ปราสาทนางรำ

คำอธิบาย


ปราสาทนางรำตั้งอยู่ที่บ้านนางรำ หมู่ที่ 1 ตำบลนางรำ อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยโบราณสถาน 2 หลัง ได้แก่

1. ปราสาทนางรำเป็นอโรคยศาลหรือศานสถานประจำสถานพยาบาลแห่งหนึ่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ปี พ.ศ.1724-1763) แห่งอาณาจักรเขมรโบราณได้โปรดสร้างขึ้น อโรคยาศาลแห่งนี้ประกอบด้วยปราสาทประธานแผงผังรูปสี่เหลี่ยม ด้านหน้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานมีบรรณาลัยหรือวิหาร อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ซึ่งมีโคปุระ(หรือซุ้มประตูทางเข้า)อยู่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว นอกกำแพงแก้วยังมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมกรุด้วยศิลาแลง

2. กู่พราหมณ์จำศีลอยู่ถัดจากปราสาทนางรำไปทางทิศใต้ประมาณ 80 เมตร ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกปราสาทหลังนี้ว่า กู่พราหมณ์จำศีล ภายในกู่มีปราสาทสามองค์ที่ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยเรียงจากทิศเหนือไปทิศใต้และมีปราสาทประธานอยู่ตรงกลางขนาบด้วยปราสาทบริวาร ด้านหน้าทางทิศตะวันออกของปราสาทมีวิหารหรือบรรณาลัยอยู่ 2 หลัง ก่อด้วยศิลาแลงและมีทางเข้าด้านทิศตะวันตก อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง โดยมีซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก บริเวณกำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้ก่อเป็นห้องอยู่ตรงกลาง ถัดจากกำแพงแก้วออกมามีคูน้ำล้อมรอบ ยกเว้นด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกที่ไม่มีคูน้ำ ด้านนอกคูน้ำด้านทิศตะวันออกประมาณ 50 เมตร มีฐานอาคารขนาดเล็กอยู่อีกแห่งหนึ่ง

จากหลักฐานที่พบในการขุดแต่ง เช่น ทับหลังสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์ 4 กร ทับหลังสลักภาพพระวรุณทรงหงส์ เป็นต้น มีรูปแบบของศิลปะเขมรแบบบาปวนอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนปราสาทนางรำเป็นโบราณสถานของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479 และประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 104 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2524 เนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ 2 งาน 92 ตารางวาตามลำดับ


ตอนที่ทีมงานมาถึงปราสาทนางรำ ถ้ามองจากริมถนน เราจะเห็นปราสาทนางรำตามชื่อของสถานที่ก่อน และเมื่อเดินเข้าไปด้านใน จึงจะเห็นปราสาทอีกแห่งที่มีเนื้อที่ใหญ่กว่า นั่นก็คือ กู่พราหมณ์จำศีล นอกจากนี้ยังมีวัดเล็กๆตั้งอยู่ใกล้ๆด้วย
- ที่นี่มีลุงและป้าคอยดูแลสถานที่อยู่ ป้าและลุงเป็นกันเองดี ส่วนใครจะมาชมสถานที่
บอกเลยว่า เงียบและสงบ
ซ้ายบน – ปราสาทนางรำ (จากภาพ ปราสาทนางรำสร้างตามคติความเชื่อพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ทั้งหมดก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย)
ขวาบน – ปราสาทประธาน (จากภาพ เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูหรือโคปุระเข้ามา ก็จะพบปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง ภายในปราสาทมีเทวรูปตั้งอยู่)
ซ้ายล่าง – มุมใกล้คือฐานศิลาจารึก เรายังเห็นด้านข้างของปราสาทประธานอีกด้วย
ขวาล่าง – วิหารหรือบรรณาลัย (จากภาพ วิหารหรือบรรณาลัยอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน)
ล่าง – กู่พราหมณ์จำศีล มีเนื้อที่กว้างขวางทีเดียว (จากภาพ สาเหตุที่เรียก กู่พราหมณ์จำศีล ก็เพราะว่าเป็นสถานที่จำศีลของนักบวชที่เดินทางผ่านมา)

 


เข้าไปชมกู่พราหมณ์จำศีลกัน
บน – ด้านในเราจะพบกับปราสาทสามองค์ที่ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยเรียงจากทิศเหนือไปทิศใต้ (จากภาพ จุดนี้คือด้านหน้าของปราสาททั้งสามองค์ มีปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง ซ้ายและขวาคือ ปราสาทบริวาร ปัจจุบันปราสาทได้พังทลายลงหมด เหลือเพียงซุ้มประตู)
ซ้ายบน – ด้านหลังของปราสาทประธาน
ขวาบน – ภายในกู่พราหมณ์จำศีลจะมีวิหารหรือบรรณาลัยอยู่สองหลัง บรรณาลัยหลังนี้อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ซ้ายกลาง – ซุ้มประตูด้านหลัง(หรือทิศตะวันตก)ของกู่พราหมณ์จำศีล
ขวากลาง – กำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้ก่อเป็นห้องขึ้นมา (จากภาพ ห้องนี้อยู่ทางทิศใต้)
ซ้ายล่าง – พื้นที่ภายในโดยรอบบางส่วนของกู่พราหมณ์จำศีลด้านทิศเหนือ
ขวาล่าง – คูน้ำที่ล้อมรอบกู่พราหมณ์จำศีลด้านทิศเหนือ (จากภาพ คู่น้ำมีทั้งทิศเหนือและทิศใต้ โดยมีลักษณะเป็นรูปทรงเกือกม้า)


TODAY THIS MONTH TOTAL
344 5281 297673
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top