หมู่บ้านบ่อเกลือ

คำอธิบาย


นับจากเรื่องเล่าขานที่นายพรานสังเกตเห็นเหล่าสัตว์มากินน้ำบนเขา จนค้นพบว่าน้ำบริเวณนี้มีรสชาติเค็ม การทำเกลือสินเธาว์บนภูเขาจนเป็นผลึกเกลือจากภูมิปัญญาชาวบ้านก็เริ่มนับจากนั้นเป็นต้นมา

ที่ตำบลบ่อเกลือใต้มีการสร้างโรงต้มเกลือรายล้อมบ่อเกลือธรรมชาติ โดยโรงต้มทั้งหมดเป็นกำแพงไม้ไผ่มุงหญ้าคา ปิดทึบทั้งสี่ด้านเพื่อกันลม ภายในโรงต้มมีเตาต้มน้ำเกลือที่ทำจากดินเหนียว สำหรับบ่อเกลือที่อยู่ด้านนอกมีการก่อฐานหินล้อมรอบสูงจากบ่อขึ้นมา ที่รอบฐานหินยังมีโครงไม้สร้างประกบสูงเลยฐานหินขึ้นมาด้วยเพื่อวางโอ่งใส่น้ำเกลือ ขณะที่ปากบ่อก็มีแผ่นไม้รองพื้นไว้สำหรับยืนตักน้ำเกลือ

ขั้นตอนการนำน้ำเกลือจากบ่อเกลือก็คือ คนทำเกลือจากโรงต้มแต่ละหลังจะตักน้ำเกลือจากบ่อขึ้นมาก่อน (ซึ่งรอบปากบ่อมีโอ่งเรียงอยู่หลายใบ แต่ละใบจะต่อท่อส่งน้ำเกลือจากโอ่งที่อยู่ตำแหน่งสูงกว่าไปยังบ่อพักน้ำเกลือในโรงต้มของแต่ละคนที่ด้านล่าง) แล้วก็เทน้ำเกลือใส่โอ่งของตัวเองเพื่อให้น้ำไหลผ่านท่อสู่โรงของตน โดยมีก๊อกเปิดปิดท่อเพื่อให้น้ำเกลือหยุดหรือไหลจากโอ่งมาไปที่บ่อพัก

ส่วนขั้นตอนการทำเกลือ ก็ตักน้ำเกลือจากบ่อพักลงกระทะใบบัว(ซึ่งอยู่ในโรงเดียวกัน)ก่อน ส่วนมากหนึ่งหลังจะมีกระทะใบบัวสองใบ ในกรณีต้มเกลือเพื่อใช้บริโภคทั่วไป สามารถใช้ฟืนติดไฟแรงได้ การต้มใช้เวลาประมาณห้าชั่วโมง เมื่อน้ำระเหยจนงวด จะเหลือน้ำบางส่วนพร้อมผลึกเกลือนอนอยู่ก้นกระทะ ก็ตักผลึกเกลือเหล่านั้นมาพักในตะกร้าที่แขวนเหนือกระทะใบบัวเพื่อให้สะเด็ดน้ำ หลังจากผลึกเกลือแห้งสนิท ก็เทเกลือดังกล่าวลงยุ้งเก็บเกลือสำหรับทยอยตักจำหน่ายต่อไป แล้วก็เทน้ำเกลือชุดใหม่ลงกระทะโดยไม่ต้องทิ้งน้ำเกลือที่นอนก้นชุดเก่าไป

ทั้งนี้ยังมีเกลืออีกประเภทหนึ่งก็คือ"ดอกเกลือ" การต้มน้ำเกลือแบบนี้ต้องใช้ไฟอ่อนและต้มนานถึงสองวัน เมื่อครบสองวัน ก็นำดอกเกลือ(ที่ต้มเสร็จ)ไปตากแดดต่ออีกสองวัน ดอกเกลือที่ได้จะมีรูปทรงสวยงามและขนาดใหญ่กว่าผลึกเกลือปกติ โดยเน้นประโยชน์ในเรื่องผิวพรรณเป็นหลัก

ที่สำคัญ น้ำเกลือจากบ่อตามธรรมชาติ ไม่มีวันหมดแต่อย่างใด


สำหรับการทำเกลือในนาเกลือตามที่ราบลุ่ม เรามีโอกาสเห็นหรือได้ยินอยู่เรื่อยๆ แต่การทำเกลือบนภูเขา ก็เพิ่งเคยเห็นจากหมู่บ้านทางภาคเหนือแห่งนี้ แถมหน้าหนาว อากาศก็ดีอีก หลังจากนั่งรถลัดเลาะตามภูเขา ก็ได้เวลาใส่เสื้อหนาวไปดูเขาทำเกลือภูเขากัน
บน – ภาพของหมู่บ้านทำเกลือ ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้มุงหญ้าคา บรรยากาศดูน่ารักท่ามกลางขุนเขาและสายหมอก ตอนนี้มีควันลอยมาจากโรงต้มเกลือด้วย เรารีบเข้าไปดูเลยดีกว่า
ซ้ายบน – ขอเริ่มต้นที่ด้านนอกก่อน เพิงขายเกลือหน้าโรงต้มเกลือแต่ละหลังจำหน่ายทั้งเกลือทั่วไป ดอกเกลือ ไข่(ที่ต้มในน้ำเกลือ) ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากเกลือ ทุกอย่างมาจากเกลือทั้งนั้น รวมทั้งของกินเล่นอื่นๆ เช่น ข้าวสาลีคลุกมะพร้าวน้ำตาล ฯลฯ
ขวาบน – ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นเพิงไม้จำหน่ายข้าวของเป็นซุ้มๆ ตัวอย่างสินค้าก็เช่น ถั่วดาวอินคา ข้าวคลุกงา ข้าวสาลี ผลไม้ดอง ตัวด้วง ไข่(ที่ต้มในน้ำเกลือ) เสื้อที่ระลึก“บ่อเกลือ” ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากเกลือ ฯลฯ
ซ้ายกลาง – หลังจากสำรวจภายนอกแล้ว เราเข้าไปดูโรงต้มแต่ละหลังกัน เริ่มจากประตูนี้เลย
ขวาล่าง – หน้าตาของโรงต้มภายใน เราจะเห็นเตาเผาด้านหน้าที่ต้มเกลือทั่วไปและเตาเผาต้มดอกเกลือที่อยู่มุมไกล (ไม่ว่าจะเป็นโรงต้ม เตาเผา และน้ำเกลือ ทุกอย่างมาจากธรรมชาติล้วนๆ)
ซ้ายล่าง – มุมนี้เป็นที่เก็บกองฟืนในโรงต้ม



จากนั้นเรามาดูขั้นตอนการต้มเกลือต่อ
ซ้ายบน – เริ่มจากเทน้ำเกลือใส่กระทะใบบัว คอยเติมฟืนในเตาเผาเพื่อเร่งไฟสำหรับต้มน้ำเกลือ
ขวาบน - เมื่อผ่านไป 5 ชั่วโมง ผลึกเกลือจะตกตะกอนนอนก้นจนได้ปริมาณ เราก็ตักผลึกเกลือมาไว้บนตะกร้าเพื่อสะเด็ดน้ำ ปล่อยทิ้งไว้ในตะกร้าอย่างนั้นจนผลึกเกลือแห้งสนิท ถึงนำไปใส่ในยุ้งเก็บเกลือเพื่อรอจำหน่ายต่อไป แต่เกลือที่นี่มีการเติมสารไอโอดีน ก่อนนำไปแพ็คขายด้วย เนื่องจากไม่มีไอโอดีนเหมือนเกลือทะเล (จากภาพ ด้านล่างเป็นน้ำเกลือที่เราใส่ลงกระทะใบบัว ตอนนี้น้ำเกลือเริ่มร้อนขึ้น)
ซ้ายกลาง – ในที่สุดน้ำเกลือก็ร้อนจัด ควันโขมงโฉงเฉงเลย แต่ยังไงต้องรอให้น้ำระเหยมากกว่านี้ ส่วนเกลือในตะกร้าก็แขวนทิ้งไว้จนกว่าจะแห้งสนิท (จากภาพ เข้าสู่โหมดจริงจังนิดหนึ่ง ถ้าใครจำหลักวิทยาศาสตร์ได้ คงนึกภาพออกว่า ทำไมต้มน้ำเกลือ แล้วได้ผลึกเกลือนอนอยู่ที่ก้นกระทะ ก็เพราะว่า จุดเดือดของน้ำอยู่ที่หนึ่งร้อยองศาเซลเซียส เมื่ออุณหภูมิน้ำแตะหนึ่งร้อยองศาเซลเซียส น้ำจะเดือดจัด แล้วระเหยเป็นไอมากมาย แต่เกลือมีจุดเดือดสูงกว่าน้ำมาก เพราะฉะนั้น ที่อุณหภูมิหนึ่งร้อยองศาเซลเซียสไม่ระแคะระคายอะไรเกลือเลย ทีนี้เมื่อน้ำ(หรือตัวทำละลาย)ระเหยและเริ่มแห้ง ความเค็มของเกลือ(ที่ละลายอยู่ในน้ำก่อนหน้านี้)จึงกลายเป็นของแข็งหรือผลึกเกลือให้เราเห็นนั่นเอง
ขวากลางบน – หลังจากเกลือสะเด็ดน้ำจนแห้งสนิท เราก็นำเกลือมาใส่ยุ้งเกลือที่อยู่อีกด้านของโรงต้ม
ขวากลางล่าง – ภาพนี้เป็นบ่อพักน้ำเกลือในโรงต้ม (ส่วนน้ำเกลือมาจากไหน เดี๋ยวเราได้รู้กัน) เมื่อน้ำเริ่มแห้ง เราก็ตักน้ำเกลือจากบ่อพักนี้เทใส่กระทะใบบัวได้เลย
ซ้ายล่าง - ยังมีการต้มเกลืออีกแบบหนึ่ง นั่นคือ เราต้องใช้ไฟอ่อน ปล่อยให้เคี่ยวในกระทะใบบัวไปเรื่อยๆประมาณสองวัน
ขวาล่าง - สิ่งที่ได้ก็คือ"ดอกเกลือ"ตามภาพนี้ ซึ่งเป็นผลึกที่มีขนาดใหญ่กว่าผลึกเกลือที่ต้มปกติ เมื่อได้ผลึกดอกเกลือแล้ว เราต้องเอาไปตากแดดต่ออีกสองวัน ถึงจะนำมาใช้ได้ โดยประโยชน์ของดอกเกลือเน้นเรื่องผิวพรรณเป็นหลัก




ยังเหลืออีกหนึ่งขบวนการที่นักท่องเที่ยวต้องได้เห็น นั่นคือ การนำน้ำเกลือขึ้นมาจากบ่อเกลือที่อยู่ใต้ดิน แต่จะเป็นอย่างไรนั้น ไปดูให้เห็นกับตาดีกว่า
ซ้ายบน - เราจะหย่อนถังน้ำที่ผูกกับเชือกลงไปก่อน (จากภาพ ถังน้ำถูกหย่อนลงไปในบ่อเกลือก่อนแล้ว ส่วนปลายเชือกอีกด้านจะผูกติดกับไม้ที่อยู่ทางขวาสุด)
ขวาบน - เมื่อเชือกลงบ่อไปจนหมด เราก็ออกแรงดึงไม้ลงมา (จากภาพ เราจะเห็นฐานหินรอบบ่อเกลือที่ก่อสูงจากพื้นดิน โดยรอบฐานหินยังมีโครงไม้ประกบสูงเลยฐานหินขึ้นมาอีกเพื่อวางโอ่งใส่น้ำเกลือ ขณะที่ปากบ่อก็มีแผ่นไม้รองเป็นพื้นสำหรับยืน ส่วนสาเหตุที่สร้างฐานหินรอบบ่อเกลือและวางโอ่งให้สูงแบบนี้ก็เพราะว่าน้ำเกลือในโอ่ง(ที่ตักมาจากบ่อเกลือ)สามารถไหลจากที่สูงผ่านท่อแป๊บลงสู่บ่อพักเกลือในโรงต้มซึ่งอยู่ตำแหน่งต่ำกว่าได้)
ซ้ายกลางบน – เรายังใช้แรงกดไม้เพื่อโน้มคานไม้ไผ่ลงมาอีก
ซ้ายกลางล่าง – การกดไม้ลงไปจะทำให้ปลายไม้ด้านล่างกดถังน้ำ(ที่ลอยเหนือน้ำเกลือในบ่อ)ให้จมลงในน้ำเกลือที่ก้นบ่อ มิเช่นนั้น ถังน้ำที่หย่อนลงไปแต่แรก โดยธรรมชาติจะลอยอยู่บนผิวน้ำ ไม่จมลงในน้ำเกลือ เราก็ไม่สามารถตักน้ำเกลือใส่ถังขึ้นมาได้ จึงต้องใช้ปลายไม้ช่วยยันถังให้จมลงไปด้วย
ซ้ายล่าง – คานไม้ไผ่โน้มลงมาหรือโยกกลับคืนจะมีตัวถ่วงน้ำหนักอยู่อีกด้าน(ตามแรงกดไม้ลงบ่อหรือปล่อยไม้กลับคืนโดยคนตักน้ำเกลือ)
ขวาล่าง - เมื่อเรามองดูในบ่อและเห็นว่า ถังจมหมดแล้ว ก็ดึงไม้ขึ้นมา เชือกที่ติดอยู่กับถังน้ำก็จะลอยตามไม้มา เมื่อไม้ขึ้นมาจนหมด ก็ดึงเชือกที่ผูกติดกับถังขึ้นมาต่อจนกระทั่งถังน้ำพ้นปากบ่อ (สำหรับขบวนการดึงถังน้ำเกลือขึ้นมาจากบ่อเกลือ คานไม้ไผ่ที่ถ่วงอยู่อีกด้านจะช่วยดึงถังน้ำขึ้นมาอีกแรง) จากนั้นก็เทน้ำเกลือลงโอ่ง(ซึ่งแต่ละโรงต้มจะมีโอ่งประจำตนเอง น้ำเกลือของใครก็เทใส่โอ่งของคนนั้น) แล้วน้ำเกลือจากโอ่งก็ไหลเข้าบ่อพักน้ำเกลือในโรงต้มแต่ละหลังต่อไปโดยมีก๊อกน้ำทำหน้าที่ส่งน้ำเกลือเข้าบ่อพัก

TODAY THIS MONTH TOTAL
413 5350 297742
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top