วัดผึ้งเป็นวิหารเก่าที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้าน นั่นคือ หลวงพ่อขาว โครงสร้างวิหารเหลือเพียงผนังอยู่สามด้าน ส่วนหลังคาและผนังด้านหลังพระประธานพังทลายหมด แต่มีการสร้างเพิงหลังคาคลุมวิหารเก่าไว้ ปัจจุบันที่ตั้งของวัดผึ้งอยู่ริมถนนมาลัยแมน
วัดกุฏิสงฆ์มีเพียงเจดีย์ทรงลังกาขนาดใหญ่ เจดีย์องค์นี้สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ปัจจุบันที่ตั้งของวัดกุฏิสงฆ์อยู่ริมถนนมาลัยแมนบริเวณเชิงสะพานแม่น้ำท่าจีน
วัดผึ้งและวัดกุฏิสงฆ์อยู่ริมถนนมาลัยแมนทั้งสองวัด เราสามารถเห็นจากถนนได้เลย โดยวัดผึ้งจะอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ จากนั้นถ้าเลาะตามฟุตบาทหรือเลนซ้ายจนเลยปากซอยถนนสมภารคงไปไม่ไกล วัดกุฏิสงฆ์ที่อยู่กลางแจ้งบริเวณเชิงสะพานก็เป็นลำดับถัดมา
- ขอเริ่มจากวัดผึ้งก่อน
บน – ปัจจุบันวัดผึ้งเป็นวัดร้างและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ชุมชนวัดผึ้งยังช่วยกันดูแลอยู่ โดยวันสำคัญทางศาสนา มีการอัญเชิญพระสงฆ์มาประกอบพิธีทางศาสนาด้วย (จากภาพ ถนนมาลัยแมนมีทางแยกให้รถเลี้ยวเข้ามาตามภาพได้ นอกจากนี้ ขวาสุดของภาพมีร้านอาหารและเครื่องดื่มอยู่หนึ่งร้าน)
ไปชมวัดผึ้งกันต่อ
ซ้ายบน – วัดผึ้งในปัจจุบันเหลือเพียงวิหารเก่า กรมศิลปากรทำการบูรณะและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว สันนิษฐานว่า วัดผึ้งน่าจะสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา (จากภาพ ผนังวิหารบางส่วนที่ยังคงเหลืออยู่)
ขวาบน – จุดเด่นของวิหารก็คือ ต้นโพธิ์ที่ขึ้นปกคลุมวัดผึ้งบริเวณพระประธานของวิหาร ซึ่งทำให้บรรยากาศเย็นสบาย เรายังสังเกตได้จากภาพเปิด“บน”ที่มีต้นไม้อยู่ทั่วบริเวณวัดด้วย
- เข้าไปชมด้านในบ้าง
ซ้ายกลางบน – ในวิหารมีการทำพื้นปูนอย่างดีเพื่อความสะดวกในการประกอบพิธีหรือสักการะของประชาชนและนักท่องเที่ยวและยังคงผนังวิหารดั้งเดิมไว้
ซ้ายกลางล่าง - ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเรียกว่า“หลวงพ่อขาว”ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และมีความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้มีเรื่องเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ว่า ภายในวิหารของวัดผึ้งเคยใช้เป็นสถานที่หลบภัยของทหารไทยและชาวบ้านเมื่อครั้งที่กองทัพพม่ายกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในช่วงนั้น เมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองหน้าด่าน จึงมีการสร้างกำแพงเมืองและคูน้ำล้อมรอบเพื่อป้องกันและตั้งรับข้าศึกไม่ให้โจมตีเข้าไปถึงพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยในขณะนั้น เมื่อพม่ายกทัพผ่านวัดผึ้ง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากประตูเมือง แต่กองทัพพม่ากลับมองไม่เห็นวัดผึ้งและยกทัพผ่านไป ทำให้ทหารไทยและชาวบ้านรอดพ้นมาได้ บรรดาทหารไทยและชาวบ้านจึงเชื่อว่า เป็นเพราะปฏิหาริย์และความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อขาวในวิหารนั่นเอง)
- หลังจากกราบสักการะหลวงพ่อขาวแล้ว เราก็มุ่งหน้าสู่วัดกุฏิสงฆ์ต่อเลย จะเดินไปหรือขับรถไปก็ตามสะดวกเพราะห่างกันไม่เท่าไหร่
ซ้ายล่าง – วัดกุฏิสงฆ์เหลือเพียงเจดีย์โดดๆอยู่หนึ่งองค์ท่ามกลางบ้านเรือนที่รายล้อมรอบข้างและมีถนนมาลัยแมนที่เป็นสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนอยู่ด้านหน้า
ขวาล่าง – เจดีย์ของวัดกุฏิสงฆ์เป็นเจดีย์ทรงลังการูปแบบเมืองสุพรรณ กรมศิลปากรได้ทำการขุดสำรวจและพบศิลปวัตถุและเครื่องถ้วยชาม เช่น พระกำแพงศอก ฯลฯ ซึ่งสามารถกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 19-21 (จากภาพ รูปแบบของเจดีย์เป็นฐานเขียงสิบหกเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัว 3 ชั้น และจากฐานบัวขึ้นไปก็เป็นมาลัยเถาและองค์ระฆัง)
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
293 | 5230 | 297622 |