วัดจุฬามณีตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน หมู่ที่ 2 ตำบลท่าทอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ห่างจากเมืองพิษณุโลกไปทางทิศใต้ตามถนนบรมไตรโลกนารถประมาณ 5 กิโลเมตร ในสมัยโบราณจะนิยมใช้เส้นทางน้ำกัน เพราะรวดเร็วกว่าทางบก โดยเส้นทางน้ำมีระยะทางราว 8 กิโลเมตร ในปัจจุบัน ที่ดินวัดมี 73 ไร่ 1 งาน 86 ตารางวา โดยส่วนที่เหลือเป็นบ้านเรือนราษฎรและสาธารณะประโยชน์ เช่น โรงเรียน ถนน ฯลฯ
วัดนี้เป็นโบราณสถานที่มีมาก่อนสมัยสุโขทัย เคยเป็นที่ตั้งของเมืองสองแควเก่า ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างวิหารและเสด็จออกผนวชที่วัดนี้เมื่อปี พ.ศ.2007 เป็นเวลา 8 เดือน 15 วัน โดยมีข้าราชบริพารออกบวชตามเสด็จถึง 2,348 รูป ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญคือ ปรางค์แบบขอมขนาดย่อ ฐานกว้าง 11 เมตร ยาว 15 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้าก่อเป็นแบบตรีมุข ตั้งบนฐานสูงซ้อนกันสามชั้น แต่ละชั้นย่อมุมไม้ยี่สิบ มีปูนปั้นประดับลวดลายตามชั้น ตอนล่างแถบหน้ากระดานและบัวหน้ากระดานเป็นลายหงส์ เหมือนกับองค์ปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี ในสมัยที่ยังสมบูรณ์อยู่ วัดนี้มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ใกล้เคียงกันมีมณฑปพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้สร้างขึ้น สำหรับแผ่นจารึกหน้ามณฑปมีใจความสรุปได้ว่า เมื่อปี พ.ศ.2221 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีพระบรมราชโองการให้ใช้ผ้าทาบรอยพระพุทธบาทสลักลงบนแผ่นหิน พระราชทานไว้เป็นที่กราบไหว้ของฝูงชน
ในระหว่างสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จธุดงค์ไปเมืองพิษณุโลก สวรรค์โลก และสุโขทัย ทรงนำศิลาจารึกหลักที่ 1 และพระแท่นมนังคศิลามายังกรุงเทพฯ เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ได้เสด็จอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2409 และทรงหาวัดจุฬามณี แต่ไม่พบ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและได้ประทับที่เมืองพิษณุโลก ทรงหล่อพระพุทธชินราชจำลองมาประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร ต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร เสด็จตรวจราชการมณฑลฝ่ายเหนือและพบวัดจุฬามณี ซึ่งกลายเป็นวัดร้างพร้อมทั้งการพบศิลาจารึกหลังมณฑป จึงคัดอักษรส่งให้หอสมุดขิรฌาณ วัดจุฬามณีจึงเป็นที่รู้จักขึ้นมาก
สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเมืองเหนือและราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง มีข้อความที่เกี่ยวกับวัดจุฬามณีดังนี้... "วัดจุฬามณียังมีที่ดูได้มาก ของควรดูอยู่ในลานกว้าง 1 เส้น 4 วา ยาว 217 วา มีกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐสูง ทิศตะวันตกมีอุโบสถก่ออิฐ ด้านตะวันออกมีวิหารใหญ่ผนังอิฐแต่เสาเป็นแลง มีผนังมณฑป มีศิลาจารึกภายในซุ้ม วัดนี้เป็นวัดโบราณที่มีอยู่ก่อนสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงมาปฏิสังขรณ์วิหารเพิ่มเติม เจดีย์กลางยังคงมีอยู่แต่เดิม..."
วัดจุฬามณีเป็นวัดร้างจนถึง พ.ศ.2473 จึงมีผู้ศรัทธามาสร้างศาลาและอาคาร ขณะเดียวกัน พระสงฆ์ก็เริ่มมาจำพรรษากัน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 กันยายน พ.ศ.2479 และดำเนินการบูรณะให้มั่นคงในปี พ.ศ.2530
เรื่องราวของวัดจุฬามณีย้อนกลับไปไกลตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ทรงสร้างวิหารและเสด็จออกผนวชที่วัดจุฬามณีเมื่อปี พ.ศ.2007 เป็นเวลา 8 เดือน 15 วัน โดยมีข้าราชบริพารออกบวชตามเสด็จถึง 2,348 รูป นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีศาสนสถานต่างๆที่นักท่องเที่ยวสามารถเห็นได้ครบในคราวเดียว
บน – เมื่อทุกคนเข้ามาในวัดจุฬามณี ก็จะพบบรรยากาศโปร่งตาและมีโบราณสถานทั้งหมดตามภาพ (จากภาพ ขวาสุดมุมไกลเหนืออักษร m คือ มณฑป ขยับออกมาด้านนอกที่เป็นฐานอิฐเหนืออักษร arnderntang.com คือ วิหาร ส่วนด้านหลังวิหารเหนืออักษร www คือปรางค์ประธาน และซ้ายสุดที่อยู่หลังปรางค์ประธานคือ อุโบสถ ขณะที่แนวอิฐเรียงยาวใต้อักษร www ก็คือ กำแพงแก้ว)
- และนับจากนี้ ทีมงานขอไล่เรียงจากขวาสุดเข้าไปแล้วกัน
ซ้ายบน – มณฑป (จากภาพ มณฑปตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปรางค์ โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยอิฐถือปูนและเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาท เมื่อ พ.ศ.2222 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้เอาผ้าวัดรอยพระพุทธบาทและแผ่นศิลาไปประดิษฐานไว้ที่วัดจุฬามณี ลักษณะมณฑปเป็นทรงสี่เหลี่ยมขนาดฐานกว้าง 5.30 เมตร มีเสาอยู่ด้านใน 12 ต้น รองรับหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้ายื่นออกมาแสดงถึงการรับซุ้มหน้าบันและหลังคา ซึ่งน่าจะลดหลั่นกันอย่างน้อย 2 ชั้น ด้านหลัง(ทิศตะวันตก)มีซุ้มเล็ก ส่วนบนหน้าบันลด 2 ชั้นและประดิษฐานศิลาจารึก ลักษณะรูปแบบและโครงสร้างสถาปัตยกรรมทั้งอาคารและมุขเป็นศิลปะสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ต่อมาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและได้ประทับที่เมืองพิษณุโลก ทรงหล่อพระพุทธชินราชจำลองมาประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร ต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร เสด็จตรวจราชการมณฑลฝ่ายเหนือและพบวัดจุฬามณีเป็นวัดร้างพร้อมทั้งการค้นพบศิลาจารึกหลังมณฑป จึงคัดอักษรส่งให้หอสมุดขิรฌาณ วัดจุฬามณีจึงเป็นที่รู้จักขึ้นมาก ส่วนศิลาจารึกเป็นอักษรไทยสมัยอยุธยา ปี พ.ศ.2222 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่ทรงกล่าวถึงการก่อสร้างวัดจุฬามณีของพระบรมไตรโลกนาถ อีกทั้งพระนารายณ์ทรงโปรดให้จำลองพระพุทธบาทมาประดิษฐานไว้ที่นี่พร้อมกับผู้ดูแล รวมถึงการทำศิลาจารึกด้วย)
ขวาบน – รอยพระพุทธบาทภายในมณฑป
ซ้ายกลาง – วิหารตั้งอยู่ในกำแพงแก้วทางทิศตะวันออกของปรางค์ประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีขนาดกว้าง 8.90 เมตร ยาว 27.56 เมตร ก่อด้วยอิฐและยังมีแนวผนังที่หลงเหลืออยู่ทางด้านหลังบริเวณทิศใต้ สูง 3.75 เมตร วิหารแต่ละห้องเจาะเป็นช่องๆ เพื่อให้แสงผ่านเข้าได้ ซึ่งเป็นลักษณะศิลปะอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง เช่น วัดนางพญา จากหลักฐานพระราชพงศาวดารระบุว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสร้างวิหารวัดจุฬามณี พ.ศ.2007 และมีการสร้างวิหารใหม่ทับลงไปเมื่อปี พ.ศ.2495 (จากภาพ ใต้อักษร www.karnderntang.com ลงมาทั้งหมด เราจะเห็นฐานอิฐเป็นแนวยาว ซึ่งก็คือ วิหาร นั่นเอง)
ซ้ายล่าง – ผนังของวิหารที่ยังหลงเหลืออยู่ทางทิศใต้ (จากภาพ อาคารที่เห็นอยู่บนวิหารคือ วิหารหลวงพ่อเพชร ซึ่งสร้างทับอยู่บนวิหารเก่า)
ขวาล่าง – ปรางค์ประธาน (จากภาพ ปรางค์ประธานวัดจุฬามณีเป็นปรางค์ที่ตั้งอยู่ในกำแพงแก้วเกือบกึ่งกลาง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีมุขต่อยื่นออกไปจากปรางค์ประธานย่อมุมเช่นเดียวกับส่วนฐาน มีขนาด 14.5 x 18.50 เมตร ลักษณะมุขเป็นแบบตรีมุข ก่อด้วยศิลาแลง ปรางค์และมุขหน้ารองรับด้วยฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย 3 ชั้น แต่ละชั้นคั่นด้วยฐานหน้ากระดาน
ฐานชั้นที่ 1 สูง 1.56 เมตร
ฐานชั้นที่ 2 สูง 1.10 เมตร
และฐานชั้นที่ 3 สูง 1.83 เมตร
ฐานที่รองรับเรือนธาตุของปรางค์สูงกว่าฐานของมุข 1.75 เมตร และ 1.50 เมตร ลักษณะเรือนธาตุของปรางค์สอบขึ้นด้านบน ปรางค์ประธานมีประตูหลอกทั้ง 3 ด้าน ยกเว้นทิศตะวันออกที่เป็นทางเข้าสู่ปรางค์ ซุ้มหน้าบันของประตูมี 2 ชั้น ลดหลั่นกัน มีลายปูนปั้น ซึ่งส่วนใหญ่หลุดออกไป อย่างไรก็ตามยังเป็นรูปนาคสะดุ้ง มีรวยระกา ตรงมุมทั้งสองด้านปั้นเป็นรูปนาคเจ็ดเศียร ยอดปรางค์หักตั้งแต่ชั้นอัสดง ซึ่งยังมีลวดลายบัวหงายและหน้ากระดานที่เป็นรูปดอกไม้ต่อเนื่องภายในกรอบสี่เหลี่ยมยังเหลือบางส่วน ตรงส่วนปรางค์ทิศตะวันออกที่ติดกับมุขก็มีซุ้มลด 2 ชั้นเช่นเดียวกัน แต่ลวดลายหลุดไปเกือบหมด เป็นที่น่าสังเกตว่า พบนาคเจ็ดเศียรสำริด ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระพุทธชินราช ลักษณะน่าจะเป็นราวบันไดแบบที่พบในสถาปัตยกรรมเขมร สำหรับมุขหน้า(ทิศตะวันออก)ต่อเนื่องออกไปจากปรางค์เป็นตรีมุข มีประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออกและทิศใต้ ส่วนทางทิศเหนือปิดทึบ ซึ่งอาจปิดในภายหลังเพราะที่วัดมหาธาตุลพบุรี เปิดทั้ง 3 ด้าน ขณะที่วัดพระรามและวัดราชบูรณะเข้าได้เฉพาะทางทิศตะวันออก ซุ้มหน้าบันยังคงมีลายปูนปั้นอยู่บ้าง ทางทิศเหนือและทิศใต้เป็นรูปนาคสะดุ้ง มีรวยระกา ตรงมุมเป็นนาคปั้นเศียรทั้ง 2 ด้าน ลายกรุยเชิงและเฟื่องอุบะดงปรากฏมากที่ปรางค์ประธาน ลักษณะซุ้มหน้าบันลดหลั่น 2 ชั้น เช่นเดียวกับปรางค์ประธาน ในขณะที่กลุ่มปรางค์สมัยอยุธยา(เช่น วัดพุธไธสวรรย์ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม)มี 2 ชั้น เช่นเดียวกับปรางค์รวมทั้งวัดของพระพายหลวง สุโขทัยและวัดพระศรีมหาธาตุ ศรีสัชนาลัย ภายในห้องครรภธาตุไม่มีรูปเคารพ ซึ่งทั้งองค์ปรางค์ มุข และลายปูนปั้นได้รับการบูรณะแล้ว)
เดินชมปรางค์ประธานกันต่อ
ซ้ายบน – ปรางค์ประธานทั้งหลัง
ขวาบน – ทางเดินในปรางค์ประธานและห้องครรภธาตุ
ซ้ายกลางบน – เจดีย์รายในเขตกำแพงแก้วมีทั้งหมด 6 องค์รอบปรางค์ประธาน แต่ละองค์มีขนาดฐานกว้าง 2.5 เมตร ถึง 4.0 เมตร
ซ้ายกลางล่าง – ด้านหลังปรางค์ประธานมีอุโบสถ(ซึ่งอยู่ทางขวาของภาพ)และวิหารหลวงพ่อแดง(ซึ่งอยู่ทางซ้ายของภาพ) (จากภาพ รอบอุโบสถจะเห็นใบเสมาหินชนวนขนาดใหญ่ 8 ทิศ ให้ลองสังเกตใต้อักษร erntan ใบเสมาจะปักในลักษณะใบเสมาคู่)
ขวากลาง – อุโบสถตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของปรางค์ในกำแพงแก้ว ฐานกว้าง 9.30 เมตรและยาว 17.20 เมตร ส่วนผนังพังทลายไปแล้ว เหลือเฉพาะส่วนพื้นและพระประธานประทับนั่งปางมารวิชัย(ที่ได้รับการบูรณะใหม่)
ซ้ายล่าง - วิหารหลวงพ่อแดงตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอุโบสถ แต่ได้รับการบูรณะใหม่พร้อมทั้งพระพุทธรูปด้วย
ขวาล่าง – ภายในวัดมีมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างทั้งหมดสามคัน แต่ในภาพมีอยู่สองเจ้าคือ ร้านขายน้ำกับของกินเล่นและร้านไอศกรีม ส่วนอีกเจ้าอยู่ถัดไปอีกด้านหนึ่ง ร้านนี้ก็จำหน่ายไอศกรีมเช่นกัน ตำแหน่งของรถพ่วงจะอยู่สลับไปมาภายในวัด บางครั้งก็จอดอยู่ทางทิศใต้ของปรางค์ประธาน บางครั้งก็จอดอยู่ใกล้ประตูทางเข้า(หรือทางทิศใต้ของโบสถ์ใหม่ด้านหน้าวัดจุฬามณี ซึ่งก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2510) สำหรับสินค้าทั้งหมดมีลูกชิ้นทอด ไส้กรอกทอด มะม่วงมันหั่นชิ้น น้ำอัดลม น้ำดื่ม ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคัพ โอเลี้ยง กาแฟเย็น ชาเย็น ชาเขียว ชาเย็น นมเย็น และไอศกรีมแท่ง ถ้วย โคน(ที่มีรสชาติต่างๆคือ ช็อกโกแลต วานิลลา สตรอว์เบอร์รี และมะนาว)
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
321 | 5258 | 297650 |