ป้อมไพรีพินาศตั้งอยู่บนภูเขาแหลมสิงห์ ลักษณะเป็นป้อมปืน ก่ออิฐถือปูน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2377 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์โปรดเกล้าให้พระยาอภัยพิพิธเป็นผู้สร้างป้อมบริเวณเขาแหลมสิงห์ชื่อว่า“ป้อมภัยพินาศ”และให้จมื่นราชามาตย์(ขำ บุนนาค)เป็นแม่กองสร้างป้อมบริเวณปากน้ำแหลมสิงห์ ชื่อว่า“ป้อมพิฆาตข้าศึก”เพื่อเตรียมรับศึกญวนที่จะยกมาทางทะเล
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังทรงผนวชเป็นพระวชิรญาณเถระ ได้เสด็จมาเมืองจันทบุรีและพระราชทานนามชื่อป้อมบริเวณปากน้ำแหลมสิงห์ว่า“ป้อมพิฆาตปัจจามิตร”และป้อมบนเขาแหลมสิงห์ว่า“ป้อมไพรีพินาศ” ต่อมาในปี พ.ศ.2419 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองจันทบุรี พบว่า ข้างบนยอดเขานั้นมีเจดีย์ที่พระพิพิธไสยสุนทรการ(เจ้าเมืองตราด)และชาวบ้านช่วยกันสร้าง และเรียกชื่อว่า“เจดีย์อิสรภาพ”
ปัจจุบันกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานป้อมไพรีพินาศและเจดีย์อิสรภาพในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2545
เจ้าหน้าที่ที่ดูแลตึกแดงพูดทิ้งท้ายว่า“อย่าลืมไปดูป้อมไพรีพินาศและเจดีย์อิสรภาพด้วยนะครับ ที่นั่นมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องพิพาทดินแดน เผื่อคุณจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์” ก็ในเมื่อพี่เขากำชับมาแบบนี้ มีหรือที่ทีมงานจะไม่สานต่อ
บน – ป้อมไพรีพินาศเป็นป้อมปืนอยู่บนยอดเขาแหลมสิงห์ ด้านบนสุดของป้อมเป็นที่ตั้งเจดีย์อิสรภาพ ซึ่งสร้างเพื่อฉลองการคืนดินแดนจากฝรั่งเศส หลังจากยึดเมืองจันทบุรีเป็นเวลานานกว่า 11 ปี (จากภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้จัดงานฉลองเมืองจันทบุรีหลังจากที่ทหารฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากเมืองจันทบุรี ต่อมา พระยาพิพิธไสยสุนทรการ(ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด)และชาวจันทบุรีจึงร่วมใจสร้างเจดีย์ไว้บนยอดเขาแหลมสิงห์ โดยมีลักษณะเป็นทรงระฆังอยู่บนฐานประทักษิณสูง และเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า“เจดีย์อิสรภาพ”)
ขึ้นบันไดไปชมเจดีย์อิสรภาพโดยรอบก่อน
ซ้ายบน – ด้านหน้าเจดีย์อิสรภาพ
ขวาบน – ด้านหลังเจดีย์อิสรภาพ
ซ้ายกลาง – ทางเดินรอบเจดีย์อิสรภาพช่วงด้านหน้า
ขวากลาง – ฐานประทักษิณของเจดีย์อิสรภาพ
ซ้ายล่าง – ป้อมไพรีพินาศ ปัจจุบันเหลือเพียงซากพอให้สังเกตเห็นเล็กน้อยและสันนิษฐานว่าคือ คลังกระสุน ซึ่งบริเวณที่ปืนใหญ่สองกระบอกตั้งอยู่นี้ เคยเป็นป้อมปืนหรือป้อมไพรีพินาศมาก่อน (จากภาพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้เกิดกรณีพิพาทกับญวนด้วยเรื่องกบฏเจ้าอนุวงศ์ นครเวียงจันทร์ ที่หนีไปพึ่งญวน และเกรงว่า ญวนจะมาตีไทยทางด้านจันทบุรี จึงให้ย้ายตัวเมืองจากบ้านลุ่มมาตั้งเมืองใหม่ที่บ้านเนินวง ขณะเดียวกันในปี พ.ศ.2337 พระองค์โปรดเกล้าให้พระยาอภัยพิพิธ เจ้าเมืองจันทบุรี สร้างป้อมปืนขึ้น โดยเป็นป้อมก่ออิฐฉาบปูน กว้าง 1 เมตรและยาว 208 เมตร เพื่อเตรียมรับศึกญวนทางทะเล ต่อมาในปี พ.ศ.2401 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จประพาสเมืองจันทบุรีพร้อมด้วยพระราชโอรส เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ (รัชกาลที่ 5) และสอบถามชื่อป้อม แต่ไม่มีผู้ใดทราบ จึงทรงพระราชทานนามชื่อป้อมบนเขาแหลมสิงห์นี้ว่า“ป้อมไพรีพินาศ”และชี่อป้อมที่หัวหาดปากน้ำแหลมสิงห์ว่า“ป้อมพิฆาตข้าศึก”(หรือ“ป้อมพิฆาตปัจจามิตร” ซึ่งปัจจุบันฝรั่งเศสสร้างตึกแดงทับป้อมพิฆาตปัจจามิตรไว้))
ขวาล่าง – บนยอดเขาแหลมสิงห์มีทิวทัศน์ที่สวยงาม เราสามารถเห็นปากแม่น้ำจันทบุรี(หรือปากน้ำแหลมสิงห์)และสะพานตากสินมหาราชอย่างชัดเจน และตรงนี้เองที่เป็นเหตุผลว่า ทำไมป้อมไพรีพินาศต้องอยู่บนเขาแหลมสิงห์
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
428 | 5365 | 297757 |