ในอำเภอปางมะผ้ามีถ้ำทั้งหมด 160 แห่ง แต่มีจำนวน 30 ถ้ำที่พบว่า มีโลงไม้โบราณอยู่ ชาวบ้านเรียกว่า“ถ้ำผีแมน” คำว่า“ผีแมน”เป็นภาษาพื้นเมืองของชาวไทยใหญ่และลาหู่ คำว่า“แมน”หมายถึง“โผล่” จากคำบอกเล่าต่อๆกันมาของผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าว่าในอดีต ชาวไร่มักพบเห็นตัวลึกลับ รูปร่างคล้ายมนุษย์และสูงใหญ่ ไม่สวมเสื้อผ้า มีดวงตาสองข้างอยู่ในแนวตั้ง พบเห็นในไร่จากระยะไกล เมื่อพยายามเข้าใกล้ ก็จะผลุบหายไปและไปโผล่ไกลออกไป คือ“ผลุบๆโผล่ๆ” จึงเรียกว่า“ผีโผล่”หรือ“ผีแมน”และเชื่อกันว่า อาศัยอยู่ตามถ้ำและคอยแอบลักขโมยข้าวเปลือกของชาวไร่ไปกินในถ้ำเนื่องจากมีหลักฐานการพบ“แกลบ”อยู่ในถ้ำต่างๆ
การศึกษาทางโบราณคดีมานุษยวิทยาและวงปีไม้ของโลงผีแมนพบว่า เป็นโลงศพไม้ของคนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 1,000-2,500 ปี หรือตั้งแต่ต้นพุทธกาลมาจนถึงสุโขทัย ลักษณะของคนพวกนี้คล้ายกับคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน แต่ไม่เหมือนคนจีน ตัวโลงผีแมนทำจากไม้สักทั้งต้น ความยาวมีทั้ง 7 เมตร 6 เมตร และ 3 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.0-1.5 เมตร เส้นรอบวงประมาณ 2.5-3.0 เมตร แล้วนำไม้มาผ่าครึ่งตามแนวยาวเป็น 2 ซีก จากนั้นขุดเนื้อไม้ตรงกลางออกคล้ายเรือและนำมาประกบกัน ส่วนหัวท้ายของโลงมีการแกะสลักเป็นรูปทรงต่างกัน โลงไม้จะนำไปตั้งวางไว้บนเสาและคาน พบมากในถ้ำที่อยู่บนหน้าผาสูง
โลงผีแมนในประเทศไทยที่พบในอำเภอปางมะผ้าและจังหวัดกาญจนบุรีคล้ายกับที่พบในจีน พม่า ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฯลฯ ดังนั้น โลงผีแมนในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าและสำคัญสำหรับการรักษาไว้เพื่อศึกษาค้นคว้าและสืบค้นความเป็นมาของชาติพันธุ์ที่ยังคงเป็นปริศนาต่อไป
ถ้ำต่างๆของอำเภอปางมะผ้ามีการค้นพบโลงไม้โบราณ 300 กว่าโลง ซึ่งในถ้ำผีแมนที่เรากำลังจะไปชม ก็มีโลงไม้โบราณอายุราว 1,000-2,500 ปีเช่นกัน โลงเหล่านี้ทำจากไม้สักทั้งต้น แต่สิ่งที่คาใจทีมงานก็คือ มนุษย์เหล่านี้เป็นใครและทำไมต้องนำโลงไม้ขึ้นไปอยู่ตามโพรงถ้ำหรือซอกสูงๆบนหน้าผาด้วย
บน – เส้นทางเดินขึ้นไปชมถ้ำผีแมนเป็นทางเดินธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีทางลาดคอนกรีตใดๆ มีทั้งพื้นดินและพื้นก้อนหิน แต่ช่วงที่เริ่มเป็นทางขึ้นชัน จะมีราวเหล็กให้นักท่องเที่ยวจับ แล้วเดินเหยียบก้อนหินขึ้นไป ยกเว้นช่วงท้ายก่อนถึงถ้ำมีการสร้างบันไดเหล็กเพื่อความสะดวก (จากภาพ ตอนนี้ทีมงานกำลังเดินขึ้นไปและมองถ้ำผีแมนจากด้านล่าง บริเวณเงาถ้ำดำๆริมหน้าผาบนเขาก็คือ“ถ้ำผีแมน”ซึ่งมีโลงไม้สักอยู่นั่นเอง)
ถ้ำผีแมนที่นี่มีทั้งหมด 3 ถ้ำคือ ถ้ำหมายเลข 1 ถ้ำหมายเลข 2 และถ้ำหมายเลข 3 เราเริ่มต้นจากถ้ำหมายเลข 1 ก่อน
ซ้ายบน – บรรยากาศบางส่วนของถ้ำหมายเลข 1 ถ้ำนี้มีโพรงถ้ำด้านในที่ลึกและใหญ่ที่สุด ส่วนถ้ำหมายเลขอื่นเป็นเพียงโพรงถ้ำตื้นๆหรือซอกตามผนังถ้ำมากกว่า
ขวาบน – ภาพนี้คือ ตำแหน่งของโลงผีแมนในถ้ำหมายเลข 1 เราจะเห็นไม้สักกองเกยอยู่ในมุมมืดด้านในและมีกระดานเนื้อหาของโลงผีแมนให้นักท่องเที่ยวอ่านอยู่ทางซ้าย ส่วนตรงกลางคือ ป้ายแขวนสีขาวห้ามเข้าเขตโลงผีแมน
ขวากลาง – ภาพของโลงผีแมนในมุมมืดทั้งหมดที่แสงส่องมาไม่ถึง ทุกคนยืนดูและถ่ายภาพได้จากภายนอกเท่านั้นเพราะอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย จึงขอให้นักท่องเที่ยวให้ความร่วมมือตามป้ายที่แขวนไว้
- คราวนี้ออกจากถ้ำหมายเลข 1 เพื่อไปถ้ำหมายเลข 2 ต่อ ทั้งสองถ้ำอยู่ไม่ห่างกันเท่าไหร่
ซ้ายกลาง – เส้นทางเดินจากถ้ำหมายเลข 1 ไปถ้ำหมายเลข 2 ต้องย้อนกลับออกมาจุดตั้งต้นก่อน จากนั้นเดินลัดเลาะโพรงริมหน้าผาไปเรื่อยๆตามภาพ
ซ้ายล่าง – ถ้ำหมายเลข 2 เป็นโพรงตื้นข้างผนังซ้ายมือของเส้นทางเดิน เราสามารถเห็นโลงไม้สักชัดเจนเนื่องจากมีแสงส่องถึง ทุกคนยืนมองได้จากภายนอกเช่นเคย
- มุ่งหน้าสู่ถ้ำผีแมนหมายเลข 3 ซึ่งอยู่ใกล้ๆ
ขวาล่าง – สำหรับโลงผีแมนของถ้ำท้ายสุดนี้อยู่บนชะง่อนผาด้านบน แต่มีบันไดเล็กๆให้เราขึ้นไปชมโลงไม้สักใกล้ๆได้ ถ้าใครสนใจ
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
367 | 5304 | 297696 |