วัดงำเมือง(หรือวัดพระธาตุดอยงำเมือง)เป็นวัดเก่าแก่และมีความสำคัญเพราะเป็นที่ตั้งกู่พญาเม็งราย ซึ่งเป็นสถูปที่บรรจุพระอัฐิของพญาเม็งราย ตามประวัติเล่าว่า หลังจากที่พญาเม็งรายสวรรคตที่เมืองเชียงใหม่ พญาไชยสงครามผู้เป็นพระโอรสได้ถวายพระเพลิงพระศพพญาเม็งรายและพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์แทน ต่อมาได้กลับมาครองเมืองเชียงราย พญาไชยสงครามจึงอัญเชิญพระอัฐิของพญาเม็งรายมาประดิษฐาน ณ สถูปบนดอยงำเมืองแห่งนี้
ในอดีตวัดนี้มีชื่อว่า“วัดงามเมือง” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น“วัดงำเมือง” นอกจากนี้วัดงำเมืองยังเคยเป็นวัดร้างมาก่อน จนอุโบสถทรุดโทรมและพังทลายลง คงเหลือแต่พระประธานเท่านั้น ต่อมาได้มีการบูรณะใหม่อีกครั้ง สำหรับสิ่งก่อสร้างสำคัญในวัดคือ กู่หรือสถูปศิลาแลงเก่าแก่ ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นที่บรรจุพระอัฐิของพญาเม็งรายมหาราช
บน – บรรยากาศของวัดงำเมือง เราจะเห็นพระบรมรูปพญาเม็งรายและกู่พญาเม็งราย ขณะที่ขวาสุดของภาพที่เห็นเพียงบางส่วนของอาคารคือ อุโบสถ (จากภาพ จากอักษร w ตัวแรกไปทางซ้ายจะเห็นโต๊ะจำหน่ายดอกไม้ หมาก เมี่ยง บุหรี่ และชุดบายศรีสำหรับบูชาด้วย)
ไปค้นคว้าข้อมูลของวัดกัน
ซ้ายบน – พระบรมรูปพญาเม็งราย (จากภาพ พระบรมรูปนี้สร้างขึ้นเคียงข้างกู่ของพระองค์ท่านเมื่อปี พ.ศ.2535 โดยทำจากทองเหลืองและมีขนาดเท่าครึ่งของคนจริง พระราชรัตนากร เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว พระครูวิทิตสาธุการ เจ้าอาวาสวัดงำเมือง ประธานฝ่ายสงฆ์ นายบุญเลิศ เจริญผล ประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมพุทธศาสนิกชนทั่วไป ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อองค์พญาเม็งรายมหาราชและเพื่อเป็นที่สักการบูชาและระลึกถึงคุณงามความดีของพระองค์ท่าน ต่อมาได้มีการปรับปรุงฐาน อาสน์ และฉัตรเมื่อปี พ.ศ.2551
ขวาบน – กู่(หรือสถูป)พญาเม็งราย (จากภาพ กู่พญาเม็งรายทำด้วยศิลาแลง มีรูปแบบคล้ายเจดีย์ปราสาททรงยอดเดียวแบบล้านนาที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นรูปแบบนิยมในยุคทองของล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 กู่พญาเม็งรายนี้เชื่อว่า เป็นที่บรรจุพระอัฐิของพญาเม็งราย ประวัติก็คือ หลังจากที่พญาเม็งรายสวรรคตที่เมืองเชียงใหม่ ปี พ.ศ.1860 พญาไชยสงคราม ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพญาเม็งรายได้ถวายพระเพลิงพระศพพญาเม็งราย จากนั้นพระองค์ทรงกลับมาครองเมืองเชียงรายและอัญเชิญพระอัฐิของพญาเม็งรายมาประดิษฐานที่กู่(หรือสถูป)บรรจุพระอัฐิ ณ ดอยแห่งนี้ กู่พญาเม็งรายสร้างเมื่อไหร่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็นที่บรรจุพระอัฐิของพญาเม็งราย กษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์เม็งราย ซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนา จึงเรียกติดปากกันว่า“กู่พญาเม็งราย” กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478)
ซ้ายกลางบน – ภาพถ่ายกู่พญาเม็งรายในวัดงำเมืองเมื่อปี พ.ศ.2469 จากหอจดหมายเหตุ ก่อนที่กรมศิลปากรจะทำการบูรณะครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2492 และบูรณะอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2514
ซ้ายกลางล่าง – อุโบสถ (จากภาพ อุโบสถนี้เป็นศิลปะเชียงแสนแบบพื้นบ้านล้านนา ขนาดกว้าง 14 เมตรและยาว 25.50 เมตร สร้างในปี พ.ศ.2507 โดยพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ (วงศ์ ทานวโส) เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว มีกรมศิลปากรออกแบบให้ โดยสร้างครอบพระประธานองค์เดิม ณ บริเวณเดิม บนซากอุโบสถ(ที่พังทลายลง)หลังเดิม ต่อมาได้รับการบูรณะอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2541 โดยทำการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคา เสริมหลังคาไม้ ช่อฟ้า ใบระกา และฉาบผนังใหม่ แต่คงรูปแบบเดิมไว้ เนื่องจากอาคารเดิมเริ่มชำรุด ภาพที่เห็นนี้เป็นการบูรณะครั้งล่าสุด)
ซ้ายล่าง – พระประธานประจำอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 5.50 เมตร สูง 6.70 เมตร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นที่มีพุทธลักษณะงดงาม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด พบแต่ว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีมาแต่เดิม โดยประดิษฐานอยู่ในอุโบสถตั้งแต่ครั้งชื่อ“วัดงำเมือง”ยังเป็นชื่อ“วัดงามเมือง”อยู่ แม้อุโบสถเดิมจะชำรุดและพังทลายลง แต่พบว่า พระพุทธรูปองค์นี้ยังคงประดิษฐานอยู่บนซากอุโบสถในสภาพสมบูรณ์ จึงสันนิษฐานว่า น่าจะมีอายุ 200 ปีขึ้นไป ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกว่า“หลวงพ่อใหญ่”เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ ทางวัดได้มีการปิดทององค์พระและปรับปรุงแท่นวัชระอาสน์เมื่อปี พ.ศ.2541 (จากภาพ ในอดีตซากอุโบสถที่พังทลายลงมา นอกจากเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อใหญ่แล้ว ในซากอุโบสถยังมีพระพุทธรูปองค์เล็กอีกองค์ที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าหลวงพ่อใหญ่ด้วย นั่นคือ“พระเจ้าล้านทอง” และในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2504 ได้มีการอัญเชิญพระเจ้าล้านทองไปเป็นพระประธานประจำอุโบสถของวัดพระแก้ว)
ขวาล่าง – ตรงข้ามอุโบสถหรือเลียบกำแพงซุ้มประตูมีเสาไม้เป็นแท่งตั้งเรียงอยู่ 8 เสา แต่ละเสาแกะสลักลวดลายประวัติของพญาเม็งรายมหาราชในช่วงเวลาต่างๆ ทีมงานขอยกตัวอย่างหนึ่งเสามาให้ชมกัน เนื้อหาตอนนี้คือ พญาเม็งรายทรงย้ายราชธานีเมืองหิรัญนครเงินยางมาไว้ที่เมืองเชียงราย
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
502 | 5439 | 297831 |