เมืองโบราณคูบัวเป็นเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีขนาดใหญ่ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ขนาดประมาณ 800 x 2000 เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ประกอบด้วยที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ป่าเขาอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุและผลิตผลจากป่า มีเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ สามารถติดต่อกับคนภายนอกทั้งในภูมิภาคเดียวกันและจากโพ้นทะเลได้สะดวก เพราะอยู่ไม่ไกลจากทะเล จึงเหมาะเป็นเมืองท่าและเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนหรือขนถ่ายสินค้า
สภาพสังคมและเศรษฐกิจของเมืองโบราณคูบัว จากหลักฐานที่พบ เชื่อว่า คงเป็นเมืองที่มีผู้ปกครอง มีพระภิกษุหรือพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ชาวเมืองดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรและของป่า ทั้งกับคนในภูมิภาคเดียวกันและชาวต่างชาติดังมีหลักฐานว่า มีชาวต่างชาติ เช่น อินเดีย อาหรับ เปอร์เชีย จีน ฯลฯ เข้ามาติดต่อค้าขายและตั้งถิ่นฐาน นอกจากนี้ ชาวเมืองยังมีความรู้ในการทำเครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา ทอผ้า และหล่อเครื่องโลหะใช้เองด้วย ผู้คนในเมืองโบราณคูบัวใช้อักษรปัลลวะอันเป็นรูปแบบของอักษรอินเดียใต้เป็นอักษรเขียน โดยเขียนเป็นภาษาบาลีและสันสกฤต
เมืองโบราณคูบัวรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-14 และลดความสำคัญลงในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 สาเหตุอาจเกิดจากการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำอ้อม ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงเมืองคูบัว การเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งทะเล การเกิดศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่บนคาบสมุทรภาคใต้ และกระแสอิทธิพลทางการเมือง ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมเขมรซึ่งเข้ามาแทนที่
ทีมงานเหมือนกำลังแปลงร่างเป็นอินเดียนาโจนส์ในการสำรวจเมืองโบราณคูบัวไม่มีผิด ทุกอย่างไม่ต่างจากการตามล่าหาขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าที่ซุกซ่อนอยู่ แต่ละจุดอยู่ห่างกันทั้งนั้น จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง จากตรงนั้นไปตรงนี้ แถมต้องควานหาข้อมูลกันข้ามจังหวัดอีก ขอให้ทุกคนกุมลายแทงในมือให้แน่น แล้วสะกดรอยไปพร้อมกัน
- เนื่องจากแต่ละโบราณสถานมีหมายเลขแตกต่างกันไป ทีมงานเลยขอไล่ตัวเลขจากน้อยไปมากเพื่อการลำดับเรื่องราวแล้วกัน เริ่มกันที่โบราณสถานหมายเลข 1 (โคกนายใหญ่) จุดนี้อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟคูบัว
ซ้ายบน – โบราณสถานหมายเลข 1 (โคกนายใหญ่) ปัจจุบันหลงเหลือเฉพาะส่วนฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐ ฐานยาวด้านละ 6 เมตร สูงประมาณ 3.15 เมตร ฐานชั้นล่างเป็นฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยม ฐานชั้นที่สองเป็นฐานขององค์เจดีย์ ลักษณะเป็นฐานบัวโค้ง ถัดขึ้นไปเป็นช่องซุ้มรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซ้อนกันเป็นสองชั้น ไม่ปรากฏร่องรอยการประดับปูนปั้นภายในซุ้ม ส่วนยอดของเจดีย์พังทลาย ไม่สามารถบอกรูปทรงได้แน่นอน กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ.2504 และดำเนินการบูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ.2538 สันนิษฐานว่า โบราณสถานแห่งนี้เป็นโบราณสถานสมัยทวารวดี มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16
ขวาบน – โบราณสถานโดยรอบ
ซ้ายกลาง – เรามาชมฐานประทักษิณและฐานบัวโค้งใกล้ๆกัน
- ต่อไปเป็นโบราณสถานหมายเลข 8 (วัดคูบัว) ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดคูบัวและตั้งตรงข้ามกับสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ(หรือศูนย์สุขภาพชุมชน 2)พอดิบพอดี
ขวากลาง – โบราณสถานหมายเลข 8 (วัดคูบัว) มีสถาปัตยกรรมดังนี้ ฐานชั้นที่หนึ่งเป็นฐานก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้างประมาณ 20 เมตรและยาวประมาณ 20 เมตร ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ไม่สอปูน รองรับฐานบัวครึ่งวงกลม ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดาน เจาะเป็นช่องขนาดเท่าๆกันโดยรอบ ส่วนบนเป็นฐานเรียบ รองรับฐานชั้นที่สอง และพบร่องรอยการฉาบปูนในบางส่วน ส่วนฐานชั้นที่สองเป็นฐานสี่เหลี่ยม หยักที่มุมทั้งสี่ ทำเป็นรูปฐานสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ในแนวกึ่งกลางทั้งสี่ด้านทำเป็นย่อเก็จแทรกระหว่างฐานสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ลักษณะของฐานชั้นที่สองก่อแบบเดียวกับฐานชั้นที่หนึ่ง สำหรับส่วนบนไม่ปรากฏรูปแบบที่ชัดเจน กรมศิลปากรขุดแต่งครั้งแรกในปี พ.ศ.2504 และขุดแต่งทั้งเนินโบราณสถานในปี พ.ศ.2537 จากนั้นบูรณะเสริมความมั่นคงอีกครั้งในปี พ.ศ.2538 จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในการขุดแต่ง สันนิษฐานว่า โบราณสถานแห่งนี้เป็นโบราณสถานสมัยทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-15
ซ้ายล่าง - โบราณสถานโดยรอบ
ขวาล่าง – ฐานชั้นที่หนึ่งและฐานชั้นที่สองในระยะใกล้
- เดินหน้าสู่โบราณสถานหมายเลข 18 (วัดโขลงสุวรรณคีรี) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของวัดโขลงสุวรรณคีรีและติดกับกาดวิถีชุมชนคูบัว สำหรับโบราณสถานหมายเลข 18 (วัดโขลงสุวรรณคีรี) มีขนาดกว้างและใหญ่ที่สุด
ล่าง – โบราณสถานหมายเลข 18 (วัดโขลงสุวรรณคีรี) ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางของเมืองคูบัว กรมศิลปากรดำเนินการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2500 พบว่า เป็นเนินดินขนาดใหญ่ โดยการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 18 มีทั้งหมด 2 ครั้งคือ ครั้งที่หนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.2505-2506 ผลของการขุดแต่งพบโบราณวัตถุหลายประเภท ได้แก่ เศียรเทวดาปูนปั้น เชิงเทียนสำริด ประติมากรรมปูนปั้นประดับอาคารรูปคนแคระ เศษชิ้นส่วนของลวดลายปูนปั้นประดับอาคาร แม่พิมพ์พระพุทธรูปปางสมาธิ(ทำจากหินชนวนสีดำและมีคำจารึกอยู่ด้านหลัง) โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่กำหนดอายุอยู่ในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) สำหรับครั้งที่สองในปี พ.ศ.2517-2518 กรมศิลปากรทำการขุดแต่งและดำเนินการบูรณะอีกครั้ง จากการขุดแต่ง พบเฉพาะส่วนฐานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดความกว้างตามแนวเหนือ-ใต้ 22.20 เมตร ความยาวตามแนวตะวันออก-ตะวันตก 43.50 เมตร และความสูง 5.5 เมตร โบราณสถานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นไป(สู่ลานประทักษิณด้านบน)ยื่นยาวออกมาจากฐาน 23.4 เมตร ส่วนฐานของโบราณสถานชั้นล่างสุดเป็นฐานสี่เหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน สูงประมาณ 1.45 เมตร เหนือฐานศิลาแลงขึ้นไป เป็นฐานชั้นที่สอง ก่อด้วยอิฐเป็นฐานบัวโค้ง ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดาน มีเสาประดับผนังรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ แบ่งผนังออกเป็นช่องๆ ระหว่างช่องเสาประดับผนังมีร่องรอยของกรอบซุ้มจระนำขนาดเล็ก หลักฐานจากการขุดแต่งครั้งแรก พบว่าลักษณะของซุ้มจระนำยอดแหลมตั้งสลับกับเสาประดับผนังโดยตลอด (ลักษณะฐานของโบราณสถานหมายเลข 18 จะคล้ายคลึงกับศาสนสถานคลังในของเมืองโบราณสถานศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์) จากหลักฐานที่พบ สันนิษฐานว่าโบราณสถานหมายเลข 18 เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนามหายาน ส่วนบนของโบรานสถานเป็นลานประทักษิณขนาดใหญ่ ด้านทิศตะวันตกมีฐานก่ออิฐยกพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 7.5 เมตร ยาว 12.5 เมตร และสูง 1.5 เมตร กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานหมายเลข 18 เป็นโบราณสถานของชาติและระวางแนวเขตในพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม 79 ตอนที่ 97 วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2505 พื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน 7 ตารางวา
ทีมงานพาเดินชมรอบข้างก่อน
ซ้ายบน – บันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ
ขวาบน – เสาประดับผนัง
ซ้ายกลางบน – มุมนี้ทำให้เราเห็นจระนำเล็กๆได้ชัดเจน
ซ้ายกลางล่าง – เดินมาอีกด้านหนึ่งกัน
- คราวนี้ขึ้นไปด้านบนบ้าง
ขวาล่าง - ลานประทักษิณ บริเวณนี้มีพื้นที่กว้างขวาง (จากภาพ ที่มุมไกลคือ ด้านหน้าของฐานก่ออิฐยกพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า)
ซ้ายล่าง – ไปดูด้านหน้าของฐานก่ออิฐยกพื้นใกล้ๆดีกว่า
เนื่องจากโบราณสถานหมายเลข 18 มีขนาดกว้างใหญ่ การสำรวจจึงกินเวลามากหน่อย
ซ้ายบน – ด้านหลังของฐานก่ออิฐยกพื้น
ขวาบน - ทีมงานยืนอยู่ฝั่งฐานก่ออิฐยกพื้น แล้วมองไปฝั่งลานประทักษิณที่เราเดินขึ้นบันไดมา
ซ้ายกลางบน - ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโบราณสถานหมายเลข 18 พบโบราณสถานขนาดเล็ก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐขนาดความยาวด้านละ 12.40 เมตรและความสูง 1.20 เมตร สันนิษฐานว่า เป็นฐานโบราณสถานรูปทรงสี่เหลี่ยม ลักษณะของฐานโบราณสถานเป็นฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐเรียงซ้อนต่อกัน 3 ชั้น จากนั้นจึงก่อเป็นรูปซุ้มสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กเป็นช่องๆโดยรอบด้านละ 16 ซุ้มและมีร่องรอยของการฉาบปูน ข้อสังเกตคือ ระดับพื้นของฐานโบราณสถานนี้จะอยู่สูงกว่าระดับพื้นของโบราณสถานหมายเลข 18 ส่วนของฐานชั้นล่างสุดไม่มีการก่อด้วยศิลาแลง
ขวากลางบน – เรามาสำรวจฐานของโบราณสถานรูปทรงสี่เหลี่ยมสักเล็กน้อย (จากภาพ ฐานชั้นล่างสุดไม่มีการก่อด้วยศิลาแลงก่อน จึงสันนิษฐานได้ว่า โบราณสถานนี้อาจสร้างขึ้นในภายหลัง)
- ต่อไปเป็นโบราณสถานหมายเลข 24 (โคกนายพวง) และโบราณสถานหมายเลข 25 โบราณสถานทั้งสองนี้ตั้งอยู่ในพงหญ้าปิดทึบจากด้านนอก เรายังต้องเดินข้ามคลองเล็กๆไปก่อนด้วย
ซ้ายกลางล่าง - โบราณสถานหมายเลข 24 (โคกนายพวง) รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 มีลักษณะเป็นฐานเจดีย์ก่ออิฐสอดินฉาบปูนซ้อนกันสองชั้น มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเจดีย์แต่ละชั้นเป็นชุดฐานบัว ประกอบด้วยฐานเขียงสองขั้นรองรับฐานบัว มีลักษณะโค้งมน เรียกว่า“ฐานบัววลัย” เหนือชั้นฐานเป็นส่วนองค์เจดีย์ที่ชำรุดหักพังลงมาบริเวณกึ่งกลาง ด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือมีแนวเรียงอิฐยื่นออกจากฐาน
ขวากลางล่าง – โบราณสถานโดยรอบ
ซ้ายล่าง – เรามาดูฐานเจดีย์ก่ออิฐทั้งสองชั้นใกล้ๆกัน
- ต่อไปเป็นโบราณสถานหมายเลข 25 ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับหมายเลข 24
ขวาล่าง – โบราณสถานหมายเลข 25 ลักษณะเป็นผนังก่ออิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยังคงเหลือแนวสามด้านคือ ทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออก
ขอทัศนาโบราณสถานหมายเลข 25 อีกหน่อย
ซ้ายบน – มาดูแนวผนังกัน
- ถัดไปเป็นโบราณสถานหมายเลข 31 (โคกวิหาร) ซี่งอยู่บริเวณบ้านดอน หมู่ที่ 3 สำหรับโบราณสถานแห่งนี้ค่อนข้างใหญ่ทีเดียว
ขวาบน - โบราณสถานหมายเลข 31 (โคกวิหาร) กรมศิลปากรเริ่มเข้าไปทำการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2514 ลักษณะเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 22 เมตรและสูง 5.60 เมตร ฐานชั้นล่างสุดมีบันไดยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ยาวประมาณ 2.30 เมตร ปัจจุบันเหลือร่องอยอยู่ 3 ด้าน ส่วนด้านทิศใต้ชำรุดหมด บนฐานสี่เหลี่ยมเป็นลานประทักษิณ รอบองค์เจดีย์พบร่องรอยของปูนฉาบ พื้นฐานชั้นที่สองเป็นฐานบัวมีช่องซุ้ม ส่วนยอดเจดีย์ไม่สามารถระบุรูปทรงได้เพราะอยู่ในสภาพทรุดโทรม
ซ้ายกลางบน – ด้านนี้จะเห็นฐานชั้นล่างสุดมีบันไดยื่นออกมา
ขวากลาง - เรามาสำรวจรอบนอกของฐานชั้นล่างสุดดีกว่า หลายจุดพังทลายไปตามกาลเวลา
ซ้ายกลางล่าง - โบราณสถานด้านที่อยู่ฝั่งถนนของหมู่บ้าน
- จากจำนวนโบราณสถานหลักๆ ทีมงานเดินทางมาถึงอันดับสุดท้ายแล้ว ได้แก่ โบราณสถานหมายเลข 44 (โคกนายผาด) ซึ่งอยู่บริเวณวัดหนองเกสรและติดริมถนนเลย
ซ้ายล่าง - โบราณสถานหมายเลข 44 (โคกนายผาด) ตั้งอยู่นอกคูเมืองด้านทิศใต้ ก่อด้วยอิฐ ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสรองรับองค์เจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กึ่งกลางด้านมีการยกเก็จซ้อนกัน 3 ชั้น ทำให้มองเห็นเป็นมุขยื่นออกมาด้านละ 3 มุข เหนือฐานบัวมีซุ้มสี่เหลี่ยมประดับประติมากรรมรูปสิงห์และคนแคระ
ขวาล่าง – โบราณสถานโดยรอบ
ต่อเนื่องจากเนื้อหาเดิม
ซ้ายบน – อีกมุมหนึ่งของโบราณสถาน
- เมืองโบราณคูบัวค้นพบโบราณวัตถุมากมาย โดยเฉพาะเศียรพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ทุกอย่างเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี พิพิธภัณฑ์เมืองคูบัว(ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี) และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร จากการศึกษาและค้นคว้าเมืองโบราณคูบัวแห่งนี้ ทำให้ทราบว่า ได้รับอิทธิพลศิลปกรรมมาจากช่างสมัยราชวงศ์คุปตะประเทศอินเดีย
- ต่อไปเป็นตัวอย่างโบราณวัตถุที่ค้นพบจากโบราณสถานต่างๆของเมืองโบราณคูบัว เริ่มจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี ซึ่งมีตู้จัดแสดงให้ชมมากมาย
ขวาบน – พระโพธิสัตว์ดินเผา
ซ้ายกลาง – พระโพธิสัตว์ดินเผา
ซ้ายล่าง – ชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นและดินเผารูปบุคคลสำหรับตกแต่งศาสนสถาน
ขวาล่าง – ชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นและดินเผา
เก็บตกโบราณวัตถุไปเรื่อยๆ
ซ้ายบน – รูปสิงห์ปูนปั้นประดับฐานอาคาร
ขวาบน – ประติมากรรมปูนปั้นประดับศาสนสถานเป็นรูปคนแคระ
ซ้ายกลางบน – พระพิมพ์หินชนวน
- ถัดมาเป็นโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์เมืองคูบัวบริเวณวัดโขลงสุวรรณคีรี ตัวอย่างที่นำมาฝากมีดังนี้
ขวากลาง – พระโพธิสัตว์ปูนปั้น
ซ้ายกลางล่าง – เศียรบุคคล(สตรี)ดินเผา
ซ้ายล่าง – เศียรเทวดาดินเผา
- ปิดท้ายด้วยโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
ขวาล่าง – "ดีดสีตีเป่า" (จากภาพ นักดนตรีปูนปั้น)
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
304 | 5241 | 297633 |