สำหรับประวัติเจ้าแม่โต๊ะโมะ(องค์เทพธิดาแห่งท้องทะเล เจ้าแม่มาจู่ หรือเจ้าแม่ทับทิม)นั้น กล่าวคือ ในสมัยราชวงส์ซ่ง ณ บ้านตระกูลหลิน ต.หงหลอ บนเกาะเหมยโจว เมืองฮกเกี้ยน(หรือมณฑลฝูเจี้ยน) นายหลินหยวนเป็นผู้ตรวจราชการเมืองฮกเกี้ยนในขณะนั้น ท่านสืบเชื้อสายบรรพบุรุษมาจากราชวงศ์ถัง มีนางเฉินซื่อเป็นภรรยา นายหลินหยวนมีบุตรด้วยกัน 6 คน เป็นชาย 1 หญิง 5 แต่บุตรชายมีร่างกายอ่อนแอ ทั้งนายหลินหยวนและนางเฉินซื่อต่างก็เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและนับถือเจ้าแม่กวนอิมอยู่แล้ว คืนหนึ่งนายหลินหยวนฝันว่า พระโพธิสัตว์กวนอิมได้ประทานยาวิเศษให้ภรรยาของตนรับประทาน ปรากฎว่าหลังจากนั้นไม่นาน นางเฉินซื่อผู้เป็นภรรยาก็ตั้งครรภ์ กระทั่งปี พ.ศ.1503 (ปฏิทินจีนตรงกับวันที่ 23 เดือน 3) นางเฉินซื่อได้ให้กำเนิดบุตรหญิงอีกคน โดยทารกน้อยไม่ส่งเสียงรบกวนผู้ให้กำเนิดเลยแม้แต่น้อย หลังจากเจ้าแม่จุติมาสู่โลก จึงตั้งชื่อว่า โบ้เหนียง เจ้าแม่เป็นเด็กที่ฉลาด พออายุ 6 ขวบ มีอาจารย์มาสอนวิชาให้ เจ้าแม่สามารถท่องตำราเพียงครั้งเดียว ก็จำได้หมด นอกจากถือศีลกินเจแล้ว ถ้ามีเวลาว่างจากการเรียนหนังสือ เจ้าแม่จะศึกษาธรรมจากมารดาด้วย
เมื่ออายุได้ 13 ปี มีนักพรตชราแนะนำนางเฉินซื่อว่า ถ้าบุตรีได้รับการชี้แนะทางธรรม อีกหน่อยจะสำเร็จบรรลุอริยผล จากนั้นนักพรตท่านนี้ก็เป็นผู้ชี้แนะทางธรรมจนเจ้าแม่ซึ้งในพระธรรมเป็นอย่างดี เมื่ออายุ 16 ปี ขณะที่เจ้าแม่กับสาวใช้เดินเล่นในสวนใกล้บ่อน้ำ มีเซียนตนหนึ่งค่อยๆปรากฏร่างจากบ่อน้ำลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า สาวใช้ต่างวิ่งหนีกันหมด เหลือแต่เจ้าแม่ที่ยืนสงบนิ่ง แล้วคุกเข่าลง จากนั้นเซียนได้มอบคัมภีร์ให้เล่มหนึ่ง (ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นเง็กเซียนฮ่องเต้ที่ส่งเซียนตนนี้มาหาเจ้าแม่นั่นเอง) เจ้าแม่จึงศึกษาคัมภีร์จนชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าพิสดาร สามารถช่วยปกป้องขจัดมารคุ้มครองชาวประชา เหินฟ้าไปตามท้องทะเลช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลจนชาวบ้านที่อาศัยริมทะเลซาบซึ้งในน้ำใจและความดีของเจ้าแม่ จึงร่วมกันสร้างศาลไว้เพื่อสักการบูชา
กระทั่งปี พ.ศ.1523 (ปฏิทินจีนตรงกับวันที่ 9 เดือน 9) เจ้าแม่เบื่อความวุ่นวายทางโลก อยากอยู่อย่างสงบ จึงเดินทางสู่เหมยซาน(หรือภูเขาเหมย) บรรดาญาติพี่น้องต่างเห็นเจ้าแม่เดินเหมือนมีก้อนเมฆปรากฏใต้ฝ่าเท้าและมีลมพัดผ่านร่าง กระทั่งเจ้าแม่ค่อยๆหายลับไปในกลีบเมฆ ไม่มีร่องรอยใดๆอีกเลยนับตั้งแต่นั้น รวมอายุได้พันกว่าปีแล้ว
สำหรับความเป็นมาของศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะที่อำเภอสุไหงโก-ลกนั้น สืบเนื่องจากชาวฝรั่งเศสได้สัมปทานทองคำที่เขาโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน โดยมีกัปตัน“คิว”เป็นหัวหน้าคนงานและเคารพนับถือเจ้าแม่มาก่อน เวลาจะสำรวจขุดหาแหล่งทองคำ ก็จะอัญเชิญเจ้าแม่มาประทับทรง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เจ้าแม่ในร่างทรงบอกว่า บริเวณที่สำรวจอยู่นี้ห้ามขุด แต่ชาวฝรั่งเศสไม่เชื่อ จนทำให้คนงานถูกดินพังทลายฝังกลบเป็นร้อยคน ชาวฝรั่งเศสคนนี้ถึงเชื่อและนับถือ ทั้งยังลงทุนให้กัปตันคิวไปเมืองจีนอัญเชิญองค์จำลองของเจ้าแม่มาบูชาที่เขาโต๊ะโมะและสร้างศาลที่ประทับให้ด้วย เมื่อมีการประทับทรง เจ้าแม่จะชี้แนะตำแหน่งจนขุดพบแร่ทองคำบริสุทธิ์ ทำให้ชื่อเสียงของเจ้าแม่โด่งดังไปทั่ว ชาวบ้านแถบนั้นจึงขนานนามว่า“เจ้าแม่โต๊ะโมะ”นับตั้งแต่นั้น
ต่อมาไม่นาน กัปตันคิวเสียชีวิตลง ขณะเดียวกันเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ผู้คนต่างหนีภัยสงครามไปคนละทิศละทาง โดยลืมนำองค์จำลองของเจ้าแม่พร้อมกระถางธูปไปด้วย ระหว่างนั้นมีผู้ไม่หวังดีเอาองค์จำลองของเจ้าแม่ไปทิ้งลงหุบเหว แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ ผู้ที่นำองค์จำลองไปทิ้งในคืนนั้นเกิดปวดท้องอย่างรุนแรงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา หลังจากสงครามยุติ กำนันฟ้าซึ่งเป็นลูกชายกัปตันคิวได้ขึ้นเขาโต๊ะโมะและอัญเชิญกระถางธูปไปที่หมู่บ้านเจ๊ะเหย อำเภอแว้ง เพื่อให้ชาวบ้านได้สักการบูชา จากนั้นผู้ใหญ่บ้านที่ชื่อ“จุกไท่”ได้นำกระถางธูปไปไว้ที่บ้านสามแยก อำเภอแว้ง และสร้างองค์จำลองเจ้าแม่ขึ้นมาใหม่พร้อมจัดฉลองให้เจ้าแม่เป็นงานประเพณีเรื่อยมา กระทั่งเจ้าแม่ได้ประทับทรงบอกว่า เมื่อจัดงานครบ 5 ปีแล้ว ให้นำองค์จำลองพร้อมกระถางธูปไปไว้ที่อำเภอสุไหงโก-ลก
ต่อมานายสรรกุลกับเถ้าแก่กัง(จากร้านบึงจีบฮวด)ซึ่งเป็นพ่อค้าในอำเภอสุไหงโก-ลกได้ฝันเห็นหญิงคนหนึ่งบอกว่า ให้หาคนบริจาคที่ดินเพื่อสร้างศาล พ่อค้าจึงนำความฝันไปเล่าให้คนจีนฟังและบอกลักษณะการแต่งกายของหญิงที่ฝันเห็น จึงทราบว่าที่แท้เป็นองค์เจ้าแม่โต๊ะโมะมาเข้าฝันนั่นเอง นายสรรกุลจึงบริจาคที่ดินสร้างศาลให้ และวันที่ 15 มกราคม 2495 ก็เป็นวันเริ่มก่อสร้างศาลขึ้น เมื่อสร้างเสร็จ ก็ตั้งชื่อว่า“ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ”พร้อมเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการภายในศาล และถือเอาปฏิทินจีน วันที่ 23 เดือน 3 (ซึ่งเป็นวันเกิดของเจ้าแม่)จัดงานสมโภชเฉลิมฉลองที่ศักดิ์สิทธ์และยิ่งใหญ่ขึ้น ชาวสุไหงโก-ลก ชาวจีนจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ต่างมาท่องเที่ยวและร่วมงานสักการะเจ้าแม่เป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่นั้น
ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะแห่งนี้เรียกว่าเป็นคู่บุญกับชาวสุไหงโก-ลกเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแล้ว แม้แต่ชาวมาเลเซียก็ยังข้ามด่านมากราบไหว้อยู่ตลอด ที่สำคัญคือการเดินทางที่แสนจะสะดวกสบาย เพราะอยู่กลางใจเมืองพอดี
บน – ตอนนี้เราอยู่หน้าศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะแล้ว ก็ขอเก็บภาพมุมกว้างมาเบิกฤกษ์ก่อน (จากภาพ ทางซ้ายเป็นศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะและประตูทางเข้า เจดีย์สูงๆทางขวาสีขาวคือ เตาเผากระดาษไหว้ต่างๆ ส่วนศาลาสีแดงหลังเล็กถัดมาตรงอักษร g.c เป็นจุดไหว้ฟ้าดินเทวดา ซึ่งเป็นจุดแรกสำหรับลำดับการไหว้ และเจดีย์สีแดงขวาสุดใช้สำหรับจุดประทัดเฉพาะช่วงเทศกาล)
เมื่อเข้ามาในศาลแล้ว เราจะเห็นเคาน์เตอร์รับบริจาคและมุมสำหรับซื้อเทียนจุดถวายศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ ซึ่งมีหลายเล่มหลายขนาดให้เลือกตามกำลังทรัพย์ (หรือใครจะไหว้ธูปเทียนปกติอย่างเดียวหรือมาพร้อมของถวายอื่นๆก็ได้)
ซ้ายบน – คราวนี้หันหน้าเข้าสู่ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะกัน ตรงนี้มีจุดไหว้ทั้งหมดสามมุมคือ มุมซ้าย มุมกลาง และมุมขวา (ส่วนรายละเอียดให้ติดตามในช่วงท้าย)
ขวาบน – ตอนนี้เรามาดูด้านข้างจากทางขวาก่อน
ซ้ายกลาง – จากนั้นเป็นด้านข้างจากทางซ้ายบ้าง
ขวากลางบน – จากด้านใน ลองมองบรรยากาศออกไปสักเล็กน้อย
- เรามาชมแต่ละมุมให้ชัดเจนขึ้นสำหรับการไหว้กัน
ขวากลางล่าง – มุมนี้เป็นฝั่งซ้ายสุดของศาลเจ้า ซึ่งก็คือจุดไหว้พระหมอ
ซ้ายล่าง – มุมนี้อยู่ตรงกลาง ซึ่งก็คือจุดไหว้เจ้าแม่
ขวาล่าง – และมุมนี้ก็คือฝั่งขวาสุดของศาลเจ้า ซึ่งก็คือจุดไหว้เจ้าพ่อถั่มกงเอี๊ยะ
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
460 | 5397 | 297789 |