วัดพระรูปตั้งอยู่บนถนนขุนช้าง ฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรีและตรงข้ามกับตลาดสุพรรณบุรี นับเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่สร้างร่วมสมัยกับวัดอื่นๆ เช่น พระศรีรัตนมหาธาตุ วัดป่าเลไลยก์ ฯลฯ ร่องรอยโบราณวัตถุและโบราณสถานที่ปรากฏ สันนิษฐานได้ว่า วัดพระรูปน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยพุทธสตวรรษที่ 19 หรืออาจก่อนหน้านั้น หลักฐานสำคัญที่ค้นพบในบริเวณวัด เช่น ซากฐานเจดีย์ที่เป็นอิฐเก่าสมัยทวารวดี เจดีย์สมัยอู่ทอง พระพุทธรูปไสยาสน์องค์ใหญ่ศิลปะอู่ทอง พระและเครื่องดินเผา(เช่น พระขุนแผน พระขุนไกร พระพลายงาม พระพันวษา พระกุมารทอง ซึ่งมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20) ฯลฯ นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานวัตถุสำคัญ เช่น พระพุทธบาทไม้ ระฆังสำริด ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเป็นมาของวัด หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า วัดพระรูปผ่านกาลเวลามาอย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กับเมืองสุพรรณมาตลอดตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงศรีอยุธยา จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์
แม้ไม่ทราบชื่อวัดในยุคแรกสถาปนา แต่ทราบว่า วัดพระรูปเป็นวัดสำคัญในการทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาสำหรับข้าราชการเมืองนี้ นามวัด“พระรูป”เป็นที่รับรู้แก่ผู้คนภายนอกผ่าน“นิราศสุพรรณ”ของสุนทรภู่ ปี พ.ศ.2397 จึงเป็นไปได้ว่า“พระรูป”คือชื่อของวัดที่ถูกเรียกขานมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 นามศัพท์“พระรูป”หมายถึง เจ้านายฝ่ายในที่ออกผนวชเป็นชี ทั้งนี้พบเรื่องราวในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกพุทธศตวรรษที่ 23 บันทึกประวัติเจ้านายสตรีสามท่านผู้ใช้ชีวิตบั้นปลายออกผนวชเป็นชี ประทับอยู่ที่ตำหนักริมวัดดุสิตฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา บุคคลทั้งสามมีประวัติของชีวิตผูกพันใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์สองพระองค์แรกแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง
สตรีองค์แรกคือ เจ้าแม่ดุสิต พระนมเอกพระนารายณ์ หลังมรณกรรมของบุตรชายทั้งสองคือ โกษาเหล็กและโกษาปาน ก็ทรงออกผนวชเป็นชีพำนักอยู่ที่ตำหนักวัดดุสิต องค์ที่สองคือ กรมพระเทพามาศ อัครมเหสีผู้เป็นภรรยาของพระเพทราชาก่อนครองราชย์ ได้ออกผนวชเป็นชีหลังจากพระเพทราชาสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.2246 และประทับที่ตำหนักสร้างใหม่ในวัดดุสิตเช่นกัน องค์สุดท้ายคือ เจ้าพระองค์แก้ว พระธิดาพระเพทราชา หลังจากพระสวามีคือ พระองค์เจ้าดำ โอรสพระเจ้าเสือต้องโทษประหาชีวิตช่วงต้นรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ จึงมาประทับร่วมพระตำหนักกับกรมพระเทพามาศ ทั้งนี้เป็นไปได้ว่า“พระรูป”ก็คือ เจ้านายฝ่ายในทั้งสามคงเสด็จมาประกอบการกุศล ถวายสิ่งของ ตลอดจนการให้ความอุปถัมภ์กับวัด ณ บ้านเกิดองค์ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งนี้ และคงเคยจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ จนเป็นที่เรียกขานนามวัด“พระรูป”ให้เป็นที่รู้จักกันทุกวันนี้
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนวัดพระรูปในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม ปี พ.ศ. 2478
ทีมงานเคยเห็นภาพอาคารเก่าๆหลังหนึ่งที่อยู่ข้างเจดีย์พร้อมข้อมูลว่า อยู่ที่วัดพระรูป แต่ดูแล้ว ไม่เหมือนวิหารหรืออุโบสถทั่วไปของวัด แม้จะดูทรุดโทรมไป แต่สถาปัตยกรรมกลับสวยแปลกตาและมีเสน่ห์บอกไม่ถูก เพื่อให้รู้ถึงความสัมพันธ์ในอดีต ทีมงานเลยเดินทางมาเก็บข้อมูล แต่กลับได้ความรู้ที่ไม่เคยทราบมาก่อนอีกหลายอย่าง
ซ้ายบน – ทีมงานอยู่ในวัดพระรูปแล้ว โบราณสถานทางซ้ายคือ อาคารที่ทีมงานสงสัย ซึ่งเรายังเห็นพระพุทธรูปสีขาวอยู่ด้านในด้วย ส่วนทางขวาคือ เจดีย์เก่าสมัยอู่ทอง
ขวาบน – โบราณสถานหลังนี้คือ ศาลาเก๋งจีน ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ.2450 และเนื่องจากความทรุดโทรมและขาดการดูแลไปช่วงหนึ่ง ปัจจุบันศาลาเก๋งจีนจึงเหลือเพียงผนังอาคาร(ทางเข้า)ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ที่ยังสมบูรณ์ ส่วนผนังศาลาด้านทิศตะวันตก(หรือหลังพระประธาน)และทิศเหนือ(ฝั่งเจดีย์) รวมทั้งหลังคาศาลาได้พังทลายหมด
ซ้ายกลางบน – พระประธานองค์ขาวในศาลาเก๋งจีนมีอายุเกือบ 100 ปีแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในภายหลัง แล้วนำมาประดิษฐานในศาลาเก๋งจีนแทนพระประธานองค์แรกของศาลาเก๋งจีนที่ปรักหักพังลงไป
ขวากลาง – ชิ้นส่วนพระพุทธรูปดั้งเดิมของศาลาเก๋งจีนเหลือเพียงเท่านี้ ซึ่งมีอยู่สององค์ คือด้านซ้ายและด้านขวาของพระประธานองค์ขาว
ซ้ายกลางล่าง – บรรยากาศของศาลาเก๋งจีนเมื่อมองจากด้านหลัง
ขวาล่าง – “เจดีย์สมัยอู่ทอง”เป็นทรงแปดเหลี่ยมยอดระฆังทอง ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปกรรมที่นิยมในสมัยอู่ทอง (จากภาพ กรมศิลปากรทำการขุดแต่งและบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2534 และพบซากฐานเดิมขององค์เจดีย์ จึงสันนิษฐานว่า น่าจะมีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ส่วนเจดีย์ที่เห็นในปัจจุบัน น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 19 บนฐานเจดีย์เดิม แล้วมีการบูรณะโดยการฉาบปูนทับและปั้นลายปูนปั้นขึ้นใหม่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20)
ซ้ายล่าง – ในภาพแรก เราเห็นด้านหน้ากันแล้ว คราวนี้มามองด้านหลังที่เห็นเจดีย์และศาลาเก๋งจีนอีกครั้งบ้าง
เรียนรู้ความเป็นมาของวัดพระรูปจนเพลิน
ซ้ายบน – พระพุทธรูปปางไสยาสน์ (จากภาพ พระนอนองค์ใหญ่ศิลปะอู่ทองนี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระพุทธไสยาสน์ มีขนาดยาว 13 เมตร สูง 3 เมตร ชาวบ้านเรียกว่า“เณรแก้ว” เดิมเป็นพระพุทธรูปหินทรายสีขาว แต่ปัจจุบันปิดทองลงองค์พระทั้งองค์ พระนอนองค์นี้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 หรือมีอายุประมาณ 700 กว่าปี สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับเจดีย์ข้างศาลาเก๋งจีน)
ขวาบน – วิหารพระพุทธไสยาสน์ (จากภาพ ในอดีต วิหารนี้มีขนาดเล็กเท่ากับองค์พระนอน แต่ปัจจุบันมีการขยายวิหารให้มีขนาดใหญ่ขึ้น)
ซ้ายกลาง – ซากฐานเจดีย์สมัยทวารวดี (จากภาพ ซากเจดีย์หลายองค์กระจัดกระจายอยู่รอบวัด และยังไม่ได้รับการขุดแต่งและบูรณะ)
ซ้ายล่าง – พิพิธภัณฑ์โบราณสถานของวัดพระรูปทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นโบราณวัตถุมากมายและเรื่องราวของประวัติวัดพระรูป เดี๋ยวทีมงานเลือกเนื้อหาสำคัญๆมาบอกเล่าเก้าสิบ
ขวาล่าง – พระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร (จากภาพ พระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรมีความสูงรวมฐาน 230.5 เซนติเมตร ความสูงเฉพาะองค์พระ 179 เซนติเมตร ความสูงเฉพาะฐาน 51.5 เซนติเมตร มีพระพักตร์อย่างหุ่น พระโอษฐ์แบบเรือประทุน เม็ดพระศกขมวดเป็นก้นหอยขนาดเล็ก จีวรเรียบห่มคลุมถึงพระศอ เปลวรัศมีอุณาโลมสามารถถอดออกได้ นิ้วพระหัตถ์เรียวยาวเสมอกัน ฐานเป็นแปดเหลี่ยม มีฐานทรงกลมรองพระบาท ด้านหลังฐานมีห่วงสำหรับเสียบก้านฉัตรและมีการประดับกระจกเกรียบสีที่ฐาน ฐานชั้นล่างสุดด้านหน้ามีพื้นที่สำหรับจารึกชื่อ (ไม่ปรากฏจารึก) รอบฐานแปดเหลี่ยมเป็นช่องสี่เหลี่ยมประดับรูปเรือกลไฟ นกกระเรียน ช้าง และควายสลับกันไป ทั้งนี้ลายประดับบางอย่าง เช่น รูปเรือกลไฟสะท้อนถึงบริบทยุคสมัยของวัฒนธรรมกระฎุมพีในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตามประวัติ พระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรองค์นี้เคยประดิษฐานอยู่ในศาลาเก๋งจีน อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นของ“นำเข้า”จากกรุงเทพฯ ที่เดินทางมาสู่วัดพระรูปก่อนหน้านั้นแล้ว โดยผู้ถวายอาจเป็นเจ้านาย ขุนนางกรมการเมือง หรือาจได้รับการถวายโดยตระกูลคหบดีผู้สร้างศาลาเก๋งจีน ยุคเดียวกับการสร้างศาลาเก๋งจีน เนื่องจากเป็นงานพุทธศิลป์ที่สะท้อนรสนิยมแบบงานหลวงที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องยาวนานในหมู่ประชาชน อนึ่ง ด้วยพุทธลักษณะที่เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ทำให้เข้าใจได้ว่า คงต้องมี“องค์คู่” แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงองค์เดียว)
ล่าง – “พระพุทธบาทไม้”นี้เป็นศิลปะแบบอู่ทอง จัดเป็นโบราณวัตถุที่หาค่ามิได้และมีศิลปะการแกะสลักที่งดงามมาก พระพุทธบาทไม้นี้มีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1 เมตร 80 เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นลวดลายมงคล 108 ในกรอบทรงกลมกลางฝ่าพระบาทและท้าวจตุโลกบาท ด้านหลังสลักเป็นรูปตอนมารผจญ สำหรับประวัติความเป็นมาของพระพุทธบาทไม้มีเรื่องเล่าอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือ พระแจงวินัยธร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูปได้จารึกไว้เมื่อปี พ.ศ.2459 ความว่า“ฉันได้รับข่าวเล่ากันต่อๆมาว่า ฝ่าพระพุทธบาทนี้ลอยน้ำมาแต่เหนือกับพระพุทธรูปหนึ่งองค์นี้ก่อนกรุงเก่า” อีกทางหนึ่ง คุณ มนัส โอภากุล กล่าวถึงพระเทพวุฒาจารย์ (เปลื้อง) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิว่า ท่านได้ยินสืบต่อมาว่า เดิมทีพระพุทธบาทนี้อยู่ที่วัดเขาดิน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ต่อมาเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พระภิกษุรูปหนึ่งได้ขนย้ายพระพุทธบาทนี้ไปซ่อนพวกพม่าจนกระทั่งได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระรูป แม้ในปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องความเป็นมาของพระพุทธบาทไม้ที่ชัดเจน แต่ก็กล่าวได้ว่า พระพุทธบาทนี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระรูปมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กระทั่งในปี พ.ศ.2459 พระแจงวินัยธร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูปได้ชักชวนชาวบ้านร่วมกันสร้างมณฑปเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ที่ริมแม่น้ำ โดยเป็นมณฑปก่ออิฐถือปูนอยู่ในผัง“สี่เหลี่ยมย่อมุม” กลางอาคารมีห้องโถงใหญ่และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ มีบันไดทางขึ้นลงด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ต่อมาในสมัยพระครูสุนทร สุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูป ได้นำพระพุทธบาทไม้นี้ขึ้นมาประดิษฐานไว้บนพิพิธภัณฑ์ของวัดจวบจนทุกวันนี้ (จากภาพ กลางภาพด้านบนคือ พระพุทธบาทไม้ด้านหน้าลวดลายมงคล 108 ในกรอบทรงกลมกลางฝ่าพระบาท ส่วนกลางภาพด้านล่างคือ พระพุทธบาทไม้ด้านหลังลวดลายตอนมารผจญ สำหรับรูปซ้ายมือและขวามือ ทีมงานดึงภาพขยายบางส่วนจากด้านหน้าและด้านหลังพระพุทธบาทไม้มาให้ชมกัน)
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
313 | 5250 | 297642 |