ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน

คำอธิบาย


ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนมีชื่อเต็มว่า"ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" แต่หลายคนจะเรียกย่อๆว่า"อ่าวคุ้งกระเบน"

ในอดีตเมื่อประมาณ 435 ถึง 345 ล้านปีก่อนหรือในยุคไซลูเรียน-ดีโวเนียน เขาคุ้งกระเบนและเทือกเขาอัมพวาเคยเป็นเกาะกลางทะเลมาก่อน เวลาต่อมาเมื่อเขาทั้งสองเกิดการผุกร่อนตามธรรมชาติจากความร้อนของแสงอาทิตย์ กระแสลม และการกัดเซาะของน้ำฝนจนกลายเป็นเศษหินน้อยใหญ่ จากนั้นถูกพัดพาลงมาทับถมบริเวณเชิงผาระหว่างเทือกเขาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับในฤดูมรสุมมีคลื่นลมจัด กระแสน้ำทะเลซึ่งมีทิศทางจากเขาบ่อเตยปลายเทือกเขาอัมพวามุ่งไปทางเขาคุ้งกระเบน ได้พัดพาตะกอนทรายไปทับถมบริเวณบ้านเจ้าหลาวและแหลมเสด็จจนเกิดสันทรายขนาดใหญ่เชื่อมต่อเป็นแนวยาว ลักษณะทางธรณีเช่นนี้เรียกว่า สันดอนเชื่อมเกาะและปิดกั้นอ่าวคุ้งกระเบนออกจากทะเลหลวง กลายเป็นห้วงทะเลปิด มีลักษณะคล้ายปลากระเบน เมื่อน้ำทะเลค่อยๆลดระดับลง (เริ่มจากประมาณ 1500 ปีที่ผ่านมา) พื้นที่อ่าวคุ้งกระเบนในปัจจุบันจึงเป็นคุ้งน้ำรูปรี การขึ้นลงของกระแสน้ำได้พัดพาตะกอนดินเลนซึ่งมีขนาดเล็กและเบาว่าตะกอนทรายมาทับถมตามขอบอ่าวคุ้งกระเบนเป็นแนวยาว โดยเฉพาะบริเวณก้นอ่าวที่มีตะกอนดินเลนทับถมมากกว่าบริเวณอื่น ด้วยเหตุนี้ ก้นอ่าวจึงมีสังคมพืชป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์



ตอนยืนอ่านประวัติอ่าวคุ้งกระเบน ข้าน้อยขอยกมือคาราวะหนึ่งจอกกับความมีน้ำอดน้ำทนของธรรมชาติที่นี่เลย กว่าจะปั้นแต่งอ่าวนี้ขึ้นมาได้ ต้องใช้เวลาหลายร้อยล้านปี ขบวนการทั้งหมดเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยววินาทีของชีวิตมนุษย์คนหนึ่งจริงๆ ความพยายามของธรรมชาติครั้งนี้ทำให้ใจของทีมงานก้าวไปก่อนเท้าแล้ว
ซ้ายบน – ตลอดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติในป่าชายเลนของอ่าวคุ้งกระเบนจะมีศาลาพร้อมป้ายคำอธิบายให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้อยู่ทั้งหมด 13 ศาลา ใครสนใจเกร็ดความรู้อะไร ก็เข้าไปอ่านป้ายในแต่ละศาลาได้ สำหรับช่วงต้นทางนี้ ศาลานี้คือศาลา“ดงฝาด”ซึ่งเป็นศาลาที่สาม ส่วนป้ายในศาลาดงฝาดบอกเล่าความหมายระบบรากของไม้ในป่าชายเลน ระบบนี้มีโครงสร้างพิเศษกว่าไม้บกเนื่องจากเป็นรากที่อยู่ในสภาพน้ำท่วมขัง พื้นดินเป็นโคลนหรือทราย ต้นไม้ในป่าชายเลนจึงมีวิวัฒนาการของระบบรากที่แข็งแรงเพื่อช่วยพยุงลำต้นและเรือนยอดที่มีน้ำหนักมากให้ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคงบนดินเลนหลวมๆ จึงเกิดรากพิเศษต่างๆกันดังนี้ 1.รากค้ำยันหรือรากค้ำจุน ได้แก่รากโกงกาง และ 2.รากหายใจรูปแบบต่างๆคือ 2.1 รากหายใจรูปสะพานโค้ง ได้แก่ รากโกงกาง 2.2 รากหายใจรูปเข็มหมุดได้แก่ รากแสม รากลำพู 2.3 รากหายใจรูปหัวเข่า ได้แก่ รากฝาด รากโปรง รากประสัก และ 2.4 รากหายใจแบบพูพอนหรือแบบแผ่นกระดานตั้ง ได้แก่ รากตะบูน รากตะบัน (จากภาพ สำหรับรายชื่อศาลาทั้งหมด เริ่มจากศาลากำเนิดอ่าวคุ้งกระเบน ศาลาตอแสม ศาลาดงฝาด ศาลาป่าปลูก ศาลาปู่แสม ศาลาชมวิว ศาลาหมูดุด ศาลาคายัก ศาลาโกงกาง ศาลาป่าไม้-ประมง ศาลาลำพู ศาลาประมง ไปจนถึงศาลาที่สิบสามคือ ศาลาเชิงทรง)
ขวาบน – บรรยากาศตามรายทางของต้นโกงกางในป่าชายเลน
ซ้ายกลาง – “วงเวียนปู่แสม”เป็นทางเดินไม้บริเวณศาลาที่ห้า(หรือศาลาปู่แสม) มีลักษณะเป็นสี่แยกที่เชื่อมสี่เส้นทางคือ ถ้าเลี้ยวซ้าย(จากภาพนี้)ไป จะเป็นทางเดินไม้ไปทางเดินเลียบริมทะเลต่อ (ซึ่งเราควรเลือกเส้นทางนี้ก่อนเพื่อจะได้เก็บครบทุกเส้นทาง) ถ้าตรงไปก็ไปสะพานแขวน แต่ถ้าเลี้ยวขวาก็เป็นเส้นทางไปยังทางออกหรือจุดเริ่มต้นได้ (จากภาพ วงเวียนปู่แสมสร้างขึ้นล้อมต้นแสมขาวขนาดใหญ่ไว้ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า“ปู่แสม” แต่ปัจจุบันต้นแสมขาวผุกร่อนไปตามกาลเวลาและเหลือเพียงซากตอไม้)
ซ้ายล่าง – ทางเดินไม้ช่วงต่อมาเป็นป่าโกงกางทั้งสองฟาก ให้ร่มเงาได้ดีท่ามกลางแดดจ้า เส้นทางนี้จะพานักท่องเที่ยวไปออกทางเดินเลียบริมทะเล
ขวากลาง – บรรยากาศพื้นน้ำของป่าโกงกางที่กระทบแสงแดด
ขวาล่าง – ทีมงานเดินออกมาจนพบทางเดินไม้ริมทะเลแล้ว (จากภาพ ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่นั่งเรียงรายอยู่ริมน้ำ ได้ฟีลผองเพื่อนมากๆ)




เก็บไฮไลต์ของอ่าวคุ้งกระเบนต่อ
ซ้ายบน – ทิวทัศน์ของทางเดินช่วงนี้แอบสวยเบาๆ
ขวาบน – บริเวณนี้คือสะพานแขวน นักท่องเที่ยวต้องเดินข้ามสะพานไป
ซ้ายกลาง – เส้นทางรอบข้างทำให้เราเห็นระบบรากไม้หน้าตาประหลาดๆ
ขวากลางบน – “อนุสรณ์หมูดุด”อยู่บริเวณศาลาที่เจ็ด(หรือศาลาหมูดุด) (จากภาพ ในอดีตทะเลบริเวณนี้เคยมีพะยูนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก (ภาษาพื้นบ้านเรียกพะยูนว่า“หมูดุด”เพราะกินอาหารคล้ายวัวเล็มหญ้าหรือ“ดุด” บางคนก็เรียกว่า“วัวทะเล”) อาหารหลักของพะยูนคือ หญ้าทะเล หญ้าที่พะยูนกินได้แก่ หญ้าผมนางและหญ้าชะเงาใบยาว(หรือว่านน้ำ)ซึ่งมีมากมายในอ่าวคุ้งกระเบน ครั้งล่าสุดที่พะยูนเข้ามากินอาหารก็เมื่อปี พ.ศ.2549 หลังจากนั้นไม่มีรายงานการพบพะยูนเข้ามาหากินในอ่าวคุ้งกระเบนอีกเลย สาเหตุเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งหญ้าทะเลในอ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งเป็นอาหารหลักของพะยูนและเป็นแหล่งอาศัย หลบภัย วางไข่ ตลอดจนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนนานาชนิดมีปริมาณลดลงนั่นเอง)   
ซ้ายล่าง – “หอดูนก”มีความสูง 15 เมตร (จากภาพ เมื่อนักท่องเที่ยวขึ้นมาถึงชั้นบน เราจะพบเห็นนกสีสันสวยงามกว่า 120 ชนิดที่ออกหากินในอ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยนกที่พบบ่อยๆได้แก่ นกยางเปีย นกกินเปี้ยว นกยางเขียว นกอีแพรดแถบอกดำ นกจาบคาเล็ก ฯลฯ และในช่วงปลายฝนต้นหนาว ยังมีนกอพยพย้ายถิ่นจากไซบีเรียมาหาอาหารจำนวนมาก ก่อนจะเดินทางไปที่อื่นๆต่อด้วย เช่น นกอีก๋อยเล็ก นกอีก๋อยใหญ่ นกยางกรอกพันธุ์จีน นกยางโทนน้อย ฯลฯ หอดูนกนี้จึงเปรียบเสมือนห้องเรียนธรรมชาติที่เราสามารถใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้พฤติกรรมของนกและความรู้เกี่ยวกับการสังเคราะห์แสงของเรือนยอดต้นไม้ ซึ่งช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนได้)
- ตามทีมงานขึ้นที่สูงกัน
ขวากลางล่าง – ระหว่างที่เดินขึ้นมา เราหันไปมองบันไดสักเล็กน้อย
ขวาล่าง – บรรยากาศชั้นบนสุด (จากภาพ ตรงกลางเป็นบันไดที่นักท่องเที่ยวเดินขึ้นมา รอบข้างจะมีพื้นที่ให้นั่ง ขณะที่ทางขวาเป็นจุดชมวิวท้องทะเลของอ่าวคุ้งกระเบน)

 


 

ยังอยู่บนหอดูนก
บน – ทิวทัศน์กว้างไกลและสะอาดตาของอ่าวคุ้งกระเบน(บนหอดูนกชั้นบนสุด)
- คราวนี้ได้เวลาลงจากหอดูนก แล้วไปอื่นต่อ
ซ้ายบน – ทางเดินช่วงถัดมาเป็นจุดเรียนรู้ชื่อต้นไม้ที่หลายคนอาจไม่รู้จัก นักท่องเที่ยวจะได้เห็นทั้งต้นและคำอธิบายไปพร้อมๆกัน สำหรับชื่อต้นไม้มีตีนเป็ดทราย แคทะเล หงอนไก่ทะเล ตาตุ่มทะเล ต่อใส้ และมะนาวผี
ขวาบน – ทางเดินไม้บริเวณนี้มีต้นไม้ขึ้นขวางอยู่
ซ้ายกลาง – สะพานไม้
ซ้ายล่าง – ทางเดินไม้ในป่าชายเลนช่วงท้ายก่อนจะถึงทางออก
- เดินชมป่าชายเลนมาตั้งนาน ได้เวลาแนะนำข้าวของบ้าง
ขวาล่าง – จากถนนใหญ่ เมื่อผ่านประตูอ่าวคุ้งกระเบนมา จะเป็นถนนคอนกรีตเข้าสู่ด้านใน ตลอดขวามือของถนนคอนกรีตมีแผงสินค้าเรียงเป็นแถวยาวอยู่ประมาณ 10 ร้าน ลักษณะแผงเป็นเต็นต์พับ โต๊ะ ร่มตลาดนัด ถังแช่น้ำแข็ง และซุ้ม ขณะเดียวกัน ทางออกจากทางเดินไม้ของอ่าวคุ้งกระเบนก็มีศาลาจำหน่ายเครื่องดื่มและของกินเล่นอยู่หนึ่งร้านเช่นกัน
โซนถนนคอนกรีต - หมวดชากาแฟและน้ำผลไม้ติ่งฟงมีนมเย็น คาปูชิโน มอกค่า ลาเต้ โอวัลติน โกโก้ โอเลี้ยง นมสด เนสกาแฟ ชาเขียว ชาเนสกาแฟ ชาไข่มุก ชาไทย ชามะนาว แคนตาลูป แอปเปิลเขียว กีวี่ องุ่น บลูเบอร์รี เผือก น้ำส้ม สตรอว์เบอร์รี เผือก โยเกิร์ต และแดงโซดา ผลไม้ดองมีองุ่น มะดัน มะยม มะม่วง ลูกท้อ และมะกอก ผลไม้สดและหั่นชิ้นมีมะพร้าวเผา มะพร้าวสด
สับปะรด แตงโม และฝรั่งแช่บ๊วย ของกินเล่นมีขนมจาก ข้าวโพดคลุกเนย และไอศกรีมหลอด ของปิ้งมีลูกชิ้นหมู ไข่ทรงเครื่อง ลูกชิ้นเนื้อ และไส้กรอก ของกินทั่วไปมีหอยนางรมซีฟู้ด ยำปูม้า ปูม้านึ่ง และปูม้าสด สินค้าที่เป็นของฝากมีกะปิ ดอกเกลือ พริกไทยดำ สละสุมาลี ปลาสีเสียดแห้ง ปลาข้าวสารแห้ง หมึกกะตอยไข่และหมึกแบนเสียบไม้ ส่วนลังแช่น้ำแข็งมีน้ำใบเตยขวด น้ำสำรองขวด น้ำมะพร้าวขวด น้ำเก๊กฮวยขวด ยันฮีวิตามินวอเตอร์ น้ำดื่มสไมล์ เป๊ปซี่ น้ำมะพร้าวเมจิกฟาร์ม โออิชิ(รสต่างๆคือ น้ำผึ้งมะนาว ต้นตำรับ องุ่นเคียวโฮ และแตงโม) อิชิตัน(รสน้ำผึ้งมะนาวและรสจมูกข้าวญี่ปุ่น) และสปอนเซอร์ ขณะที่สินค้าอุปโภคมีผ้าเย็น เสื้อมัดย้อมสตรี และสินค้าที่ระลึก(รวมทั้งเครื่องประดับ)คือ เปลือกหอยประดับ โมบายเปลือกหอย สายรัดข้อมือซิลิโคน สายข้อมือหอยเบี้ย ดินสอที่ระลึก พวงกุญแจ กำไลหนัง กำไลลูกปัด ต่างหูหอย และตุ๊กตาเปลือกหอย
ศาลาทางออก - ของกินเล่นและขนมขบเคี้ยวมีดังนี้ สละลอยแก้ว เลย์(รสต่างๆคือ ซาวครีมและหัวหอม โนริสาหร่าย และเอ็กซ์ตราบาร์บีคิว) เอฟเอฟ(รสพริกหยวกและรสมะเขือเทศ) ซีมอนสอดไส้ช็อกโกแลต อาริงาโตรสดั้งเดิม และโปเต้ ในตู้เย็นยังมี
สแปลชรสส้ม ไวตามิลค์สูตรออริจินอล มินิทเมดพัลพี โค้ก เรดดี้บูตรสโกจิเบอร์รี แฟนต้า(น้ำเขียว น้ำแดง และน้ำส้ม) ดัชมิลล์โฟร์อินวันรสสตรอว์เบอร์รี คาราบาว เอ็มร้อยห้าสิบ น้ำผลไม้กาโตะรสแตงโม โออิชิ(รสต่างๆคือ ต้นตำรับ น้ำผึ้งมะนาว และองุ่นเคียวโฮ) อิชิตันรสน้ำผึ้งมะนาว น้ำดื่มน้ำทิพย์ รวมทั้งไอศกรีมวอลล์ ของใช้มีทิชชู่เซลล็อกซ์


TODAY THIS MONTH TOTAL
509 5446 297838
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top