรียกว่า“วัดใหญ่”บ้าง “วัดจอมปราสาท”บ้าง หรือ“วัดใหญ่จอมปราสาท”บ้าง ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานนามใหม่ให้ มีชื่อว่า“วัดใหญ่สาครบุรี” และพระราชทานพระไตรปิฎกและยกฐานะเป็นพระอารามหลวง วัดใหญ่จอมปราสาทเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479



ริมแม่น้ำท่าจีนมีวัดเก่าแก่อยู่แห่งหนึ่งที่ทีมงานเห็นนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาถ่ายรูปอยู่เสมอ โดยเฉพาะวิหารเก่า และถึงแม้บางส่วนจะพังทลายไปแล้ว แต่มนต์เสน่ห์ยังคงหลงเหลืออยู่มาก นอกจากวิหารเก่า ยังมีเจดีย์ อุโบสถ และศาลาให้ศึกษาสำหรับผู้ที่สนใจความเป็นมาด้วย
บน – นักท่องเที่ยวสามารถเห็นสิ่งปลูกสร้างของวัดแห่งนี้เกือบครบจากกำแพงแก้วและซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้าวัดเลย เริ่มจากทางซ้ายคือ วิหารหลังเก่า ตรงกลางคือ อุโบสถ และเลยนอกกำแพงแก้วไปทางขวาก็คือ ศาลา สิ่งเดียวที่ไม่อยู่ในภาพคือ เจดีย์ทรงปรางค์ ซึ่งอยู่ด้านหลังวิหารเก่า แต่เดี๋ยวเราค่อยเดินอ้อมด้านหลังไปชมกัน



ได้เวลาเก็บข้อมูล

ซ้ายบน – วิหารเก่าเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานเป็นฐานบัวโค้งแอ่นคล้ายท้องเรือสำเภา ลักษณะของผนังก่ออิฐถือปูนสอบเข้าด้านบน ด้านหน้าวิหารมีมุขยื่นออกมาและมีบันไดทางขึ้นด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ประตูทางเข้าทำเป็นซุ้มประตูทรงมณฑปประดับลวดลายปูนปั้น ซุ้มหน้าต่างช่องกลางเป็นซุ้มทรงมงกุฎ อีก 2 ช่องเป็นซุ้มหน้านางประดับลวดลายปูนปั้น ผนังทิศเหนือมีเถาประดับ ผนังประดับปูนปั้น ส่วนบัวหัวเสาเป็นบัวแวงและลายกรวยเชิง
ขวาบน - ภายในวิหารมีฐานอาสนะก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่อยู่กลางวิหาร สันนิษฐานว่า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ขณะที่ด้านในสุดมีฐานชุกชี ลักษณะเป็นฐานสิงห์เพิ่มมุม สันนิษฐานว่า เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ซึ่งน่าจะเป็นพระพุทธรูปประทับยืน ส่วนผนังด้านทิศใต้และหลังคาพังทลายลงหมด แต่การบูรณะในปี พ.ศ.2555 ได้ก่อผนังขึ้นใหม่ สันนิษฐานว่า วิหารหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย 
ซ้ายกลาง – เจดีย์นี้ตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงปรางค์ เรือนธาตุรูปทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ มีซุ้มจระนำทั้งสี่ด้านและเป็นซุ้มหลอก ไม่มีการประดับตกแต่งใดๆ ส่วนยอดมีลักษณะเป็นฝักข้าวโพด เพรียวสูง และฐานมีการประดับขาสิงห์
ขวากลางบน – อุโบสถ (จากภาพ อุโบสถหลังนี้รายล้อมด้วยใบเสมาทั้งหมด 8 ใบ ฐานของอุโบสถทั้งสี่ด้านจะสร้างเป็นรูปทรงแอ่นโค้งคล้ายท้องเรือสำเภา)
ขวากลางล่าง – พระประธานและบรรยากาศภายในอุโบสถ
ซ้ายล่าง – สิ่งที่น่าสนใจของอุโบสถก็คือ บานประตูไม้สักแกะสลัก ซึ่งเป็นวัตถุโบราณที่สวยงาม โดยแกะสลักบนเนื้อไม้ลึกเข้าไปถึงสี่ชั้น คล้ายภาพซ้อนสามมิติ บานหนึ่งแกะเป็นลวดลายเถาดอกไม้ ใบไม้ และสัตว์ต่างๆ เช่น สมัน เก้ง เสือ และสัตว์อื่นๆตามโคนต้นไม้ ส่วนลิงจับอยู่บนกิ่งไม้และมีงูเหลือมพันอยู่บนต้นไม้ ส่วนอีกบานแกะสลักเป็นรูปป่าสนจีน คล้ายต้นจาก ต้นมะพร้าว และมีนกกระเรียนเกาะตามกิ่งไม้ บานประตูนี้กรมศิลปากรได้สงวนไว้เป็นศิลปวัตถุของชาติ โดยขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2505 (จากภาพ ปัจจุบันมีการปิดทองบานประตูอุโบสถไว้ แล้วกั้นด้วยบานกระจกอีกชั้น)
ขวาล่าง – นอกกำแพงแก้วออกไปทางขวามีศาลาการเปรียญอยู่อีกหนึ่งหลัง ศาลานี้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงก่ออิฐถือปูน ทรงสอบเข้า (ฐานกว้างกว่าส่วนบน) พื้นที่ของศาลายกสูง ฐานและหลังคาแอ่นโค้งคล้ายท้องสำเภอเรือ ส่วนช่องหน้าต่างมีรูปทรงแตกต่างกันไป เช่น รูปใบโพธิ์ รูปไข่ ฯลฯ ขณะที่หน้าบันไม้แกะสลักเป็นลวดลายก้านขดและพุ่มข้าวบิณฑ์ที่มีความงดงามเช่นกัน

TODAY THIS MONTH TOTAL
286 5223 297615
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top