น้ำตกไอร์ซือดอร์อยู่ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป แต่อยู่คนละทิศทางกับน้ำตกชีโป ตำแหน่งของน้ำตกไอร์ซือดอร์อยู่บริเวณบ้านคอตอและบ้านตะเคียนต้นเดียวในตำบลศรีบรรพตของฝั่งอำเภอศรีสาครบนถนนท้องถิ่นสาย นธ.5027 ถ้าวิ่งมาจากอำเภอระแงะ ตลอดเส้นทางเป็นถนนสองเลนแคบๆผ่านภูเขาสูงและป่าตลอด จากนั้นมีทางตัดเข้าถนนลูกรังเล็กๆทางขวามือบนภูเขาต่อ โดยเส้นทางบางช่วงเป็นหลุมเป็นบ่ออยู่บ้าง วิ่งเข้ามาอีก 3 กิโลเมตร ก็ถึงตัวน้ำตก โดยก่อนทางเดินลงน้ำตกชั้นที่ 1 จะมีลานดินที่สามารถจอดรถได้ และจากจุดจอดรถนี้สามารถมองเห็นน้ำตกชั้นที่ 1 จากระยะไกลได้ด้วย
เมื่อเดินลงมาที่น้ำตกชั้น 1 แล้ว สายน้ำที่ไหลผ่านพร้อมเสียงดังกึกก้องเบื้องหน้าสะกดสายตาทีเดียว การขึ้นสู่ชั้นบน ให้เดินตามทางลาดชันของดินริมเขาและแผงหินฝั่งซ้ายข้างน้ำตกขึ้นไป และนับตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้น 5 หลายจุดมีแอ่งน้ำให้เล่นได้ (แต่ต้องไม่ใช่ช่วงที่ฝนตกชุกและน้ำไหลแรง) ส่วนความงดงามของน้ำตก แทบไม่น่าเชื่อว่า ถนนสายท้องถิ่นบนภูเขาที่นี่จะซ่อนธรรมชาติที่สวยงามไว้ขนาดนี้ และสิ่งหนึ่งที่เป็นดัชนีวัดความสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ ถ้าใครโชคดีได้เห็นก็คือ ตัวนาก(ที่ส่งเสียงร้องและดำผุดดำว่ายบริเวณแอ่งน้ำตกชั้นที่ 5)นั่นเอง
น้ำตกไอร์ซือดอร์อยู่กลางภูเขาบนถนนสายท้องถิ่นสองเลนแคบๆและต้องเลี้ยวเข้าถนนสายลูกรังเล็กๆที่บางช่วงเป็นทางไม่สมบูรณ์อีกทอด วิวสองข้างทางมีแต่ป่าเขียวชอุ่ม ไม่มีบ้านผู้คนและไกลจากตัวเมือง แต่เมื่อเข้ามาแล้ว กลับต้องตะลึงกับความลึกลับที่ซ่อนตัวกลางธรรมชาติ ช่างเป็นความคุ้มค่ากับการดั้นด้นอย่างเป็นที่สุด
- จากลานดินสำหรับจอดรถจะมีป้ายไม้เขียนชื่อน้ำตกอยู่ทางขวาและมีทางเดินธรรมชาติลงสู่น้ำตกชั้นแรกอยู่ใกล้ๆ
บน – วินาทีที่ทีมงานเห็นน้ำตกไอร์ซือดอร์ อยากมอบเหรียญทองคล้องคอให้กับความงดงามจริงๆ สวยจนไม่รู้จะหาคำไหนมาเปรียบเปรย (จากภาพ มวลน้ำที่ไหลแบบเต็มเปี่ยม ทำให้เสียงดังอื้ออึงไปทั่วบริเวณ แต่ในยามที่น้ำไม่หลากขนาดนี้ จะมีคนในละแวกมาเล่นน้ำจุดนี้กันเนื่องจากเป็นลานหินที่กว้างที่สุดตลอดเส้นทางน้ำตก และเมื่อมองไปไกลๆ เราจะเห็นน้ำตกชั้นที่หนึ่งอยู่เบื้องหน้า ขณะที่มองขึ้นไปจะเป็นน้ำตกชั้นที่สาม ส่วนชั้นที่สองไม่สามารถเห็นจากด้านล่างได้)
- เข้าสู่น้ำตกชั้นที่หนึ่ง
กลาง – เรามาถึงน้ำตกชั้นที่หนึ่งแล้ว และนี่ก็คือภาพความสวยงามของน้ำตก แอ่งน้ำหน้าน้ำตกกว้างและลึก แถมมีกระแสน้ำแรง
ซ้าย - ตอนนี้ทีมงานกำลังลัดเลาะขึ้นสู่ชั้นต่อไป ระหว่างทางเป็นทางดินลาดเอียงและระเกะระกะอย่างที่เห็น ประเด็นสำคัญคือ ลื่นมาก เนื่องจากเป็นช่วงฝนตกชุก แถมเสี้ยนไม้และหนามตามต้นไม้ก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เรียกว่าทุลักทุเลพอตัว
ขวาบน – แอบเหลือบมองจากข้างทาง กระแสน้ำเชี่ยวกรากจากชั้นบนกำลังสาดตัวลงสู่น้ำตกชั้นที่หนึ่งด้วยเสียงเดซิเบลที่ไม่ต้องพูดถึง
ขวาล่าง – น้ำตกชั้นที่สอง(เหนือตัวอักษร kar)อยู่เบื้องหน้าเราแล้ว ขณะที่มุมไกลเป็นน้ำตกชั้นที่สาม(ซึ่งเห็นเพียงบางส่วนเพราะโดนพุ่มไม้บัง)
ต่อไปเป็นน้ำตกชั้นที่สอง
ซ้ายบน – ตอนนี้ด้านข้างเราเป็นน้ำตกชั้นที่สอง ชั้นนี้มีหน้ากว้างแคบและเตี้ยกว่าน้ำตกชั้นอื่นๆ ทำให้มวลน้ำเบียดกระแทกกันกระหึ่มเป็นสีขาวโพลน
ขวาบน – จุดนี้เป็นน้ำตกชั้นที่สาม ซึ่งมีแอ่งน้ำขนาดย่อมอยู่หน้าน้ำตก ความแรงของน้ำยังคงไม่ลดละ
– เดินหน้าสำรวจกันต่อ
ซ้ายกลางบน - จากน้ำตกชั้นก่อนหน้า เมื่อขึ้นมาด้านบน ก็เป็นภาพลานหินกว้างอีกจุด ส่วนมุมไกลลิบๆสามารถเห็นน้ำตกชั้นที่สี่ได้
ซ้ายกลางล่าง – จุดนี้เป็นน้ำตกชั้นที่สี่แล้ว กระแสน้ำถาโถมลงมาเต็มพิกัด
ซ้ายล่าง - แล้วเราก็มาถึงน้ำตกชั้นที่ห้า ซึ่งเป็นไฮไลต์ที่คนส่วนใหญ่มากัน โดยหน้าน้ำตกมีแอ่งน้ำให้เล่น(ในยามหน้าน้ำไม่หลาก) (จากภาพ ตอนนี้ทีมงานขอหลบฉากมาอยู่มุมข้างก่อน เพราะอยากให้ทุกคนเห็นว่า น้ำที่ซัดลงมากระแทกหินด้านข้างอย่างแรง จะกลายเป็นละอองฟุ้งกระจายไปทั่วในภาพถัดไป ซึ่งเราจะเข้าใจทันที ถ้ายืนมองจากหน้าน้ำตก)
ขวาล่าง – ละอองน้ำกระเซ็นเป็นมุมกว้างจนเปียกปอนไปหมด แม้จะอยู่ห่างจากน้ำตกก็ตาม (แต่ระหว่างที่ทีมงานกำลังเก็บภาพ ก็พบเสน่ห์ของธรรมชาติแบบไม่ตั้งใจ ซึ่งตอนแรกได้ยินแต่เสียง ไม่สามารถหาต้นตอเจอ แม้จะกวาดสายตาอยู่นาน แต่ไม่ช้า จุดกำเนิดของเสียงก็ปรากฏตัวให้เราเห็น นั่นคือตัว“นาก”ที่โผล่ขึ้นมาจากแอ่งน้ำหน้าน้ำตก แล้วม้วนตัวหายกลับลงไปโดยไม่หวั่นกระแสน้ำแต่อย่างใด การที่เราเห็นตัวนากบริเวณนี้ก็เป็นดัชนีวัดความสมบูรณ์ผืนป่าได้ดี) (จากภาพ เมื่อมองขึ้นไป ทุกคนสามารถเห็นน้ำตกชั้นที่หกและเจ็ดได้ด้วย แต่เส้นทางไม่เหมาะที่จะขึ้นในฤดูฝนชุก)
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
415 | 5352 | 297744 |