วัดมุจลินทวาปีวิหาร(หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากกันว่า"วัดตุยง")เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ โดยท่านพระยาวิเชียรภักดีศรีสงคราม (เกลี้ยง) เจ้าเมืองหนองจิกเป็นผู้สร้างเมื่อปี พ.ศ.2388 ท่านและพระอาจารย์พรหม ธมมสโร(หรือพ่อท่านทวดพรหม)ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านได้ตระเวนเลือกชัยภูมิเพื่อสร้างวัด จนมาพบเนินทรายขาวแห่งหนึ่งที่มีต้นชะเมาใหญ่ปกคลุมเงียบสงัด บริเวณนั้นท่านเห็นเสือตัวใหญ่นอนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แล้วอันตรธานหายไป ท่านเลยถือเป็นนิมิตมงคล เลือกสถานที่แห่งนี้สร้างวัดและตั้งชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้านว่า“วัดตุยง”
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสเยี่ยมเยียนพสกนิกรหัวเมืองปักษ์ใต้ ทรงเสด็จมาประทับที่เมืองหนองจิกในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2433 ซึ่งวัดตุยงในสมัยนั้นเป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการด้วย แต่ขณะนั้น พระอุโบสถและเสนาสนะทรุดโทรมอยู่หลายหลัง พระองค์จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 80 ชั่งให้พระยามุจลินทร์สราภิธานนัคโตปการสุนทรกิจมหิศราชภักดี (ทัด ณ สงขลา) เจ้าเมืองหนองจิกไปดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถแทนหลังเก่า โดยพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ไว้ที่หน้าจั่วพระอุโบสถและยังพระราชทานนามวัดแห่งนี้ใหม่ว่า“วัดมุจลินทวาปีวิหาร”เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของเมืองหนองจิก (“มุจลินท”หมายถึง“ไม้จิก” “วาปี”หมายถึง“หนองน้ำ”) อีกทั้งพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์แก่วัดมุจลินทวาปีวิหารด้วย หลวงจีนคณานุรักษ์ (จูล่าย) หัวหน้าชาวจีนเมืองปัตตานีเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โดยมีผู้ร่วมพระราชกุศลสมทบทุนรวมกับพระราชทรัพย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ เป็นเงินค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 2405 เหรียญกับ 4 อัฐ
จากนั้นในปี พ.ศ.2488 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จออกตรวจราชการมณฑลปักษ์ใต้และทราบว่า พระอุโบสถวัดมุจลินทวาปีวิหารยังไม่มีพระประธาน เมื่อพระองค์เสด็จกลับกรุงเทพ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน หน้าตักกว้าง 1 เมตร 4 นิ้ว ซึ่งเป็นองค์หนึ่งในจำนวนพระพุทธรูปโบราณ 1,248 องค์ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอัญเชิญมาจากสุโขทัยและจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ แล้วนำมาเก็บรักษาไว้ที่ระเบียงวัดพระเชตุพนวิมมังคลาราม พระองค์ได้มอบให้พระยาเพชราภิบาลนฤเบศรวาปี เขตมุจลินนฤบดินทร์สวามิภักดิ์ เจ้าเมืองหนองจิก นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถวัดมุจลินทวาปีวิหาร
จนกระทั่งในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตก์ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จเยี่ยมวัดมุจลินทวาปีวิหารเป็นการส่วนพระองค์พร้อมสนทนาธรรมกับพระราชพุทธิรังสี(หลวงพ่อดำ)และทรงประทานเภสัชแด่หลวงพ่อดำซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้นด้วย
อนึ่ง ยังมีเรื่องเล่าในอดีตว่า ชาวเรือที่นับถือพุทธศาสนากลุ่มหนึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางและสร้างศาลาพักสงฆ์เพื่อบำเพ็ญกุศลเป็นครั้งคราว พระที่นิมนต์มาส่วนใหญ่จะมาจากเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา และเมืองยะหริ่ง จนถึงสมัยพระยาวิเชียรภักดีศรีสงครามเป็นเจ้าเมืองหนองจิก ได้ย้ายที่ทำการอำเภอมาตั้งที่หมู่บ้านตุยงในปี พ.ศ.2388 จึงได้สร้างวัดตุยงขึ้นใหม่ ณ บริเวณนี้และนิมนต์ปู่เจ้าพรหมจากเมืองยะหริ่งมาจำพรรษา
สำหรับสถานที่ต่างๆในวัดมีดังนี้
1. พิพิธภัณฑ์พระราชพุทธรังสีหรือหลวงพ่อดำ ภายในเป็นที่ประดิษฐานรูปหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อดำ(ขนาดเท่าองค์จริง)และเก็บรวบรวมโบราณวัตถุมีค่าต่างๆเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเป็นความรู้
2. วิหารยอดหรือมณฑปศิลาจัตุรมุข สร้างเมื่อปี พ.ศ.2507
3. เจดีย์ใหญ่
4. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
5. อนุสรณ์สถาน สถานที่พระราชทานเพลิงศพพระราชพุทธิรังษี
6. อนุสรณ์สถาน สถานที่พระราชทานเพลิงศพพระสิทธิญาณมุนี
ตอนมาถึงวัดแห่งนี้ ทีมงานนึกไม่ถึงว่า พื้นที่ของศาสนสถานจะกว้างขวางขนาดนี้ แถมมีรายละเอียดให้บันทึกตลอด เลยใช้เวลาเดินอยู่นาน คิดว่า สิ่งที่เก็บเกี่ยวไปน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อย จากซุ้มประตูวัดริมถนนสาย 42 เข้าซอยหมู่บ้านไปไม่ไกลก็ถึงเขตวัดแล้ว
บน – วินาทีแรกที่มาถึง ภาพเบื้องหน้าก็คือ ลานกว้างหน้าวัด โดยมีอนุสาวรีย์ผู้สร้างเมืองหนองจิกและวัดมุจลินทวปีวิหารอยู่กลางภาพ รูปปั้นทางซ้ายคือ พ่อท่านทวดพรหม ส่วนทางขวาคือ พระยาภักดีวิเชียรศรีสงคราม ซึ่งคณะพุทธศาสนิกชนและวัดมุจลินทวาปีวิหารได้ร่วมกันสร้างขึ้น สำหรับด้านหลังคือพื้นที่ของวัดซึ่งมีรายละเอียดอีกมาก (จากภาพ อาคารขวาสุดคือ ห้องสมุดของวัดมุจลินทวาปีวิหาร)
ซ้ายบน – อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (จากภาพ อนุสาวรีย์นี้อยู่เลยทางซ้ายสุดของภาพ“บน”ออกไปอีก เลยตกเฟรมไป)
ขวาบน - บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใช้ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเจ้าเมืองหนองจิกในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันใช้ทำน้ำพุทธมนต์ในพิธีต่างๆ
ซ้ายกลาง – ศาลาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ซ้ายล่าง – ศาลาหลังนี้เป็นสถานที่เก็บพระพุทธรูปที่ใช้สรงน้ำพระของชาวปัตตานีในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ขวาล่าง - อุโบสถวัดมุจลินทวาปีวิหาร
เดินชมรายละเอียดของวัดต่อ
ซ้ายบน – เจดีย์ใหญ่หรือพระเจดีย์องค์นี้บรรจุพระบรมธาตุไว้ ปัจจุบันมีอายุเกือบ 150 ปีแล้ว
ขวาบน – มณฑปจัตุรมุขหลังนี้มีขนาดกว้างและยาวด้านละ 12 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2507 เป็นศาลาจำลองแบบพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์บริเวณพระราชวังบางปะอิน อำนวยการสร้างโดยพระราชพุทธรังสี(หลวงพ่อดำ)ในสมัยพระมุจลินทโมลีเป็นเจ้าอาวาส แทนพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ 5 เพื่อประดิษฐานรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส
ซ้ายกลาง – ภายในมณฑปประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงพ่อดำ หลวงพ่อทวด นวล หลวงพ่อชุม หลวงพ่อสุข และหลวงพ่อเอี่ยม
ขวากลาง – ศาลาการเปรียญของวัด (นอกจากนี้ ใกล้ๆกันยังมีสำนักงานวัตถุมงคลวัดมุจลินทวาปีวิหาร ภายในอาคารมีพระเครื่องและวัตถุมงคลให้เช่าด้วย)
ซ้ายล่าง – ด้านหน้าของวิหารและบันไดทางขึ้นวิหาร (จากภาพ วิหารนี้มีทั้งหมดสองชั้น)
ขวาล่าง – บรรยากาศในวิหารบนชั้นสอง ทั้งพระประธาน อาสนะ และมุมของฆราวาส
เดินท่ามกลางความอิ่มใจ
ซ้ายบน – พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อดำ ปี พ.ศ.2537
ขวาบน – พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อสุข
ซ้ายกลางบน – พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อดำ ปี พ.ศ.2540
ซ้ายกลางล่าง – โรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างในปี พ.ศ.2541
ขวากลาง – มุมนั่งสมาธิหลังโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ดูสวยและสงบร่มเย็นมาก
ซ้ายล่าง – เจ้าแม่กวนอิมพระโพธิสัตว์ พุทธศาสนิกชนชาวไทยเชื้อสายจีนร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่สักการะสำหรับบุคคลทั่วไป มีการจัดงานสมโภชขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2556 โดยตำแหน่งของเจ้าแม่กวนอิมตั้งอยู่กลางสระน้ำและมีทางเดินเชื่อมไปถึง
ขวาล่าง – อนุสรณ์เจ้าพ่อเสือ ตามประวัติกล่าวไว้ว่า หลวงปู่ทวดพรหมและพระยาวิเชียรภักดีศรีสงครามได้หาที่สร้างวัด พลันเห็นเสือโคร่งใหญ่ตัวหนึ่งนอนอยู่ใต้ต้นชะเมา เมื่อท่านทั้งสองเข้าไปใกล้ เสือโคร่งดังกล่าวก็หายไป จึงถือเอานิมิตนั้นคู่บ้านคู่เมือง ทางวัดจึงได้สร้างเป็นอนุสรณ์เมื่อปี พ.ศ.2535
วันนี้อากาศดี เป็นวันดีๆ เลยเดินไม่มีเบื่อ
ซ้ายบน – หลวงพ่อทันใจ
ซ้ายกลาง – อาศรมของหลวงพ่อดำ สำหรับประวัติโดยย่อของพระราชพุทธรังสี (หลวงพ่อดำ นนทิโย) ท่านเป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อดำมีนามเดิมว่า ดำ นามสกุล จันทรักษ์ เกิดวันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2437 ที่ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ เริ่มต้นการศึกษาที่บ้าน โดยเรียนกับบิดาจนอ่านออกเขียนได้ เมื่ออายุ 19 ปีได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดนาทับและศึกษาหนังสือขอมไทยกับขอมบาลีจนเชี่ยวชาญ ระหว่างที่เป็นสามเณร ท่านเกิดอาพาธ จึงลาสิกขาชั่วคราวและกลับมาอุปสมบทเมื่ออายุ 22 ปี ท่านได้รับฉายาครั้งแรกว่า“นนทิยมาโน” ต่อมาเดินทางไปกรุงเทพและจำวัดที่วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์(หม่อมเจ้าภุชงค์)ที่วัดราชบพิธทรงเปลี่ยนฉายาให้ใหม่เป็น“นนทิโย”ซึ่งเป็นคำนาม แปลว่า“ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความเพลิดเพลิน” แล้วทรงฝากให้ศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกสามัญและแผนกบาลีที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ จากนั้นท่านกลับมาจังหวัดปัตตานีและจำพรรษาที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร หลวงพ่อดำยังเป็นพระกรรมวาจาจารณ์(พระคู่สวด)ของอาจารย์ทิมแห่งวัดช้างให้ด้วย ท่านยังบริหารคณะสงฆ์กับงานก่อสร้างสังฆเสนาสนะรวมถึงงานทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยด้วยดี ทั้งนี้ท่านเดินจงกรมตั้งแต่เวลา 17.00 ถึง 22.00 เป็นประจำและเข้าห้องนั่งสมาธิตลอดมาจนถึงวาระสุดท้าย หลวงพ่อดำมรณภาพเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2526 รวมอายุได้ 90 ปี
ขวาบน – กุฏิเจ้าอาวาสพระสิทธิญาณมุณี (ท่านพ่อสุข สุมงคโล)
ซ้ายล่าง – อนุสรณ์สถานพระราชทานเพลิงศพ พระสิทธิญาณมุณี เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2548
ขวาล่าง – อนุสรณ์สถานพระราชทานเพลิงศพ พระราชพุทธรังสี เมื่อวันที่ 17 มิถุนาย พ.ศ.2540
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
339 | 5276 | 297668 |