หมู่บ้านซาไก

คำอธิบาย


ชนเผ่าซาไกแต่เดิมอาศัยอยู่ในป่าลึก ใช้ใบไม้ทำเป็นที่อยู่อาศัย มีภาษาเป็นของตนเอง ต่อมาในปี พ.ศ.2510 กรมประชาสงเคราะห์ได้รวบรวมเผ่าซาไกที่กระจัดกระจายในเขตอำเภอเบตงและอำเภอบันนังสตาจำนวน 21 ครอบครัว 52 คนมาอยู่รวมกันบริเวณพื้นที่ภูเขาแห่งนี้ โดยสร้างบ้านให้อาศัยและจัดสรรที่ดินกว่า 300 ไร่ พร้อมกับปลูกยางพาราพันธุ์ดีให้ อาชีพของชาวซาไกจึงได้แก่การทำยางนั่นเอง แต่ก็มีสวนผลไม้ด้วย เช่น ทุเรียน ลองกอง พร้อมกันนี้ยังได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี(สมเด็จย่า) ขอพระราชทานนามสกุล“ศรีธารโต”ให้แก่ชาวซาไกทุกคนใช้เป็นนามสกุลอีก

สำหรับชาวซาไกในหมู่บ้านไม่มีชุดประจำชาติใดๆ เครื่องแต่งกายก็เหมือนบุคคลทั่วไป (ส่วนชุดสีแดงที่เห็นตามสื่อนั้นเป็นเพียงการแสดงโชว์ในงานประจำปีเท่านั้น หาได้เป็นชุดประจำเผ่าไม่) อีกทั้งชนเผ่าซาไกไม่มีเทศกาลประจำปีใดๆ รวมถึงพิธีแต่งงานก็ไม่มี ชาวซาไกสามารถกินเนื้อหมูและเลี้ยงสุนัขได้ ในอดีตเคยมีชาวต่างชาติมาพักอยู่กับชาวซาไกนานนับเดือนเพื่อศึกษาวัฒนธรรมของชนเผ่าด้วย

ในปัจจุบัน บ้านเรือนในหมู่บ้านซาไกบางหลังยังคงรูปแบบโครงไม้ดั้งเดิมไว้ แต่ปัจจุบันมีการต่อเติมตัวบ้านให้กว้างขึ้นจนกลายเป็นบ้านปูนทั้งหมดแล้ว อนึ่ง ชาวซาไกต่างก็มีเครือญาติในประเทศมาเลเซีย จึงมีการเดินทางไปมาระหว่างสองประเทศอยู่ตลอด แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ชาวซาไกต่างก็ย้ายไปอยู่ประเทศมาเลเซียเกือบหมด ปัจจุบันมีคุณสุภาพรเป็นชาวซาไกคนสุดท้ายที่อาศัยในหมู่บ้านแห่งนี้และเป็นคนเดียวที่ยังพูดภาษาซาไกได้



เรื่องราวของชนเผ่าซาไกได้ยินมานานนับสิบปี พอมีโอกาสมาที่อำเภอธารโต ก็ขอแวะไปเก็บข้อมูลหน่อยว่า ปัจจุบันชาวซาไกมีความเป็นอยู่เช่นไร สภาพหมู่บ้านและการใช้ชีวิตต่างจากที่เรารับรู้มาแค่ไหน แต่สิ่งแรกที่ขอพูดก่อนเลยก็คือ ธรรมชาติที่นี่อุดสมบูรณ์มาก
บน – จริงๆนั่งรถผ่านถนนในอำเภอบันนังสตาและธารโต ก็รู้อยู่แล้วว่า โซนนี้มีแต่ป่าเขา แต่ทางเดินเข้าหมู่บ้านซาไกช่วยตอกย้ำความเขียวชอุ่มเข้าไปอีก ชาวซาไกอยู่ท่ามกลางธรรมชาติจริงๆ

 



เราเดินเข้าหมู่บ้านซาไกต่อ
ซ้ายบน – เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้แวดล้อมด้วยภูเขาและป่าไม้ จึงไม่แปลกใจที่เราจะได้ยินเสียงลำธารและน้ำตกเตี้ยๆไหลผ่านหมู่บ้าน
ขวาบน – ทางเดินเข้าหมู่บ้านซาไกมีแต่ความร่มรื่นตลอดสองข้างทาง (จากภาพ ตอนนี้เริ่มเห็นบ้านเรือนอยู่ไม่ไกลแล้ว)
ขวากลางบน – เส้นทางสายนี้เป็นทางเดินปูนระหว่างบ้านแต่ละหลังและยังเป็นทางผ่านขึ้นเขาไปเก็บยางด้วย บรรยากาศหมู่บ้านเงียบสงบ สัตว์เลี้ยงที่เห็นก็มีไก่และสุนัข
ซ้ายกลาง - บ้านหลังนี้เป็นบ้านดั้งเดิมของชาวซาไก โดยแต่เดิมเป็นเพียงบ้านไม้(ตามที่เห็นผนังไม้ในภาพ) แต่ได้ต่อเติมส่วนที่เป็นปูนเพิ่มขึ้นมาในภายหลัง
ขวากลางล่าง – บ้านปูนที่สร้างขึ้นใหม่ในหมู่บ้านซาไก
ซ้ายล่าง - บ้านไม้หลังนี้ก็เป็นบ้านดั้งเดิมเช่นกัน หลังจากนั้นก็มีการต่อเติมเข้ามา
ขวาล่าง – และภาพนี้ก็คือคุณสุภาพรซึ่งเป็นชาวซาไกคนสุดท้ายในหมู่บ้านที่ยังพูดภาษาซาไกได้อยู่ ปัจจุบันชาวบ้านในหมู่บ้านซาไกเป็นเพียงทายาทและเครือญาติรุ่นหลัง แต่ไม่ได้สืบเชื้อสายโดยตรงเหมือนคุณสุภาพรแล้ว ส่วนชาวซาไกคนอื่นๆได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ประเทศมาเลเซียกันหมด

TODAY THIS MONTH TOTAL
356 5293 297685
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top