วัดประตูสาร

คำอธิบาย


วัดประตูสารเป็นวัดเก่าที่ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า สร้างขึ้นเมื่อใด มีเพียงเอกสารของทางวัดที่กรมศาสนารับรองระบุว่า วัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.2223 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.2280 (ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา) แต่กลับไม่พบร่องรอยศิลปกรรมภายในวัดที่มีอายุเก่าถึงช่วงเวลานั้น วัดนี้มาปรากฏหลักฐานชัดเจนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งสุนทรภู่เดินทางมายังเมืองสุพรรณบุรีในปี พ.ศ.2379 และได้กล่าวถึงชื่อวัดประตูสารไว้ในโคลงนิราศสุพรรณโดยมีใจความว่า

                                               
                                                ฝั่งซ้ายฝ่ายฟากโพ้น พิสดาร

                                                มีวัดพระรูปบูราณ ท่านสร้าง

                                                ที่ถัดวัดประตูสาร สงสู่ อยู่เอย

                                                หย่อมย้านบ้านขุนช้าง ชิดข้างสวนบัลลังฯ

สิ่งที่สำคัญของวัดประตูสารก็คือ ภาพเขียนสีจิตรกรรมในอุโบสถของวัดประตูสาร



หลังจากสืบทราบประวัติจากวัดหน่อพุทธางกูรว่า นายคำยังไปเขียนภาพสีที่วัดประตูสารต่อ ทีมงานจึงมุ่งหน้าสู่วัดประตูสารทันที แต่เมื่อมาถึงวัด ก็รับรู้เพิ่มเติมว่า นายคำและนายเทศอาจเป็นคนเขียนภาพ แต่บางแหล่งก็บอกว่า อาจเป็นครูอิ้มจากกรุงเทพเป็นผู้เขียนก็ได้ ทุกอย่างจึงเป็นประวัติเล่าสืบต่อกันมาให้เป็นปริศนาทางโลกต่อไป
บน – ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถของวัดประตูสารมีความงดงามและอยู่ในสภาพสมบูรณ์ค่อนข้างมากเนื่องจากมีการบูรณะใหม่อีกครั้งเมื่อต้นปี พ.ศ.2563 (จากภาพ เนื้อหาบริเวณตอนบนของผนังหุ้มกลองด้านหน้าทางทิศตะวันออกนี้เป็นพุทธประวัติตอนมารวิชัย)



 

ชื่มชมภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถกันต่อ
ซ้ายบน – ภาพจิตรกรรมในอุโบสถแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนของผนังตอนบนเหนือกรอบประตูหน้าต่างและผนังตอนล่างโดยมีแถบลายประจำยามก้ามปูมาคั่น ตอนบนเป็นภาพอดีตพุทธ ขณะที่ตอนล่างของทุกด้านเป็นพุทธประวัติที่สอดแทรกวิถีชีวิตสามัญชนเพื่อเล่าเรื่องแต่ละตอน
ขวาบน – พระประธานในอุโบสถ
ขวากลางบน - สำหรับภาพจิตรกรรมด้านหลังพระประธาน ตอนบนผนังหุ้มกลองคือ พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ขณะที่ด้านล่างเป็นเนื้อหาพุทธประวัติ(เช่นเดียวกับด้านล่างของทุกด้าน)
ซ้ายกลาง – ลองมาชมเนื้อหาผนังตอนล่างของพุทธประวัติอีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่สอดแทรกอยู่ในทุกจุด
ขวากลางล่าง – โบราณสถานสำคัญของวัดนี้ก็คือ อุโบสถ ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ด้านหน้าเป็นมุขหลังคาชั้นซ้อน มีใบเสมาล้อมรอบทั้งแปดทิศ ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำท่าจีน มีช่องประตูด้านหน้าสองช่อง ผนังเจาะช่องหน้าต่างด้านละสี่ช่อง กรอบประตูและหน้าต่างประดับลวดลายปูนปั้นลายดอกไม้ทาสีแดงและใบไม้ทาสีเขียว (จากภาพ อุโบสถอยู่ทางซ้ายของภาพ ส่วนทางขวาด้านหน้าคือ อนุสรณ์พระครูวิธุรสุตาคม ขณะที่ด้านหลังอนุสรณ์(หรือด้านข้างอุโบสถไปทางขวา)ที่เห็นอาคารเพียงบางส่วน ก็คือ วิหาร)
ซ้ายล่าง – สำหรับวิหารจะไม่เปิดให้เข้าเนื่องจากเป็นสถานที่เก็บพระพุทธรูป จึงนำพระประธานของวิหารมาประดิษฐานให้กราบไหว้ที่หน้าวิหารแทน
ขวาล่าง – อนุสรณ์พระครูวิธุรสุตาคม (หลวงพ่อก๋ำ คงคสุวณโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูสาร (จากภาพ รูปเหมือนทางซ้ายและขวาคือ อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูสารเช่นกัน ซ้ายมือคือ หลวงปู่พระอุปัชฌาย์ดี ขวามือคือพระครูวิบูลย์เมธาจารย์หรือหลวงปู่ภู ส่วนมุมอาคารทางซ้ายคือ หลวงพ่อสดวัดปากน้ำ และมุมอาคารด้านขวาคือ หลวงพ่อทอง)


TODAY THIS MONTH TOTAL
424 5361 297753
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top