วัดม่วงเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ในตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี วัดนี้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันออก ตั้งอยู่ไม่ไกลจากถนนสายเอเชียบางปะอิน—นครสวรรค์และห่างจากตลาดอินทร์บุรีไปทางทิศใต้ประมาณ 2.5 กิโลเมตร สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประมาณปี พ.ศ.2365
วัดม่วงมีเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ จากการพิจารณาสิ่งก่อสร้างในวัดม่วง เช่น วิหารและเจดีย์ ฯลฯ จึงสันนิษฐานว่า วัดม่วงเป็นวัดที่สร้างมาก่อนวัดอื่นๆทั้งหมดในอำเภออินทร์บุรี ถึงแม้ว่าวัดม่วงจะเป็นวัดเล็ก แต่ในอดีตก็เคยมีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมเยือน เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 พลเอกเปรมติณสูลานนท์ เป็นต้น
ถึงแม้วัดม่วงจะเป็นวัดเล็กๆ แต่เรื่องราวในอดีตกลับน่าสนใจ เริ่มจากชื่อวัดเลย เนื่องจากเมื่อก่อนมีต้นมะม่วงขนาดใหญ่ขึ้นอยู่มาก จึงเรียกว่า“วัดม่วง” ที่สำคัญคือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังอายุนับร้อยปีในวิหารที่มีอยู่ทุกด้าน รวมทั้งประตู หน้าต่าง และหน้าบันทั้งฝั่งประตูทางเข้าและฝั่งตรงข้ามประตูทางเข้า
บน – เมื่อเราเดินเข้ามา นักท่องเที่ยวจะเห็นองค์ประกอบต่างๆของวัดม่วงแบบครบครัน (จากภาพ จากซ้ายไปขวา ก็คือ เจดีย์ โบสถ์ วิหารเก่า และกุฏิ)
เข้าไปเก็บรายละเอียดสำคัญกัน เริ่มที่วิหารเก่าเป็นอันดับแรก
ซ้ายบน – วิหารตั้งอยู่ระหว่างโบสถ์กับกุฏิ เป็นอาคารปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีขนาดไม่ใหญ่ กว้างประมาณ 5 เมตร ยาว 10 เมตร มีหน้าต่างด้านข้าง ข้างละ 2 บาน มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกด้านเดียวและก่อมุขยื่นออกมาต่อกับบันไดทางขึ้น ด้านหลังวิหารเป็นผนังทึบ หลังคามุงด้วยกระเบื้อง หน้าบันประดับด้วยภาชนะเครื่องถ้วยต่างๆตามแบบสมัยนิยมในรัชกาลที่ 3
ขวาบน – พระประธานในวิหาร (จากภาพ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีพุทธลักษณะงดงามแบบพื้นบ้าน เป็นพระปูนปั้นลงรักปิดทอง พระเกศาเล็กเป็นหนามขนุน พระพักตร์กลม พระโอษฐ์และนาสิกเล็กสั้น สังฆาฏิตัดตรง อันเป็นพุทธลักษณะของศิลปะแบบล้านช้างหรือศิลปะลาว นั่งบนฐานชุกชีรูปบัวหงายลักษณะกลีบยาว มีผ้าทิพย์ห้อยลงมา อันเป็นศิลปะที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และวางบนฐานสิงห์ที่มีการเขียนลวดลายไทยประดับตกแต่ง)
- ภายนอกและภายในวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นฝีมือช่างพื้นบ้าน ซึ่งคาดว่า น่าจะมีมากกว่า 1 คน อาจเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือรัชกาลที่ 5 ก็ได้ ตอนนี้เราลองไปสังเกตรูปภาพเหล่านั้นกัน เริ่มจากด้านนอกวิหารก่อน
ซ้ายกลางบน – จิตกรรมฝาผนังเหนือประตูทางเข้าบริเวณมุขที่ยื่นออกมาแบ่งเนื้อหาเป็นสองตอน ด้านล่างเป็นตอนพระมาลัยโปรดสัตว์นรก ภาพเน้นโทนสีเหลือง สีน้ำตาล ตัดเส้นดำ ด้านบนเป็นตอนพระมาลัยอยู่บนสวรรค์ กำลังนมัสการพระเจดีย์จุฬามณี ภาพเน้นโทนสีฟ้าและสีน้ำเงินบนพื้นดำ แต่บางส่วนของสีตอนบนหลุดร่อนและซีดจางแล้ว สำหรับพระมาลัยตอนโปรดโลกนี้เป็นพระธรรมเทศนาที่นิยมใช้เพื่อให้บุคคลทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แด่ผู้ที่ตายไปแล้ว เนื่องจากพระมาลัยได้ลงไปยังเมืองนรกและเห็นความน่าเวทนาของสัตว์นรกด้วยประการต่างๆ เช่น มีมือเท่าใบลาน ถูกต้มในกระทะทองแดง ถูกแร้งกาจิก ฯลฯ จึงมีความปรารถนาจะโปรดสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ทรมาน และก่อนที่พระมาลัยจะกลับเมืองมนุษย์โลกนั้น พระยายมราชได้ฝากพระมาลัยว่า ให้มนุษย์อย่าได้มีความประมาท จงหมั่นรักษาศีล ทำบุญอย่าให้ขาด ตั้งใจทำแต่คุณงามความดี เพื่อจะได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นฟ้า นอกจากนี้ ใต้ภาพด้านล่างยังมีข้อความเขียนว่า“ห้องนรกหกบาทไม่ขาดถ้วนของพ่ออ่วนสร้างไว้ในพระศาสนาขอพบพระเมตไตรในอนาคตตะกาละโน้นอย่าพ้นเอย”
- คราวนี้เข้าไปชมจิตกรรมฝาผนังพร้อมคำอธิบายบางส่วนในวิหารกัน ตัวอย่างมีดังนี้
ซ้ายกลางล่าง – หมายเลข 1 พระพุทธเจ้าทรงออกผนวช หมายเลข 2 นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสแด่พระพุทธเจ้า และหมายเลข 3 พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา (จากภาพ ภาพจิตรกรรมฝาผนังมุมนี้อยู่ทางซ้ายด้านในของผนังวิหาร)
ซ้ายล่าง – หมายเลข 1 พระพุทธเจ้าทรงฉันอาหารมื้อสุดท้าย ณ ปาวานคร หมายเลข 2 พระพุทธเจ้าทรงเดินทางไปเมืองกุสินรารา หมายเลข 3 พระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพาน หมายเลข 4 พระมหากัสสปะเดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า หมายเลข 5 พระอานนท์เข้าแจ้งข่าวแก่เจ้าเมืองกุสินารา หมายเลข 6 อัญเชิญพระบรมศพเข้าเมืองกุสินารา และหมายเลข 7 ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระและแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ (จากภาพ ภาพจิตกรรมฝาผนังนี้อยู่ทางขวาด้านนอกของผนังวิหาร)
ขวาล่าง – เจดีย์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโบสถ์ ลักษณะเจดีย์เป็นแบบสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฐานลดชั้น 15 ขั้น มีซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน ปล้องไฉนและปลียอดหักชำรุด
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
418 | 5355 | 297747 |