ปราสาทเขาโล้นเป็นกลุ่มสิ่งก่อสร้างของเทวาลัยที่สร้างด้วยอิฐ มีปราสาทประธานเป็นอาคารทั้งหมด 3 หลัง โดยทั้งสามหลังตั้งอยู่บนฐานไพที ปราสาททั้งหมด 3 หลังมีประตูเพียงช่องเดียว ส่วนยอดเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเรียกว่า ชั้นวิมาน ในการดำเนินงานทางโบราณคดีพบชิ้นส่วนปราสาทจำลองและบรรพแถลงทำจากหินทราย สันนิษฐานว่าใช้ประดับในแต่ละชั้นของส่วนยอด ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีอาคารที่เรียกว่า บรรณาลัย ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว บริเวณกึ่งกลางกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก มีซุ้มประตูที่เรียกว่า โคปุระ
และเนื่องจากเขาโล้นเป็นภูเขาหินทราย จึงมีการใช้ประโยชน์จากหินทรายธรรมชาติ โดยนำมาปรับแต่งพื้นที่บนยอดเขาให้เป็นเนินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อก่อสร้างปราสาทและนำมาวางเรียงให้เป็นทางขึ้นสู่ปราสาท เชิงเขายังมีบารายหรืออ่างเก็บน้ำที่สร้างจากคันดินคร่อมลำน้ำธรรมชาติสำหรับกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในศาสนสถานและชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณปราสาท
ปราสาทเขาโล้นสร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 มีการค้นพบจารึกบริเวณวงกบประตู ระบุศักราชที่ตรงกับพุทธศักราช 1559 ซึ่งอยู่ในรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 สอดคล้องกับรูปแบบศิลปะของทับหลังที่กำหนดอายุได้ในศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนต้น โดยเป็นรูปบุคคลที่นั่งอยู่เหนือเกียรติมุขหรือหน้ากาล อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการปกป้องสิ่งชั่วร้าย นิยมนำมาประดับเหนือประตูทางเข้า
มีเรื่องที่น่ายินดีก็คือ ทับหลังของปราสาทเขาโล้นที่สูญหายไปเมื่อหลายสิบปีก่อนถูกส่งกลับคืนจากอเมริกาสู่เมืองไทยแล้ว ซึ่งกรมศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรีได้พัฒนาขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้เพื่อต้อนรับการกลับมาของทับหลัง แต่ตอนนี้ ทีมงานต้องขอเดินอ้อมไปด้านหลังเนินเขาซึ่งจะมีทางเดินปูด้วยหินขึ้นเขาไปชมปราสาทก่อน
บน – ทิวทัศน์ของปราสาทเขาโล้นคือ ภาพแรกที่นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้เห็น บนยอดเขาเตี้ยๆนี้เป็นพื้นที่โล่งและมีป่าโปร่งกระจายอยู่รอบเนินเขา
เมื่อขึ้นมาแล้ว ก็ได้เวลาสำรวจเลย
ซ้ายบน – ปราสาทเขาโล้นตั้งอยู่บนฐานไพที โดยมีปราสาทประธานเป็นอาคารทั้งหมด 3 หลัง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงปราสาทประธานหลังกลางเท่านั้น ส่วนปราสาทประธานอีกสองหลังทางซ้ายและขวาได้พังทลายลงหมด
ขวาบน – ด้านหน้าของปราสาทประธาน (จากภาพ จากหลักฐานภาพถ่ายเก่าพบว่า บริเวณซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธานเคยมีวงกบประตู เสาประดับกรอบประตูแปดเหลี่ยม และทับหลังทำจากหินทราย ซึ่งพบว่าจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา กรมศิลปากรจึงดำเนินการทำเรื่องขอนำกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครเป็นที่เรียบร้อย)
ซ้ายกลาง - ด้านข้างของปราสาทประธาน
ขวากลาง – บริเวณนี้คือ บรรณาลัย ซึ่งเป็นที่เก็บคัมภีร์หรือรูปเคารพรอง
ซ้ายล่าง – ซุ้มประตูหรือโคปุระมีทั้งหมดสามทิศคือ ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก (จากภาพ ซุ้มประตูนี้อยู่ทางทิศตะวันตก)
ขวาล่าง – ห้องสำหรับประดิษฐานรูปเคารพในปราสาทประธาน ปัจจุบันเหลือเพียงชิ้นส่วนแท่นฐานเท่านั้น
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
221 | 5158 | 297550 |