ถ้ำผาหมากฮ่อ

คำอธิบาย


ถ้ำผาหมากฮ่อมีปากถ้ำอยู่บนภูเขา ที่นี่มีศาสนสถานและมีพระจำพรรษาอยู่ สำหรับโพรงถ้ำต่างๆมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในทุกถ้ำ นอกจากนี้ยังมีทางเดินธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวได้ปีนป่ายขึ้นถึงจุดชมวิวบนยอดเขาด้วย ที่สำคัญ ภูเขาลูกนี้มีลิงวอกฝูงใหญ่อาศัยอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นลิงวอกฝูงใหญ่ฝูงเดียวในประเทศไทยที่เหลืออยู่แล้ว



ถ้ำผาหมากฮ่อมีธรรมชาติที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้สบายๆ ทั้งโพรงถ้ำที่ซ่อนตัวอยู่บนเขา จุดชมวิวบนยอดเขาที่เราต้องปีนป่ายขึ้นไป และลิงวอกฝูงสุดท้ายของเมืองไทยที่หลายคนมาให้อาหาร นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานให้ผู้ที่เลื่อมใสได้มากราบไหว้ด้วย
ซ้ายบน – บรรยากาศเบื้องล่างของภูเขาและสำนักสงฆ์(หรือที่นี่คือ วัดถ้ำผาหมากฮ่อ) ส่วนที่เห็นบนเขาคือศาลาปฏิบัติธรรม
- เดี๋ยวเราขึ้นไปสำรวจถ้ำผาหมากฮ่อเลย
ขวาบน – บันไดยาวช่วงแรก
ซ้ายกลางบน – บันไดยาวช่วงที่สอง อาคารทางขวาก็คือ ศาลาปฏิบัติธรรมบนเขา (จากภาพ สำหรับประวัติของศาสนสถานแห่งนี้ เริ่มจากปี พ.ศ.2482 ที่นี่เคยเป็นป่าดงดิบหนาทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หนาแน่น เช่น เสือ หมี เก้ง กวาง เลียงผา งูพิษ ฯลฯ จึงมีชาวบ้านไม่กี่ครอบครัวเข้ามาทำไร่ โดยมาตั้งแต่เช้า พอบ่ายสามก็ต้องรีบกลับเพราะเกรงอันตรายจากสัตว์ร้ายและสิ่งเร้นลับตามความเชื่อในยุคนั้น ต่อมาพระอาจารย์คำมี สุวัณณสิริและบริวารกลุ่มเล็กได้ธุดงค์มาจากจังหวัดสกลนครและมีโอกาสปักกลดพักแรมใกล้ๆถ้ำผาหมากฮ่อ เมื่อชาวบ้านเห็นพระธุดงค์มา ต่างก็ดีใจ เพราะนานๆจะมีพระธุดงค์ผ่านมาแถวนี้ จึงได้นิมนต์พระอาจารย์คำมีและคณะให้พักแรมที่ถ้ำนี้ หลังจากนั้นชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างที่พักให้และเอาใจใส่พระเป็นอย่างดี แต่เป็นธรรมดาของพระธุดงค์ในสมัยก่อนที่ไม่ยึดติดกับสถานที่ พระอาจารย์คำมีและคณะก็เช่นกัน อยู่ที่ถ้ำนี้ไม่นาน ก็ต้องออกธุดงค์แสวงหาที่วิเวกแห่งใหม่ แต่ก็ได้บอกเล่าถึงถ้ำแห่งนี้กับพระธุดงค์รูปอื่นๆให้มาพักที่ถ้ำแห่งนี้ด้วย พระอาจารย์คำมี สุวัณณสิริอยู่ที่ถ้ำนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 ถึง พ.ศ.2485 จากนั้นพระอาจาย์คำตา จันทสาโร ก็อยู่ที่ถ้ำนี้ต่อในปี พ.ศ.2488 ถึง พ.ศ.2495 และพระอาจารย์ภา สุจิณโณ ก็อยู่ที่ถ้ำแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ.2496 ถึง พ.ศ.2500 หลังจากนั้นก็ไม่มีพระมาอยู่ที่ถ้ำแห่งนี้อีกเลย จนปี พ.ศ.2518 พระอาจารย์คำแปลงได้เดินธุดงค์เข้าเขตจังหวัดเลย หลังจากเดินทางไปทั่วภาคอีสานและภาคเหนือ ปีนั้นท่านจำพรรษาที่ภูครั่งหรือภูหมากบ้า วันหนึ่งท่านได้นิมิตฝันว่า มีโยมผู้หญิงมาบอกว่า มีถ้ำแห่งหนึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่นี่ ปากถ้ำอยู่สูง ข้างในถ้ำกว้างพอที่จะอาศัยได้และชวนท่านไปดู หลังจากนั้นท่านจึงออกตามหาถ้ำ แต่ไม่เจอสักที ผ่านไป 2 ปีกลับพบถ้ำโดยบังเอิญ เมื่อพระอาจารย์คำแปลงผ่านมาแถบนี้ ชาวบ้านจึงบอกว่า ที่บนภูเขาลูกนี้มีถ้ำอยู่ พระอาจารย์คำแปลงจึงขึ้นไปสำรวจถ้ำกับพระที่มาด้วยกันอีก 4 รูป เมื่อพบถ้ำแล้ว ก็เป็นที่น่าพอใจ และคล้ายกับนิมิตฝันด้วย เมื่อท่านสำรวจเรียบร้อย ก็ย้อนกลับมาที่พัก ไม่นานก็เกิดนิมิตฝันอีก ครั้งนี้ผู้หญิงคนเดิมมาบอกให้ไปดูถ้ำอีกครั้ง พระอาจารย์คำแปลงได้ตามไปดูและรับนิมนต์ในนิมิตฝันว่าจะมาอยู่ที่ถ้ำแห่งนี้ เมื่อถึงปี พ.ศ.2526 พระอาจารย์คำแปลงจึงตัดสินใจมาอยู่ที่ถ้ำแห่งนี้ พอจะเริ่มสร้างศาสนสถาน ก็ต้องใช้เงิน ชาวบ้านในละแวกต่างก็ช่วยกันสร้าง โดยชาวตลาดในอำเภอวังสะพุงช่วยสละทรัพย์เป็นค่าจ้างแรงงาน เดิมทีความคิดของพระอาจารย์คำแปลงจะสร้างศาสนสถานให้พระ 2-3 รูปได้อาศัยอยู่เท่านั้น แต่ต่อมาได้ขยายออกไปด้วยแรงศรัทธาของศิษยานุศิษย์จนเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน)
ซ้ายกลางล่าง – บรรยากาศภายในศาลาปฏิบัติธรรม
- ศาลาปฏิบัติธรรมจะเชื่อมกับโพรงถ้ำสองโพรง ซึ่งปากทางของทั้งสองถ้ำอยู่ใกล้กัน ถ้ำทางขวาเป็นโพรงตื้น ส่วนถ้ำทางซ้ายเป็นโพรงลึกและมีโถงถ้ำข้างใน เราเริ่มจากโพรงตื้นก่อน
ขวากลาง – ในถ้ำตื้นนี้มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่
- จากนั้นทีมงานขอเข้าถ้ำลึกต่อ ภายในมีโถงถ้ำสองห้อง
ซ้ายล่าง – ถ้ำห้องแรกมีขนาดเล็กกว่า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ นักท่องเที่ยวต่างเข้ามากราบไหว้กัน
ขวาล่าง – ถ้ำห้องต่อมา ต้องเดินลงบันไดถ้ำไปโพรงข้างล่างอีก โถงถ้ำห้องนี้มีขนาดใหญ่และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย




ยังมีรายละเอียดถ้ำอีกนิด
ซ้ายบน – บรรยากาศในถ้ำห้องใหญ่ ธรรมชาติสวยงามเสมอ
- อีกหนึ่งกิจกรรมคือ ทางเดินขึ้นจุดชมวิวบนยอดเขา
ขวาบน – จากประตูศาลาปฏิบัติธรรม ถ้าเรามองไปทางซ้าย จะเห็นบันไดปูนขึ้นจุดชมวิวต่อ แต่บันไดปูนนี้เป็นเพียงช่วงสั้นๆ เพราะหลังจากนั้นต้องปีนป่ายเกาะหินหน้าผาเป็นทางยาวกันเอง
ซ้ายกลาง – ระหว่างทางขึ้น ทั้งมือและเท้าต้องประสานงานให้ดี ค่อยๆเหยียบและจับหิน แล้วดันตัวเองขึ้นไป กำลังวังชาและความระมัดระวังเป็นเรื่องสำคัญ (จากภาพ ด้านหลังของการปีนคือ เหวทั้งนั้น)
- ปีนป่ายพร้อมกับเหงื่อที่ไหลย้อยกลางแดดอยู่นาน ตอนนี้ทีมงานขอตัดบทมาที่ยอดเขาเลย
ซ้ายล่าง – ทางเดินป่าขนาดย่อมด้านบน
ขวาล่าง – จุดนี้เป็นการปีนช่วงท้ายแล้ว ยอดเขาอยู่แค่เอื้อม

 

เราไปดูของกำนัลจากการปีนเขาดีกว่า
บน – ทัศนียภาพจากจุดสูงสุด (อนึ่ง ปัจจุบันมีการสร้างบันไดโครงเหล็กให้เดินสะดวกจนถึงยอดเขา ซึ่งย่นระยะการปีนและผ่อนแรงได้เยอะ คงเหลือช่วงท้ายที่นักท่องเที่ยวต้องเดินป่าและปีนเขาต่ออีกช่วงหนึ่ง)
- ไฮไลต์สำคัญคือ ลิงวอก ซึ่งคาดกันว่า ในเมืองไทยเหลือฝูงใหญ่ฝูงสุดท้ายอยู่ที่นี่
ซ้ายบน – ฝูงลิงวอกกำลังอลเวงชูมือชูไม้ขออาหารจากนักท่องเที่ยว (จากภาพ ข้อมูลคร่าวๆของลิงวอกก็คือ
ลิงวอกมีน้ำหนักประมาณ 3 – 6 กิโลกรัม บริเวณหลัง หัวไหล่ และสะโพกมีสีน้ำตาลปนเทา ใต้ท้องและสีข้างมีสีอ่อนกว่า ขนบริเวณแก้มม้วนวนเป็นก้นหอย ส่วนขนที่หัวชี้ตรงไปด้านหลัง หางยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวลำตัว ผลัดขนราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย อาหารคือ ผัก ผลไม้ ใบไม้อ่อน และแมลง โดยกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศอัฟกานิสถาน ภาคเหนือของอินเดีย เนปาล พม่า ภาคใต้ของจีน ลาว เวียดนาม และไทย)
ขวาบน – ระหว่างทางขึ้นบันไดไปศาลาปฏิบัติธรรม เราจะเห็นลิงวอกเกาะต้นไม้ตามภาพ
ขวาล่าง – ทีมงานขอมอบรางวัลภาพแม่ลูกแห่งปีให้เลย
ซ้ายล่าง – บริเวณลานด้านล่าง เราจะพบเพิงไม้จำหน่ายอาหารลิงยาวติดกันเป็นล็อกๆ อาหารที่แม่ค้านำมาจำหน่ายมีกล้วยน้ำว้า ถั่วลิสง ข้าวโพด และมะละกอ ถ้าใครสั่ง แม่ค้าจะใส่ผลไม้ในถังเล็กให้ เราก็ถือถังไปแจกลิงวอกเองเลย


TODAY THIS MONTH TOTAL
317 5254 297646
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top