วัดนกตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดมหาธาตุ ชื่อวัดนกปรากฏในคำอธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยาที่เรียบเรียงโดยพระยาโบราณราชธานินทร์ตอนหนึ่งว่า “ย่านหลังวัดนก หน้าวัดโพง มีร้านชำไทยมอญขายขัน ถาด พานน้อยใหญ่ สรรพเครื่องทองเหลืองครบ และมีตลาดขายของสดเช้าเย็นอยู่ในย่านหน้าวัดนก”
ปัจจุบันว่ามีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญได้แก่ ปรางค์ประธานและวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 20 และคงมีการซ่อมแซมเพิ่มเติมในยุคต่อๆมา
วัดนกถือเป็นวัดที่โชคดีจริงๆเนื่องจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างตั้งเป้าหมายมาวัดมหาธาตุกันทั้งนั้น แต่ถ้าใครอยู่ในวัดมหาธาตุแล้ว ยังไงก็ต้องเห็นวัดนกซึ่งอยู่ห่างกันไม่กี่ก้าวด้วย เพราะองค์ปรางค์อันสูงสง่าเป็นแม่เหล็กชั้นดีเลย หลายคนจึงเดินเท้าเข้ามาชมความงามของวัดนกกันต่อ
บน – ภาพเบื้องหน้าของวัดนกที่นักท่องเที่ยวจะเห็นเหมือนกัน ด้านหน้าคือ วิหาร ด้านหลังคือ ปรางค์ประธาน วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานด้านเอกสารเกี่ยวกับการก่อสร้าง แต่เมื่อพิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมและข้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งกล่าวถึงวัดนกว่า เป็นย่านร้านของชำไทยมอญและตลาดการค้าของสด จึงสันนิษฐานว่า น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น (จากภาพ ขวามือสุดคือ กำแพงแก้วของวัดมหาธาตุ)
เมื่อสักครู่เห็นจากไกลๆแล้ว คราวนี้ไปทัศนาใกล้ๆบ้าง
ซ้ายบน – ทีมงานพาทุกคนมาชมด้านหน้าวัดนกกันแบบใกล้ๆ
ขวาบน – ด้านข้างวิหารที่มองจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (จากภาพ วิหารของวัดนกเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันยังคงเหลือร่องผนังก่ออิฐและด้านข้างของผนังปรากฏช่องหน้าต่างด้านละหนึ่งช่อง)
ซ้ายกลาง – ลานบนวิหาร
ขวากลาง – ฐานชุกชีบนวิหารและปรางค์ประธานในระยะใกล้ขึ้น
ซ้ายล่าง – ปรางค์ประธาน (จากภาพ องค์ปรางค์มีทางเข้าสู่ครรภคูหาทางทิศตะวันออก ลวดลายปูนปั้นที่ประดับองค์ปรางค์เหมือนกับปรางค์วัดส้มและปรางค์วัดลังกา จัดว่าเป็นปรางค์ในระยะแรกของอยุธยา ต่อมามีการบูรณะองค์ปรางค์ โดยการต่อมุขด้านหน้าปรางค์ให้ยาวออกมา ยอดมุขหน้าปรากฏเป็นปรางค์ขนาดย่อมจำนวน 1 ยอด ฐานของมุขแอ่นโค้งซึ่งอาจเป็นงานสมัยอยุธยาตอนปลาย)
ขวาล่าง – ปรางค์ประธานทางทิศเหนือ
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
431 | 5368 | 297760 |