วัดศรีดอนชัยเป็นวัดแห่งแรกในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในเมืองปายมากว่า 700 ปี ภายในวัดมีวิหารลายคำก่อสร้างด้วยศิลปะล้านนาอย่างวิจิตรตระการตา ทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์(หรือพระสิงห์ปาย)ซึ่งเป็นศิลปะเชียงแสนคู่บ้านคู่เมืองที่เก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์
สำหรับประวัติของวัดจากนักวิชาการ พระเจ้าเสนะภู(หรือเจ้ามหาชัย)ผู้ปกครองนครพิงคะบุรี(หรือเมืองเชียงใหม่)และมีเจ้าศรีไจย์เป็นน้องชายคอยช่วยเหลือดูแล ได้ส่งคนไปสอดแนมที่บ้านดอน(หรือบ้านกุงหลง) ก็พบว่ามีพม่ามาตั้งฐานทัพอยู่ ซึ่งบริเวณนี้มีภูมิประเทศราบลุ่มเหมาะแก่การสร้างบ้านเมืองเพื่อขยายอำนาจมารบกับเมืองเชียงใหม่และเมืองอื่นๆ จากนั้น พระเจ้าเสนะภูจึงนำช้างสามเชือกได้แก่ ช้างเผือกแก้ว ช้างเผือกเฒ่า และช้างแก้วมงคลเดินทัพไปบ้านดอนเพื่อปราบพม่า ในคืนแรกที่ค้างแรมกลางป่า พระองค์ทรงนิมิตว่า มีบุรุษผิวดำหลายคนเข้ามาจับตัว มัดมือไพล่หลังไว้ แล้วนำช้างไปหนึ่งเชือก เมื่อตื่นจากบรรทม ก็เล่านิมิตนี้ให้เหล่าอำมาตย์ฟังและกำชับให้ทุกคนระวังตัวเพราะเป็นความฝันที่ไม่ดี รุ่งขึ้น ช้างแก้วมงคลเกิดอาการคึกคะนอง ตกเขา เสียชีวิต ยิ่งเหมือนเป็นลางบอกแหตุ พระเจ้าเสนะภูจึงตัดสินใจยกทัพกลับ ไม่นานพระองค์ก็ทรงสวรรคต
ต่อมาพระเจ้าติโลกราชได้เป็นเจ้าเมืองคนใหม่และมีพระบัญชาให้เจ้าศรีไจย์นำทัพจากเมืองเชียงใหม่ไปตีบ้านดอน พอมาถึงจุดที่ช้างแก้วมงคลตาย(ซึ่งตรงนั้นเรียก“บวกหัวช้าง”ห่างจากปายไปตามถนน 1095 ที่กิโลเมตร 22-23 ทางขวามือ) เจ้าศรีไจย์ได้บนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า หากการสู้รบกับพม่าครั้งนี้ได้รับชัยชนะ จะกลับมาสร้างกู่(หรือสถูป)บูชาที่ตรงนี้ คืนนั้นเจ้าศรีไจย์ส่งบุรุษสอดแนมสองคนปลอมตัวเป็นคนพม่าไปที่บ้านดอน แต่ทั้งสองคนไม่กล้าเข้าไปเพราะกลัวพม่ารู้ เลยซุ่มอยู่ด้านนอก ก็พบว่ามีประตูเข้าไปรบได้สองทาง วันต่อมา เจ้าศรีไจย์เดินทัพมุ่งสู่บ้านดอน พอมาถึงแม่น้ำแห่งหนึ่งที่ใสสะอาดและลึกพอสมควร ก็พลบค่ำพอดี จึงหยุดพักเพื่อนำช้างลงอาบน้ำบริเวณน้ำลึก ซึ่งเรียกว่า“วัง” เมื่อเจ้าศรีไจย์อาบน้ำให้ช้างเสร็จ ก็กล่าวกับช้างว่า“พรุ่งเราจะตีบ้านดอน ขอให้มีชัยชนะด้วยเถิด หากได้ชัยกลับมา ข้าจะสร้างวัดที่ตรงนี้” (วังที่ช้างอาบน้ำมีชื่อว่า“วังช้างเผือก”อยู่ทางทิศตะวันออกของโรงเรียนอนุบาลปาย) คืนนั้นเจ้าศรีไจย์พักอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ก็นิมิตว่ามีเทพบุตรมาอุ้มตัวท่านขึ้นสู่ภูเขาสูงทางทิศตะวันตก โดยมีเทพยาดามาห้อมล้อมไว้และสั่งว่า“หากยกทัพไปตีบ้านดอนวันพรุ่งนี้ ให้ตื่นแต่เช้า สังเกตดาวงวงช้าง 7 ดวงทางทิศเหนือ ถ้าดาวงวงช้างยกขึ้น หรือไก่เริ่มขันติดกัน 3 ครั้ง จะเป็นเวลาตีสี่หรือฟ้าใกล้สาง ก่อนจะบุกบ้านดอน ให้นำน้ำจากแม่น้ำขึ้นมาล้างหน้าล้างมือก่อน จึงจะมีชัย” แล้วเทพบุตรก็จากไป เมื่อเจ้าศรีไจย์ตื่นมา ก็เล่าให้เหล่าอำมาตย์ฟัง อำมาตย์ผู้ใหญ่บอกกับทุกคนว่า นั่นเป็นนิมิตที่ดี ให้ทุกคนปฏิบัติตาม
ในที่สุดเจ้าศรีไจย์ก็รบชนะพม่า เมื่อการสู้รบสงบลง ก็เป็นเวลาฟ้าสาง แต่ช้างที่นำมาเกิดเตลิดหายจากเวียงไปในช่วงรบกับพม่า จึงสั่งให้ตำรวจที่ติดตามมาสะกดรอยขึ้นไปตามแม่น้ำ โดยเตรียมเสบียงไปด้วย ตกค่ำก็ทำที่พักนอน เรียกว่า“ปาง” จุดที่พักนอนตรงนั้นเลยมีชื่อว่า“ป๋างแย”(หรือปางตำรวจ) พอรุ่งเช้าก็ตามหาตัวช้างต่อ พบช้างเผือกเฒ่าในลำห้วย จึงเรียกห้วยแถวนั้นว่า“ห้วยช้างเฒ่า” ส่วนช้างแก้วมงคลก็พบในลำห้วยซึ่งก็คือ“ห้วยช้างแก้ว”ในปัจจุบัน เมื่อได้ช้างสองเชือกมาแล้ว ยังพบช้างป่าตัวผู้อีกหนึ่งตัว จึงจับกลับมาฝึกสอนด้วย แล้วตั้งชื่อว่า“จ๊างปาย” (เทียบกับภาษากลางก็คือ“ช้างพลาย” แต่ถ้าเป็นตัวเมียจะเรียก“จ๊างปัง”หรือช้างพัง) ส่วนแม่น้ำที่ช้างหนีขึ้นไป ก็เรียกตามชื่อช้างว่า“แม่น้ำปาย”
เวลาผ่านไป มีหมู่บ้านเกิดขึ้น เมืองเล็กๆแห่งนี้จึงมีชื่อว่าเมืองปาย หลังจากเสร็จภารกิจ เจ้าศรีไจย์ก็เดินทางกลับเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชจึงสถาปนาเจ้าศรีไจย์ขึ้นเป็น“เจ้าชัยสงคราม”และให้เป็นเจ้าเมืององค์แรกที่ปกครองบ้านดอน พระองค์พัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านเป็นอย่างดี ในปี พ.ศ. 2020 เจ้าชัยสงครามทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่เมืองปาย และตั้งชื่อ“วัดศรีดอนไจย์” โดยนำชื่อ“บ้านดอน”รวมกับชื่อเจ้า“ศรีไจย์” แต่ต่อมาชื่อวัดก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยจนกลายมาเป็น“ศรีดอนชัย”
วันนี้ฟ้าแจ่มใสมาก อากาศก็เย็นตลอดวัน เข้าวัดเข้าวาทำใจให้ผ่องใส คงเป็นเรื่องที่น่ายินดี ได้ข่าวว่า ในอำเภอปายมีวัดแห่งหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์คู่เมืองปายมานานหลายร้อยปีแล้ว แถมสถาปัตยกรรมในวิหารก็สวยงามมาก ทีมงานขอถือโอกาสแวะทำบุญไปในตัวดีกว่า
- เริ่มต้นจากไฮไลต์ก่อน นั่นคือวิหารลายคำ
บน – วิหารลายคำงดงามไปทุกจุด จะเรียกวิจิตรตระการตาก็คงไม่ผิด ทุกอย่างตกแต่งได้อย่างปราณีต รวมทั้งเสาไม้สักที่ลงลวดลายไม่ซ้ำแบบในแต่ละเสา
ชมวิหารลายคำต่อ
ซ้ายบน - พระประธานองค์ใหญ่ด้านหน้ามีอายุ 707 ปี ถึง ณ ตอนนี้ (ซึ่งเท่ากับอายุของวัดพอดี) เป็นศิลปะล้านนาผสมพม่า ขณะที่ใต้พระประธานลงมาในซุ้มเรือนแก้วคือพระสิงห์ปาย(หรือพระพุทธสิหิงค์)ซึ่งเป็นพระศิลปะเชียงแสน เนื้อสำริด สร้างในพุทธศตวรรษที่ 17 มีพระพุทธลักษณะที่ดูผึ่งผาย ถึงตอนนี้ก็มีอายุกว่า 900 ปีแล้ว อนึ่ง ทางวัดได้สร้างราชรถสำหรับแห่พระสิงห์ปายในช่วงสงกรานต์เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำขอพระเป็นประจำทุกปี ซึ่งถือเป็นประเพณีที่ดีงาม (จากภาพ ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมและกราบไหว้พระประธานกับพระสิงห์ปาย)
ขวาบน - ผนังวิหารเคยเป็นเพียงผนังปูนสีขาว ตอนนี้ก็วาดภาพการรบระหว่างไทยกับพม่าของเมืองปายเข้าไว้ รวมทั้งเรื่องราวความเป็นอยู่ของชาวปายในอดีต
ขวากลาง - วิหารลายคำมาพร้อมศิลปะล้านนาที่วิจิตรสมคำร่ำลือ แสดงถึงความละเอียดในการออกแบบ
- นอกจากวิหารลายคำแล้ว ส่วนอื่นๆก็น่าสนใจไม่น้อยเลย
ซ้ายกลาง – โบสถ์ของวัดศรีดอนชัย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวิหารลายคำ
ขวาล่าง – เจดีย์ของวัด
ซ้ายล่าง – กำแพงเมืองโบราณของวัด
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
390 | 5327 | 297719 |