เทือกเขาภูเก็ตเป็นเทือกเขาที่ต่อเนื่องกับเทือกเขาตะนาวศรี ทางตะวันออกของเทือกเขาภูเก็ตระหว่างสันเขาของจังหวัดชุมพรและระนองก่อกำเนิดแม่น้ำสายใหญ่คือ แม่น้ำหลังสวน ซึ่งเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนในอำเภอพะโต๊ะและอำเภอหลังสวนมานาน ระยะทางของแม่น้ำหลังสวนมีความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร และถ้ารวมลำน้ำสาขาด้วย จะมีความยาวถึง 497 กิโลเมตร
จุดเริ่มต้นของแม่น้ำหลังสวนมาจากลำน้ำสองสายคือ คลองศอกและคลองทรง นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสาขาระหว่างทางอีกมาก เช่น คลองแย คลองเงิน คลองกริม คลองปากจาก เป็นต้น แม่น้ำหลังสวนไหลผ่านสองอำเภอคือ อำเภอพะโต๊ะและอำเภอหลังสวน โดยผ่านทั้งหมด 12 ตำบลของทั้งสองอำเภอ จากนั้นจะไหลออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลปากน้ำหลังสวน ประเพณีที่สำคัญในแม่น้ำหลังสวนก็คือ ประเพณีแห่พระและการแข่งเรือ
การนั่งแพชมแม่น้ำหลังสวนช่วงต้นน้ำด้วยระยะทางหลายกิโลเมตร ทีมงานเจริญหูเจริญตากับสีเขียวของต้นไม้ตลอดทาง ส่วนสิงสาราสัตว์ก็แว่วเสียงให้ได้ยินกันเป็นระยะ ธรรมชาติครั้งนี้ถือเป็นของขวัญชิ้นโบว์แดงของอำเภอพะโต๊ะจริงๆ ขนาดแพถึงที่หมายแล้ว ความอิ่มเอมยังอยากต่อเวลาอยู่เลย
บน – ต้นไม้สีเขียวสุดลูกหูลูกตาหยุดความฟุ้งซ่านในหัวของทีมงานก่อนลงแพโดยพลัน ตอนนี้ได้แต่ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับป่าเขาและสายน้ำซึ่งหาซื้อที่ไหนไมได้แล้ว (จากภาพ ถ้าใครเคยดูหนังอเมริกายุค 90 เรื่องหนึ่ง ภาพสวยๆของสายน้ำในเรื่อง A river runs through it เวอร์ชั่นเมืองไทยแอบลอยเข้ามาในหัวเลย)
ซ้ายบน – แม้แพจะอยู่กลางลำน้ำโล่งที่มีแดดเปรี้ยงปร้าง แต่ทีมงานสัมผัสได้ถึงลมเย็นที่พัดผ่านต้นไม้และผิวน้ำมาถึงตัวเรา
ซ้ายล่าง – อย่างที่บอกไว้ว่า เสียงของสัตว์ปีกร้องแว่วๆอยู่เป็นระยะ บางครั้งบินตัดผ่านหน้าเราไปเฉย ที่เห็นและได้ยินก็มีนกต้อยตีวิดและนกกระปูด ส่วนสัตว์น้ำในแม่น้ำสายนี้ที่ชาวบ้านคุ้นเคย ก็เช่น ปลากด ปลาพลวง ปลาแขยง ปลาชะโด ปลากระทิง กุ้ง ฯลฯ
ขวา – ถ้าอยู่แต่กลางแจ้งอย่างเดียว ก็คงไม่ใช่ป่าเขา บางช่วงเลยมีแดดร่มลมตกและอากาศสบายๆตามมา
ล่าง – วิวของเงาต้นไม้ที่กระทบลงผิวน้ำเบื้องหน้าจนเป็นสีเข้มจัด ทุกอย่างร่มรื่นจนทีมงานไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากสูดออกซิเจนให้เต็มปอดท่ามกลางความเขียวชอุ่ม
แม่น้ำหลังสวนยังมีหลายอย่างที่อยากจะบอก
ซ้ายบน – เส้นทางของแม่น้ำหลังสวนคดเคี้ยวไปมาเนื่องจากอำเภอพะโต๊ะเป็นพื้นที่ภูเขา สายน้ำจึงไหลตามแนวเขาไปเรื่อยๆ (จากภาพ ทางซ้ายขึ้นไปด้านบน(ซึ่งไม่เห็นในภาพ)คือ ถนนสาย 4006 (หรือสายราชกรูด-วังตะกอ)ของอำเภอพะโต๊ะที่สร้างขนานกับแม่น้ำหลังสวนเบื้องล่างนี้)
ซ้ายล่าง – เมื่อสักครู่ แพเลี้ยวขวา คราวนี้แพต้องเลี้ยวซ้ายบ้าง
ขวา – ต้นนี้โดดเด่นเรื่องความสูงใหญ่ ที่สำคัญคือเอียงออกมาเกือบถึงกลางแม่น้ำ แต่รากที่แข็งแรงยังคงยืนหยัดลำต้นต่อไป
กลาง – ใช่ว่าการล่องแพจะไม่พบความท้าทายใดๆเลยเพราะบางช่วงก็มีกระแสน้ำเชี่ยวเบาๆจากเกาะแก่งระหว่างทาง แพของทีมงานเลยต้องทรงตัวให้ดีกลางน้ำที่กำลังตีวนไปมา
ล่าง – เรื่องราวปิดท้ายก็คือ ระหว่างทางมีสะพานไม้ที่เชื่อมสองฝั่งลำน้ำเพื่อให้ชาวบ้านได้ข้ามไปมาอย่างสะดวกด้วย
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
366 | 5303 | 297695 |