ต้นต๋าว(หรือต้น“ลูกชิด”)มักขึ้นกระจายตามป่าดิบชื้นบนภูเขาและจัดเป็นพืชประเภทปาล์ม ดังนั้นแต่ละหมู่บ้านตามภูเขาจะแบ่งเขตดูแลและเก็บลูกต๋าวกัน โดยชาวบ้านจะเดินเท้าเข้าป่าไปเก็บลูกต๋าวกันตั้งแต่เช้าและกลับออกจากป่าอีกครั้งในตอนเย็น ส่วนตำแหน่งของต้นต๋าวสามารถสังเกตทะลายที่มีช่อต๋าวเล็กๆจากปีก่อนล่วงหน้าได้เลย แล้วรอเก็บต้นนั้นในฤดูเก็บถัดไป
เมื่อเจอต้นต๋าวแล้ว ก็ตัดทะลายบนต้นลงมา (ผลต๋าวที่เก็บไม่ควรแก่เกินไป) จากนั้นทำการหั่นผลต๋าวจากช่อออกมาเป็นผลๆ ระหว่างหั่นผลต๋าวจากช่อ ต้องระวังน้ำยางจากผลต๋าวบริเวณขั้ว(และเปลือก)เพราะถ้าสัมผัสถูกผิวหนัง จะมีอาการคันได้ หลังจากหั่นผลต๋าวได้จำนวนหนึ่ง ก็นำผลต๋าวไปต้มในหม้อหรือกะละมังที่เตรียมมา ส่วนน้ำที่ต้มผลต๋าวสามารถหาได้จากแหล่งน้ำในป่า ขณะที่ฟืนก็มาจากกิ่งไม้ในป่าเช่นกัน เมื่อต้มน้ำจนเดือดได้ที่ ก็เทผลต๋าว(ที่หั่นรอไว้แล้ว)ลงกะละมังจนท่วมน้ำ ทิ้งไว้สักครึ่งชั่วโมงหรือ 45 นาที จึงตักผลต๋าวเทลงพื้น ซึ่งอาจหาวัสดุธรรมชาติมารองผลต๋าว(เพื่อไม่ให้เลอะดิน) เช่น ใบตองจากต้นกล้วยป่า
จากนั้นทำการบีบผลต๋าวเพื่อให้ลูกต๋าว(หรือ“ลูกชิด”)หลุดออกมา (เหตุผลที่ต้มผลต๋าวก่อนก็เพื่อให้เปลือกผลต๋าวนิ่มและสามารถบีบผลต๋าวง่ายขึ้นนั่นเอง) ผลต๋าวหนึ่งผลจะมีลูกต๋าวทั้งหมด 3 ลูก (ในการบีบผลต๋าวแต่ละครั้งมักมีเยื่อหุ้มลูกต๋าวติดมาด้วย แต่บางครั้งก็ไม่มี) เมื่อได้ปริมาณลูกต๋าวมากพอแล้ว ก็ใส่ลงกระสอบหรือถุงใบใหญ่ที่เตรียมมาเพื่อนำออกไปขายให้คนที่มารับซื้อต่อไป ปกติการเก็บลูกต๋าวจากป่าจะใช้เวลาหนึ่งวัน แต่ถ้าต้นต๋าวมีทะลายที่ให้ผลมาก อาจใช้เวลาถึงสองวันในการบีบผลต๋าวทั้งหมด เนื่องจากขั้นตอนการบีบผลต๋าวใช้เวลานานที่สุด
เวลากินไอศกรีมกะทิจากรถเข็นหรือตบท้ายอาหารคาวตามร้านอาหาร สิ่งหนึ่งที่ทีมงานต้องใส่คือลูกชิด ระหว่างนั่งกินเพลินๆก็พลันนึกว่า แล้วหน้าตาต้นลูกชิดเป็นยังไง ผลของลูกชิดมีสีอะไร ขั้นตอนการเก็บจะยุ่งยากหรือเปล่า และเพื่อไขปริศนาชิ้นนี้ เราจึงเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋ามุ่งหน้าสู่ภาคเหนือเพื่อควานหาแหล่งกำเนิดทันที
ซ้ายบน – (ต่อไปนี้ขอเรียกลูกชิดว่า“ลูกต๋าว”และ“ผลต๋าว”เพื่อให้เข้าบรรยากาศเมืองเหนือแล้วกัน) เมื่อเดินเข้าป่ามา ซึ่งถือว่าลึกพอดู อีกทั้งเป็นทางลาดตามแนวเขาและรกตลอด เราก็เจอเป้าหมายจนได้ ต้นต๋าวต้นนี้จัดว่าสูงมาก แถมต้องใช้ความสามารถในการปีนขึ้นไปตัดทะลายด้วย (จากภาพ ต้นสูงแค่ไหน ให้ดูคนที่ยืนบริเวณโคนต้นประกอบได้ นี่ยังไม่เห็นยอดของต้นต๋าวแม้แต่น้อย)
ขวาบน – เมื่อเราตัดทะลายต้นต๋าวลงมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ตัดก้านผลต๋าวออกจากทะลายอย่างที่กำลังทำอยู่
ขวากลางบน – ภาพนี้คือทะลาย(ที่ตัดก้านผลต๋าวออกมาแล้ว)
ซ้ายกลาง – ก้านผลต๋าวก็คือก้านยาวๆสีเขียวและมีผลต๋าวติดตามก้านนับไม่ถ้วน ขั้นตอนนี้เป็นการตัดผลต๋าวออกจากขั้วเพื่อแยกผลต๋าวแต่ละผลออกจากก้าน
ขวากลางล่าง – หลังจากตัดผลต๋าวออกจากขั้วแล้ว เราลองมองที่ขั้วกัน จะเห็นว่าหนึ่งผลมีลูกต๋าวทั้งหมดสามลูก
ซ้ายล่าง – ขณะที่ฝ่ายหนึ่งกำลังตัดผลต๋าว อีกแผนกก็เตรียมน้ำใส่แกลลอนรอ โดยไม่ต้องแบกน้ำจากบ้านมาให้หนัก เราหาจากป่าได้เลย เพียงแต่ต้องรู้จักแหล่งน้ำ
ขวาล่าง – ระหว่างนั้นก็ก่อไฟต้มน้ำไปในตัว ส่วนไม้ฟืนหาจากป่าไม่ยากอยู่แล้ว
ไปต่อกัน กำลังลุ้นว่าแล้วลูกชิด(ที่เรากิน)จะออกมาด้วยวิธีไหน
ซ้ายบน – ตอนนี้เป็นภาพบรรยากาศขณะที่กลุ่มหนึ่งกำลังตัดผลต๋าวออกจากขั้ว ขณะที่อีกกลุ่มเตรียมฟืนและหาน้ำให้พอ แต่ที่กำลังจะกล่าวให้ฟังคือ ทำเลการทำผลต๋าวขึ้นอยู่กับตำแหน่งของต้นต๋าวในป่าล้วนๆ เราไม่มีสิทธิ์กำหนดทำเลสะดวกสบายเอง อย่างเช่นเหตุการณ์จริงในตอนนี้ ทุกคนทำงานอยู่บนทางลาดของภูเขา ไม่ใช่ทางเรียบแต่อย่างใด
ขวาบน – หลังจากตัดผลต๋าวได้บางส่วน ก็ทยอยรวบรวมผลต๋าวเทใส่กะละมังก่อน
ขวากลางบน – ภาพของผลต๋าวกลุ่มแรกที่ต้มในกะละมัง
ซ้ายกลาง – การนำพลาสติกมาคลุมกะละมัง จะช่วยเพิ่มความร้อนให้ผลต๋าวในกะละมังขณะต้ม ส่วนเหตุผลที่ต้องต้มผลต๋าวก็เพื่อให้ผลต๋าวนิ่มและทำให้การหนีบลูกต๋าว(หรือลูกชิด)จากผลต๋าวง่ายขึ้นด้วย ทั้งนี้การต้มยังช่วยลดความคันของน้ำยางลงได้ระดับหนึ่ง สำหรับการต้มต่อหนึ่งครั้งอาจใช้เวลาครึ่งชั่วโมงหรือ 45 นาทีก็ได้
ขวากลางล่าง – คราวนี้เราไปดูภูมิปัญญาชาวบ้านบ้าง น้าคนนี้กำลังเหลาไม้เพื่อประกอบเป็นตัวหนีบ โดยไม่พึ่งเครื่องทุ่นแรงใดๆ
ซ้ายล่าง – จากนั้นก็นำไม้มาเทียบขนาด(กับหยวกกล้วย)เพื่อตัดแต่งไม้ให้ได้ขนาดอีกครั้งก่อนประกอบเป็นตัวหนีบ สำหรับหยวกกล้วยนี้เป็นกล้วยป่าและหาได้ในละแวก เราจะนำหยวกกล้วยมาทำเป็นฐานตัวหนีบ
ขวาล่าง - เมื่อประกอบเสร็จแล้ว จะได้หน้าตาตัวหนีบผลต๋าว(ที่ฝังแน่นลงฐานหยวกกล้วย)แบบนี้
ตอนนี้เป็นการไลฟ์สด ชมต่อให้จบ
ซ้ายบน – ต่อไปก็นำใบตองของกล้วยป่ามาวางที่พื้นข้างหยวกกล้วย
ขวาบน – หลังจากต้มผลต๋าวในกะละมังจนได้ที่ ก็ตักผลต๋าวมากองบนใบตองข้างหยวกกล้วย
ซ้ายกลางบน – วิธีการหนีบก็ไม่ยากอะไร นำผลต๋าวที่ต้มเสร็จมาวางที่ตัวหนีบ โดยหันด้านที่ตัดขั้วเข้าด้านใน แล้วกดไม้ตัวบนลง ผลต๋าวที่นิ่มเมื่อโดนแรงบีบก็จะดันลูกต๋าวกระเด็นจากผลมากองบนใบตอง
ขวากลางบน – ขั้นตอนการหนีบลูกต๋าวออกจากผลต๋าวเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลามาก อีกอย่างนั่งหนีบผลต๋าวเป็นชั่วโมงก็เมื่อยได้ ดังนั้นการหนีบผลต๋าวควรช่วยกันอย่างต่ำสองคนและควรมีคนมาสลับเพื่อให้การหนีบเสร็จเร็วขึ้น (ในกรณีที่หนึ่งต้นมีทะลายผลต๋าวมาก อาจต้องใช้เวลาหนีบถึงสองวัน คือกลับมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น)
ขวากลางล่าง – เราได้เห็นขั้วที่ถูกตัดผลออกไปแล้ว ซึ่งมีลูกต๋าวทั้งหมดสามลูก แต่ภาพนี้เป็นการยืนยันชัดเจนด้วยผลต๋าวและลูกต๋าวที่โผล่ให้เห็นว่า แต่ละผลมีลูกต๋าวทั้งหมดสามลูก ไม่มีการโกงกัน
ซ้ายล่าง – เมื่อหนีบลูกต๋าวออกมาได้ปริมาณมาก เราก็ตักผลต๋าว(ที่ต้มเสร็จชุดใหม่)เทลงใบตองเพิ่มเติม ตอนนี้กลายเป็นว่า ทั้งผลต๋าวและลูกต๋าวกองเต็มพื้นที่ใบตอง
ขวาล่าง – เมื่อหนีบลูกต๋าวชุดแรกได้มากแล้ว ก็มัดใส่กระสอบ แบกใส่หลังเดินออกจากป่า แล้วกลับบ้านเพื่อรอพ่อค้ามารับซื้อต่อไป
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
308 | 5245 | 297637 |