ตึกแดงเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดจันทบุรี สร้างเมื่อปี พ.ศ.2436 ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นสถานที่ตั้งของป้อมพิฆาตปัจจามิตร โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าให้จมื่นราชามาตย์ (ขำ บุนนาค) เป็นแม่กองสร้างป้อมพิฆาตปัจจามิตร(หรือป้อมพิฆาตข้าศึก)บริเวณปากน้ำแหลมสิงห์เพื่อป้องกันศัตรูจากการรุกล้ำน่านน้ำเข้ามายังดินแดนไทยและให้พระยาอภัยพิพิธเป็นผู้สร้าง“ป้อมไพรีพินาศ”(หรือป้อมภัยพินาศ)บริเวณเขาแหลมสิงห์ ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันทบุรี โดยอ้างเหตุการณ์พิพาทเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จึงรื้อป้อมพิฆาตปัจจามิตรลงและสร้างตึกแดงขึ้นแทน ตึกนี้มีลักษณะเป็นตึกชั้นเดียวทาสีแดงมุงหลังคากระเบื้องเพื่อเป็นที่พักและเป็นกองบัญชาการในขณะนั้น
ปัจจุบันทางการได้ปรับปรุงซ่อมแซมตึกแดงจนสามารถใช้งานได้และจัดเป็นห้องจัดแสดงเพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่สนใจหาความรู้โดยทั่วไป
ตึกแดงเป็นอาคารชั้นเดียวที่ตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ เราจะไปอำเภอท่าใหม่หรือกลับตัวเมืองจันทบุรีก็ได้ แถมอยู่ติดทะเลอีก นอกจากสีสันภายนอกจะสะดุดตาแล้ว อาคารหลังนี้ยังมีเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่ยาวนานจนเป็นมากกว่าคำว่า“สถานที่ท่องเที่ยว”
บน – ตึกแดงเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว กว้าง 7 เมตร ยาว 32 เมตร หลังคาและตัวตึกมีสีแดง จึงเรียกว่า“ตึกแดง” ภายในแบ่งเป็นห้าห้อง ตรงกลางของแต่ละห้องมีประตูและทางเดินเชื่อมถึงกันทุกห้อง วัสดุที่ใช้ก่อสร้างบางส่วนนำมาจากเมืองไซ่ง่อน โดยฝรั่งเศสสร้างขึ้นเพื่อเป็นกองบัญชาการและที่พักนายทหารที่รักษาการบริเวณปากน้ำแหลมสิงห์ ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสถอนกำลังทหารออกจากเมืองจันทบุรีเมื่อปี พ.ศ.2447 แล้ว ตึกแดงถูกใช้เป็นที่พักสำหรับเจ้านาย ข้าราชการ และชาวต่างชาติที่มาเที่ยวตากอากาศ ตึกแดงได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2528
ไปชมตึกแดงกันต่อ
ซ้ายบน – ด้านหน้าของตึกแดง
ขวาบน – ด้านหลังของตึกแดง
กลาง – ด้านข้างของตึกแดง
ซ้ายล่าง – ทางเดินข้างอาคารตึกแดง
- ภายในตึกแดงเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจได้ศึกษาอยู่สองห้อง
ขวากลาง – ห้องนี้เป็นเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของตึกแดง ประวัติคร่าวๆก็คือ ในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(หรือรัชกาลที่ 3) เมืองจันทบุรีมีบทบาทสำคัญในการเป็นเมืองตั้งรับศึกญวน ซึ่งมีความขัดแย้งกับไทยจากการทำสงครามด้วยเรื่องกบฎเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทร์ ไทยได้ยกทัพบกและทัพเรือไปตีทั้งหัวเมืองเขมรและญวนเมื่อปี พ.ศ.2376 แต่ศึกยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากถึงฤดูฝนเสียก่อน ไทยจึงยกทัพกลับมา พระองค์ทรงเกรงว่า กองทัพญวนอาจยกทัพเรือมารุกรานได้ จึงโปรดเกล้าในเรื่องต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ ให้จมื่นราชามาตย์ (ขำ บุนนาค ต่อมาคือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี) ก่อสร้างป้อมบริเวณปากน้ำแหลมสิงห์ชื่อ“ป้อมพิฆาตปัจจามิตร” ครั้นในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสจนเกิดเป็นวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 กองทหารฝรั่งเศสได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีและรื้อป้อมพิฆาตปัจจามิตร จากนั้นสร้างอาคารกองบัญชาทหาร เรียกว่า“ตึกแดง”ขึ้นแทน จนเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2446 รัฐบาลไทยทำสัญญากับฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส โดยฝ่ายไทยยินยอมยกดินแดนเมืองตราดและเมืองประจันคีรีเขตต์ (ซึ่งปัจจุบันก็คือ เกาะกงของกัมพูชา) ให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี เป็นผลให้ฝรั่งเศสถอนทหารทั้งหมดออกจากเมืองจันทบุรี ซึ่งการยึดครองเมืองจันทบุรีของฝรั่งเศสกินเวลานานถึง 11 ปีด้วยกัน
ขวาล่าง – อีกห้องหนึ่งเป็นการจัดแสดงปืนใหญ่ (จากภาพ ความเป็นมาของปืนใหญ่สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539 กลุ่มโบราณคดีใต้น้ำได้รับแจ้งจากชาวประมงว่า พบปืนใหญ่โบราณจมอยู่ในแม่น้ำจันทบุรีบริเวณปากน้ำแหลมสิงห์ ห่างจากสะพานท่าเทียบเรือและสะพานหน้าวัดแหลมสิงห์ไปทางทิศเหนือประมาณ 80 เมตร น้ำลึกประมาณ 4-5 เมตร หลังจากกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำนำปืนใหญ่โบราณกระบอกดังกล่าวขึ้นมาและผ่านการสงวนรักษาในชั้นต้นแล้ว พบว่า บริเวณลำกล้องปืนระหว่างเพลาปืนกับแท่นรูสายชนวนมีลายนูนเป็นรูปนกอินทรีกางปีกอยู่บนกิ่งไม้ ที่จะงอยปากคาบงู ด้านล่างรูปนกอินทรีมีอักษรภาษาอังกฤษและตัวเลขอารบิกอยู่ นอกจากตัวปืนใหญ่แล้ว ยังพบโซ่ที่พันรอบตัวปืนในลักษณะเฉียงรัดเพลาปืนทั้งสองข้างและที่หัวของโซ่ข้อใหญ่สุดมีการสลักตัวเลข 1893 ไว้ด้วย จากหลักฐานที่ปรากฏบนตัวปืนใหญ่ รูปนกอินทรีจิกงูนั้นเป็นเครื่องหมายหรือตราสัญลักษณ์ของจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ทที่ปกครองฝรั่งเศส จึงมีความเป็นไปได้ว่า ปืนใหญ่กระบอกดังกล่าวถูกผลิตในสมัยจักรพรรดินโปเลียนและมีการใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงช่วงที่ฝรั่งเศสเข้าสู่ลัทธิการล่าอาณานิคม และตัวเลข 1893 น่าจะเป็นปีที่ผลิตโซ่คือ ปีคริสตศักราช 1893 ซึ่งเป็นระยะเวลาในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ที่ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันทบุรี ดังนั้นการพบปืนใหญ่ที่มีโซ่พันรอบตัวปืนนั้น น่าจะเป็นการใช้โซ่ผูกรัดปืนใหญ่เพื่อทำการเคลื่อนย้ายและอาจเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเคลื่อนย้ายจนทำให้ปืนใหญ่กระบอกนี้ตกลงในแม่น้ำจันทบุรี)
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
428 | 5365 | 297757 |