วัดหงส์(หรือวัดศีรษะแรด)ตั้งอยู่ที่ตำบลมะเฟือง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ วัดหงส์เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบุรีรัมย์เป็นอย่างมาก องค์พระเจ้าใหญ่ค้นพบโดยท้าวศรีปาก(นา) ท้าวทาทอง(ยศ) และท้าวเหล็กสะท้อนไกรสรเสนา นอกจากองค์พระเจ้าใหญ่แล้ว ยังมีการค้นพบนอแรดและกระดูกแรดอีก จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า"บ้านศีรษะแรด"
เดินทางสู่เนื้อหาของวัด
ซ้ายบน – เข้ามาชมถาวรวัตถุใกล้ๆบ้าง ซ้ายมือคือทางเข้าโบสถ์ทองคำขาว ตรงกลางคือพระธาตุ และทางขวาคือวิหาร
- ขอเริ่มต้นที่วิหารก่อน
ขวาบน – บรรยากาศในวิหารที่มีประชาชนเดินทางมากราบไหว้ไม่ขาดสาย
ซ้ายกลาง – “พระเจ้าใหญ่”ประดิษฐานอยู่ในวิหารและเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่กว่า 600 ปีแล้ว มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เลื่อมใสของชาวบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียง พระเจ้าใหญ่มีพุทธลักษณะปางมารวิชัย วัสดุสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 1.6 เมตร สูง 2 เมตร แต่เดิมสร้างด้วยศิลาแลง ศิลปะล้านช้าง มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 19-20 ช่างที่สร้างอาจเป็นช่างสกุลลาวโดยดูจากพระเกศที่มีลักษณะเฉพาะในภาคอีสานและในประเทศลาวเท่านั้น (จากภาพ ตามประวัติเล่าว่า ท้าวศรีปาก(นา) ท้าวทาทอง(ยศ) และท้าวเหล็กสะท้อนไกรสรเสนา คนไทยเชื้อสายลาวและบริวารมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดมหาสารคาม ทั้งหมดมีนิสัยชอบเที่ยวป่าล่าสัตว์ มีอยู่ครั้งหนึ่งได้ยิงนกขนาดใหญ่และสวยงามมากบริเวณสระบัว แต่นกตัวนั้นบินมาตกตรงป่าทางทิศตะวันออก ทุกคนจึงออกตามหาและได้พบพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่ง ด้วยความที่ไม่เคยเห็นพระองค์ใหญ่ขนาดนี้ จึงเกิดความดีใจ จากนั้นได้สำรวจรอบองค์พระและพบเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม บริเวณรอบองค์พระมีต้นตาลทั้ง 4 ทิศและมีเถาวัลย์ปกคลุมรุงรัง ด้านทิศตะวันออกพบหนองน้ำขนาดใหญ่ ไม่ปรากฏว่ามีคนอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น จึงกลับไปชักชวนญาติพี่น้องให้มาตั้งรกรากบริเวณนี้และช่วยกันสร้างวัด แล้วตั้งชื่อว่า"วัดหงษ์"ตามลักษณะของนกที่ถูกยิงตกบริเวณนั้น ส่วนองค์พระมีอักษรขอมจารึกบนดินเผา อ่านได้เฉพาะคำหน้าว่า"พระเจ้าใหญ่..." จึงเรียกว่า"พระเจ้าใหญ่"นับตั้งแต่นั้น)
- จากวิหาร เราเดินไปอุโบสถ(หรือโบสถ์ทองคำขาว)ต่อ
ขวากลาง – ภายในอุโบสถมีหลวงพ่อเงินสมหวังประดิษฐานอยู่ ส่วนพื้นอุโบสถยกสูง ทำให้บานหน้าต่างอยู่ติดกับพื้น และมีใบเสมาอยู่กลางอุโบสถด้วย อุโบสถนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.2466 มีการบูรณะทั้งหมดสองครั้งคือ ปี พ.ศ.2526 และอีกครั้งในปี พ.ศ.2559
- ต่อไปคือ เรื่องราวของพระธาตุ
ขวาล่าง – พระธาตุในวัดหงษ์มีทั้งหมดสามชั้น ด้านในสุดเป็นพระธาตุโบราณมีอายุพันกว่าปี และเนื่องจากชำรุดทรุดโทรมไปมาก จึงมีการสร้างอิฐครอบไว้อีกชั้นเมื่อราวหนึ่งร้อยปีก่อน จากนั้นมีการก่อปูนครอบทับอิฐอีกครั้งเป็นชั้นที่สามตามภาพที่เห็นนี้เมื่อราว 70-80 ปีก่อน (จากภาพ ถ้าเรามองช่องที่เห็นอิฐก่ออยู่ด้านในพระธาตุ บริเวณนั้นคืออิฐชั้นที่สอง)
- ศึกษาทางธรรมเสร็จ ก็เข้าสู่ทางโลก
ซ้ายล่าง – ตรงข้ามกับวิหารและใกล้กับศาลาหอฉันท์มีร้านค้าตั้งเรียงกันอยู่ประมาณ 5-6 เจ้าและมีแม่ค้าเดินเร่ขายล็อตเตอรี่อยู่ใต้ต้นไม้หน้าร้านค้าด้วย ขณะเดียวกัน ใกล้กับอาคารบูชาน้ำมนต์และเครื่องสังฆทานยังมีแผงลอยใต้ร่มตลาดนัดอีกหนึ่งเจ้า สำหรับสินค้าทั้งหมด เริ่มจากเครื่องดื่มปรุงที่ร้านมีกาแฟโบราณ เนสกาแฟ โกโก้ โอวัลติน โอเลี้ยง ชาเนสที น้ำบ๊วย แดงมะนาวโซดา เขียวมะนาว ชาเขียวมะนาว ชาเขียวนม ชามะนาว ชาเขียวเย็น ชาเย็น นมเย็น สตรอว์เบอร์รี เผือกหอม แคนตาลูป นมสดน้ำผึ้ง นมสด และเฉาก๊วยคาราเมลนมสด รวมทั้งน้ำสตรอว์เบอร์รีและน้ำส้มสดในโหลแก้ว เครื่องดื่มในตู้เย็นมีน้ำดื่มซีซั่น โค้ก สไปรท์ และแฟนต้า(น้ำเขียวและน้ำแดง) สำหรับหมวดน้ำอัดลมใส่แก้วน้ำแข็งก็มีเช่นกัน ของทอดมีไส้กรอก ลูกชิ้น ปูอัด และเต้าหู้ ขนมขบเคี้ยวมีเลย์รสมันฝรั่งแท้ แจ๊กส์พร้อมซอสมะเขือเทศ โปเต้ ฮานามิรสดั้งเดิม และเมล็ดฟักทองตรามือ ต่อไปเป็นหมวดบริการมีใส่กรอบพระทุกรุ่นทุกพิมพ์ ใส่ตะกรุด ใส่หวายลูกนิมิต รวมทั้งบริการดูดวง สินค้าอื่นๆมีระบายสีปูนปลาสเตอร์ สลากกินแบ่ง และปล่อยนก(โดยมีนกเขาชวาตัวผู้ตัวเมียและนกเขาไฟตัวผู้ตัวเมียให้เลือกปล่อยอยู่ในกรง)
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
445 | 5382 | 297774 |