วัดราชบูรณะ

คำอธิบาย


วัดราชบูรณะเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง เข้าใจว่า อาจเก่าไปถึงสมัยสุโขทัย เดิมมีพื้นที่ต่อเนื่องกับวัดนางพญา ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ.2502 ทางราชการได้ตัดถนนสายพิษณุโลกไปหล่มสักคือ ถนนมิตรภาพ ถนนสายนี้ได้ตัดผ่านเข้าเนื้อที่วัดนางพญาและวัดราชบูรณะด้วย โดยเฉพาะวัดราชบูรณะ แนวถนนได้ตัดเฉียดอุโบสถจนต้องรื้อใบเสมามุมอุโบสถด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือออกไปส่วนหนึ่ง

สำหรับตำแหน่งของวัดราชบูรณะ วัดแห่งนี้อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน โดยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุและวัดนางพญา ซึ่งอยู่ภายในกำแพงเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันออก ทิศเหนือติดกับถนนสิงห์วัฒน์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และวัดนางพญา ทิศใต้ติดกับถนนบรมไตรโลกนาถ ทิศตะวันออกติดกับถนนสิงห์วัฒน์ (ประตูผีซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง) และทิศตะวันตกติดกับถนนพุทธบูชา (แนวกำแพงเมืองเดิม)

วัดราชบูรณะยังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ความว่า (เนื่องจากทีมงานไม่มีการเรียบเรียงข้อความใดๆ ยังคงข้อความต้นฉบับไว้เหมือนเดิม ดังนั้นบางประโยคจึงอาจอ่านยากสักเล็กน้อย) “อนึ่งที่เล่าถึงเมื่อเวลาเช้านี้ขาดไปหน่อยหนึ่ง เมื่อเสด็จจุดเทียนชัยแล้วไปดูวัดนางพญาซึ่งอยู่ต่อวัดมหาธาตุติดกันทีเดียว วัดนี้มีแต่วิหารไม่มีพระอุโบสถ มีโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมตั้งอยู่ในนั้นโรงหนึ่ง พระสอนมีนักเรียนมากที่คับแคบไม่พอ ออกจากวัดนางพญานั้นต่อลงไปถึงวัดราชบูรณะไม่มีบ้านเรือนคั่น วัดมีพระอุโบสถและพระวิหารหลวงตั้งอยู่ใกล้พระเจดีย์อันอยู่ใกล้ถนนริมน้ำ พระองค์นี้ฐานเป็นแปดเหลี่ยมใหญ่ แต่ชำรุดมีผู้ไปสร้างเจดีย์ไม้ 12 ต่อขึ้นข้างบนทำนองสร้างพระปรางค์ขึ้นบนเนินปฐมเจดีย์องค์นี้ ถ้าหากว่าจะไม่เป็นรูปแปลก เช่น พระบรมธาตุเมืองชัยนาท ก็ต้องเลยไปถึงพระเจดีย์มอญ แต่ส่วนพระอุโบสถก็ดี พระวิหารก็ดีเมื่อได้เห็นแห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว ก็นับว่าเป็นทั่วทุกแห่ง เพราะทำอย่างเดียวกันทั้งสิ้นตั้งใจเอาอย่างพระวิหารวัดมหาธาตุพระประธานเล่าก็ตั้งใจเอาอย่างพระชินราชด้วยกันทั้งนั้นไม่มีอะไรน่าดู มีธรรมาสน์บุษบกสลักปิดทองอย่างเก่า ก็เอาอย่างในวัดมหาธาตุ แต่สู้กันไม่ได้และออกจะทิ้งให้โทรมมีเสลี่ยงกงอย่างเก่า เหมือนที่ลพบุรีไม่มีผิดกันเลย ที่ลพบุรีเขาว่า สำหรับแห่พระราชาคณะของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ดังนี้.. ออกจากหมู่บ้านก็เข้าท้ายวัดราชบูรณะ พอถึงหลังโบสถ์ก็ต้องลงจากหลังม้าเข้าทางด้านหลังโบสถ์ บานประตูแกะสลักลายตอก 4 กลีบฝีมือดีแต่เป็นลายตามธรรมเนียม ผนังโบสถ์เขียนรามเกียรติ์ไม้ไม่สู้เก่านัก มีพระประธานใหญ่แต่ไม่เก่ง มีพระเล็กน้อยมาก เสาและเครื่องบนทาดำทาแดง ปิดทองลายฉลุ แต่ไม่ใช่ลายเก่า เป็นปฏิสังขรณ์ใหม่ แต่ผนังโบสถ์ และตัวเครื่องไม้บนเก่า เป็นเครื่องประดุจช่อฟ้าปูน ออกจากโบสถ์ พระยาเทพาชวนไปดูการเปรียญ แต่ไปไม่รอด เพราะอ้ายธรรมาสน์เก่าที่ศาลาข้างโบสถ์ มันเหนี่ยวเอาไปดูมัน ธรรมาสน์นั้นเก่ามากทีเดียว ทีก็เป็นซุ้มเกี้ยวยอดมันพังทิ้งอยู่ข้างล่างเหลือชั้นเดียว ฐานก็ไม่แปลกจากที่เคยเห็นคือสิงห์แขวนคอนาคต่อ แต่ข้างล่างจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ เพราะสูญเสียหมดแล้วมาแปลกอยู่ที่ไม่มีกระจังบัดตีนยามใช้อ้ายหยักๆ สำหรับหลังซุ้มประตูแทน เช่นเขียนตัวอย่างไว้ดูนี้ และมีกวางทรงเครื่องหักอยู่ตัวหนึ่ง สำหรับเป็นบันไดรองเท้าขึ้นไปบนธรรมาสน์ ที่เก็บมาแต่วันในที่สมุทรปราการแต่ก่อนนั้น ดูธรรมาสน์แล้วไปดูการเปรียญทีก็เหมือนโบสถ์ เครื่องประดุจฝาอิฐ แต่ไม่เก่าและไม่เก่ง มีพระงามพอใช้องค์หนึ่ง หน้าตักสัก 2 ดอก...... ในราว ร.ศ.120” (หวน พินธุพันธ์ 2515 หน้า 64)


ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า วัดราชบูรณะสร้างมาตั้งแต่สมัยใด รู้แต่ว่าเป็นวัดโบราณ อาจเก่าแก่ย้อนไปในช่วงพระยาลิไทของกรุงสุโขทัยก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็สันนิษฐานว่า วัดราชบูรณะแห่งนี้น่าจะมีอายุราว 1,000 ปีเศษ ภายในวัดราชบูรณะยังมีโบราณสถานที่น่าสนใจมากมาย ที่โดดเด่นและเห็นแต่ไกลเลยคือ เจดีย์หลวง
- เริ่มกันที่ข้อมูลเจดีย์หลวงก่อน
ซ้ายบน – เจดีย์หลวงตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกติดกับถนนริมฝั่งแม่น้ำน่าน เป็นเจดีย์ทรงกลมใหญ่ศิลปะสมัยอยุธยาอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ทรง 8 เหลี่ยมเป็นชั้นๆขึ้นไปจนถึงบนสุด แกนในของฐานเป็นดิน ภายนอกก่อเป็นอิฐ เจดีย์หลวงตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร ฐานเจดีย์เป็นหน้ากระดาน 8 เหลี่ยม ยาวด้านละ 9 เมตร สูง 24 เมตร เรียงซ้อนเป็นชั้นๆ 12 ชั้นจนถึงชั้นระเบียงรอบ ฐานชั้นบนสุดมีจุลเจดีย์ประดับที่มุม ระหว่างจุลเจดีย์ทำเป็นพนักระเบียงโดยรอบและมีลานระเบียงรอบหรือลานประทักษิณ ส่วนตรงกลางเป็นเจดีย์ประธาน ลักษณะของเจดีย์เป็นทรงกลมหรือทรงลังกา ทำเป็นมาลัยเถาซ้อนกัน 5 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงกลม เดิมยอดเจดีย์หักชำรุดสูญหาย เหลือแต่ฐานบัลลังก์เหนือคอระฆัง จึงสันนิษฐานว่า จุลเจดีย์น่าจะมีลักษณะเหมือนเจดีย์ประธานแต่มีขนาดย่อส่วนลง เจดีย์ของวัดราชบูรณะองค์นี้เป็นเจดีย์ที่ใหญ่และสูงที่สุดในจังหวัดพิษณุโลก (จากภาพ เนื่องจากฐานเจดีย์หลวงเป็นรูปทรงสมัยสุโขทัย จึงสันนิษฐานว่า เจดีย์ประธานตรงกลางน่าจะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยอยุธยา)
ขวาบน – บรรยากาศโดยรอบของเจดีย์หลวงอีกด้านหนึ่ง
ซ้ายกลาง – อุโบสถ (จากภาพ ลักษณะของอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 18 เมตร สูง 10 เมตร ผนังหนาราว 50 เซนติเมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าทั้งหมด 4 ประตู ผนังแต่ละด้านมี 4 หน้าต่าง รวมทั้งหมด 8 หน้าต่าง พื้นภายในอุโบสถยกระดับสูงจากพื้นดินประมาณ 1.75 เมตร มีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนล้อมรอบอีกชั้น ขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 25 เมตร และสูง 1.25 เมตร แนวอุโบสถด้านทิศตะวันออกบางส่วนถูกถนนตัดผ่าน อุโบสถหลังนี้มีสถาปัตยกรรมแบบทรงโรง คือมี 6 ห้อง ซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย หลังคาโค้งตรงกลางเล็กน้อย มุงด้วยกระเบื้องดินเผาสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเป็นปีกนกคลุมสามชั้น มุงกระเบื้องดินเผาแบบเกล็ดพระยานาค จั่วหน้าหลังเป็นแบบจั่วภควัม การเข้าไม้เป็นแบบฝาประกน มี 3 ชั้น ไม่มีการแกะสลักลวดลาย ประดับด้วยกระจกสีน้ำเงินและสีเหลือง มีช่อฟ้าบนหลังคาอุโบสถทั้งหน้าและหลัง มีรวยระกาที่หน้าบัน ลำยองไม่ทำเป็นงวงแบบนาคสดุ้ง หางหงส์และนาคปักทำเป็นนาคเบือน ตามลักษณะความแหลมของแนวหลังคาทำเป็นรูปนาคปูนปั้น มีนาคสามเศียรปูนปั้นด้านหน้า 4 ตนและด้านหลัง 4 ตน ซึ่งเป็นศิลปะแบบเก่าที่ใช้กับรวยระกาและมีป้านลมแบบสถาปัตยกรรมสุโขทัย บานประตูแกะสลักดอกลำดวนทั้งหมดสี่กลีบ ประดับกระจกสีน้ำเงินและสีเหลือง)
ขวากลาง – พระประธานในอุโบสถ (จากภาพ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 3 เมตร เป็นศิลปะสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ก่ออิฐถือปูน ชั้นล่างเป็นฐานเท้าสิงห์ 2 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย ปิดทองประดับกระจกสีน้ำเงิน)
- บริเวณผนังในอุโบสถทั้งสี่ด้านมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือสกุลช่างสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เนื้อหาเขียนถึงเรื่องรามเกียรติ์
ซ้ายล่าง - ภาพเขียนที่สำคัญคือ ภาพทศกัณฑ์สั่งเมือง
ขวาล่าง – ตอนล่างของภาพรามเกียรติ์เป็นภาพของชนชาติต่างๆ ภาพกามกรีฑา ภาพสัตว์หิมพานต์ และภาพการละเล่นพื้นบ้าน



 

ขอให้ทุกคนเดินออกจากอุโบสถ แล้วเข้าสู่วิหารหลวงบ้าง
ซ้ายบน – วิหารหลวงเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 18 เมตร ยาว 23 เมตร สูง 13 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีทางเข้า 3 ประตู ด้านหลังมี 2 ประตู ผนังแต่ละด้านมี 7 หน้าต่าง รวมทั้งหมด 14 หน้าต่าง พื้นภายในวิหารยกระดับสูงจากพื้นดินประมาณ 1.75 เมตร วิหารนี้มีสถาปัตยกรรมแบบทรงโรงคือ มี 9 ห้องแบบศิลปะสุโขทัย ด้านหน้ามีระเบียงและมีเสาหานร่วมเรียงในรับ 4 เสา เป็นเสาสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน มีบัวหัวเสา เป็นบัวสองชั้นและมีกลีบยาว หลังคาของอุโบสถโค้ง ตอนบนกลมเล็กน้อย หลังคาทำเป็นปีกนกคลุม 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันมุงหลังคาใหม่ด้วยกระเบื้องดินเผาเกล็ดพระยานาค จั่วด้านหน้าและด้านหลังเป็นจั่วแบบภควัม มีการเข้าไม้แบบฝาประกน 3 ชั้น ไม่แกะสลักลวดลาย ด้านหน้าประดับด้วยกระจกสีน้ำเงินและสีเหลือง ด้านหลังใส่กระจกใสให้แสงสว่างเข้าในวิหารได้ ด้านหลังพระประธานมีช่อฟ้า หลังคาด้านหน้าและด้านหลังของวิหารมีรวยระกาหน้าบัน ลำยองไม่ทำเป็นวงแบบนาคสดุ้ง หางหงส์และนาคปักเป็นนาคปูนปั้น มีเศียรเดียว ด้านหน้ามี 4 ตน ด้านหลังมี 4 ตน เป็นศิลปะแบบเก่าที่ใช้กับรวยระกาและป้านลมแบบสถาปัตยกรรมสุโขทัย บานประตูแกะสสักเป็นรูปดอกบัวตูมเรียงต่อกันเป็นบานประตูและทาพื้นสีแดงลายทอง ภายในวิหารมีเสาหานร่วมเรียงอยู่ 2 แถว แถวละ 7 ต้น รวม 14 ต้น เป็นเสาศิลาแลงก่ออิฐถือปูน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ทาสีแดง มีลายดอกไม้เขียนลายฉลุสีทองที่โคนเสาและปลายเสาเพื่อรองรับตัวขื่อที่บัวหัวเสา ซึ่งเป็นบัวกลีบซ้อนเรียงกัน 5 ชั้น บริเวณคานบนมีลายดอกไม้เขียนบนพื้นไม้สีดำลายฉลุสีทองที่โคนเสาและที่ปลายเสา
ขวาบน – พระประธานในวิหารหลวง (จากภาพ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 เมตร สูง 5.50 เมตร เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยที่ชาวบ้านพากันเรียกว่า หลวงพ่อทองดำ มีผู้คนมากราบไหว้บูชาในความศักดิ์สิทธิ์และขอพรขอโชคลาภ พุทธลักษณะละม้ายคล้ายพระพุทธชินราชอย่างมาก ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี 2 ชั้น สูง 1.50 เมตร ชั้นล่างเป็นรูปเท้าสิงห์สูง 1 เมตร ชั้นบนเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายปิดทองสูง 0.50 เมตร
- จิตกรรมฝาผนังในวิหารหลวงทั้งสี่ด้านเป็นจิตรกรรมฝีมือสกุลช่างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เขียนเรื่องพุทธประวัติ แต่ภาพจิตกรรมฝาผนังเหล่านี้ถูกน้ำฝนลบเลือนชำรุดเสียหายไปมาก
ซ้ายกลางบน – ภาพพระพุทธเจ้าผจญมารเป็นภาพจิตกรรมฝาผนังที่เห็นเด่นชัดบริเวณผนังกลองหน้าวิหาร
ขวากลางบน – ภาพจิตกรรมอื่นๆที่ยังหลงเหลืออยู่
- ภายในวัดยังมีสิ่งอื่นๆที่ทีมงานอยากเล่าสู่กันฟัง
ซ้ายกลางล่าง –
เจดีย์องค์เล็กเรียงรายอยู่ข้างวิหารหลวง
ขวากลางล่าง -
พระบรมสารีริกธาตุในมณฑปของวัดราชบูรณะ
ซ้ายล่าง – พุทธศาสนิกชนสามารถขึ้นบันไดไปปิดทองพระและเดินลอดต้นศรีมหาโพธิ์ได้
ขวาล่าง – หอไตรเสากลมเป็นหอไตรคอนกรีต ใต้ถุนสูง ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 11 เมตร มีเสาปูนกลมเรียง 4 แถว แถวละ 4 ต้น รวม 16 ต้น สูงต้นละ 4 เมตร มีบัวหัวเสากลับ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นหอระฆัง ชั้นบนเป็นหอไตรสำหรับเก็บรักษาพระคัมภีร์ หอไตรทำด้วยไม้สับแบบฝาประกน มีประตูเข้า 1 ประตูอยู่ด้านทิศใต้ มีระเบียงกว้าง 1 เมตรและสามารถเดินได้โดยรอบ มีหน้าบัน 4 ทิศ เป็นปูนปั้น มีช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ รูปนาคปูนปั้นทุกมุมรวม 8 ต้น ทิศเหนือและทิศใต้มีลายปูนปั้นรูปพระยาครุฑจับพระยานาค ยอดหอไตรเป็นยอดเรียวแหลมคล้ายยอดของเจดีย์ที่มียอดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง รอบหอระฆังมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 10 เมตร มีซุ้มประตูกำแพงแก้วอยู่ทางทิศใต้ หอไตรวัดราชบูรณะไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง แต่หากพิจารณารูปแบบสถาปัตยกรรมแล้ว พอสันนิษฐานได้ว่า หอไตรหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย (จากภาพ หอไตรภาพนี้เป็นภาพในอดีต ปัจจุบันมีการบูรณะใหม่หมด ทีมงานเลยนำภาพที่เป็นของดั้งเดิมมาให้ทุกคนได้ชม)

TODAY THIS MONTH TOTAL
363 5300 297692
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top