คำว่า“สุวรรณคูหา”แปลว่า“ถ้ำทอง”หรือ“ถ้ำที่เป็นทองคำ” ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า วัดถ้ำสุวรรณคูหาสร้างในสมัยใด แต่พบหลักฐานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2106 ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (กรุงเวียงจันทร์)ราชอาณาจักรล้านช้าง
ตามจารึกบนแผ่นหินทรายรูปใบเสมาขนาดใหญ่ กล่าวถึงปี พ.ศ.2106 ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ราชอาณาจักรล้านช้าง ได้เข้ามาทำนุบำรุงวัดและสร้างศาสนสถานต่างๆ ทรงพระราชทานวิสุงคามสีมาพร้อมกับพระราชทานนาจังหันให้วัดถ้ำสุวรรณคูหาและมีพระเถระนามว่า“พระมหาอินทรีย์สังวรเจ้า”จำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชพร้อมด้วยพระราชธิดาคือ พระสุก พระเสริม และพระใส ทรงร่วมกันสร้างพระพุทธรูปปางมุจลินทร์คือ“ปางนาคปรก”เพื่อประดิษฐาน ณ วัดถ้ำสุวรรณคูหา และโปรดเกล้าพระราชทานนามพระพุทธรูปให้พ้องกับพระนามของพระองค์ว่า“หลวงพ่อพระไชยเชษฐาธิราช” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง มีขนาดหน้าตักกว้าง 2.20 เมตร สูง 2.30 เมตร ประดิษฐานอยู่บนฐานปูนปั้นรูปพญานาคราช 7 เศียร
วัดถ้ำสุวรรณคูหาเป็นวัดที่สำคัญมากของอาณาจักรล้านช้าง โดยเฉพาะปี พ.ศ.2116 ในรัชสมัยสมเด็จพระสังคลาโพธิสัตว์ไอยภัศรราชสัทธิเดชลือชัย(หรือในทางพงศาวดารลาวเรียกว่า“พระเจ้าสุมังคลาโพธิสัตว์”) ขณะนั้นมีพระสังฆราชประทับอยู่ที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา พระนามว่า“สมเด็จพระสังฆราชสุมังคลาโพธิสัตว์ริริยเจ้า” แสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ทรงเคารพนับถือพระสังฆราชที่ประทับอยู่ที่วัดถ้ำสุวรรณคูหานี้มาก จึงโปรดเกล้าถวายพระนามเหมือนกับพระนามของพระองค์
ในปี พ.ศ.2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงธนบุรีโปรดเกล้าให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(ขณะดำรงบรรดาศักดิ์“พระยาจักรี”)เป็นแม่ทัพใหญ่เข้ายึดเมืองเวียงจันทร์และหลวงพระบาง(แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง)ได้สำเร็จ ทำให้ราชอาณาจักรล้านช้างตกอยู่ในอำนาจการปกครองของราชอาณาจักรสยาม วัดถ้ำสุวรรณคูหาจึงเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามตั้งแต่นั้น
ปัจจุบันวัดถ้ำสุวรรณคูหาเป็นจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนิกชนผู้มาแสวงบุญ กราบไหว้ สักการะบูชา และเที่ยวชม โดยเฉพาะงานประเพณีระหว่างวันขึ้น 13 ค่ำถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี ที่ชื่อว่า“งานสักการะหลวงพ่อพระไชยเชษฐาธิราช ประเพณีบุญข้าวจี่ใหญ่" จึงเป็นที่มาของ“ข้าวจี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก”และ“นางจังหัน”
การมาถ้ำสุวรรณคูหา นอกจากเราจะได้กราบไหว้พระไชยเชษฐาซึ่งเป็นพระประธานในถ้ำสุวรรณคูหาแล้ว ธรรมชาติรอบภูเขาก็ก่อเกิดกิจกรรมที่สร้างความเพลิดเพลินได้ด้วย นั่นคือ การเดินตามเส้นทางธรรมชาติรอบภูเขาและการเข้าถ้ำขึ้นจุดชมวิวด้านบน
- ทีมงานขอเริ่มจุดสำคัญก่อน นั่นคือ ถ้ำสุวรรณคูหา
ซ้ายบน – โบสถของวัดถ้ำสุวรรณคูหาจะสร้างอยู่บริเวณปากถ้ำสุวรรณคูหาเลย
ขวาบน – ภายในโบสถ์ เราจะเห็นถ้ำสุวรรณคูหาเป็นถ้ำตื้น ผู้ที่เคารพและนักท่องเที่ยวต่างเข้ามากราบไหว้พระไชยเชษฐา(ซึ่งเป็นชื่อของพระประธาน)ในโบสถ์หลังนี้ (จากภาพ พระประธาน”พระไชยเชษฐา”สร้างโดยพระไชยเชษฐาธิราชเมื่อประมาณปี พ.ศ.2106 เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ฐานกว้างประมาณ 4 ศอก เป็นปางนาคปรก โดยมีนาคปรก 7 เศียรตั้งอยู่บนฐานชุกชี ฐานสูงจากพื้น 1 เมตร พระไชยเชษฐาเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านอย่างมากและมีงานบุญปิดทองไหว้พระในเดือนสามของทุกปี)
ซ้ายกลางบน – ข้าวจี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (จากภาพ งานประเพณีระหว่างวันขึ้น 13 ค่ำถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 จะมี“งานสักการะหลวงพ่อพระไชยเชษฐาธิราชและประเพณีบุญข้าวจี่ใหญ่” จึงเป็นที่มาของ“ข้าวจี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก”นั่นเอง)
- หลังจากเสร็จสิ้นเรื่องราวถ้ำสุวรรณคูหา ทีมงานขอพาไปลุยกิจกรรมทางธรรมชาติบ้าง เริ่มจากการเดินวนรอบภูเขา
ซ้ายกลางล่าง – เส้นทางเดินรอบภูเขาจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งจนวนกลับมาจุดเดิมที่โบสถ์เป็นการเดินเลียบภูเขาไปเรื่อยๆ รวมระยะทางสองกิโลเมตรกว่า ซึ่งถ้าดูจากภาพซ้ายบนอีกครั้ง จุดเริ่มต้นจะเดินเลียบทางซ้ายของภาพไป นอกจากพืชพันธุ์ต่างๆตลอดทาง นักท่องเที่ยวยังพบถ้ำเล็กถ้ำน้อยบริเวณหลังเขาด้วย (จากภาพ เส้นทางเดินหลังภูเขาบางช่วงเป็นพุ่มไม้ที่เราต้องเดินฝ่าเข้าไป)
ขวากลาง – ทางบางช่วงเป็นก้อนหินระเกะระกะ
ซ้ายล่าง – ขณะที่ทางบางช่วงมีต้นไม้ใหญ่มาขวางและเถาไม้เลื้อยพาดไปมา
- จากทางเดินธรรมชาติ ไฮไลต์อีกอย่างก็คือ ถ้ำด้านหลังเขา ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า ถ้ำใหญ่
ขวาล่าง – เมื่อเราเดินเข้ามา ถ้ำห้องแรกมีลักษณะประมาณนี้ (จากภาพ มีชาวบ้านในละแวกเข้าถ้ำด้วย ทีมงานเลยถือโอกาสให้พี่เขาเป็นนายแบบไปในตัว)
สำรวจถ้ำต่อ
ซ้าย – จากถ้ำห้องแรก เราต้องก้มตัวมุดเข้ารูเล็กๆสู่ถ้ำห้องใหญ่ ซึ่งถ้ำห้องนี้เป็นทางเดินไปยังปากถ้ำบนเขา นักท่องเที่ยวสามารถเห็นทิวทัศน์โดยรอบได้ (จากภาพ ถ้ำห้องใหญ่นี้เป็นทางเดินยาวขึ้นที่สูงไปปากถ้ำด้านบน ตอนนี้จะเห็นเงาของพี่คนเดิมเป็นเงาตะคุ่มเล็กๆยืนชมวิวอยู่บริเวณปากถ้ำเรียบร้อย)
ขวา – จากปากถ้ำด้านบน ถ้าเราหันหลังมองเส้นทางเดินในถ้ำห้องใหญ่อีกครั้ง ก็จะได้บรรยากาศตามนี้ (จากภาพ ใต้อักษร w ตัวสุดท้าย ถ้ามองลงมา จะมีรูถ้ำเล็กๆอยู่ ตรงนั้นก็คือ ช่องที่ทุกคนต้องมุดเข้าออกถ้ำห้องใหญ่)
กลาง – และตำแหน่งของปากถ้ำบนเขา นักท่องเที่ยวจะเห็นต้นไม้สีเขียวพร้อมถนนคอนกรีตที่วิ่งจากประตูหน้าวัดเข้ามา (จากภาพ ในอดีตพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเคยใช้ปากถ้ำนี้เฝ้าสังเกตการณ์ข้าศึกจากด้านบนด้วย)
ล่าง – ถ้ำสุวรรณคูหาอยู่ในภูเขาแนวยาวหนึ่งลูก ซึ่งจุดนี้ยาวมาจากทางขวาของถ้ำสุวรรณคูหาและมีสระปลาขนาดใหญ่อยู่ ธรรมชาติแถบนี้สวยและสงบเงียบดี ทั้งนี้ยังมีศาลาเจ้าแม่กวนอิมอยู่กลางสระอีกมุมด้วย ส่วนใครเพิ่งเดินตามเส้นทางธรรมชาติมา นั่นหมายถึง คุณเดินวนรอบเขาแนวยาวนี้เป็นระยะทางสองกิโลเมตรกว่าแล้ว
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
396 | 5333 | 297725 |